เปลี่ยนยังไง ? : ทำไมแฟน ฟรอนตาเล่ ยกฟอร์ม ชนาธิป เกมล่าสุดว่า ระดับ 'มาสเตอร์พีซ'

เปลี่ยนยังไง ? : ทำไมแฟน ฟรอนตาเล่ ยกฟอร์ม ชนาธิป เกมล่าสุดว่า ระดับ 'มาสเตอร์พีซ'
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี


สำหรับแฟนบอลชาวไทย ซึ่งติดตามเชียร์และให้กำลังใจนักเตะคนบ้านเดียวกัน ที่ออกไปค้าแข้งในศึก เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่น ช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ผ่านมา อาจรู้สึก ฟิน กันไปพอสมควร

เพราะสตาร์เบอร์หนึ่งในทีมชาติอย่าง “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงเกมแรกในลีกให้กับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่น ส่วนทางด้าน เช็ค-สุภโชค สารชาติ ก็ได้ลงสนามเป็นตัวสำรองในช่วงประมาณ 10 นาทีสุดท้ายให้กับ ฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร

ก่อนหน้านี้สื่อโซเชี่ยลในช่วงวันศุกร์ตามกลุ่มบอลไทยต่างๆ มีการพูดคุยแล้วเดาใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ชนาธิป มีโอกาสลงเล่นให้กับ ฟรอนตาเล่ เพราะดูจากท่าทางการถ่ายรูปลงโซเชี่ยลของเจ้าตัว ซึ่งภาพออกมาเป็นใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มเป็นพิเศษ

แม้ว่า ฟรอนตาเล่ จะไม่สามารถเก็บชัยชนะในบ้านเหนือ เซเรโซ โอซาก้า ได้สำเร็จ ลงเอยด้วยการแบ่งแต้มเสมอกันไปแบบจืดๆ 0-0 แต่การที่ ชนาธิป ได้ลงเล่นให้กับต้นสังกัดไปมากถึง 75 นาที ทำให้แนวทางของทีมดูมีความแตกต่างจากที่ผ่านมาพอสมควร

ไฮไลต์เกมล่าสุดของ ฟรอนตาเล่

เห็นได้ชัดเลยว่าการที่ โทรุ โอนิกิ เทรนเนอร์เจ้าความคิดของ ฟรอนตาเล่ ดองเค็ม เจ ตลอด 4 นัดในเกมลีกก่อนหน้านี้ ด้วยการไม่มีชื่อแม้แต่บนม้านั่งสำรอง ส่งผลให้ตัวของนักเตะมีความกระหายมากขึ้นอย่างมาก

ตลอดเวลาที่ เจ อยู่ในสนาม อาจจะไม่มีผลงานที่จับต้องได้ด้านสถิติ ไม่ว่าจะเป็น การทำประตู หรือ การแอสซิสต์ให้เพื่อน แต่พัฒนาการเรื่องของจำนวนนาทีที่ได้ลงเล่น ถ้าวัดกันจาก ศูนย์นาที มันเพิ่มขึ้นมากถึง 75 เท่าตัว

ว่ากันตามตรงแล้วถ้า โอนิกิ ไม่เห็นถึงศักยภาพของ ชนาธิป แล้วมองว่าเล่นได้ไม่ดีพอ น่าจะโดนเปลี่ยนตัวออกไปตั้งแต่ช่วงพักครึ่งหรือหนึ่งชั่วโมงแรก เพราะบนม้านั่งสำรองก็มีทั้ง ไทเซย์ มิยาชิโระ, ยูซูเกะ เซงาวะ และ ยู โคบายาชิ เป็นแนวรุกบนม้านั่งสำรอง ที่สามารถลงมาเปลี่ยนเกมได้ทั้งหมด

ความแตกต่างของ ฟรอนตาเล่ ที่มี ชนาธิป ลงสนามเป็นตัวจริงนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง? ตำแหน่งการเล่นและบทบาทการเล่นของเขาเป็นอย่างไร? ข้อดีและข้อเสียที่ต้องปรับปรุงกันต่อไปของ ฟรอนตาเล่ จะเป็นส่วนไหน? ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

บทบาทที่เปลี่ยนไป

วันนี้ทาง โทรุ โอนิกิ โค้ชสายครีเอทีฟชาวญี่ปุ่น ยังคงจัดฟอร์เมชั่นเดิมๆ ลงสู้ศึกในระบบ 4-3-3 มีการปรับผู้เล่นและตำแน่งต่างๆ ในแดนกลางที่เห็นได้ชัด คือการส่ง เจา ชมิดท์ กลางรับสายเชิงลงมา หลังไม่ได้เป็นตัวจริงเลย นับตั้งแต่เกมที่บุกเอาชนะ คาชิม่า แอนท์เล่อร์ 2-1ซึ่งเป็นชัยชนะเกมล่าสุดของพวกเขา

