เมื่อ เลสเตอร์ ตกชั้น : เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิต ศุภณัฎฐ์ เล่นในแชมเปี้ยนชิพได้ไหม ?
หลังจากจบเกมช้าง เอฟเอ คัพ นัดชิงชนะเลิศ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เปิดเผยว่าในซีซั่นหน้า ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา จะไม่ได้อยู่กับทีมเพราะย้ายไปค้าแข้งในยุโรปแล้ว
ทีมที่เป็นข่าวมาตลอดคือ เลสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องเวิร์กเพอร์มิตหรือใบอนุญาตทำงานถือเป็นสิ่งที่หลายคนเป็นห่วง ... และในวันนี้ที่ เลสเตอร์ ตกชั้นไปเล่นในลีกรอง ศุภณัฎฐ์ จะมีโอกาสผ่านเวิร์กเพอร์มิตมากขึ้นหรือไม่ ?
หาคำตอบได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
เวิร์คเพอร์มิตคืออะไร ?
เวิร์คเพอร์มิต คือใบขออนุญาตทำงานในประเทศนั้น ๆ สำหรับชาวต่างชาติ มันเป็นกฎหมายสากลที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาแย่งงานคนในประเทศ หรือ ทำสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อสังคม
กรณีของประเทศอังกฤษ นักฟุตบอลถือเป็นอาชีพหนึ่ง ดังนั้นการที่นักเตะสักคนจะย้ายมาเล่นที่นี่ พวกเขาจำเป็นต้องขอเวิร์คเพอร์มิตก่อน ยกเว้นนักเตะจากชาติที่อยู่ในสหภาพยุโรปด้วยกัน (EU) ที่สามารถลงเล่นได้เลย
ซึ่งกฎนี้ไม่ว่าจะในระดับพรีเมียร์ลีก แชมเปี้ยนชิพ หรือกระทั่งลีกวันและลีก 2 ใช้กฎเดียวกันหมด หนำซ้ำการตกชั้นของ เลสเตอร์ ยังทำให้โอกาสที่ ศุภณัฎฐ์ จะเล่นในลีกรองของอังกฤษยิ่งยากกว่าเดิม เพราะยื่นอุทธรณ์เป็นกรณีพิเศษได้ยากกว่าเนื่องจากค่าเหนื่อยที่ไม่มากเท่ากับระดับทีมพรีเมียร์ลีก (ยิ่งค่าเหนื่อยมากยิ่งมีโอกาสได้เวิร์กเพอร์มิต เพราะถือเป็นการการันตีฝีเท้าและรายได้ที่จะกลายเป็นภาษีกลับคืนสู่อังกฤษ)
ว่ากันต่อที่เรื่องเวิร์กเพอร์มิต เดิมทีนั้นลีกอังกฤษก็ไม่ได้เข้มงวดเรื่องนักเตะต่างชาติมากนัก เพราะค่านิยมของสโมสรในยุคก่อนคือการใช้นักเตะในสหราชอาณาจักรเป็นหลัก กระทั่งการถือกำเนิดของกฎบอสแมนในช่วงยุค 90 ที่อนุญาตให้นักเตะที่หมดสัญญาย้ายทีมได้อิสระ โดยไม่ต้องรอไฟเขียวจากต้นสังกัดอีกต่อไป ทีนี้นักเตะจากทวีปอื่นก็แห่กันย้ายมาค้าแข้งในลีกยุโรป
สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) จึงต้องควบคุมการหลั่งไหลเข้ามาของนักเตะต่างชาติ ด้วยการวางหลักเกณฑ์การยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตที่เข้มข้น เพื่อคัดกรองนักเตะที่มีคุณภาพจริง ๆ เข้ามาช่วยยกระดับการแข่งขันในลีกให้สูงยิ่งขึ้น
อีกเหตุผลคือ FA ไม่อยากให้สโมสรเอาแต่ดึงผู้เล่นต่างชาติเข้ามา จนนักเตะดาวรุ่งสายเลือดอังกฤษแท้ ๆ ไม่ได้รับโอกาสลงเล่นในเกมระดับสูง จนนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนทรัพยากรนักเตะ และส่งผลกระทบต่อทีมชาติอังกฤษในระยะยาว
