แนวคิด “ตะปูที่โผล่จะต้องถูกตอกลงไป” ที่ทำให้แข้งญี่ปุ่นไม่เล่นนอกเกม

แนวคิด “ตะปูที่โผล่จะต้องถูกตอกลงไป” ที่ทำให้แข้งญี่ปุ่นไม่เล่นนอกเกม
มฤคย์ ตันนิยม

ฟุตบอลไทยเกิดประเด็นร้อนจากการตะลุมบอนในนัดชิงซีเกมส์กับ อินโดนีเซีย จนถูกพูดถึงไปทั่ว

แม้ว่าการใช้ความรุนแรงนอกเกมกับเพื่อนร่วมอาชีพ อาจจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งลีกในยุโรป (โดยเฉพาะในลีกล่างที่ไม่ได้มีกล้องถ่ายทอดสดจับจ้อง) แต่จะมีอยู่ชาติหนึ่งที่แทบจะไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้

นั่นคือญี่ปุ่น เหตุใดพวกเขาจึงไม่ค่อยมีเหตุรุนแรงในสนาม ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก

แม้ว่าเจลีก จะไม่ได้ต่างจากลีกทั่วไป ที่อาจมีการทำฟาล์วรุนแรงจนถึงขั้นได้ใบแดง แต่หากลองสังเกตุดู จะพบว่าผู้เล่นที่ผู้เล่นที่ถูกไล่ออกมักจะก้มหน้ารับกรรม โดยไม่ได้ฮึดฮัด หรือแสดงท่าที่โกรธแค้นเข้าไปเอาเรื่องกรรมการ

หรือแม้กระทั่งการเข้าปะทะ ไม่ว่าจะจงใจหรืออุบัติเหตุ น้อยครั้งที่พวกเขาจะเข้ามาหาเรื่องกัน ผลักอก หรือตะลุมบอนใส่กัน เหมือนที่เห็นในลีกยุโรป หรือบางครั้งในลีกไทย

และสิ่งที่ทำให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมาก หรือแทบจะไม่เกิดเลยก็มาจากการถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความมีน้ำใจนักกีฬา” ผ่านการศึกษา

Photo : ゲキサカ

เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วกีฬาญี่ปุ่น อยู่ใต้แนวคิดที่เรียกว่า Shin Gi Tai (ใจ-ทักษะ-ร่างกาย) ซึ่ง Shin นอกจากจะแปลว่าพลังใจในการแข่งขัน ไม่ยอมพ่ายแพ้แล้ว ยังรวมไปถึง “หัวใจ” ในฐานะมนุษย์ ที่ต้องคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นอีกด้วย

มันคือสิ่งที่ถูกย้ำเตือนทั้งในคาบพละศึกษา ตอนทำกิจกรรมชมรม หรือแม้กระทั่งการแข่งขันในระดับเยาวชน

พวกเขามักจะให้คุณค่ากับนักเตะที่เล่นอย่างซื่อสัตย์ และเคารพผู้อื่น มากกว่านักเตะที่คิดถึงแต่ชัยชนะเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ก็มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝัง “น้ำใจนักกีฬา” ด้วยการนำระบบใบเขียว หรือ เครื่องหมายแสดงการเล่นแบบแฟร์เพลย์ มาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี มาตั้งแต่ปี 2008

มันคือการ์ดที่มอบให้กับผู้เล่นที่เห็นอกเห็นใจคู่แข่งที่ได้รับบาดเจ็บ, ซื่อสัตย์ยามบอลข้ามเส้น ทั้งลูกทุ่ม เตะมุม และประตู รวมไปถึงการห้ามเพื่อนร่วมทีมที่ก่อเรื่อง หรือกำลังจะไปทะเลาะกับฝ่ายตรงข้าม  

Photo : サカイク

“ระบบใบเขียวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Japan Respect ซึ่งเจลีกได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2008 การแสดงความเคารพต่อฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเราก็อยากให้มันเป็นสไตล์ของเรา เพื่อเพิ่มคุณค่าของกีฬา” เจ้าหน้าที่ของ JFA อธิบาย

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่สิ่งเดียว ที่ทำให้พวกเขาเป็นแบบนี้

แคร์สายตาคนอื่น

ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบกลุ่ม จึงทำให้พวกเขามักจะทำอะไรเหมือนกัน ไม่ผิดแผกไปจากคนในกลุ่ม หรือมาตรฐานของสังคม เพราะมันจะทำให้พวกเขาหลุดจากกลุ่ม หรือถูกกลั่นแกล้ง