แดนกลางที่ยืนสูงกว่า ชมิดท์ สองคน โอนิกิ เลือกมอบหมายหน้าที่ให้กับ เคนโตะ ทาจิบานาดะ และ ชนาธิป ที่ลงแทนที่ของ เรียวตะ โอชิมะ ที่ได้รับบาดเจ็บ

เรียวตะ โอชิมะ 

โดย ชนาธิป รับหน้าที่เป็นตัวสร้างสรรค์เกมให้กับแนวรุกสามตัวบน ะ ที่ประกอบไปด้วย อากิฮิโระ อิเอนากะ และ มาร์ซินโญ่ ที่ยืนริมเส้นขวา-ซ้าย แล้วมี ชิน ยามาดะ ยืนเป็นกองหน้าตัวเป้า

ปกติแล้ว โอนิกิ จะชอบใช้ ทาจิบานาดะ ยืนเป็นกองกลางตัวรับ แล้วให้ ยาสุโตะ วากิซากะ และ เรียวตะ โอชิมะ ลงประจำการในตำแหน่งกลางคู่ด้านบน เหมือนกับหลายเกมที่ผ่านมา ซึ่งผลงานของทีมยังออกมาไม่น่าประทับใจเท่าไหร่นัก

ก่อนหน้านี่ ชนาธิป เคยพูดถึงตำแหน่งการเล่นของเขากับ ฟรอนตาเล่ เอาไว้ว่า

“ผมเล่นตำแหน่งเบอร์ 8 (กองกลางตัวสร้างสรรค์เกม) พอเราทำงานหนัก บางทีเราไปไล่บอลจนสุด แล้วเราก็ต้องรับบอลต่อ ไล่มามันก็เหนื่อยแล้ว รับบอลมาก็ต้องให้ง่ายๆ ก่อน เราจะเสียบอลง่ายไม่ได้ตามหน้าที่”

“การเล่นเบอร์ 8 ทีมผมต้องฟิตมาก เล่นปีกไม่เหนื่อยเท่าเบอร์ 8 คือ มันเป็นระบบทีมของเขา ที่เราต้องทำตามให้ได้ เพราะมันเป็นระดับมืออาชีพแล้ว”

Photo : J League

อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยของ คุณ เจ-วรปัฐ อรุณภักดี ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแล้วได้พบปะพูดคุยกับ ชนาธิป ได้ข้อมูลมาจากปากของเจ้าตัวเองว่า โอนิกิ จับให้เขาซ้อมในตำแหน่งที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงตำแหน่งเดิม แต่รวมไปถึงแนวรุกสามตัวบน ไม่ว่าจะเป็น ปีกทั้งสองฝั่ง หรือ หน้าเป้า ก็ผ่านมาหมดแล้ว

ซึ่งแฟนบอลส่วนใหญ่เมื่อเห็น ชนาธิป ลงสนามให้กับ ฟรอนตาเล่ ล้วนเห็นไปทางเดียวกันว่าอยากเห็นเขากล้าเล่น กล้าลุย มากกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแต่แปะบอลง่ายๆ เพลย์เซฟ ไปแบบจังหวะต่อจังหวะ

ไม่รู้ว่าเสียงเหล่านั้น ส่งไปถึงหูของ โอนิกิ หรือเปล่า? เกมที่พบกับ เซเรโซ บทบาทหน้าที่และตำแหน่งการเล่นของ ชนาธิป ถึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร

จากการสังเกตุการเล่นของตลอด 75 นาที่ของ ชนาธิป ที่อยู่ในสนาม จะยืนสูงกว่ากลางเบอร์ 8 ที่ต้องรับหน้าที่วิ่งขึ้นลงทั้งเกมรุกและเกมรับ แล้วรับหน้าที่เหมือนเป็นเบอร์ 10 แบบ ฟรี โรม (Free Roam) คอยเคลื่อนที่ไปทั่วในแนวรุกเป็นหลัก

รวมทุกจังหวะของ ชนาธิป ในเกมล่าสุด

จังหวะการเล่นเกมรับของ ชนาธิป ไม่จำเป็นต้องลงต่ำเหมือนแต่ก่อน เพราะมีกองกลางสองคนอย่าง ชมิดท์ และ ทาจิบานาดะ เป็นตัวซ้อนคอยเก็บกวาดอยู่ด้านหลังให้ โดยเฉพาะ ชมิดท์ ที่เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรับ โฮลดิ้ง มิดฟิลด์ ไม่เติมสูงตลอดเกม ขึ้นมาสมทบในบางจังหวะเท่านั้น