เงื่อนไขสำคัญที่ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ ใช้พิจารณาการออกเวิร์คเพอร์มิตคือ ชาติของนักเตะคนนั้นต้องอยู่ใน 70 อันดับแรกของฟีฟ่าแรงกิ้ง และนักเตะต้องลงเล่นกับทีมชาติอย่างน้อย 75% จากจำนวนเกมทั้งหมดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้แน่ใจว่านักเตะที่ย้ายมาเป็นของจริง ไม่ใช่แค่ของเก๊ทำเหมือน
กรณีนักเตะจากชาติที่อยู่ในกลุ่มท็อป 70 แต่ลงเล่นไม่ถึง 75% ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ หนึ่งในนั้นคือการให้โค้ชทีมชาติมาให้คำมั่นว่า เขาจะใช้งานนักเตะในเกมทีมชาติมากขึ้นนับจากนี้ เหมือนกรณีของ วิลเลียน ย้ายจาก อันจิ มาคัชคาล่า มาเล่นกับ เชลซี ในปี 2013
ก่อนต่อมาในฤดูกาล 2015/16 สมาคมฟุตบอลอังกฤษตัดสินใจปรับเงื่อนไขคัดกรองนักเตะใหม่ เพราะรู้สึกว่ากระบวนการยื่นอุทธรณ์ไม่ได้มาตรฐานและง่ายเกินไป โดยยังคงพิจารณาสถิติติดทีมชาติในรอบ 2 ปีหลังสุด แต่แบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
- อันดับฟีฟ่า 1-10 ต้องลงเล่นอย่างน้อย 30%
- อันดับฟีฟ่า 11-20 ต้องลงเล่นอย่างน้อย 45%
- อันดับฟีฟ่า 21-30 ต้องลงเล่นอย่างน้อย 60%
- อันดับฟีฟ่า 31-50 ต้องลงเล่นอย่างน้อย 75%
ในกรณีที่ถูกปฏิเสธกลับมา สโมสรของนักเตะยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่คราวนี้คณะกรรมการจะพิจารณาเฉพาะคุณสมบัติของนักเตะ โดยไม่รับฟังความเห็นจากบุคคลรอบข้างอีกแล้ว ทำให้การจะอุทธรณ์ผ่านแต่ละครั้งยากขึ้น
“ระบบเก่าเปิดทางให้ครึ่งหนึ่งของนักเตะนอกทวีปยุโรปเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ และมีถึง 80% ที่ประสบความสำเร็จในการอุทธรณ์ มันจะเป็นแบบนี้ไม่ได้อีกในอนาคต” เกร็ก ไดค์ ประธาน FA ในเวลานั้น กล่าว
จากเดิมเอาเฉพาะนักเตะที่มาจากชาติติดท็อป 70 ก็ว่ายากแล้ว กลับกลายเป็นว่าเงื่อนไขใหม่เอาเฉพาะท็อป 50 ยิ่งเป็นเรื่องยากสำหรับนักเตะจากชาติที่มีแรงกิ้งต่ำแบบไทยเข้าไปอีก (ปัจจุบันรั้งอันดับ 111) และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ยังไม่เคยมีนักเตะจากแผ่นดินสยามไปค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกแม้แต่คนเดียว
กำแพงใหม่ที่ชื่อ GBE
ผลพวงจากการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการยื่นขอเวิร์คเพอร์มิตในอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่นักเตะจากทวีปอื่นที่ต้องผ่านกระบวนการนี้แล้ว แต่นักเตะจากทวีปยุโรปก็ต้องผ่านด้วยเช่นกัน
สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA), บริษัทพรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ (EFL) จึงต้องร่างเงื่อนไขคัดเลือกนักเตะขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยใช้ชื่อว่า GBE (Governing Body Endorsement) และประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2021 เป็นต้นมา
