เพราะเหตุใดแข้งฟิลิปปินส์จึงเป็นโควต้าอาเซียนยอดนิยมของไทยลีก?
การปรับโควต้าการลงทะเบียนนักเตะต่างชาติในศึก ไทยลีก จากเดิม 3 (ต่างชาติ)+1 (เอเชีย)+3 (อาเซียน) ให้กลายมาเป็น 5 (ต่างชาติ)+1 (เอเชีย) + ไม่จำกัด (อาเซียน) ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวกับสโมสรที่ทำทีมพอสมควร
ยิ่งมีคำว่า “ไม่จำกัด” สำหรับนักเตะเชื้อสายอาเซียน ยิ่งต้องคัดกรองให้ดีว่า ใช้กับชาติใดถึงจะคุ้มค่า ในเมื่อเราตั้งธงไว้แล้วว่า นักเตะไทย คือ ตัวท็อปประจำภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ซึ่งจากการนำเข้าผู้เล่นที่ผ่านมา ดาวเตะจากฟิลิปปินส์ กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
เพราะเหตุใดแข้งชาวฟิลิปปินส์ จึงเป็นโควต้าอาเซียนยอดนิยมของ ไทยลีก? ร่วมหาคำตอบไปกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
กระจายความนิยมสู่อาเซียน
ปัจจัยสำคัญที่ทางผู้จัดการแข่งขัน ไทยลีก แต่ละฤดูกาล คือ การเผยแพร่ความนิยมไปทั่วภูมิภาคอื่นๆ นอกประเทศไทย ซึ่งแนวทางที่จะเผยแพร่ได้รวดเร็วมากที่สุด ย่อมต้องใช้เรื่องของ “การตลาด” เข้ามาช่วยในจุดนี้
ทางออกที่ง่ายที่สุด จึงหนีไม่พ้นการดึง ซูเปอร์สตาร์ จากชาติในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาเป็นแม่เหล็กดึงดูดแฟนบอลจากชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เมียนม่าร์, อินโดนีเซีย, ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น แม้ว่าทุกวันนี้จะยังไม่ประสบผลเท่าที่ควรเรื่องการขายค่าลิขสิทธิ์ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการทดลองที่ไม่เสียหายอะไร
ขณะเดียวกัน การพิจารณาในแง่ความนิยมในกีฬาฟุตบอลก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยประเทศที่มีลีกของตัวเองอยู่แล้วอย่าง เวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย การจะดึงสตาร์ประจำลีกของพวกเขามายังประเทศไทย คงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก เพราะในเมื่อถิ่นฐานบ้านเกิด มีงานประเภทเดียวกัน ค่าจ้างแทบไม่ต่างกัน ไม่ต้องมานั่งลุ้นเรื่องการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นชิน ทั้งเรื่อง ภาษา, วัฒนธรรม และ อาหารการกิน จึงทำให้สโมสรในไทยลีก กรองตัวเลือกออกไปได้บางส่วน
สำหรับ ฟิลิปปินส์ พื้นฐานการเชียร์กีฬาของคนในประเทศของพวกเขา มุ่งเน้นไปที่ “บาสเก็ตบอล” เป็นอันดับที่หนึ่ง เพราะเป็นกีฬาที่พวกเขาประสบความสำเร็จไปได้ไกลมากที่สุด ในการแข่งขันระดับนานาชาติ ดังนั้นกลุ่มคนที่เลือกอาชีพ นักฟุตบอล จึงไม่มีเวทีให้โชว์ของมากนัก ยิ่งลีกในประเทศยังมีการจัดการแบบคลุมเครือ ไม่มีความแน่นอน เคลมว่าเป็นลีกอาชีพได้ไม่เต็มปาก การย้ายออกมาเล่นในประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นทางออกที่น่าสนใจไม่น้อย
ก่อนหน้านี้มีนักเตะชื่อดังจากฟิลิปปินส์ เคยมาโชว์เพลงแข้งบนไทยลีกกันมาหลายรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้รักษาประตูจอมเหนียวอย่าง ไมเคิ่ล ฟาสเคสการ์ด ที่อยู่กับสโมสร แบงค็อก ยูไนเต็ด และ แพทริค เดย์โต้ จากสโมสร ประจวบเอฟซี
ส่วนกองหลังที่แฟนบอลคุ้นชื่อกันดี ก็จะเป็นในรายของ อมานี่ อกีนัลโด้ ที่เคยโชว์ผลงานได้อย่างน่าประทับใจกับ ตราด เอฟซี และ หนองบัว พิชญ รวมไปถึงในรายของ มาร์ติน สตูเบิ้ล แนวรับสาระพัดประโยชน์จากสโมสร การท่าเรือ
