เปิดทางรอด 'เชียงใหม่ เอฟซี' 'ไปต่อ' หรือ 'ปิดตำนาน'? หลังคลับไลเซนซิ่ง 'มีปัญหา'

เปิดทางรอด 'เชียงใหม่ เอฟซี' 'ไปต่อ' หรือ 'ปิดตำนาน'? หลังคลับไลเซนซิ่ง 'มีปัญหา'
นันทน์ภูมิ พุทธิพงษ์

ผลการพิจารณาออกใบอนุญาตสโมสร (คลับ ไลเซนซิ่ง) ของคณะกรรมการออกใบอนุญาตสโมสร (FIB) ออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว โดย เชียงใหม่ เอฟซี ถูกคณะกรรมการ FIB ตัดสินว่า 'ไม่ผ่าน' สำหรับการเล่นในระดับไทยลีก 2

แต่กระนั้นใช่ว่าเวลานี้ เชียงใหม่ เอฟซี จะไม่มีทางรอด เมื่อจะต้องเร่งส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ภายในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ มิเช่นนั้น ทีมจะไม่ได้สิทธิ์เล่นในระดับไทยลีก 2 จริงๆ

แต่โอกาสรอดของทัพพยัคฆ์ล้านนามีมากแค่ไหน อะไรจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขาอยู่รอด ติดตามได้ผ่าน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

สถานการณ์ล่าสุด

เชียงใหม่ เอฟซี ทีมดังในศึกไทยลีก 2 ติดปัญหาเรื่องคลับไลเซนซิ่งใน 2 ประเด็นหลัก นั่นคือ “หลักเกณฑ์ด้านโครงสร้าง” และ “หลักเกณฑ์ด้านการเงิน” ซึ่งหากว่ากันจริง นับว่าเป็นปัญหาคลาสสิกที่หลายทีมในไทย แม้กระทั่งทีมในไทยลีกเอง ก็เป็นปัญหาใหญ่และผ่านคลับ ไลเซนซิ่งแบบ ‘มีเงื่อนไข’

โดยผลการพิจารณาล่าสุดของทาง FIB มีหลายทีมในไทยลีก 2 ในฤดูกาลที่ผ่านมา มีถึง 5 ทีมที่มีปัญหาเรื่องคลับ ไลเซนซิ่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ เอฟซี, สมุทรปราการ ซิตี้, เกษตรศาสตร์ เอฟซี, คัสตอม ยูไนเต็ด และ แพร่ ยูไนเต็ด ซึ่งทั้ง 5 ทีมจะต้องยื่นเอกสารเพื่ออุทธรณ์

ซึ่ง เชียงใหม่ เอฟซี จะต้องยื่นอุทธรณ์ 2 เรื่องดังกล่าวไปทางคลับ ไลเซนซิ่ง ภายในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งหากไม่มีการส่งเอกสารอุทธรณ์ตามที่กำหนด จะทำให้เชียงใหม่ เอฟซี จะถูกปรับตกชั้นสู่ไทยลีก 3 โดยทันที ซึ่งในกรณีนี้ ทีมจะต้องเร่งทำคลับ ไลเซนซิ่ง ในระดับไทยลีก 3 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567

สนามสำรองไม่มี

2 หลักเกณฑ์ที่เชียงใหม่ เอฟซี มีปัญหา นั่นคือ หลักเกณฑ์ด้านโครงสร้าง ที่ตอนแรก ทีมส่งสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เป็นสนามหลักของทีม ซึ่งในกรณีที่ทำคลับ ไลเซนซิ่ง ไทยลีก ผ่าน ก็สามารถใช้สนามได้ แม้ว่าจะใช้สนามซ้ำซ้อนกับ เชียงใหม่ ยูไนเต็ด เนื่องจากตามกฏ ทีมที่อยู่คนละลีกจะสามารถใช้สนามเดียวกันได้

Photo : Thai League

ซึ่งต่อมา ทีมไม่ผ่าน คลับ ไลเซนซิ่ง ไทยลีก และ ไทยลีก 2 และไม่ได้ยื่นชื่อสนามสำรองไปให้ทางคณะกรรมการ FIB พิจารณา ทำให้ทีมสุ่มเสี่ยงตกหลักเกณฑ์นี้ ทว่าเมื่อทีมพ่ายแพ้ในรอบเพล์ออฟเลื่อนชั้น ทำให้เชียงใหม่ เอฟซี ยังสามารถตกลงและใช้สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้

Photo : Chiangmai FC

แต่ สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ก็เกิดปัญหาเมื่อมีข่าวว่า เชียงใหม่ เอฟซี ยังมีปัญหาติดค้างค่าเช่าสนามแห่งนี้ ซึ่งหากมีการพูดคุยกับหน่วยงานอย่าง เทศบาลนครเชียงใหม่ เจ้าของสนาม ก็สามารถเวลาดำเนินเอกสารภายในระยะเวลาไม่กี่วัน 

ทว่ามีอีกปัญหาที่หนักหนากว่าเรื่องหลักเกณฑ์โครงสร้างอีก!

