เพราะเหตุใดทีมชาติไทยไม่ได้ลงเตะในราชมังฯ มาเกือบ 5 ปี?

เพราะเหตุใดทีมชาติไทยไม่ได้ลงเตะในราชมังฯ มาเกือบ 5 ปี?
มฤคย์ ตันนิยม

“ผมกับทีมชาติไม่ได้ลงเล่นที่ราชมังฯ มา 5 ปีแล้ว คอนเสิร์ตมาจัด ปรับพื้นหญ้าให้ แมนฯยูฯ เตะ ทีมชาติไทยไม่เคยได้เตะ บอลไทยจึงไม่มีทางพัฒนา”

กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลัง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ดาวเตะป้ายแดงของ บีจี ปทุม พูดถึงการที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามกีฬาแห่งชาติของไทย ไม่ได้ถูกใช้เป็นรังเหย้าของทีมชาติไทยมาแล้วหลายปี

ซึ่งนัดสุดท้ายช้างศึกในสนามแห่งนี้ ต้องย้อนกลับไปในเกมกับ มาเลเซีย ในนัดชิงชนะเลิศ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ เมื่อปี 2018 ก่อนที่หลังจากนั้น สังเวียนนี้จะถูกใช้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต รวมไปถึง The Match ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา

เพราะเหตุใด ทีมชาติไทยจึงไม่ได้ใช้สนามแห่งนี้ ทั้งที่เป็นสนามกีฬาแห่งชาติ หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

รังเหย้าทีมชาติ?

ราชมังคลากีฬาสถาน ถือเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยความจุ 51,552 ที่นั่ง และทำให้มันถูกใช้เป็นสังเวียนจัดการแข่งขันฟุตบอลมากมาย รวมไปถึงนัดชิงชนะเลิศ เอเชียนส์เกม 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

อย่างไรก็ดี แทบไม่น่าเชื่อว่าสนามกีฬาแห่งชาติของไทยแห่งนี้ กลับไม่ได้ถูกใช้เป็นรังเหย้าของทีมชาติไทยชุดใหญ่อีกเลย นับตั้งแต่ปี 2018 โดยเกมนัดล่าสุดที่ “ช้างศึก” ลงเตะต่อหน้าแฟนบอลหลายหมื่นคน ต้องย้อนกลับไปในนัดชิงชนะเลิศนัดที่ 2 ของ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 ด้วยซ้ำ

ไทย พบ มาเลเซีย เกมนัดล่าสุดที่ทีมชาติไทยลงเล่นในราชมัง ฯ / Photo : AFP 

จะบอกว่าสนามไม่เปิดให้ใช้ก็ไม่ได้ เพราะหลังจากนั้น ราชมังฯ ก็กลายเป็นที่จัดคอนเสิร์ตให้ศิลปินระดับโลก ที่มาเยือนเมืองไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น BTS, จัสติน บีเบอร์, เอ็ด ชีแรน, Maroon 5  หรือล่าสุดอย่างแบล็คพิงค์

เหตุผลก็คือ แม้ว่าราชมัง ฯ จะมีสถานะเป็นสนามเหย้าอย่างเป็นทางการของทีมชาติไทย แต่เจ้าของสถานที่ที่แท้จริง ไม่ใช่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แต่เป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. ทำให้ ช้างศึก เป็นเพียงผู้เช่าเท่านั้น

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะชาติใหญ่ๆ หลายชาติก็ใช้โมเดลนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส ที่ สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ที่มี Consortium Stade de France เป็นผู้ดูแล, มาราคานา สเตเดียมของบราซิล ที่มีรัฐบาลรัฐริโอเดจาเนโร เป็นเจ้าของ ไปจนถึงโอลิมปิก สเตเดียม ของเยอรมันที่รัฐบาลกรุงเบอร์ลิน เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่ อังกฤษ เป็นเพียงไม่กี่ชาติที่สมาคมฟุตบอล เป็นเจ้าของสนาม

สนามเวมบลีย์ สนามกีฬาแห่งชาติอังกฤษที่สมาคมฟุตบอลอังกฤษเป็นเจ้าของ / Photo : AFP 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การใช้สนามก็จำเป็นต้องวางแผนจองล่วงหน้าเป็นปีๆ ซึ่ง กกท. ก็ยืนยันว่าให้สิทธิ์สมาคมฟุตบอลได้เลือกก่อน แล้วค่อยปล่อยให้เอกชน ซึ่งช่วงที่จัดคอนเสิร์ต ล้วนเป็นช่วงที่สมาคมฟุตบอลไม่ได้แสดงความประสงค์ใช้ตั้งแต่แรก