การเพรสซิ่งแดนบนของ เจ จะวิ่งไล่แทบจะยืนไลน์สูงเท่ากับ ชิน ยามาดะ ที่เป็นกองหน้าตัวเป้าเลยด้วยซ้ำ สลับกันเข้าคู่-เข้าเดี่ยว สร้างความลำบากในการออกบอลจากแดนหลังของแนวรับ เซเรโซ จนขึ้นบอลไม่ลื่นไหล แล้วเล่นกันผิดพลาดบ่อยครั้ง ออกบอลได้ไม่เข้าเป้า เพราะโดนบีบเร็ว

ตำแหน่งการยืนที่สูงขึ้นของ ชนาธิป ทำให้เขาอยู่ในระยะทำการส่องประตูมากขึ้น แล้วเกมนี้เขาก็ได้ลองเรดาห์ของตัวเอง จากจังหวะยิงในระยะทำการประมาณสองถึงสามครั้ง แต่น่าเสียดายที่มันไม่เข้าเป้าเป็นประตูเท่านั้นเอง

ข้อดีที่เห็นในเกมนี้

การเล่นของ ฟรอนตาเล่ ในจังหวะขึ้นเกมรุก เมื่อมีทาง ชนาธิป รับบทบาทแทนที่ของ โอชิมะ เจ้าชายหมายเลข 10 ประจำทีม คือ การออกบอลที่ไหลลื่นมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเงื้อง่าราคาแพง ให้ไวทำไว เพื่อไม่ให้คู่แข่งตั้งตัวได้ทัน

จุดเด่นของ ชนาธิป คือ เรื่องของทักษะการควบคุมบอลที่นุ่มนวล ไม่ว่าเพื่อนจะ ให้ยาก ให้เหนือ แค่ไหน ก็สามารถเอาบอลลงมาเล่นต่อได้สบาย โดยเฉพาะ อิเอนากะ ที่พอเข้าตาจนโดนบีบเมื่อไหร่ มักจะชอบเอาตัวรอดด้วยการ ตักบอล หรือ งัดบอลโด่ง บ่อยครั้ง หากมีเป้าหมายเป็น ชนาคุง คอยแก้บอลที่กำลังจะเสียให้

โทรุ โอนิกิ ให้โอกาส ชนาธิป ลงตัวจริง

การเคลื่อนที่แบบอิสระของ ชนาธิป ในเกมนี้ ช่วยให้เพื่อนมีทางเลือกในการจ่ายบอลได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะแนวรุกต่างชาติอย่าง มาร์ซินโญ่ ที่โดดเด่นมาหลายเกม ต้องพยายามลากบอลเข้าเขตอันตรายของคู่แข่งแบบด้นสดตลอด จากการวางบอลยาวของ โอชิมะ ซึ่งการไปเองคนเดียว ไม่มีเพื่อน สุดท้ายก็จบลงที่บอลตายไม่ได้อะไร

เกมนี้พอมี ชนาธิป ลงมาเปลี่ยนจังหวะการเล่นจากบอลยาวมาเป็นบอลสั้น เน้นการทำชิ่ง ต่างฝ่ายต่างมองเห็นกันตลอด จังหวะฟุตบอลมันย่อมเกิดเคมีที่ตรงกันในการประสานงาน ซึ่งช่วงต้นเกม ฟรอนตาเล่ ก็เกือบได้ประตูนำ

เป็นจังหวะที่ ชนาธิป โหม่งบอลชงไปให้ มาร์ซินโญ่ ลากบอลไปข้างหน้า เผชิญหน้ากับแนวรับของ เซโรโซ เมื่อเห็นว่า เกมรุกจังหวะนั้นกำลังจะตัน เจ เลยตัดสินใจวิ่งสอดไปด้านซ้ายเพื่อเข้าเขตโทษ มาร์ซินโญ่ ก็เห็นแล้วให้แบบไม่ลังเล ปรากฏว่า จบลงด้วยการที่ เจ ได้ซัดด้วยซ้ายในเขตโทษเสาแรก แต่ผู้รักษาประตูคู่แข่งยังเซฟเอาไว้ได้