“สมาคมฟุตบอลอังกฤษ , พรีเมียร์ลีก และฟุตบอลลีกอังกฤษ บรรลุวัตถุประสงค์ในการใช้ระบบนี้ร่วมกัน เพื่อเปิดทางให้นักเตะที่ดีที่สุดเข้ามาค้าแข้งกับสโมสร และทำให้แน่ใจว่านักเตะท้องถิ่นจะได้รับโอกาส เพื่อเป็นการปกป้องทีมชาติอังกฤษ” แถลงการณ์ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ
GBE คือระบบคัดเลือกนักเตะที่ย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ลีก โดยจะพิจารณาคุณสมบัติของนักเตะแบบละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นสถิติติดทีมชาติชุดใหญ่, คุณภาพของสโมสรและลีกที่ย้ายมา, ผลงานของสโมสรทั้งในลีกและถ้วยระดับทวีป และผลงานส่วนตัวของนักเตะ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของนักเตะแบบรอบด้านแล้ว ระบบ GBE ก็จะคิดคะแนนออกมาตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยนักเตะต้องได้อย่างน้อย 15 คะแนน เพื่อผ่านเกณฑ์การขอเวิร์คเพอร์มิต ซึ่งข้อดีของมันคือเราสามารถคำนวณได้เลยว่าใครผ่านหรือไม่ผ่าน
ตัวอย่างเช่น นักเตะที่ย้ายมาจากลีกใหญ่ของยุโรปอย่าง บุนเดสลีก้า, ลาลีก้า, กัลโช่ เซเรีย อา และลีกเอิง หากพวกเขาได้ลงเล่นกับสโมสรเดิม 90-100% (จากจำนวนเกมทั้งหมดในรอบ 2 ปี) เขาก็จะได้รับไปแล้ว 12 คะแนน และถ้าเขาคนนั้นได้ลงเล่นในในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 90-100% ด้วย ก็จะได้รับไปอีก 10 คะแนน รวมเป็น 22 คะแนน ถือว่าผ่านเกณฑ์
ขณะเดียวกัน ระบบ GBE ยังคงให้ความสำคัญกับสถิติติดทีมชาติ หากนักเตะมาจากชาติที่อยู่อันดันท็อป 50 ของฟีฟ่า และได้ลงเล่นในเกมอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 70% ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เขาก็จะได้รับเวิร์คเพอร์มิตไปโดยอัตโนมัติทันที (Auto Pass) โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาคะแนน
กรณีนักเตะได้ไม่ถึง 15 คะแนน แต่ยังอยู่ในระหว่าง 10-14 คะแนน สโมสรสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมชุดพิเศษขึ้นมาพิจารณาเหมือนเดิม ส่วนใครที่ได้ต่ำกว่า 10 คะแนน ก็หมดสิทธิ์ที่จะได้ลงเล่นในลีกอังกฤษ
จะเห็นได้ว่า นักเตะที่ย้ายมาจากลีกใหญ่ของยุโรปและชาติใหญ่ ๆ แทบไม่ต้องลุ้นเรื่องเวิร์เพอร์มิตเลย ผิดกับนักเตะจากลีกเล็ก ๆ และทีมชาติที่มีอันดับต่ำ โอกาสที่จะเก็บให้ครบ 15 คะแนนตามเกณฑ์ก็ยิ่งยาก ยิ่งสโมสรและทีมชาติทำผลงานได้ไม่ดี ความยากก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
แต่ใช่ว่านักเตะจากลีกใหญ่ของยุโรปจะการันตีได้เวิร์คเพอร์มิตเสมอไป เพราะอย่างกรณีของ จัสติน ไคลเวิร์ต ที่ตกลงสัญญากับ ฟูแล่ม ได้แล้วในช่วงซัมเมอร์ ก็ถูกปฏิเสธจนไม่ได้ย้ายทีม เพราะเขาไม่ได้ลงเล่นกับ โรมา เลยในฤดูกาลนี้ คะแนนในส่วนนี้จึงหายไปและสุดท้ายก็เก็บคะแนนได้ไม่ถึงเกณฑ์
โอกาสของศุภณัฏฐ์
