เปิดวิธีทดสอบ ‘ความฟิต’ ผู้ตัดสิน ‘ฟีฟ่า’

เปิดวิธีทดสอบ ‘ความฟิต’ ผู้ตัดสิน ‘ฟีฟ่า’
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

ผู้ตัดสินที่ได้รับการรับรองจาก สหพันธ์ฟุตบอนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ต้องมีมาตรฐานความฟิตของร่างกาย ที่อยู่ในเกณฑ์ที่พร้อมลงทำหน้าที่ในการแข่งขันที่ทางองค์กรรับรอง โดยเฉพาะบนทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ อาทิ เช่น ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ตามวาระ

แฟนบอล ไทย ลีก อาจตื่ตาตื่นใจกับความฟิตของผู้ตัดสิน สงกรานต์ บุญมีเกียรติ ที่โชว์จังหวะสปรินท์อันรวดเร็ว ในจังหวะที่วิ่งตาม เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ ปีกตัวจี๊ดของ เมืองทอง ยูไนเต็ด เข้าไปยิงประตูช่วงท้ายเกม ช่วยทีมเอาชนะ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ไปได้ 2-0

อย่างไรก็ตามใช่ว่า ผู้ตัดสินทุกคนในเวที ไทย ลีก จะมีความฟิตและสภาพร่างกายที่เป็นมาตรฐานเดียวกับ อาจารย์สงกรานต์ ทุกคนตามความเป็นจริง หากเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง ฟีฟ่า มีเกณฑ์ทดสอบเชิ้ตดำที่พวกเขารับรองอย่างไร? การทดสอบแต่ละด่านมีความยากง่ายมากแค่ไหน? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

2 ด่านทดสอบสุดหิน

สตีเฟ่น โอดูออร์ (Stephen Oduor) นักกายภาพของทาง ฟีฟ่า ได้มีการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการทดสอบเอาไว้ว่า บททดสอบระหว่างผู้ตัดสินที่ 1 และ ผู้ช่วยผู้ตัดสิน จะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แล้วมีการปรับเปลี่ยนวิธีทดสอบมาแล้วหลายรูปแบบ จนมาเหลือสองด่านที่ใช้อยู่ทุกวันนี้

ด่านแรกเป็นการทดสอบความเร็วของ ‘สปีดต้น’ ต้องวิ่งบนลู่วิ่ง, สนามหญ้าเทียม หรือ สนามหญ้าจริง โดยห้ามใส่รองเท้าสำหรับการวิ่ง (พื้นตะปู) ใช้เวลาแต่ละด่านไม่เกิน 6-8 นาที

PHOTO : Dutchreferee

วิธีการจะให้ผู้เข้ารับการทดสอบยืนให้มีขาหลักหนึ่งข้างเหยียบบนเส้นออกสตาร์ท ที่มีห่างจากประตูออโต้ที่จะเปิดประมาณ 1.5 เมตร รอสัญญาณจากผู้ควบคุมการทดสอบเพื่ออกตัว แล้วสปรินท์เป็นระยะทาง 40 เมตรจนไปถึงเส้นชัย ก่อนจะเดินกลับมาที่จุดสตาร์ทใหม่ ทำแบบนี้ทั้งหมด 6 รอบ มีเวลาพักในแต่ละรอบไม่เกิน 60 วินาที 

การวิ่งรอบแรกต้องได้เวลาไม่เกิน 6 วินาที รอบสองต้องไม่เกิน 6.10 วินาที ที่เหลือต้องอยู่ภายในเวลา 6.20 วินาที (สำหรับผู้ตัดสินชาย) ส่วนผู้ตัดสินหญิงจะต้องได้เวลาในรอบแรกไม่เกิน 6.40 วินาที รอบสอง 6.50 วินาที และรอบที่เหลือไม่เกิน 6.60 วินาที หากไม่ผ่านเกณฑ์แค่ 1 ครั้ง สามารถแก้ตัวได้ในการวิ่งรอบที่ 7 หากไม่ผ่านสองรอบขึ้นไปถือว่าตกทันที

PHOTO : Dutchreferee

ด่านที่สองเป็นการเดินสลับวิ่งในพื้นที่ที่กำหนดเป็นระยะทาง 40*75 เมตร (วิ่ง)/25 เมตร (เดิน) เทียบเท่ากับระยะทางของสนามวิ่งประมาณ 10 รอบสนาม หรือประมาณ 4,000 เมตร เป็นการทดสอบที่มีการหวังผลให้สามารถรักษาระยะห่างในเกมการตัดสินได้จริง ทันเกม พร้อมกับรักษาสภาพร่างกายให้สามารถยืนระยะได้ครบ 90 นาที

โดยผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องเตรียมพร้อมเข้าพื้นที่เดิน เพื่อรอสัญญาณเสียงนกหวีดให้ออกตัวเริ่มเดิน พอเสียงนกหวีดเป่าขึ้นจึงเริ่มเดิน พอเข้าเขตสปรินท์เป็นระยะทาง 75 เมตร ก็ต้องวิ่งไปเข้าเขตเดินในอีกฝั่งหนึ่งให้ทันตามเวลาที่กำหนด ทำซ้ำจนครบระยะทาง

การวัดผลสำหรับผู้ตัดสินชายรอบแรก ต้องได้เวลาไม่เกิน 15 วินาที กับการวิ่งระยะ 75 เมตร และไม่เกิน 18 วินาที สำหรับการเดินในระยะทาง 25 เมตร รอบสองต้องวิ่งให้ได้ไม่เกิน 15 วินาทีเช่นเดิม แล้วต้องเดิน 25 เมตรให้ได้ไม่เกิน 20 วินาที ส่วนรอบที่เหลือเกณฑ์การวิ่งใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 วินาที ส่วนการเดินจะต้องไม่เกิน 22 วินาที

การวัดผลสำหรับผู้ตัดสินหญิงรอบแรก ต้องได้เวลาไม่เกิน 17 วินาที กับการวิ่งระยะ 75 เมตร และไม่เกิน 20 วินาที สำหรับการเดินในระยะทาง 25 เมตร รอบสองต้องวิ่งให้ได้ไม่เกิน 17 วินาทีเช่นเดิม แล้วต้องเดิน 25 เมตรให้ได้ไม่เกิน 22 วินาที ส่วนรอบที่เหลือเกณฑ์การวิ่งใช้ระยะเวลาไม่เกิน 17 วินาที ส่วนการเดินจะต้องไม่เกิน 24 วินาที

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.dutchreferee.com/fifa-fitness-test-for-referees/

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