เปรียบเทียบเจ้าของคนไทย : ทำไมมีแค่ตระกูล “ศรีวัฒนประภา” ที่แฟนบอลในอังกฤษรักเป็นพิเศษ?

เปรียบเทียบเจ้าของคนไทย : ทำไมมีแค่ตระกูล “ศรีวัฒนประภา” ที่แฟนบอลในอังกฤษรักเป็นพิเศษ?
มฤคย์ ตันนิยม

นับตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หลังจากนั้นก็มีนักธุรกิจชาวไทย เดินตามรอยเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น วิชัย ศรีวัฒนประภา กับเลสเตอร์ ซิตี้, สัมฤทธิ์ ธนะกาญจนสุทธิ์ กับอ็อกฟอร์ด หรือ เดชพล จันศิริ กับ เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์

อย่างไรก็ดี ในหมู่เจ้าของชาวไทย กลับกลายเป็น ตระกูลศรีวัฒนประภา ที่แฟนบอลอังกฤษซึ่งขึ้นชื่อว่าอนุรักษ์นิยม เปิดใจและให้การยอมรับ จนกลายเป็นขวัญใจของพวกเขา

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่

พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป

แม้ว่าการเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลของนักลงทุนต่างชาติ อาจจะเป็นทางลัดไปสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะทีมที่เบี้ยน้อยเงินน้อย หรือเป็นหนี้ก้อนโต แต่แฟนบอลจำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วยในสิ่งนี้ เพราะกลัวว่าทีมรักของพวกเขาจะเป็นของเล่นคนรวย ที่เบื่อแล้วอาจทิ้งไป

ทว่าอาจจะไม่ใช่สำหรับตระกูลศรีวัฒนประภา เพราะถึงแม้ วิชัย จะโดนต่อต้านในช่วงแรก หลังเข้าเทคโอเวอร์ เลสเตอร์ ซิตี้ แต่ความตั้งใจที่จะทำให้สโมสร ที่อยู่ในลีกรองของอังกฤษในขณะนั้น พัฒนาทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน ก็สามารถซื้อใจแฟนบอลได้

นอกจากนี้ เขายังให้โอกาสทีมได้พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าจะอัดเงินเพื่อเร่งความสำเร็จ ซึ่งสุดท้ายอาจจะทำให้ทีมล้มละลาย หรือถังแตก เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ก็สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แฟนบอล ว่าเขาเอาจริงกับทีมรักพวกเขา

Photo : AFP

"ผมตัดสินใจลงทุนในเลสเตอร์ ไม่ใช่แค่เพราะแพชชั่นที่ผมมีต่อฟุตบอล แต่เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าของผม ที่อยากพาสโมสรแห่งนี้กลับสู่พรีเมียร์ลีก และผมต้องการทำให้สโมสรแห่งนี้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา" วิชัย อธิบาย

"การสร้างทีมเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคุณภาพพัฒนาการของนักเตะ และวิธีบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด"

สิ่งนี้อาจจะแตกต่างจากตอนที่ ทักษิณ ชินวัตร ตอนเป็นเจ้าของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่แม้ว่าเขาจะอัดฉีดเงินถึง 30 ล้านปอนด์ให้เฮดโค้ชในตอนนั้นอย่าง สเวน โกรัน อีริคส์สัน ได้ช็อปปิ้ง แต่ไปคาดหวังความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ได้ จนสุดท้ายก็ทำให้ทีมที่กำลังฟอร์มดีในครึ่งฤดูกาลแรก รวนอย่างไม่เป็นท่า

Photo : AFP

นอกจากนี้ ตระกูลศรีวัฒนประภา ยังช่วยเคลียร์หนี้สินให้แก่สโมสร รวมถึงซื้อรังเหย้า ฟิลเบิร์ต สตรีท (คิงเพาเวอร์ สเตเดียม) ที่ถูกยึดไปกลับมา รวมถึงวางโครงสร้างพื้นฐานให้สโมสร ที่แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับความรู้สึกของแฟนบอลมากแค่ไหน

“เขายึดสนามจากกลุ่มทุนอเมริกาที่ไม่รู้จัก ซึ่งเรียกเก็บเงินเราทุกปีเพื่อจะเล่นที่นั่น กลับคืนมาสู่สโมสร” ลี มาร์โลว แฟนเลสเตอร์ และอดีตนักข่าว Leicester Mercury กล่าว

“เขาลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ สนามฝึกซ้อมทันสมัย มูลค่า 100 ล้านปอนด์ ในเขตชานเมืองที่เพิ่งได้รับการอนุญาตให้เริ่มวางโครงการ”

