เปิดมุมมอง 'SakeZa'นักพากย์อีสปอร์ตกับความหลงไหลในฟุตบอล
แม้ว่าโปรเจ็คท์ ‘Voice of Thai League’ เฟ้นหานักพากย์ฟุตบอลหน้าใหม่ เพื่อมาเป็น ‘เสียงใหม่ไทยลีก’ จะจบลงไปแล้ว พร้อมกับการได้ผู้ชนะสองรายที่ขับเคี่ยวตีคู่กันมาอย่างเมามัน เตรียมลงสนามจริงในเลกที่สองที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามใช่ว่าผู้ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายในโปรเจ็คท์ดังกล่าว จะมีความรู้ความสามารถที่ด้อยกว่า เพียงแต่ด้วยจังหวะและโอกาสอาจยังไม่เอื้อให้กับพวกเขาไปถึงฝั่งฝันในครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในคนที่ทำผลงานได้ดีมากๆ ในรอบ 5 คนสุดท้าย คือ ‘SakeZa’ - ธนณัฏฐพล จิรทีปต์ธิติวุฒิ นักพากย์อีสปอร์ตชื่อดัง ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้เช่นกัน
ความฝันของเขาเกี่ยวกับฟุตบอล มันมีจุดเริ่มต้นจากอะไร? วงการอีสปอร์ตในมุมมองของเขาเป็นแบบไหน? ทำไมความพ่ายแพ้ครั้งนี้ถึงไม่ได้ทำให้เขาผิดหวังขนาดนั้น? สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้รับกลับมาจากการแข่งขันครั้งนี้คืออะไร? ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษจากทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จุดพลิกผันในชีวิต
เสก เป็นเหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ ที่มีความชอบเกี่ยวกับ ‘กีฬาฟุตบอล’ อยู่เป็นทุนเดิม มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพจากการนั่งดูการถ่ายทอดสดแมตช์การแข่งขันต่างๆ ทั้ง บอลไทย และ บอลต่างประเทศ ตามโอกาสที่นักเรียนโรงเรียนประจำจะได้พักผ่อนหย่อนใจช่วงสุดสัปดาห์ แต่การที่มีคุณพ่อที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลระดับโรงเรียน มีการเตือนอยู่เป็นระยะให้รู้ตัวว่า ‘เส้นทางสายนี้มันไม่ง่าย’
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เสก กลับต้องมาเผชิญความโชคร้ายครั้งใหญ่ตั้งแต่เด็ก จากการประสบอุบัติเหตุทางรกยนต์ชนกับรถสิบล้อจนกระดูกคอเคลื่อน หนักขนาดเลื่อนไปอีกเซนติเมตรเดียวแพทย์ผู้ทำการรักษายืนยันว่าเสียชีวิตอย่างแน่นอน ทำให้เขาไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อีกต่อไป เพราะไม่สามารถโหม่งบอลได้
ด้วยใจที่ยังรักในกีฬา เสก หันไปเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่า แต่ยังไม่ละทิ้งความฝันเกี่ยวกับเกมลูกหนัง ในช่วงชีวิตที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชื่นชอบอะไร? เขาหันไปเรียนมหาวิทยาลัยในคณะ นิเทศศาสตร์ พร้อมกับมีความฝันใหม่ขึ้นมาว่า ถ้าเล่นฟุตบอลไม่ได้ แต่ใช่ว่าเราจะพากย์บอลไม่ได้
หลังจากนั้นเขาก็พยายามดูการประกวดต่างๆ ทางสาย ดีเจ ที่ได้รับความนิยมในยุคก่อน แพ้บ้าง ชนะบ้าง เข้ารอบสุดท้ายบ้าง เก็บคำแนะนำจากรุ่นพี่ในวงการที่ใช้ ‘เสียง’ เป็นจุดขาย นำมาพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อและงมงายเพียงแค่ว่า จากดีกรีการประกวดหลายเวทีที่ผ่านมา มันแสดงให้เห็นแล้วว่า ตัวเขาสามารถไปต่อในเส้นทางของการขาย ‘เสียง’ ได้แน่นอน
“เราได้คอมเมนท์จากคนที่ทำงานด้านนี้โดยตรงเรื่องของการขายเสียงว่า ตัวผมมีต้นทุนเสียงที่ดีอยู่กับตัว มันน่าจะไปได้เลยตามล่าประกวดตามเวทีต่างๆ เหมือนกับโปรเจ็คท์ เสียงใหม่ไทยลีก นี่ละครับ ผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้างมาเรื่อยๆ”
“สุดท้ายก็ได้โอกาสมาทำในเรื่องของการจัดรายการวิทยุจากผู้ใหญ่ที่หยิบยื่นมาให้ ทำเบื้องหลัง ทำอีเว้นท์ ทำพิธีกร เก็บประสบการณ์การทำงานด้านศาสตร์การใช้เสียงมาเรื่อยๆ”
ส่วนการเข้ามาสู่วงการอีสปอร์ต เสก ได้เข้าประกวดพิะีกร ROV Family เมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อน เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายก็จริงแต่ไม่ชนะ ซึ่งอย่างน้อยเขาก็ได้ถูกดึงตัวไปร่วมงานอยู่ดี พอทำงานได้ 6 เดือนบริษัทก็ต้องการตามหาแคสเตอร์พากย์เกม อีสปอร์ต ครั้งนี้เขาไปถึงฝั่งฝันคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้ แล้วก็ได้ทำงานในวงการมาจนถึงทุกวันนี้
มุมมองต่อวงการอีสปอร์ต
แม้ว่าแฟนๆ ในประเทศไทยเกี่ยวกับวงการ อีสปอร์ต จะมองว่าวงการนี้สามารถโตและไปได้ไกลกว่านี้ในบ้านเรา แต่ตัวของ เสก มองว่ายังมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพัฒนา ก่อนที่จะมองเป้าหมายไกลๆ เพราะวงการนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่แฟนๆ หรือนักแข่งเพียงอย่างเดียว
บริษัทผู้ผลิตเกมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะบางเกมใช้ต้นทุนสูงในการผลิต แต่กระแสความนิยมจากแฟนๆ ไม่ได้ มันก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ อีเว้นท์ต่างๆ ทั่วประเทศก็ลดลง การแข่งขันเพื่อชิงเงินรางวัลก็น้อยตามไปด้วย ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามกลไกของตลาด
แฟนๆ บางส่วนอาจมองภาพใหญ่ในระดับโลกว่า ชาตินั้น ชาตินี้ เขาหันไปเล่นเกมไหนกันแล้ว แต่ถ้าภาพรวมเกมนั้นในประเทศของเรามันยังไม่ได้รับความนิยมเพียงพอ กระแสมันยังไม่ได้ มันก็ยากที่จะไปได้ถึงภาพใหญ่นั้น บางชาติก็เล่นแค่บางเกม ใช่ว่าเกมทุกเกมจะได้รับความนิยมทั่วโลกเท่ากัน ดังนั้นการพัฒนาต้องเริ่มต้นจากภาพเล็กที่เป็นเวทีในประเทศก่อน
มุมมองส่วนตัวของ เสก ถึงวงการ อีสปอร์ต ทุกวันนี้ในบ้านเราคิดว่า
“ผมไม่ได้มองมันเป็นเกมอีกต่อไปแล้ว มันคือกีฬาชนิดหนึ่ง ซึ่งแข่งขันผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ หากเป็นกีฬาชนิดอื่นๆ อาจมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบของต้นทุนร่างกาย แต่วงการนี้ไม่มีทุกคนมาเท่ากันหมดขึ้นอยู่กับฝีมือ การฝึกซ้อม และการดูแลสุขภาพให้พร้อมกับการแข่งขัน เพราะบางทัวร์นาเมนต์ใช้เวลาแข่งมากกว่าเตะฟุตบอลหนึ่งแมตช์เสียอีก”
“การฝึกฝนของน้องๆ ที่เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตมืออาชีพวันนึงอาจหนักกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ เสียอีก เนื่องจากอย่างน้อยต้องใช้เวลาราว 8-12 ชั่วโมงต่อวันเพื่อฝึกฝนทักษะ ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ ต้องมีวินัย อยู่แคมป์ โปรเพลเยอร์กับนักกีฬาสมัครเล่นใช้เวลาในส่วนนี้แตกต่างกันเยอะมาก คอนดิชั่นการตกลงกับต้นสังกัดก็สำคัญเพราะต้องเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน ประสาทสัมผัสของเด็กวัย 15-16 ปีจะเร็วกว่าช่วงวัยอื่น ดังนั้นนักกีฬาบางคนต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง”
หลายครอบครัวเปลี่ยนความคิดจากการมอง อีสปอร์ต ว่าเป็นแค่เกม หลังจากได้มาสัมผัสจริงๆ ว่า ตัวลูกของเขาที่เป็นนักกีฬา ต้องอยู่ในระเบียบ เข้าโปรแกรมการฝึกซ้อม ทำกิจกรรมอะไรบ้างในแต่ละวัน พ่อ-แม่ อาจยอมรับว่า ลูกของเขาอาจมีพรสวรรค์กับการเล่นเกมจริงๆ ซึ่งถ้ามองว่า ฟุตบอล คือ ‘เกมการแข่งขันรูปแบบหนึ่ง’ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเคยมีคนใช้คำว่าเกมกีฬาฟุตบอลให้เห็นกันอยู่
ถ้า อีสปอร์ต มันเป็นแค่เกมจริงๆ คงไม่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับนักกีฬาได้เหมือนอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ นักกีฬาชั้นนำของโลกเปลี่ยนชีวิตตัวเองจาก ‘เกม’ ก็มีให้เห็นกันมาแล้วนักต่อนัก บางคนรายรับอาจมากกว่าดาราบางคนเสียอีก มันเป็นเวทีที่สามารถให้โอกาสพลิกชีวิตคนได้ ไม่ใช่ว่าเรียนจบมาแล้วกลายเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วๆ ไป
ประสบการณ์จาก Voice of Thai League
ด้วยกสายงานที่ เสก ทำอยู่ทำให้เขามีเวลาเตรียมตัวกับ โปรเจ็คท์ Voice of Thai League น้อยมากๆ แต่ด้วยความรักและหลงใหลในกีฬาฟุตบอล แม้ว่าจะเคยเข้าสนามไปชมบอลไทยในชีวิตนี้เพียงไม่กี่แมตช์ แต่ตัวเขาก็พยายามจะหาเวลาที่เป็นช่วงว่างไปให้ได้หลังจากนี้ เพราะประทับใจในบรรยากาศที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเรา
เขาเป็นเด็กที่คลั่งไคล้ฟุตบอลทั้งบอลไทยบอลนอกมาตั้งแต่ยุคของ อัลเฟรด-เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ นักเตะไทยที่เขาชื่นชอบมากที่สุด ตามดูการแข่งขันของ บีอีซี เทโรศาสน ที่ยังฉายตามฟรีทีวี แข่งทายชื่อนักเตะกับเพื่อนๆ กับรุ่นพี่ แล้วก็เวลาที่หมกมุ่นกับสิ่งนี้ก็หายไปตามภาระหน้าที่ของการทำงานที่เติบโตไปตามวัย
พอได้เข้ามาพากย์เกม อี-ฟุตบอล ที่ใช้ ไทยลีก เป็นทีมที่ผู้เล่นใช้ในการแข่งขัน แพสชั่นต่างๆ ที่เคยจางหายไปก็กลับมา จนทำให้เขาตัดสินใจอัดคลิปส่งประกวดในคืนรองสุดท้ายตอนตีสี่ กว่าจะเสร็จทุกอย่างก็เป็นช่วงเช้า เพราะไม่อยากเสียดายโอกาส รวมไปถึงคำแนะนำจากเพื่อนๆ ในวงการให้ลองดู
เสก ไม่ได้ใช้คอนเนคชั่นส่วนตัวใดๆ ในการให้คนมาไลค์ มาช่วยแชร์ หรือบอกเพื่อนๆ ในวงการที่มีชื่อเสียงให้มาช่วยดันยอดคลิปของเขาแม้แต่คนเดียว เนื่องจากอยากให้งานที่ออกมานั้นเป็นตัวตัดสินผลงานของตัวเองว่าทำได้ดีมากแค่ไหนแบบแฟร์กับผู้เข้าแข่งขันทุกคนในโครงการ
สิ่งที่เขาเสียดายมากที่สุดในโครงการนี้ คือ การพลาดเข้าร่วม Academic Day เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขันวันจริงในรอบ 20 คนสุดท้าย เนื่องจากติดงานที่รับไปล่วงหน้าแล้ว ตัวเขามองว่าองค์ความรู้จากวิทยากรหรือผู้ตัดสินที่เชิญมาในวันดังกล่าว จะช่วยเปิดมุมมองและให้ประสบการณ์กับตัวเขาแบบที่หาจากไหนไม่ได้