ยิ่งไปกว่านั้นการออกบอลของ ชนาธิป ที่เล่นได้ทั้งสองเท้า เป็นเรื่องที่คู่แข่งนั้นจับทางได้ยากมาก ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจดักทางแบบไหนดี เพราะไม่รู้ว่า เจ จะทำชิ่งเร็ว เก็บบอลไว้กับตัว หรือจะใช้อาวุธที่ไม่ได้เห็นกันนานคือ การลากเลื้อย กันแน้

ก่อนหน้านี้ ชนาธิป เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ถึงคำสั่งที่เขาได้รับบทบาทการเล่น เบอร์ 8 ที่แฟนบอลไทยชอบตำหนิเขาว่าเป็น อาแปะ เอาไว้ว่า

“ผมอยากถามกลับว่า ลองเอานักบอลไทยไปเล่นเบอร์ 8 ถ้าใครไม่เล่นแปะบอล มากระทืบหน้าผมได้เลย ที่เห็นว่าแปะบอลกันเนี่ย เห็นแบบนั้นมันเล่นยากนะ”

“เพราะเวลาตัดบอลได้ ข้างหน้ามองไปไม่มีใคร ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ ต้องคืนหลัง เนื่องจากเสียบอลในพื้นที่อันตรายไม่ได้ แล้วค่อยไปขยับหาตำแหน่งใหม่ เพื่อรับบอลในจังหวะต่อไป”

Photo : J League

“ปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ คือ การครอบครองบอล ให้บอลที่เท้า แทบไม่ค่อยมีจังหวะวิ่งตัดหลังไลน์แนวรับคู่แข่ง มีน้อยมาก ต้องให้บอลที่เท้าแล้วขยับ พยายามถ่างโซนรับคู่แข่ง จากช่องเล็กๆ ให้มันกว้างขึ้น”

“การเล่นจะเป็นแบบ ให้ ขยับ หนึ่ง-สอง ให้ขยับ ทีมอื่นๆ ก็แย่งบอลไปจากเรายาก แต่บางครั้งมันก็ลงเอย ด้วยการครองบอล เซ็ตบอลนาน แบบไม่มีจังหวะเข้าทำเลยก็มี”

พอเกมในวันนี้ โอนิกิ ลองปรับการใช้งาน ชนาธิป ให้แตกต่างออกไปจากเดิม ผลลัพธ์มันอาจไม่ชัดเจนแบบมีอะไรจับต้องได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เจ ไม่ได้กลัวคู่แข่งในญี่ปุ่นจริงๆ

“พูดแบบจริงๆ เลย ผมไม่กลัวนะว่าจะสู้คนอื่นไม่ได้ ผมสู้ได้เพราะเจอผู้เล่นใน เจ ลีก มาหมดแล้ว”

“ผมเชื่อว่าผมเล่นสู้ได้ ผมซ้อมสู้ได้ ขนาดน้องผมที่รู้จักบินมาดู ถามเขาว่า เห็นพี่เล่นแล้วเป็นไง? เขาตอบกลับมาว่า สู้ได้สบาย”

“ผมยิงตลอดในเกมอุ่นเครื่อง ผมยิงตลอดจริงๆ เพราะผมไม่ได้คิดอะไร มันก็แค่เกมอุ่นเครื่อง อยากเล่นอะไรก็เล่น แต่พอไปแข่งจริงมันต่างกัน อยากเล่นอะไรมันเล่นตามใจตัวเองไม่ได้”

สัมภาษณ์ เจ ชนาธิป

“อยู่ทีมชาติไทย ถ้าผมจ่ายบอลเสีย ผมก็ยังรู้สึกไม่เป็นไร กล้าที่จะจ่าย กล้าที่จะเสี่ยง แต่ถ้าเป็น ฟรอนตาเล่ จ่ายเสียลูกนึง ความคิดมันก็แวบขึ้นมาแล้วว่า เดี๋ยวโดนเปลี่ยนตัวแน่เลย”

อย่างน้อยเกมนี้ทั้งตัวของโค้ชและแฟนบอล ฟรอนตาเล่ ย่อมเห็นแล้วว่า ชนาธิป ในเวอร์ชั่นที่ผสมผสานระหว่างระบบทีมและความอิสระของเขา สามารถทำอะไรได้บ้างในสนาม

ข้อเสียที่ต้องแก้กันต่อ

อย่างไรก็ตามแม้ว่า ชนาธิป จะเล่นได้อย่างน่าประทับใจพอสมควร แต่ถ้าพูดกันตามตรง เจ ก็ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับต้นสังกัดได้ ในประเด็นของการพาทีมเอาชนะ แล้วเก็ยบสามแต้ม ขยับอันดับบนตารางให้สูงกว่าเดิม

