เผยทุกสาเหตุ ‘ทีมชาติไทย’ พลาดได้ตัวหลักลุยยุโรป เพราะปัจจัยใดบ้าง?
ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นักสำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากแฟนบอล หลังจากที่ ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ประกาศรายชื่อขุนพล 23 คนสุดท้าย ซึ่งจะเดินทางไปอุ่นเครื่องตามโปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ถึงยุโรป โดยมีโปรแกรมพบกับ ทีมชาติจอร์เจีย และ ทีมชาติเอสโตเนีย ที่ไม่ใช่จะโคจรมาเจอกันง่ายๆ
อย่างไรก็ตามขุนพลทั้งหมดที่ทาง มาโน โพลกิ้ง เลือกมาติดทัพช้างศึกรอบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกรองๆ มีเพียงตัวหลักจากบางสโมสรที่ให้ความร่วมมือเดินทางมาเข้าแคมป์ ส่วนผู้เล่นชื่อดังจากสโมสรยักษ์ใหญ่หลายทีมนั้นไม่ถูกเรียกตัวมารับใช้ชาติ
แน่นอนว่าความจริงแล้วมีกฎระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้นสังกัดจำเป็นต้องปล่อยผู้เล่นมาช่วยเกมทีมชาติในโปรแกรมสำคัญตามปฏิทิน ฟีฟ่า เดย์ ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงมีบทลงโทษตามมาภายหลัง แต่สำหรับแฟนบอลบ้านเราที่ตามข่าวนั้นรู้ดีว่า ตัวหลักหลายต่อหลายคนไม่ได้รับการ ‘ปล่อยตัว’ เลยไม่มีชื่ออย่างที่เห็น
นอกจากเหตุผลที่รู้กันโดยนัยแบบที่กล่าวไปเบื้องต้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง อันเป็นสาเหตุสำคัญหลายด้าน ทำให้ ทีมชาติไทย ต้องไปลุยเกมระดับ เอ แมตช์ ที่มีเดิมพันเป็นคะแนน ฟีฟ่า แร้งค์กิ้ง ด้วยตัวผู้เล่นแบบตามมีตามเกิด องค์ประกอบทั้งหมดเป็นเช่นไรบ้าง? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
งบประมาณจำกัด
แน่นอนว่าการจัดเกมอุ่นเครื่องที่ต้องเดินทางไปลุยยุโรป ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในเรื่องของ การเดินทาง, ที่พัก, อาหารการกิน และ ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าอาจได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากผู้จัดการทีมอย่าง ‘มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ’ รวมไปถึงสปอนเซอร์ที่สนิทชิดเชื้อ แต่หากมองที่ทุนทรัพย์ของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่เหลืออยู่จริงๆ นั้นแทบจะติดเพดานงบประมาณ
ซึ่งการประกาศชื่อผู้เล่นออกมารอบแรกจำนวน 50 คน ที่มีเพียงข่าวออกมาว่า นักเตะรายนั้นรายนี้อยู่ในข่ายทั้งหมดไม่ได้ดำเนินการเพื่อทำเอกสารสำคัญอย่างเช่น วีซ่า (Visa) เพราะถ้าทำหมดทุกคนเอาไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด จะกลายเป็นการใช้งบประมาณแบบบานปลาย ดังนั้นสมาคมจำเป็นต้องประหยัดงบ
ดังนั้นสาเหตุที่ทาง นิโคลัส มิคเคลสัน แบ็คขวาฟอร์มแรงตัวหลักถอนตัวออกไปจากทีมชุดนี้เพราะอาการบาดเจ็บจากเกมกับต้นสังกัด แต่ไม่มีการเรียกตัวแทนเข้ามา มีสาเหตุจากการที่สมาคมฯ ไม่ได้ขอ วีซ่า เผื่อสำหรับนักเตะรายอื่นๆ เอาไว้ล่วงหน้า ถึงจะเร่งดำเนินการภายหลังก็ไม่ทันการณ์อยู่ดี ทำให้ตอนนี้นักเตะที่ทาง มาโน เหลือใช้ได้ในสองเกมจะเหลือแค่เพียง 22 คน
นอกจากนี้ทาง เจ-วรปัฐ, โค้ชโย่ง-วรวุธ และ โค้ชเบ๊-ไพโรจน์ ยังได้มีการวิเคราะห์และแชร์ความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้เอาไว้ในรายการ ‘เก่งหลังเกม Analysis’ ว่า
“การทำ วีซ่า เผื่อเอาไว้มันใช้งบประมาณเยอะมาก คุณนวลพรรณ พยายามไปคุยกับหลายสโมสรไว้ก่อนเรื่องการปล่อยตัวนักเตะมาเข้าแคมป์ทีมชาติ แต่พอไม่มีการปล่อยตัวมาเลยจำเป็นต้องหานักเตะจากทีมตัวเองมาช่วย”
ซึ่งถ้าหากมองในเรื่องของงบประมาณการจัดการ เทียบกับการตั้งเป้าจะไป ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ดูเหมือนว่า การบริหารงบประมาณของสมาคมฯดูไม่สมเหตุสมผล ไม่เรียงลำดับความสำคัญของการลงทุนไปแข่งขันของรายการที่สมควรเน้นเป็นพิเศษ