มันสะท้อนได้จากการที่พวกเขามีสุภาษิต 出る杭は打たれる (deru kui wa utareru) หรือ “ตะปูที่โผล่ออกมาจะต้องถูกตอกลงไป” ซึ่งมีความหมายว่าการกระทำที่ออกนอกหน้าคนอื่น หรือแตกต่างจากคนอื่น ย่อมถูกรังเกียจ หรือโดนลงโทษ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวญี่ปุ่น กลายเป็นชาติที่เคร่งครัดกับกฎระเบียบมากที่สุดของโลก พวกเขายินยอมพร้อมใจที่จะทำตามกฎหมาย เพื่อความเป็นระเบียบของสังคม ที่มักมีเรื่องเล่าจากคนต่างประเทศที่ไปญี่ปุ่นว่า แม้ว่าบนถนนจะไม่มีรถ หากไฟบนทางข้ามยังไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว คนญี่ปุ่นก็จะไม่ยอมข้ามไปเด็ดขาด  

Photo : iZa(イザ)

“มันเป็นสถานที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ง่าย แต่สิ่งเดียวที่ยากคือพวกเขาเข้มงวดกับกฎและระเบียบมาก” เจย์ โบธรอยด์ อดีตกองหน้าเมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ค้าแข้งอยู่ในญี่ปุ่นราว 6 ปีกล่าวกับ The Athletic

“กฎมันชัดเจน และคุณต้องทำตาม ในช่วงแรกมันสร้างความหงุดหงิดให้ผม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มชินกับมัน ผมเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น และผู้คนก็เริ่มยอมรับผม”

เช่นกันกับฟุตบอล พวกเขายึดมั่นกับกฎกติกาเป็นสำคัญ ไม่ตุกติกหรือเล่นนอกเกม หรือพุ่งล้ม ด้วยความเคารพคู่แข่ง ดังนั้น การปะทะกันถึงขั้นชกต่อยกับเพื่อนร่วมอาชีพ หรือทำร้ายกรรมการ จึงลืมไปได้เลย

Photo : Qoly

“พวกเราชาวญี่ปุ่นค่อนข้างละเอียดอ่อนมากเกี่ยวกับชื่อเสียงในสายตาคนอื่น” ไมโกะ อาวาเนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการรัฐบาลเมืองฮิโรชิมา กล่าวกับ BBC

“เราไม่อยากให้คนอื่นคิดว่า เราเป็นคนไม่ดี ที่ไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ”

ฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ กุนซือทีมชาติเวียดนาม ที่เคยคุมทัพซามูไรบลูช่วงปี 1998-2002 ก็เคยมีประสบการณ์นี้ เขายอมรับว่าบางครั้งความซื่อสัตย์ของนักเตะญี่ปุ่น ก็กลายเป็นอุปสรรคในการต่อกรกับชาติจากต่างทวีป

“ในช่วงเวลานั้น เวลาเราพูดถึงฟุตบอลญี่ปุ่น มักจะมีคำพูดว่าเราโง่และซื่อเกินไป”  กุนซือชาวฝรั่งเศสกล่าวกับ Football Asian  
Photo : THE ANSWER

“ตามกฎของฟีฟ่าบอกว่าไม่ควรสัมผัสคู่ต่อสู้ที่มีบอล แต่ในยุโรป พวกเขาใช้ศอกกันโดยไม่สนใจอะไร แต่มันไม่เป็นแบบนั้นในญี่ปุ่น”

“ตอนที่ผมเตรียมทีมสำหรับฟุตบอลโลก ผมบอกผู้เล่นญี่ปุ่นให้ลืมกฎฟีฟ่าเวลาเจอทีมจากยุโรป กฎของฟีฟ่าทำให้คุณโง่ และคุณจะไม่ชนะ คู่ต่อสู้จะเหยียบเท้าเรา ตีเราดึงเสื้อเราและยั่วยุเรา เราต้องเตรียมตัวเพื่อสิ่งนั้น”

อย่างไรก็ดี เจลีกเองก็มีบทบาทไม่น้อยในเรื่องนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
30 ปีเจลีก: ย้อนรอยก้าวแรกลีกอาชีพญี่ปุ่นก่อนการเป็นเบอร์ 1 ของเอเชีย | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง เหลืออีกเพียงแค่ไม่กี่วัน เจลีก ลีกที่มีแข้งชาวไทยอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ และสุภโชค สารชาติ ค้าแข้งอยู่ ก็เตรียมจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ


คอร์สลดคนหัวร้อน

แม้ว่าแข้งชาวญี่ปุ่น จะได้รับการปลูกฝังมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ระดับเยาวชน แต่บางครั้งฮอร์โมนในวัยรุ่นก็ทำให้พวกเขาพลุ่งพล่าน และขาดสติ จนทำในสิ่งที่ไม่คาดคิด หรือเสียใจทีหลังลงไป

เจลีกรู้ดีในส่วนนี้ จึงได้มี “งานสัมมนาแข้งหน้าใหม่เจลีก” พร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของลีกอาชีพญี่ปุ่นในปี 1993 เพื่อเตรียมความพร้อมเหล่าแข้งวัยรุ่นสู่ความเป็นมืออาชีพ

ในช่วงแรกเจลีกใช้วิธีถามความสมัครใจ ใครจะเข้าก็ได้ไม่เข้าก็ได้ ทว่าหลังจากปี 2004 พวกเขาได้บังคับให้นักเตะสัญชาติญี่ปุ่นที่ลงเล่นในเจลีกเป็นปีแรกทุกคนต้องเข้าร่วม

Photo : Jリーグ

โดยในงานสัมนาจะมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปอย่างกฎระเบียบต่างๆ, การใช้สารกระตุ้น หรือการพนันไปจนถึงเรื่องที่อาจทำให้พวกเขาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น การตอบคำถามกับสื่อ, ความรู้ด้านภาษี, สิทธิมนุษยชน และการเข้าสังคม

“เอาเป็นว่า สำหรับปีแรกในการเล่นอาชีพ มันจะเกิดความผิดพลาดมากมายอย่างต่อเนื่องในชีวิตเลยล่ะ”เคงโงะ นาคามูระ อดีตแข้งคาวาซากิ ฟรอนทาเล กล่าวกับรุ่นน้องผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในงานเมื่อปี 2017

“แน่นอนว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้พวกนายใจฝ่อ หรือท้อถอยไม่น้อย แต่นี่แหละคือประเด็นสำคัญ พวกนายจะกลับมาสู้ต่อ แก้ตัวจากความผิดพลาด หรือเริ่มต้นใหม่ได้รึเปล่า”

Photo : サッカーキング

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้เล่นยุคปัจจุบัน งานสัมนาจะย้ำเตือนให้พวกเขาใช้มันอย่างมีสติ และไม่ใช่อารมณ์เหนือเหตุผล เพราะบางครั้งอาจจะกลายเป็นเครื่องมือทำร้ายผู้อื่น โดยเฉพาะในแง่ของจิตใจ

มันคือ “การรับผิดชอบตัวเอง” และ “เคารพผู้อื่น” ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานของชาวญี่ปุ่นในทุกมิติของวิถีชีวิต ที่ทำให้ฟุตบอลของพวกเขาแทบไม่มีปัญหาทะเลาะต่อยตี หรือทำร้ายคู่แข่ง

ไม่ว่าจะเกมระดับอาชีพ หรือเกมสมัครเล่นในท้องถิ่นก็ตาม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

El Chino : ทำไมสโมสรใน ลา ลีกา จึงมีเด็กเอเชียอยู่ในเยาวชนแทบทุกทีม ?

เงินเยอะกว่า ≠ แชมป์ลีก : วิสเซล โกเบ ทีมรวยสุดในญี่ปุ่นที่ล้มเหลวเรื่องความสำเร็จ

นันคัตสึ เอสซี : ทีมนอกลีกที่คนวาด “สึบาสะ” วางปากกาเพื่อมาปลุกปั้นสู่เจลีก

แหล่งที่มา

https://www.nspirement.com/2018/07/28/how-japanese-taught-the-world-the-true-meaning-of-sportsmanship.html

https://www.bbc.com/travel/article/20191006-what-japan-can-teach-us-about-cleanliness

https://theathletic.com/2303080/2021/01/10/jay-bothroyd-football-soccer/

http://www.football-asian.com/news/articleView.html?idxno=34

https://www.jleague.jp/en/news/article/4725/

https://www.jleague.jp/en/news/article/4842/

https://www.jleague.jp/en/news/article/8293/

https://www.jleague.jp/news/article/11394/

https://www.jleague.jp/news/article/11409/

https://www.sponichi.co.jp/soccer/news/2018/02/01/kiji/20180201s00002000419000c.html

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