เขาถูกอบรมสั่งสอนภาพของผู้บรรยายจากครูบาอาจารย์มาหลายแขนง แล้วเขาก็ขอบคุณทุกประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับมาจนสร้างให้เป็นตัวเขาในทุกวันนี้ โดยมีทัศนคติในการทำงานออกมาให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ต้องทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่
คนอื่นๆ อาจตีความการแข่งขันวันสุดท้ายว่าเป็นการ แบทเทิล ขับเคี่ยวกันจนหาผู้ชนะเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย แต่ตัวของ เสก กลับมองว่าเป็นการทำงานชิ้นหนึ่งร่วมกันมากกว่า โดยมีเป้าหมายให้กรรมการเห็นว่า คู่ของเขาแสดงศักยภาพในการร่วมงานกันออกมาได้ดีแค่ไหน? พอจบแล้วเดินออกมารู้สึกว่าไม่เสียใจ
พอพลาดการไปเข้าร่วม Academic Day ทำให้ เสก ต้องเข้าร่วมการแข่งขันในวันชี้ชะตาแบบสู้ชีวิตพอสมควร เนื่องจากต้องสู้ในสิ่งที่เขามีอยู่เป็นต้นทุนเท่านั้น ไม่มีอะไรเพิ่มเติมเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เท่ากับคนอื่นๆ ที่ได้รับคำแนะนำมาในวันนั้น ซึ่งพอประกาศชื่อผู้ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย ความรู้สึกแวบแรกที่เข้ามาในหัวนั้นแตกต่างกับสิ่งที่คนอื่นๆ คิดแน่นอนเพราะว่า
“ผมรู้สึกเสียใจนะเอาจริงๆ รู้มัยว่าทำไมผมเสียใจ ผมเสียใจเพราะผมไม่ได้เข้ารับการอบรม ผมไม่คิดว่าผมจะเข้ารอบด้วยซ้ำ แค่ออกไปแสดงศักยภาพทำงานชิ้นนั้นออกมาให้ดีที่สุด มีน้องมาปรึกษาผมก็บอกไปว่า ตอนนี้มันไม่ใช่การแข่งขันแล้ว มันเป็นกำไรให้ทุกคนตักตวงเอาประสบการณ์ ใครที่พร้อมที่สุดในการจะไปทำงานด้วยระยะเวลาอันสั้นคนนั้นก็ได้ไปแค่นั้นเอง”
“ผมกลัวด้วยซ้ำตอนก้าวออกไปแข่งเพราะบางคนที่รู้จักเราในฐานะผู้บรรยายอีสปอร์ต ทำให้เขารู้ถึงมาตรฐานของเรา แล้วผมกลัวว่าในวันนั้นอาจจะทำงานออกมาได้ไม่ดี แต่พอทุกอย่างจบลงผมก็รู้สึกโล่งใจว่าทำได้ดีกว่าที่คิดไว้ แล้วคงไม่มีฟีดแบ็คกลับมาว่า คนนี้เจอมาแล้วพากย์จริงก็ไม่เท่าไหร่”
สุดท้าย เสก ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเดินบนเส้นทางสายนักพากย์เอาไว้ว่า มันมีความท้าทายที่น่าสนใจอย่างนึงในวงการอีสปอร์ต ถ้าได้พากย์คู่ชิง คู่ใหญ่ เรื่องคนเข้ามาดูจำนวนมากมันตัดสินงานของเราไม่ได้ ดังนั้นนักพากย์ที่ได้งานคู่รองๆ ไม่ควรไปน้อยใจกับเรื่องพวกนั้น
การได้พากย์คู่เล็กๆ แต่สามารถทำออกมาได้ดีจนคนดูเข้ามาชมกันเท่าๆ กับคู่ชิง ถ้าเป็นแบบนั้นจึงจะเป็นสิ่งตัดสินว่า ‘คุณทำมันออกมาได้ดีจากตัวเนื้องานจริงๆ ทำให้สิ่งที่อาจไม่น่าสนใจมาก กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจได้’ ซึ่งถ้ามีโอกาสในปีต่อๆ ไปในการเข้าร่วมโครงการ Voice of Thai Laeague จะกลับมาแก้ตัวอีกครั้งอย่างแน่นอน แล้วถ้าหากได้เตรียมตัวอย่างเต็มประสิทธิภาพ ผลการตัดสินอาจจะพลิกโฉมหน้าไปอีกแบบก็เป็นได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์ส่วนตัว
ข่าวและบทความล่าสุด