เช่นกันกับตำแหน่งกองกลางก็มีดาวเด่นอย่าง เควิน อินเกรโซ่ เคยสังกัดอยู่กับทีมระดับหัวตารางอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ บีจี ปทุม รวมไปถึง แพทริค ไรเชลท์ ปีกตัวจี๊ด ที่เคยฝากผลงานการยิงประตูในระดับไว้ใจได้ไว้กับ สุพรรณบุรี เอฟซี ขณะที่กองหน้าก็ต้องเป็น ฮาเวียร์ ปาตินโญ่ ที่เคยระเบิดฟอร์มการยิงประตูแบบถล่มทลายให้กับทัพ ปราสาทสายฟ้า มาแล้วเมื่อหลายฤดูกาลก่อน
แม้ว่าผู้เล่นเหล่านี้ อาจจะไม่ใช่ฟิลิปปินส์แท้ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งที่มีเชื้อสายทางฝั่งยุโรป แต่นั่นก็เป็นข้อได้เปรียบสำคัญ สำหรับโควต้าอาเซียน
ลูกครึ่งคุณภาพ
ปฏิเสธไม่ได้กระแสนิยมของการใช้นักเตะทุกวันนี้ คือการตามหาลูกครึ่งที่มีสัญชาติไทย ที่ไม่ได้แค่เฉพาะการแข่งขันไทยลีก แต่ยังโยงใยไปถึงทีมชาติไทยของเรา ที่ในยุคหลังเรามีนักเตะลูกครึ่งอยู่ไม่น้อย
ฟิลิปปินส์ ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่ใช้นโยบายนี้ เนื่องจากพวกเขาผ่านการตกเป็นอาณานิคมของหลายชาติจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสเปน หรือสหรัฐอเมริกา จึงทำให้หลายคนสืบเชื้อสาย หรือมีบรรพบุรุษ ที่ไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์แท้ๆ
และนั่นก็ทำให้พวกเขามีนักเตะลูกครึ่งฝีเท้าดีให้เลือกใช้ ผ่านการเสาะหา ทั้งจากเกม Football Manager หรือแมวมองในยุโรป หรือพยายามสืบว่าผู้เล่นคนไหน มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ และไม่ได้อยู่ในสายตาของชาติใหญ่ๆ ก่อนจะชวนมารับใช้ทีมชาติ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ย่อมเป็นทาง นีล เอเธอร์ริดจ์ ผู้รักษาประตูวัย 32 ปี จากสโมสร เบอร์มิงแฮม ซิตี้ ที่มีค่าตัวการย้ายทีมล่าสุดสูงถึง 2.2 ล้านยูโร ซึ่งความจริงแล้วเกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ สามารถเลือกเล่นให้กับทีมชาติได้ทั้งสองประเทศ
ดังนั้น เมื่อการไปติดทัพ สิงโตคำราม ดูจะมืดมนเหลือเกิน การลงเล่นให้กับ ฟิลิปปินส์ ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่ทำให้เขาสามารถโชว์ผลงานในเวทีระดับชาติได้ ในการเติมเกียรติประวัติการค้าแข้งของตนเองให้ครบถ้วน
เมื่อเห็นช่องทางตรงจุดนี้ หลายสโมสรในไทยลีก ย่อมออกตามล่าหาตัวผู้เล่นที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่เป็น “ลูกครึ่ง” ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทวีปยุโรป มาเป็นตัวเลือกในการเสริมทัพ เติมความแข็งแกร่งให้กับทีม
นอกจากนี้ การได้นักเตะที่มีรูปร่างแบบชาวยุโรป ที่สูงใหญ่ แข็งแกร่ง บวกกับทักษะฟุตบอลพื้นฐาน ที่เรียนรู้ในวัยเด็กมาจากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ตัวเอ้ ของวงการลูกหนัง ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์ และ เยอรมัน เป็นต้น ไม่ต่างกับการซื้อของจากโรงงาน OEM (ผลิตให้กับเจ้าใหญ่ๆ ในตลาด) เพียงแต่ไม่ได้ตีตราแบรนด์ลงไป ทำให้ราคาค่างวดนั้นถูกกว่าที่ควรจะเป็น ค่าจ้าง ค่าแรงต่างๆ ก็อยู่ในระดับที่ไม่แรงมากนัก
อันที่จริง สโมสรอย่าง ราชบุรี มิตรผล เอฟซี ที่งบประมาณการทำทีม อาจน้อยกว่าทีมหัวแถวของลีก ก็เคยเคยลองดึงตัวผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางอย่าง จัสติน บาส อดีตเด็กฝึกของสโมสร อาแซด อัลค์มาร์ ทีมชั้นนำของลีกแดนกังหันลม มาทดลองใช้งานมาแล้ว หากมองจากดีกรีผ่านๆ เป็นการเสี่ยงที่ไม่เลวเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น อีกข้อได้เปรียบของกลุ่มผู้เล่น ที่เคยมีดีกรีการฝึกฟุตบอลในประเทศชั้นนำในยุโรป นอกจากเรื่องทักษะพื้นฐาน และ ความเข้าใจเกม ก็คือ เรื่องของวินัยความเป็นมืออาชีพ ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อายุยังน้อย