ดังนั้นหากจะบอกว่า GBE คือระบบคัดกรองนักเตะที่เข้มข้นที่สุดเท่าที่อังกฤษเคยมีมาคงไม่ผิดนัก เมื่อดูจากเคสของไคลเวิร์ต หรือแม้กระทั่ง ดิเอโก้ คอสต้า ที่ต้องรอลุ้นถึงชั้นอุทธรณ์ กว่าจะได้ย้ายมาอยู่กับวูล์ฟส์ ขนาดนักเตะระดับนี้ยังยาก แล้วเด็กไทยอย่าง ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา จะไม่ยิ่งหมดโอกาสเลยหรอ นี่คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคน หลังจากได้ฟังบทสัมภาษณ์ของ เนวิน ชิดชอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลผลิตจากอคาเดมี่ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้นี้ คือดาวรุ่งที่ดีที่สุดของไทย ณ เวลานี้ เขาได้ลงเล่นเกมไทยลีกตั้งแต่อายุ 15 ปี ได้ลงเล่นเกม เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ตอนอายุ 16 ปี กลายเป็นตัวหลักของสโมสรอันดับหนึ่งของเมืองไทยและมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 20
เมื่อดูจากดีกรีและผลงานที่เก่งกาจเกินอายุ ศุภณัฏฐ์นี่แหละที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะอันดับหนึ่งของทีมชาติไทยในอนาคต หากหมดยุคของ ธีราทร บุญมาทัน, ชนาธิป สรงกระสินธ์ หรือแม้แต่ สุภโชค สารชาติ ผู้เป็นพี่ชายแท้ ๆ
นี่คือเหตุผลที่บิ๊กบอสใหญ่ของปราสาทสายฟ้า มั่นใจว่า ศุภณัฏฐ์ มีโอกาสจารึกชื่อเป็นนักเตะไทยคนแรกในประวัติศาสตร์บนเวทีพรีเมียร์ลีก หลังได้ไปร่วมฝึกซ้อมกับ เลสเตอร์ ซิตี้ 2 รอบแล้ว โดยเฉพาะรอบล่าสุดนั้นสร้างความประทับใจให้กับสตาฟฟ์ของทีมชุด U-23 จนถูกขอให้อยู่ทดสอบฝีเท้าต่อ
เรื่องฝีเท้าไม่ใช่เรื่องน่าห่วง ด้วยวัยเพียง 20 ปี “เจ้าแบงค์” ยังสามารถพัฒนาได้อีกไกล เช่นเดียวกับรูปร่างที่ยังมีเวลาสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่งทัดเทียมนักเตะยุโรปได้ แต่ปัญหาคือการขอเวิร์คเพอร์มิต เพราะคุณสมบัติของเขาในตอนนี้ยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่อังกฤษตั้งไว้
แล้ว ศุภณัฏฐ์ ห่างไกลจากเกณฑ์มากแค่ไหน เราจะมาจำลองการคิดคะแนนในระบบ GBE เพื่อให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนไปเลย
1. สถิติในทีมชาติ : ไม่ได้คะแนนเพราะไทยอยู่อันดับต่ำกว่า 50 ในฟีฟ่าแรงกิ้ง
2. สถิติในสโมสร : ไทยลีกถูกจัดในลำดับสุดท้าย คะแนนสูงสุดที่จะได้คือ 2 คะแนน
3. สถิติลงเล่นถ้วยระดับทวีป : ถ้วย ACL ถูกจัดอยู่ในลำดับสุดท้ายของพีระมิด (อันดับ 6) คะแนนสูงสุดที่จะได้คือ 2 คะแนน
4. ผลงานในลีกของสโมสร : คะแนนสูงสุดที่ไทยลีกได้คือ 1 คะแนน
5. ผลงานถ้วยระดับทวีปของสโมสร : แชมป์ ACL ได้ 2 คะแนน, เข้ารอบรองฯได้ 1 คะแนน นอกเหนือจากนั้นไม่ไดคะแนน
6. คุณภาพของลีกที่ย้ายมา : ยึดตามข้อ 2 คือได้สูงสุด 2 คะแนน