แต่ถ้ามองกันเรื่องขององค์ประกอบเพื่อนร่วมทีม ฟรอนตาเล่ ยังไม่ใช่ชุดที่สมบูรณ์เต็มร้อยเรื่องตัวผู้เล่นทั้งแนวรับและแนวรุก เพราะมีการขาดหายไปของตัวหลักหลายคนที่ยังไม่พร้อม

เกมรับเห็นชัดๆ เลยว่า ชูโตะ ทานาเบะ และ ทาคุมะ โอมินามิ ที่ยืนเป็นคู่เซนเตอร์แบ็ค ด่านสุดท้ายในการหยุดแนวรุกคู่แข่ง ยังมีจังหวะเหวอ จังหวะพลาดง่ายๆ จนทีมเกือบเสียประตูตลอดเกม

ไม่ว่าจะเป็นการสกัดบอลที่ไม่พ้นอันตราย หรือแม้แต่ช่วงที่แฟนบอล ฟรอนตาเล่ หัวใจจะวาย เมื่อทาง โอมินามิ สกัดบอลวืดในเขตโทษ ช่วงนาทีที่ 80 แล้วบอลเจ้ากรรมดันมาเด้งโดนแขนตัวเองที่กางแบบไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่เสียด้วย โชคยังดีที่ผู้ตัดสินไม่ว่าอะไร

ชนาธิป แลแะ อิเอนากะ

ส่วนแนวรุกอย่างคุณลุง อิเอนากะ ก็ไม่สามารถช่วยเพื่อนร่วมทีมในจังหวะเพรสซิ่งแดนบน เพราะอายุอานามที่มากแล้ว เรี่ยวแรงย่อมลดลงไปเป็นธรรมดา แถมยังมีการเล่นบางจังหวะที่เหนือเกินพอดี ทั้งยกบอล ออกบอลไขว้ หลายอย่างทำให้เพื่อนเล่นต่อยาก

สำคัญที่สุด คือ กองหน้าตัวเป้าอย่าง ชิน ยามาดะ ซึ่งไม่สามารถเก็บบอลแดนหน้าได้เลย แถมยังหาตำแหน่งพื้นที่อันตรายในการจบสกอร์ได้ไม่ดีพอ ช่วยทีมได้แค่เรื่องของความขยัน ความทุ่มเท วิ่งแบบไม่มีหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเมื่อ โอนิกิ เลือกเปลี่ยนตัวเอา ยู โคบายาชิ แนวรุกที่เจ็บไปนานลงมาช่วงท้ายเกม ความแตกต่างมันก็เกิดขึ้นชัดเจน เพราะเป็นแนวรุกจมูกไว มีเซ้นส์เรื่องการทำประตู อยู่ถูกที่ถูกเวลาบ่อยๆ แล้วช่วยต้นสังกัดทำประตูสำคัญได้บ่อยครั้งในซีซั่นก่อนๆ

Phtoto : J League

ช่วงท้ายเกมตอนทดเวลา ฟรอนตาเล่ เกือบจะได้ประตูชัย จากการเข้าทำแบบวิ่งตัดหลังไลน์ ที่ไม่ตรงกับแบบแผนการทำทีมของ โอนิกิ มาแล้ว นักเตะมีการสอดเข้าพื้นที่อันตรายมากขึ้น เพื่อหวังลุ้นทำประตูให้ได้ ซึ่งมันจะน่าลุ้นยิ่งกว่านี้อีก หากมีตัวจ่ายบอลดีๆ แบบ ชนาธิป อยู่ในสนาม

ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่า โอนิกิ จะเห็นตรงกันหรือไม่? กับฟอร์มของ ชนาธิป ที่อยู่ในสนามก่อนโดนเปลี่ยนตัวออกในช่วง 15 นาทีสุดท้าย ซึ่งถ้าเขายังเถรตรงและหัวดื้อเหมือนเดิมๆ แฟนบอลไทย ก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากอดทน พร้อมกับส่งกำลังให้กับ ชนาธิป มีแรงในการพิสูจน์ตัวเองต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?

เคียวโกะ ฟูรุฮาชิ : กองหน้าตัวเป้าที่สูงแค่ 170 ซม. กับวิธีการเล่นที่แข้งไทยควรศึกษา

คอมเม้นต์แฟนญี่ปุ่นถึง ‘สุภโชค’ ดีไม่ดี ? หลังประเดิมตัวจริงคอนซาโดเลนัดแรก


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://thinkcurve.co/y-nhaakhamt-bprachyaafutb-l-fr-ntaael-cchring-saitlaihnthamaim-chnaathip-aimehmaaa/

https://www.youtube.com/watch?v=f_81HlyOAW0&t=2s

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