เปิดตำราซามูไร : ทีมชาติญี่ปุ่นใช้นักเตะลูกครึ่ง "เหมือนหรือต่าง" จากไทยอย่างไร?
นักเตะลูกครึ่ง กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลัง นวลพรรณ ล่ำซำ ต่อสายตรงชวน เอริค คาห์ล แข้งลูกครึ่งไทย-สวีเดน มาเล่นให้ทีมชาติไทยในศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ที่กำลังจะมาถึง
อันที่จริง “ช้างศึก” ไม่ใช่ชาติเดียวที่ใช้บริการนักเตะลูกครึ่ง เพราะแม้แต่ญี่ปุ่นเอง ก็มีนักเตะเลือดผสมเข้ามาติดทีมชาติอยู่ไม่น้อย และเคสล่าสุดก็คือ ไซออน ซูซูกิ ผู้รักษาประตูเชื้อสายกานา ที่ได้ลงเฝ้าเสาในเกมพบ ตูนีเซีย เมื่อเร็วๆนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกใช้นักเตะดาวรุ่งของญี่ปุ่นนั้นเหมือนหรือต่างจากไทยแค่ไหน และเพราะอะไรจึงเป็นแบบนั้น?
ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
เหมือนหรือต่าง?
อันที่จริงการพยายามยกระดับทีมชาติ ด้วยการเรียกตัวผู้เล่นมาจากที่อื่น ไม่ใช่โมเดลที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่หลายชาติทำมาหลายสิบปี เช่นกันสำหรับญี่ปุ่น ที่มีทั้งเปลี่ยนสัญชาตินักเตะบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น, โอนสัญชาติแข้งต่างชาติ มาจนถึงใช้บริการนักเตะลูกครึ่ง หรือที่เรียกกันว่า (ハーフ)
มันคือเทรนด์ที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับในช่วงทศวรรษ 2000 หลังจากได้ชิมลางลองใช้แข้งโอนสัญชาติอย่าง รุย รามอส, วากเนอร์ โลเปซ หรือ อเลสซานโดร ซานโตส แล้วค่อนข้างประสบความสำเร็จ
และหนึ่งในนักเตะลูกครึ่งยุคแรก ๆ ที่ติดทีมชาติญี่ปุ่นก็คือ มาร์คุส ทูลิโอ ทานากะ เขาเกิดที่บราซิล โดยมีแม่เป็นชาวบราซิล เชื้อสายอิตาเลียน ส่วนพ่อคือคนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นรุ่นที่สอง
ตอนมัธยมปลาย ทูลิโอ ได้ย้ายมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น และสามารถพัฒนาฝีเท้าจนได้เซ็นสัญญากับทีมในเจลีก ก่อนจะเป็นกำลังสำคัญให้กับทัพซามูไรบลูตั้งแต่ปี 2006-2010 รวมถึงเป็นหนึ่งใน 23 ขุนพลสุดท้ายชุดฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้
ทั้งนี้ หลังจาก ทูลิโอ ก็มีนักเตะลูกครึ่งถูกเรียกมาติดทัพซามูไรบลู อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยุค 2010s อย่างโกโตคุ ซาไก (ลูกครึ่งเยอรมัน) หรือชุดปัจจุบันอย่าง อาโดะ โอไนวู (ไนจีเรีย), มุซาชิ ซูซูกิ (จาไมกา) และ ดาเนียล ชมิดท์ (อเมริกัน)
แถมล่าสุดพวกเขาก็เพิ่งจะให้โอกาส ไซออน ซูซูกิ ผู้รักษาประตูลูกครึ่งจาไมก้า-ญี่ปุ่น ที่ลงสนามในนามทีมชาติชุดใหญ่นัดที่ 2 ในเกมกับ ตูนีเซีย และทำผลงานได้เลว รักษาคลีนชีทได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การใช้ผู้เล่นลูกครึ่งของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ส่วนใหญ่มักจะเลือกนักเตะที่เกิดหรือเติบโตในญี่ปุ่น ต่างจากไทยที่นิยมเสาะหาแข้งเชื้อสายที่เล่นอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็น โอไนวู ก็เกิดที่ไซตามะ หรือ ซาไก ที่แม้จะเกิดที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็ย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นตั้งแต่ 2 ขวบ และเล่นให้ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ตั้งแต่ชุดเยาวชน เช่นกันกับ มูซาชิ ซูซูกิ ที่มาใช้ชีวิตนักเรียนที่ญี่ปุ่น และได้ลงเล่นในฟุตบอลชองแชมป์ฤดูหนาวแห่งชาติ
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?