เรื่องการเงินที่ต้องจัดการ

หลักเกณฑ์ด้านการเงินของ เชียงใหม่ เอฟซี ที่กำลังมีปัญหา มาจากการที่ทีมมีหนี้สินค้างจ่ายเงินเดือนนักเตะ โดยเฉพาะในรายของนักฟุตบอลต่างชาติที่ออกไปแล้วหรืออยู่กับทีมคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านบาท (ไม่รวมโบนัส)

Photo : Chiangmai FC

ซึ่งกรณีนี้ อาจจะมีโอกาสที่นักฟุตบอลต่างชาติ จะยื่นหนังสือฟ้องร้องถึง สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งจะสุ่มเสี่ยงให้ทีมจะต้องชำระและสุ่มเสี่ยงจะไม่ผ่านคลับ ไลเซนซิ่งด้วย ซึ่งตามกำหนดการยื่นคลับ ไลเซนซิ่ง ในหลักเกณฑ์ด้านการเงิน จะต้องยื่นก่อนวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนักฟุตบอล จะต้องยื่นฟ้องก่อนในกรณีดังกล่าว

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดนักเตะที่ได้รับผลกระทบจะเริ่มดำเนินการส่งสำนวนฟ้องไปที่ฟีฟ่าภายในอาทิตย์หน้า และทางไทยลีก เอง ยังไม่ได้รับรายงานว่า เชียงใหม่ เอฟซี มีประเด็นพิพาทในส่วนนี้ นั่นทำให้ทีมยังพอใจชื้นขึ้นมาบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม ทีมจะต้องเร่งชำระ หรือ มีหนังสือสัญญาพูดคุยกันว่าจะมีการชำระเพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นพิจารณาอุทธรณ์ในภายในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งมีรายงานว่า ทางสโมสรได้เริ่มทยอยจ่ายเงินเดือนให้แก่นักเตะไทยบางส่วนบ้างแล้ว และจะมีการนัดพูดคุยกับนักฟุตบอลในวันศุกร์นี้ (17 พฤษภาคม)

ภาษี-บัญชีงบดุลที่ต้องเคลียร์!

นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่เชียงใหม่ เอฟซี มีปัญหาในหลักเกณฑ์การเงิน นั่นคือทีมไม่ได้ส่งรายงานบัญชีงบดุลการเงิน (Audit) และแสดงหลักฐานการเสียภาษี ให้กับคณะกรรมการ FIB พิจารณาเลย

ซึ่งมีรายงานว่า นิติบุคคลที่บริหารทีม คือ “บริษัท เคเจ สปอร์ต จำกัด” ไม่ได้ส่งหลักฐานบัญชีงบดุลตลอดทั้งปี 2566 ให้กับ กรมสรรพากร จึงทำให้ไม่มีเอกสารมายื่นในกรณีดังกล่าว

ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

โดยหากดูบัญชีงบแสดงฐานะการเงิน และ กำไรขาดทุน ของ บริษัทฯ ที่ยื่นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่ามีหลักฐานการยื่นย้อนหลังสุดคือปี 2565 โดยมีหลักฐานว่า ทีมมีรายได้เข้ามาในยอดปีดังกล่าวถึงเกือบ 29 ล้านบาท และมีรายได้สุทธิตกอยู่ราวๆ 9 ล้านบาท

ข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ซึ่งจากประเด็นปัญหาส่วนนี้ ทำให้ประธานสโมสรคนปัจจุบันอย่าง “บิ๊กแซน” ยศเมธา จันทรวิโรจน์ คิดที่จะขายทีมออกไปให้กับกลุ่มทุนใหม่ ซึ่งมีรายงานว่า มีการเสนอให้ทางกลุ่มของทาง บีจี เข้ามาซื้อทีม หลังจากที่เคยบริหารทีม แต่ต้องไม่ลืมว่า ในคราวที่ บีจี เสนอขายหุ้นให้ทาง บิ๊กแซน เป็นการขายทีมให้ฟรีๆ และโอนคืนเป็นกรรมสิทธิ์ทั้งหมด มันเลยเป็นประเด็นที่อาจจะดูชอบกลบ้าง

Photo : เชียงใหม่นิวส์

ซึ่งที่ผ่านมา มีความพยายามในการขายทีมให้กับผุ้ที่สนใจ จนล่าสุดมีผู้สนใจจะซื้อทีมซึ่งมีการพูดคุยมาตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว!

ทางรอด-ทางออก?

แน่นอนว่า จากรายงานล่าสุด เชียงใหม่ เอฟซี ได้มีการเจรจาและขายทีมให้กับกลุ่มทุนใหม่ โดยมีมือประสานงานคนสำคัญ นั่นคือ “บิ๊กต่าย” มนตรี หาญใจ อดีตผู้จัดการทีม ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแล

Photo : Wood Ball Chiang Mai

แต่ทว่าการที่จะขายสโมสรให้กับกลุ่มทุนใหม่นั้น จะต้องมีกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการบริหารให้เรียบร้อย รวมไปถึงต้องเคลียร์หนี้สินให้เสร็จก่อนที่จะตรวจคลับ ไลเซนซิ่ง ซึ่งมีรายงานว่า ทีมกำลังเร่งส่งเอกสารเพื่ออุทธรณ์เพื่อให้ทันก่อนการพิจารณา

ขณะเดียวกันก็ต้องวัดใจทางด้าน คณะกรรมการออกใบอนุญาตสโมสร ของ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ที่อาจจะมีการประกาศก่อนหรือไม่ในช่วงระยะเวลาตรงนี้ ซึ่งหากมีการประกาศก่อน จะเท่ากับว่า ความพยายามของทางทีมจะสูญเปล่าทันที

ฉะนั้นนี่คือช่วงเวลาวัดใจของเหล่าทีมงานและแฟนบอลพยัคฆ์ล้านนา ว่าจะยังคงยืนหยัดอยู่ในเวทีฟุตบอลไทย หรือจะต้องกลายเป็นตำนานทีมของคนเชียงใหม่ไปตลอดกาล…?

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