"เราถูกตัดงบประมาณไป 40 เปอร์เซ็นต์ 2 ปีซ้อน ด้วยความจำเป็นที่ประเทศต้องเอาไปใช้ในเรื่องของสาธารณสุข” ดร.ก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณี อาเซียนคัพ 2022 นัดชิงชนะเลิศ ต้องไปเตะที่สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แทนที่จะเป็นราชมัง ฯ

“อันนี้คือความยากลำบาก และจะไปพาดพิงประเด็นเรื่องของการใช้สนามกีฬาอย่างที่การแข่งขันฟุตบอล AFF เราก็ต้องพยายามอธิบายว่าทำไมเราต้องให้เอกชนมาเช่าสนาม แต่ในเบื้องต้นเลยสนามกีฬามีไว้เพื่อใช้เตะฟุตบอล”

“เราจะกางปฏิทินทั้งปีร่วมกับสมาคมฯ ว่าสมาคมฯ จะจองช่วงไหน เวลาไหน เราจะให้ลำดับความสำคัญก่อน แต่ถ้าช่วงไหนสมาคมฯ ไม่ได้แสดงเจตจำนง หรือไม่ได้จองเอาไว้ เราจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้เอกชนเช่าเพื่อหารายได้เข้ามา เนื่องจากเงินแผ่นดินในการที่จะมาดูแลสนามมีไม่เพียงพอ"

ทีมชาติไทยคว้าแชมป์อาเซียนคัพ 2022 ที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์ / Photo : AFP

แถมเมื่อสนามถูกใช้จัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมอื่น ยังจำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหญ้า ทำให้ สมาคมฯ เลือกจะใช้สนามอื่นที่มีสภาพที่พร้อมใช้งานมากกว่า

"โอกาสที่ทีมชาติไทยจะได้ลงเตะรอบแรกที่ราชมังคลากีฬาสถานนั้นถือว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากสนามผ่านงานใหญ่การจะฟื้นฟูกลับมาให้ทันแข่งขันคงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องหาสนามสำรอง โดยตามระเบียบ เอเอฟเอฟ กำหนดไว้อยู่แล้วว่าแต่ละประเทศต้องมีสนามสำหรับแข่งเตรียมไว้อย่างน้อย 2 สนาม และทาง มาโน โพลกิง เฮดโค้ชก็อยากได้สนามที่ไม่อยู่ห่างไกลมาก" พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อธิบาย

"สำหรับงานคอนเสิร์ตใหญ่นั้นจะมีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ส่วนเรามีเกมในบ้านนัดแรกวันที่ 26 ธันวาคม แม้จะมีเวลาห่างกัน 10 กว่าวัน แต่โอกาสที่สภาพสนามจะฟื้นความสมบูรณ์เต็มร้อยให้พร้อมใช้งานเป็นเรื่องยาก ต้องดูหลายองค์ประกอบ เช่นเมื่อคอนเสิร์ตจบแล้ว ทางสนามจะมีมาตรการเก็บกวาดสิ่งของรวมถึงฟื้นฟูสนามอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่อำนาจของเรา แต่เป็นของหน่วยงานที่ดูแลสนามโดยตรง"

ทว่า มันยังมีเหตุผลมากกว่านั้น

กระจายสู่ฟุตบอลสู่ต่างจังหวัด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสิ่งที่สมาคมฯ ภายใต้การบริหารงานของ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต่างจากในยุคก่อน คือการออกไปเตะอุ่นเครื่องหาประสบการณ์ในต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเป็นส่วนหนึ่งขอสาเหตุที่ช่วงหลังทีมชาติไทยไม่ได้เล่นในราชมังฯ

ไม่ว่าจะเป็นการบุกยูเออี เมื่อปี 2019 และ 2021 ลุยศึก ไชนาคัพ ที่จีนในปี 2019 หรือล่าสุดคือการเตรียมไปอุ่นเครื่องในยุโรปเป้นครั้งแรกในรอบ 58 ปี ด้วยการพบกับ จอร์เจีย และเอสโตเนีย ในเดือนตุลาคม 2023 นี้

นอกจากนี้ การกระจายฟุตบอลสู่ส่วนภูมิภาค ก็ยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ ราชมังฯ ไม่ถูกใช้เป็นสนามเหย้าของช้างศึก เพราะแม้ฟุตบอล จะเป็นกีฬายอดนิยมของไทย แต่ในอดีตคนที่ได้สัมผัสกับการแข่งขันทีมชาติ มักจะเป็นคนที่อยู่ในเมืองหลวงหรือปริมณฑล หรือจังหวัดรอบนอกกรุงเทพ