เพราะหากพวกเขาหวังจะสู้เพื่อแย่งตำแหน่งในประเทศที่มีการแข่งขันสูง ย่อมต้องหาทางพัฒนาตัวเองแบบไม่มีหยุดยั้ง ซึ่งก็เป็นผลประโยชน์ทางอ้อม ในการกระตุ้นให้นักเตะไทย สามารถนำมาเป็นแบบอย่างได้อีกด้วย
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
แต่ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องภาษา พวกเขาส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี และปัจจุบันทีมในไทยลีก ก็ใช้งานโค้ชต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเลือกนักเตะที่มีพื้นฐานการพูดภาษาสากลเข้ามา สามารถช่วยในเรื่องการทำความเข้าใจแทคติก ระบบการเล่น และ การยืนตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน และไม่จำเป็นต้องมีล่ามตัวกลางเข้ามาเพิ่ม ที่อาจทำให้เสียงบประมาณทำทีมแบบซ้ำซ้อน
ทุกข้อได้เปรียบที่กล่าวมา ถูกบรรจุอยู่ในโควต้าของหมวด “อาเซียน” ที่สามารถลงทะเบียนได้ “ไม่จำกัด” หากสโมสรไหนมีทีมแมวมองที่มีคุณภาพสูง ค้นเจอผู้เล่นที่ตรงสเปคตามข้อจำกัดที่กล่าวมา ย่อมนำไปปรับเป็นกลยุทธการเสริมทัพ ที่ได้เปรียบทีมคู่แข่งร่วมลีกได้แบบสบายๆ ประหยัดโควต้านักเตะต่างชาติ คล้ายๆ กับได้โควต้านักเตะยุโรปเพิ่มเข้ามาในมือ
ตารางแข่งทีมชาติตรงกัน
การเลือกเสริมทัพด้วยนักเตะสัญชาติ ฟิลิปปินส์ มีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยลดความวุ่นวายในเรื่องการบริหารจัดการทีม เนื่องจากผู้เล่นจากโซนนี้ จะมีโปรแกรมการแข่งขันเกมทีมชาติ ในตารางเดียวกับไทย ซึ่งมีการจัดโปรแกรมแบบเอื้อประโยชน์ให้อยู่เป็นประจำ
ดังนั้นหากนักเตะคนนั้นๆ ติดทีมชาติฟิลิปปินส์ ชุดใดก็ตาม รายการที่จะลงทำการแข่งขัน ย่อมไม่ต่างกับนักเตะไทย ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น ซีเกมส์, ชิงแชมป์เอเชีย, อาเซียน คัพ, อุ่นเครื่องตามฟีฟ่า เดย์ และ การคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบต่างๆ
นอกจากนี้ การเดินทางของนักเตะ ยังใช้เวลาไม่นานเพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ช่วยลดทอนเรื่องความอ่อนล้าของสภาพร่างกาย ตอนกลับมาซ้อม หรือลงเล่นในเกมการแข่งขันจริงให้กับสโมสร
ขณะเดียวกันแทบไม่มีข้อพิพาทถกเถียงกันเรื่องการปล่อยตัวว่า ควร หรือ ไม่ควร? เพราะส่วนใหญ่แล้วโควต้า อาเซียน จะถูกจัดลำดับความสำคัญในทีม น้อยกว่านักเตะทีมชาติไทย อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เมื่อมีผลดีแทบทุกทาง ยกเว้นแค่เรื่องฝีเท้าของผู้เล่น ที่ต้องมาตัดสินกันหน้างานอีกทีว่าจะ ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน? ซึ่งจะวัดกันที่การตัดสินใจของโค้ช เพราะการได้ตัวหมากมาให้เลือกใช้งานเพิ่มเติม ในราคาที่คุ้มค่ากับการทดลอง เป็นสโมสรไหนก็ต้องลองนำมาพิจารณาทั้งนั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
บุรีรัมย์ บูม! : อัพเดท 10 อันดับแข้งต่างชาติในไทยลีกมูลค่าสูงที่สุด
ดิออน คูลส์ : เเข้งโควต้าอาเซียนที่โหดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยลีก
เคนชิโร่ แดเนี่ยลส์ : กองหน้าฟิลิปปินส์ผู้เป็นบุตรแห่ง "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ"
แหล่งอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Philippines_national_football_team
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR