เปิดรายละเอียดคอร์สฝึกจิต ‘อิชิอิ’ เรียนไปเพื่ออะไร?
หลังจากที่ มาซาทาดะ อิชิอิ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เข้ามารับตำแหน่งและทำงนอย่างเป็นทางการ แม้ว่าโปรไฟล์และความสำเร็จที่ผ่านมาของเขา จะเป็นตัวชี้วัดแล้วว่าเป็นโค้ชที่ ‘มีของ’ แต่ตัวของเขาไม่เคยคิดที่จะหยุดพัฒนาตัวเอง แถมยังมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับทัพ ‘ช้างศึก’ อย่างเต็มที่
ล่าสุดจากการนำเสนอข่าวจากสื่อกีฬาในประเทศไทยเจ้าดัง อิชิอิ ได้ไปเข้าคอร์สเรียนเพิ่มเติมกับสถาบันที่มีชื่อว่า ‘Mental Vision Training’ หรือ ศูนย์ฝึกวิสัยทัศน์ทางจิตใจ กับทางนักจิตวิทยาชื่อว่าคุณ มาซามิ ที่เป็นผู้ดูแลโปรแกรมต่างๆ โดยตรงในคอร์สนี้
ก่อนหน้านี้ทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง เคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของ ‘นักจิตวิทยา’ ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับวงการฟุตบอลทั่วโลกไปแล้ว ซึ่งพอทาง อิชิอิ เลือกที่จะไปเข้าคอร์สทางด้านการพัฒนาจิตใจโดยตรง ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญว่า ทีมชาติไทย ไม่สามารถมองข้ามส่วนนี้ไปได้
รายละเอียดโปรแกรมต่างๆ ในภาพรวมจะเป็นการฝึกเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง? สาเหตุที่ต้องเข้าคอร์สนี้เป็นเพราะอะไร? ประโยชน์ที่จะนำกลับมาช่วย ทีมชาติไทย ได้จะเป็นส่วนไหน? สามารถติดตามข้อมูลทั้งหมดได้ในบทความนี้
เรียนไปทำไม?
การเข้าอบรมและฝึกวิสัยทัศน์ด้านจิตใจ มีแนวคิดมาจากการพัฒนาระบบความคิดของสมองมนุษย์ เพื่อจัดระเบียบไอเดียและเรื่องราวต่างๆ ที่ฟุ้งอยู่ให้ถูกจัดเรียงความสำคัญอย่างเป็นระบบ อย่างเช่น การชั่งน้ำหนักความสำคัญของปัญหาต่างๆ เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด เป็นต้น
ศูนย์ฝึกด้านจิตใจที่มีนักจิตวิทยาคอยดูแลผู้เข้ารับการอบรม ไม่ได้เปิดขึ้นมาเฉพาะทางเพื่อวงการใดวงการหนึ่ง แต่ทุกคนที่ทำงานภายใต้ความกดดันสูงๆ สามารถมาเข้าฝึกโปรแกรมที่ถูกออกแบบมาของแต่ละศูนย์ฝึกได้หมด ซึ่งสถาบันต่างๆ นั้นมีกระจายอยู่ทั่วโลก รูปแบบการอบรม ความสั้นยาวของแต่ละคอร์ส และกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกจัดวางมาย่อมแตกต่างกันออกไป
โปรแกรมการฝึกจิตใจนี้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้เข้ารับการอบรม เพื่อดึงศักยภาพทางความคิดและความสามารถของพวกเขาออกมาได้สูงสุด แล้วนำไปใช้สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เพื่อนร่วมบริษัทที่ต้องแข่งขันกันในองค์กร
โดยทาง เจ-วรปัฐ อรุณภักดี ได้มีการเผยข้อมูลเชิงลึกที่ไปสืบเสาะรายละเอียดต่างๆ มาเปิดเผยผ่านทางช่อง Think Curve - คิดไซด์โค้งเอาไว้ว่า
“โปรแกรมนี้เป็นการหวังผลเพื่อปรับสภาพจิตใจ ก่อนจะนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับลูกทีม กิจกรรมที่ได้เข้าร่วมมีทั้ง การตัดสินใจแบบเฉียบพลันด้วยการบวกเลขให้ถูกในช่วงเวลาไม่กี่วินาที และ การฝึกความทรงจำจากการจำสัญลักษณ์ภาพและตำแหน่งที่อยู่ เป็นต้น”
“บางทีคนเรามีสมองที่มีศักยภาพทำงานได้อยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้วเราใช้งานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการเข้าคอร์สนี้มีความมุ่งหวังเพื่อดึงประสิทธิภาพการทำงานของสมองและมุมมองของนักเตะทีมชาติไทย ให้เห็นภาพรวมในการแข่งขันจริงที่กว้างและรอบด้านมากขึ้น”