ทว่า ในช่วงหลัง ดูเหมือนว่าสมาคมฟุตบอลฯ จะให้ความสำคัญกับแฟนบอลในต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยการพาทีมชาติไปเตะอุ่นเครื่องในระดับภูมิภาค เห็นได้จากนับตั้งแต่ปี 2019 คิงส์คัพ ถูกจัดในจังหวัดอย่าง บุรีรัมย์ และ เชียงใหม่ เชียงใหม่เป็นต้น

ช้าง อารีนา สังเวียนคิงส์คัพ 2019 / Photo : AFP 

อันที่จริง นี่เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้เสมอในหลายชาติมหาอำนาจทางฟุตบอลของโลก ที่ทีมชาติพวกเขาจะตระเวนไปลงเล่นในสนามต่างๆ ทั่วประเทศ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป เพื่อให้แฟนบอลได้สัมผัสกับทีมชาติอย่างเท่าเทียม

ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่แม้ว่าพวกเขาจะมีสนามกีฬาแห่งชาติกรุงโตเกียว และไซตามะ สเตเดียม เป็นสนามประจำ แต่ซามูไรบลูส์ ก็ยังคงเดินสายไปเล่น ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือที่ ซัปโปโร โดม, ทางใต้ที่ รีโซแนค โดม โออิตะ หรือฝั่งตะวันออกที่ นางาอิ โอซากะ

เช่นกันกับ สเปน ที่พวกเขาไม่มีรังเหย้าหลัก แต่จะตระเวนไปใช้สนามของทีมต่างๆ ในเกมของทีมชาติ ทั้ง เอสตาดิโอ ลา คาตูญา ของ เซบีญา, วันดา เมโทรโปลิส ของ แอตเลติโก มาดริด หรือ ริซาซอร์ สเตเดียม ของ ลา คอรุนญา ก็ต่างเคยเป็นสังเวียนของขุนพลกระทิงดูทั้งนั้น

อย่างไรก็ดี ไทยอาจจะไปได้ไม่ถึงจุดนั้น เนื่องจากเรามีสนามที่มีมาตรฐานไม่มากพอ เมื่อเทียบกับ ญี่ปุ่น หรือสเปน  เพราะเอาแค่ความจุ 40,000 คนขึ้นไป ก็มีเพียงราชมังคลากีฬาสถานเท่านั้น

นอกจากนี้ ระบบการคมนาคมขนส่งสาธารณะของไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ยกตัวอย่างเช่น ราชมัง ฯ ที่การเดินทางไปค่อนข้างลำบาก แม้จะมีรถไฟฟ้า ไปถึงสถานีรามคำแหง แต่ก็ต้องต่อรถเมล์ ที่หากเป็นวันแข่งการจราจรหนาแน่น อาจกินเวลาเป็นชั่วโมง

ไซตามะ สเตเดียม 2002 / Photo : stib.jp

เทียบกับญี่ปุ่น ที่นอกจากจะมีสนามฟุตบอล ที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานดีเยี่ยมอยู่ทั่วประเทศ แทบทุกสนามสามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยระบบขนส่งมวลชล โดยเฉพาะรถไฟฟ้า

ไม่ว่าจะเป็น สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ที่ห่างจากสถานีเซนดางายะ ด้วยการเดินเพียง 6 นาที หรือ ไซตามะ สเตเดียม ที่แม้จะอยู่ในต่างจังหวัด แต่ก็สามารถเดินทางไปไม่ยาก โดยสถานี อูราวะ-มิโซโนะ สถานีที่ใกล้ที่สุด ก็ใช้เวลาเดินเพียง 15 นาทีเท่านั้น

ถอดบทวิเคราะห์สื่อนอกถึง ศุภณัฎฐ์ : ”สมเหตุสมผลสำหรับ เลสเตอร์ ตอนนี้”
หลังจากที่ ศุภณัฐฎ์ เหมือนตา เดินทางถึงอังกฤษเพื่อไปค้าแข้งกับสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ เรื่องราวของเขาก็ปรากฎในสื่อต่างชาติมากขึ้น ล่าสุดเป็นคิวของเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์นักเตะดาวรุ่งที่น่าจับตามองของโลก อย่าง footballtalentscout ที่วิเคราะห์ความสามารถของกองหน้าวั

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ ตลอดการวางผังเมืองที่ย่ำแย่ ไม่ได้คำนึงถึงประชาชน ที่ทำให้ฟุตบอล ยังเป็นกีฬาที่ไม่ได้ “เข้าถึงง่าย” เมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจของเอเชีย หรือของโลก

และนี่อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ทีมชาติไทย ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น และก้าวข้ามอาเซียนได้เสียที

แหล่งอ้างอิง

https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/changsuek/2607026

https://www.mainstand.co.th/th/news/9/article/6949

https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/changsuek/2489171

https://publications.fifa.com/en/football-stadiums-guidelines

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