เท่ากับว่า คะแนนสูงสุดที่ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา จะเก็บได้คือ 9 คะแนน (กรณีได้แชมป์ไทยลีก กับ ACL) ไม่ผ่านแม้แต่เกณฑ์ที่จะขอยื่นอุทธรณ์ด้วยซ้ำ แล้วมันหมายความว่า “เจ้าแบงค์” จะหมดโอกาสย้ายไปเล่นในพรีเมียร์ลีกแล้วหรือเปล่า ? คำตอบคือไม่ เขายังพอมีหนทางอยู่ แต่แค่จะไม่สามารถลงสนามได้ทันที
ต้องอธิบายก่อนว่า การเซ็นสัญญานักเตะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องขอเวิร์คเพอร์มิตก่อน และหากคุณสมบัติของนักเตะคนนั้นยังไม่ผ่านเกณฑ์จริง ๆ สโมสรก็จะใช้วิธีปล่อยยืมไปเล่นในลีกต่าง ๆ ของยุโรป ที่ไม่ได้มีระบบคัดกรองนักเตะเข้มงวดเหมือนอังกฤษ เพื่อสะสมคะแนนให้ผ่านเกณฑ์ของระบบ GBE
อย่าง คาโอรุ มิโตมะ ที่กำลังไปได้สวยกับไบรท์ตัน ก็ไม่ได้เวิร์คเพอร์มิตเช่นกัน ตอนย้ายมาจาก คาวาซาดิ ฟรอนทาเล่ ในเดือนมกราคม ปี 2022 เพราะเขาได้ลงเล่นแค่ในเจลีก ไม่มีประสบการณ์ในถ้วยสโมสรเอเชีย และติดทีมชาติญี่ปุ่นไปเพียงไม่กี่นัด คะแนนจึงไม่ผ่านเกณฑ์ GBE
ไบรท์ตันจึงส่ง มิโตมะ ไปเล่นกับ โรยัล ยูเนียน-แซงต์ กิลลัวร์ สโมสรพันธมิตรในลีกเบลเยี่ยม ด้วยสัญญายืมตัว 6 เดือนแทน นั่นทำให้ มิโตมะ ได้คะแนนเพิ่มอีกโข เพราะลีกเบลเยียมถูกจัดอยู่ในความยากลำดับ 2 ของพีระมิด และขอเวิร์คเพอร์มิตผ่านในที่สุด ขณะเดียวกัน นักเตะยังได้พัฒนาฝีเท้าจากการลงสนามอย่างสม่ำเสมอ
“มันเยี่ยมมากสำหรับตัวเขา และแซงต์-กิลลัวส์ เราดีใจมาก ๆ พวกเขากำลังไล่ล่าตำแหน่งจ่าฝูง มิโตมะเป็นนักเตะที่น่าตื่นตาตื่นใจจริง ๆ” แกรมห์ พ็อตเตอร์ อดีตกุนซือไบรท์ตัน กล่าวถึง มิโตมะ ที่ทำแฮททริคได้ในเกมลีกเบลเยี่ยม
คาโอรุ มิโตมะ คือกรณีศึกษาชั้นดี หากวันหนึ่ง ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ได้ย้ายไปอยู่กับ เลสเตอร์ ซิตี้ เพราะ เลสเตอร์ ก็มีทีมลูกอย่าง โอเอช ลูเวิน อยู่ในลีกสูงสุดของเบลเยี่ยมเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางช่วยให้ “เจ้าแบงค์” ได้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีก
แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องยากหากพิจารณาตามความจริง เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ศุภณัฏฐ์ จะทำได้แบบ มิโตมะ แต่อย่างน้อยมันก็ยังมีความเป็นไปได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คาเซมิโร แห่ง AFF : บทบาทกองกลางยุคใหม่ที่คลาสของ ธีราทร ตอบโจทย์ทุกข้อ
Inverted Wing Back : ตำแหน่งที่ทำให้ ธีราทร เล่นกองกลางได้เนียนตา
กรณีศึกษาจากต่างประเทศ : ไทยควรจัดการกับแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามอย่างไร ?
แหล่งอ้างอิง
https://www.inbrief.co.uk/football-law/footballer-work-permits/
https://www.thefa.com/news/2015/mar/23/england-commission-update-work-permits-fa-chairman-greg-dyke
https://theathletic.com/3554783/2022/09/06/brexit-transfers-clubs-work-permit/