การเรียนการสอนจะเริ่มต้นตั้งแต่ การฝึกควบคุมอารมณ์, การแสดงออกทางภาษากาย, การหายใจเพื่อสร้างสมาธิ, การสื่อสารออกมาให้ตรงตามความคิดที่แท้จริงที่ต้องการจะสื่อสารออกมา และ การสร้างภาพจำลองจากจินตนาการในสมองให้เป็นภาพจริงที่เกิดขึ้นได้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับผู้ฝึกอบรมคนนั้นๆ
บางศูนย์ฝึกอาจมีระยะเวลาเข้ารับการอบรมในส่วนนี้ถึง 3 สัปดาห์ มีกิจกรรมที่ถูกออกแบบให้เข้ากับสิ่งที่นักจิตวิทยาต้องการจะสอนต่างกันออกไปในแต่ละวัน ซึ่งทุกกิจกรรมจะมีความเชื่อมโยงกันไปเป็นลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ประโยชน์ที่จะได้
การทำงานของ อิชิอิ กับ ทีมชาติไทย ถือเป็นบทบาทที่ต้องมองภาพรวมงานที่ได้รับมอบหมายกว้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือสร้างนักเตะ การวางแผนในการเล่นบนทัวน์นาเมนต์ต่างๆ และ การรับแรงกดดันจากแฟนบอลกับผู้บริหารที่วางเป้าหมายให้กับเขาทั้งระยะสั้นและยาว
ความพ่ายแพ้ หรือ ความผิดหวังต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจของหัวเรือไม่มากก็น้อย ดังนั้นเขาจำเป็นต้องควบคุมจิตใจและการแสดงออกทางภาษากายให้ออกมาในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกทีมมีความเชื่อมั่นในแนวทางของเขา จากการแสดงทัศนคติออกไปในเชิงบวกอยู่เสมอ
โปรแกรมฝึกจิตใจของ อิชิอิ จะช่วยให้ตัวเขามีความมั่นใจมากขึ้น ตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้เฉียบคมมากขึ้น และ มีความเยือกเย็น นิ่ง ไม่สั่นไหว หากต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ในสถานการณ์ที่อาจต้องเสี่ยงเพื่อการพาทีมคว้าชัยชนะบนรายการชี้ชะตาอย่างเช่น ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย เป็นต้น รวมไปถึงการรับมือกับแรงกดดันต่างๆ รอบด้านได้แบบไม่มีอาการหวั่นไหว
ส่วนโปรแกรมการฝึกซ้อมของทาง อิชิอิ ที่ใช้ในช่วงทัวร์นาเมนต์ล่าสุด เจ-วรปัฐ อรุณภักดี ได้มีการวิเคราะห์รายละเอียดแบบลงลึกเอาไว้ว่า
“หากสังเกตกันดีๆ ในการฝึกซ้อมช่วงทัวร์นาเมนต์ เอเชียน คัพ ที่ผ่านมา อิชิอิ ใช้วิธีให้ลูกทีมเล่นลิงชิงบอลจังหวะเดียวด้วยเท้าข้างที่ไม่ถนัดเป็นหลัก เพื่อปรับสมดุลย์ร่างกายให้มีการเคลื่อนไหวที่ยืดหยุ่น และใช้ศักยภาพของร่างกายได้ครบทุกส่วนให้มากที่สุด”
“เพราะเขามองว่าหากทุกคนสามารถพัฒนาทักษะในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้นักเตะทีมชาติไทย มีความหลากหลายในการเล่นมากขึ้น อย่างเช่น ถ้าเราใช้เท้าขวาเพียงแค่ข้างเดียว เราก็จะมีมิติในการเล่นฟุตบอลด้านเดียว ดังนั้นเขาคงอยากให้นักเตะฝึกเท้าที่ไม่ถนัดหรือร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้ให้ชินที่สุดเพื่อที่จะอ่านเกมและรู้จักวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีมากขึ้น”
กิจกรรมต่างๆ และการฝึกสอนจากนักจิตวิทยา ต้องถูกนำมาปรับใช้ได้ในสถานการณ์จริง ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องมารอดูกันอีกทีว่า เซนเซย์ อิชิอิ จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในส่วนของการทำงานให้พัฒนาไปมากแค่ไหน? นำไปปรับใช้กับโครงสร้างทีมชาติชุดใดได้บ้าง? ถึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด
หลังจากนี้ ซึ่งสิ่งที่ชี้วัดได้ดีที่สุดคงไม่พ้นผลงานของขุนพล ทีมชาติไทย ที่เตรียมลงทำศึกนัดสำคัญในการออกไปเยือน ทีมชาติเกาหลีใต้ ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2567
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.youtube.com/watch?v=Y86jbxDYi8M
https://www.siamsport.co.th/football-thailand/thai-national/44041/