ตัวเสริม
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่ค่อยเลือกใช้นักเตะที่เติบโตในต่างแดน ก็คือความแตกต่างทางวัฒนธรรม เนื่องจากญี่ปุ่น เป็นชาติที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ทำให้พวกเขามีความภาคภูมิใจกับนักเตะญี่ปุ่นแท้ หรือลูกครึ่งที่เติบโตมากับวัฒนธรรมของพวกเขา
สิ่งนี้มาจากการชีดเส้นระหว่าง “คนนอก” และ “คนใน” อย่างชัดเจน กล่าวคือ ชาวญี่ปุ่นจะถือว่าคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขญี่ปุ่น ที่เกิดในญี่ปุ่น คือพวกเดียวกับพวกเขา ส่วนต่างชาติที่ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นอยู่หลายสิบปี ยังไงก็ไม่ใช่พวกเขาอยู่ดี
หรือบางครั้ง แม้แต่ลูกครึ่งเอง ก็ยังถูกมองว่าเป็นคนนอก ที่ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะเหล่าลูกครึ่งที่มีสีผิวไม่เหมือนคนญี่ปุ่น
“ผมได้ยินเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อนักเบสบอลและนักฟุตบอลลูกครึ่งในระดับรากหญ้าเป็นจำนวนมาก” ไทซูเกะ มัตสึโมโต ทนายความ และสมาชิกของคณะกรรมาธิการสภากีฬาแห่งชาติของญี่ปุ่น กล่าวกับ Play The Game
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ญี่ปุ่น เชื่อใจในระบบพัฒนานักเตะของตัวเอง ที่มีจำนวนมากพอและเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ
ระบบเยาวชนญี่ปุ่น ไม่ได้มีอคาเดมีของสโมสรในเจลีกเป็นตัวแบกเพียงอย่างเดียว พวกเขายังมีชมรมฟุตบอล ที่มีทั้งระดับประถม มัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัย เป็นอีกตัวช่วยในการขับเคลื่อน และขัดเกลาฝีเท้า
“ผู้เล่นสามารถพัฒนาในระบบใดก็ได้ที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุด” แดน ออโลวิตช์ นักข่าว Japan Times ผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ Anadolu Agency ของตุรกี
“ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ คาโอรุ มิโตมะ เขาได้รับการเสนอสัญญาอาชีพจาก คาวาซากิ ฟรอนทาเล ตอนอายุ 18 แต่เขาก็ตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเขาคิดว่ายังไม่พร้อม”
ทั้งนี้ พวกเขารู้ดีว่าการพึ่งพานักเตะโอนสัญชาติ หรือนักเตะลูกครึ่ง มันเป็นแค่ทางลัดที่เอาไว้แก้ปัญหาชั่วคราว ญี่ปุ่นจึงมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบสร้างนักเตะ เพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่น ไม่ได้ปิดกั้นผู้เล่นลูกครึ่ง ที่เห็นได้จากการมีผู้เล่นเลือดผสมเข้ามาเล่นในทีมชาติอย่างไม่ขาด แต่พวกเขาเหล่านั้น หากไม่ได้มาจากระบบเยาวชนญี่ปุ่น ก็ต้องเก่งพอที่จะเบียดแย่งตำแหน่งจากผู้เล่นญี่ปุ่นแท้ ๆ
สำหรับพวกเขา ผู้เล่นเหล่านี้คืออาวุธลับ คือตัวเสริมที่จะเข้ามาอุดรอยรั่วในตำแหน่งที่ขาดแคลน มากกว่าจะเป็นตัวหลัก ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญไว้แรกสุด
อันที่จริง การใช้นักเตะลูกครึ่งของทีมชาติไทย ไม่ได้เป็นเรื่องผิด เพราะทีมชั้นนำของโลกหลายทีมก็ใช้กัน แต่ขณะเดียวกัน เราก็ควรพัฒนาระบบการสร้างนักเตะให้มีคุณภาพไปพร้อมกัน
เพราะหากมีระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพานักเตะลูกครึ่งด้วยซ้ำ เนื่องจากบางทีฝีเท้าอาจจะไม่ได้เก่งไปกว่านักเตะในประเทศมากนัก
มันคือความยั่งยืนที่จะทำให้เราก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง แทนที่จะมาหวังพึ่งพาตัวละครลับจากยุโรป ที่เข้าตาบ้าง ล้มเหลวบ้าง ราวกับ สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ต้องคอยลุ้นในทุกครั้งที่เวียนมาถึง
แหล่งอ้างอิง
https://www.playthegame.org/news/mixed-blood-athletes-challenge-old-myths-in-japan/
https://edition.cnn.com/2020/09/22/asia/japan-mixed-roots-hafu-dst-hnk-intl/index.html
https://ono9n.com/【10分でわかる】ルーツは様々!ハーフの日本人サ/
https://apnews.com/article/sports-soccer-brazil-international-3663cb5695961cd4fbe24df662d414c2