ยิ่งมองภาพในสมัยที่อัดฉีด ทีมชาติไทย ช่วงที่ต้องการทวงแชมป์อาเซียนกลับคืนมา ที่ใช้งบประมาณไปราว 30-40 ล้านบาท ทั้งสามคนกลับมองว่าเป็นการลงทุนที่ผิดจุด หากเก็บงบประมาณไว้เน้นกับสิ่งที่สำคัญจริงๆ คงไม่ต้องใช้เงินแบบจำกัดจำเขี่ยแบบที่เห็น เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนและจริงจัง
จัดการเอกสารไม่ทัน
สำหรับประเด็นของจัดการเอกสารการเดินทางเข้าประเทศ จอร์เจีย และ เอสโตเนีย ของผู้เล่นที่อยู่ในโผบางราย เจ-วรปัฐ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้เล่นบางคนช่วงเช้ายังต้องเดินทางไปทำเอกสาร และช่วงเย็นของวันเดียวกันต้องเร่งเดินทางกลับมาแข่งเกมลีกให้กับต้นสังกัด
แล้วมีผู้เล่นบางรายที่ต้องพลาดติดทีมชาติชุดใหญ่ เพราะทำเอกสารไม่ทัน ยกตัวอย่างเช่น สมพร ยศ ผู้รักษาประตูประสบการณ์สูงจากสโมสร การท่าเรือ เอฟซี แล้วสุดท้ายต้องไปดึงตัว ศุเมธี โคกโพธิ์ นายด่านลูกครึ่งไทย-เยอรมัน ที่ยังไม่มีประสบการณ์ระดับชาติมาติดทีมแทน เนื่องจากไม่ต้องดำเนินการเรื่องการทำ วีซ่า เพราะมีสัญชาติที่สองเป็นคนยุโรปเป็นทุน
อย่างไรก็ตามข้อดีของการได้ลองใช้ผู้เล่นหน้าใหม่ก็มีอยู่ เพราะขุนพลทีมชาติชุดนี้คงพยายามจะพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อโอกาสที่จะมีลุ้นอยู่ในโผสำหรับการถูกเรียกตัวไปเล่นเกม ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ต่อไป ดังนั้นต้องเค้นฟอร์มที่ดีที่สุดออกมาแบบวิ่งกันลืมตาย ส่วนตัวของ มาโน ในการเป็นโค้ชก็จะได้เห็นการปรับใช้แท็คติกของเขาในการเจอกับเกมยาก ด้วยการมีทรัพยากรที่จำกัดในมือเช่นกัน
การตัดสินใจของโค้ช
แน่นอนว่าเรื่องราวทั้งหมดนอกจากจะมีจุดเริ่มต้นจากการบริหารจัดการของสมาคมฯ แล้ว มาโน ในฐานะเฮดโค้ชของ ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะการเรียกตัวนักเตะรอบนี้ ซึ่งขาดตัวหลักจากสโมสรใหญ่ๆ ในประเทศไทย เชื่อว่า มีการพูดคุยหลังบ้านกันเรียบร้อยกับทีมเหล่านนั้นแล้ว
แม้ว่ากฎของทาง ฟีฟ่า จะมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่า
"สโมสรต้องปล่อยนักเตะไปรับใช้ทีมชาติ หากนักเตะถูกสมาคมฟุตบอลนั้น ๆ เรียกติดทีมชาติ สโมสรกับนักเตะไม่สามารถทำข้อตกลงเพื่อปฏิเสธได้"
แต่หากทางโค้ชอย่าง มาโน เรียกกระทำการ ‘เลี่ยงบาลี’ เมื่อได้รับข้อมูลจากต้นสังกัดว่าไม่ปล่อยตัวแน่ ก็เลยไม่เรียกตัวมาติดทีมแต่แรก ทำให้กฎข้อนั้นไม่มีบทลงโทษตามมาภายหลัง เป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม แล้วยอมรับสภาพใช้งานนักเตะเท่าที่พอจะเรียกตัวมาใช้งานได้แน่ๆ
แม้ว่าจะมีการระบุเรื่องบทลงโทษเอาไว้ แต่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องนี้นั้นทำได้ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการบาดเจ็บทั้งเจ็บจริงและป่วยการเมือง รวมไปถึงการตกลงกันหลังบ้าน ขนาดคนคุมกฎเพื่อตรวจจับจาก ฟีฟ่า เกี่ยวกับประเด็นนี้พยายามทำงานอย่างหนัก ก็ยากที่จะตรวจจับเจอความผิดปกติ
ดังนั้นหากองค์กรใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องออกหนังสือรับรองมาแล้วว่า ทีมชาติไทยชุดนี้ คือ ทีมชาติ ชุดเอ เป็นทีมหลักที่ดีที่สุดจริงๆ ฟีฟ่า ก็จะยึดตามเอกสารนั้น เพราะสุดท้ายแล้วผลเสียที่เกิดขึ้นก็อาจเป็นฝั่งของทางประเทศเราเองที่ลงทุนไปถึงยุโรปแล้วไม่ได้อะไรกลับมา ซึ่งก็ต้องยอมรับตามหน้าเสื่อว่าทำงานแบบไหนก็ได้ผลตอบแทนกลับมาแบบนั้น
ซึ่งถ้าหากตัวของ มาโน ยังคงยอมทำตัวแบบที่ผ่านๆ มา หากผลงานการคุมทีมไม่เข้าตาขึ้นมาเมื่อไหร่? คนที่เดือดร้อนคงไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวของเขาเอง ที่จะกลายเป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในตอนจบเมื่อโดนตัดเกรด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.youtube.com/watch?v=tt6JOwLY0Vs
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สุภโชค ใส่เสื้ออาร์เซนอล เดินยิ้มแป้น ฉลองทีมรักชนะ แมนฯ ซิตี้ 1-0