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ตระกูลศรีวัฒนประภา มอบให้ ไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น

ใจแลกใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ตระกูลศรีวัฒนประภาให้ความสำคัญมากที่สุดคือแฟนบอล และพวกเขาก็ทุ่มเทในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เห็นได้จากการที่ก่อนที่วิชัย จะเสียชีวิต เขาและ อัยยวัฒน์ ลูกชาย มักจะปรากฎตัวในคิงเพาเวอร์ทุกนัดเท่าที่ทำได้ เพื่อร่วมเชียร์เลสเตอร์ ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่ง

หรือแม้แต่หลังจาก วิชัย จากไป อัยยวัฒน์ ก็สานต่อบทบาทนี้อย่างไม่มีที่ติ จนมันกลายเป็นภาพคุ้นชินของแฟนบอล “จิ้งจอกสยาม” ไปแล้ว

นอกจากนี้ พวกเขายังเคารพความคิดเห็นของแฟนบอล และไม่เคยออกมาตอบโต้ หรือชวนทะเลาะ กลับกันยังให้ความใส่ใจ และดูแลพวกเขาราวกับเป็นคนในครอบครัว

Photo : AFP

“นอกจากความสำเร็จของสโมสร (เจ้าของทีม) ยังรับฟังแฟนบอลเสมอ” เอียน เบสัน ประธานกองทุน Fox Trust กล่าวกับ The Guardian

“วิชัย เคารพมรดกของสโมสรมาตลอด”

ทำให้เหตุการณ์ที่ออกมาฉะแฟนบอลเชฟฟิลด์ของ เดชพล จันศิริ หรือตอบกลับอย่างถึงพริกถึงขิง ในเชิงให้แฟนบอลรวมเงินมาซื้อสโมสร น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดได้ยากสำหรับเลสเตอร์ ภายใต้การนำของตระกูลศรีวัฒนประภา

ขณะเดียวกัน พวกเขายังตอบแทนแฟนบอล ที่เข้ามาร่วมเชียร์ในรั้งเหย้าด้วยของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่าง เบียร์, พาย, มันฝรั่ง หรือพิซซ่า ไปจนถึงผ้าพันคอในวันที่หนาวเหน็บ

แน่นอนว่าเจ้าของชาวไทยคนอื่นไม่เคยทำแบบนี้ มันคือการใช้ใจแลกใจ มองกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ มากกว่าเจ้าของทีมและแฟนบอล และทำให้พวกเขาได้ใจแฟนเลสเตอร์ไม่น้อย

“ในโอกาสพิเศษ เขาซื้อของให้เราทุกคน แฟน เบียร์และโดนัท ขนมกรุบกรอบ และผ้าพันคอ” มาร์โลว กล่าว

“เขาไม่จำเป็นต้องทำ แต่เขาก็ทำ”

Photo : AFP

หรือบางครั้ง การกระทำของพวกเขาก็ไม่ได้ป่าวประกาศให้ใครรู้ หนึ่งในนั้นคือการให้เงินสนับสนุนแฟนบอลที่อยากตามไปเชียร์ทีมตอนเล่นเกมเยือน แต่มีงบประมาณจำกัด

“มันไม่ใช่แค่เงินที่พวกเขาใช้กับทีมหรือสนาม หรือแม้แต่การคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ซึ่งช่วยให้เราประสบความสำเร็จ แต่ วิชัย ช่วยสนับสนุนค่าเดินทางในเกมเยือนให้แฟนๆ อยู่เสมอ” เทรเวอร์ พาล์เมอร์ กองเชียร์เลสเตอร์ กล่าวกับ ESPN

“เราเคยมีทริปจะไปวัตฟอร์ต แต่เราขาดเงินทุนในการเดินทาง และเพราะว่าอากาศหนาว เขาจึงเตรียมหมวกและผ้าพันคอให้แก่เราฟรี ๆ ”

“มันอาจจะไม่มีค่าอะไรสำหรับมหาเศรษฐี แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ มีความหมายอย่างมากต่อแฟนบอลที่ต้องหาเงินมาด้วยความยากลำบากเพื่อดูทีมของพวกเขา”

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตระกูลศรีวัฒนประภา เป็นที่รักสำหรับแฟนเลสเตอร์มากกว่าใคร และเป็นเหตุผลที่เพราะเหตุใด ในวันที่ วิชัย เสียชีวิต ด้วยอุบัติเหตุ แฟนบอลจึงรู้สึกเศร้าเสียใจราวกับได้เสียคนในครอบครัวไป

หรือแม้กระทั่งการขึ้นมารั้งตำแหน่งประธานของ อัยยวัฒน์ ที่มารับช่วงต่อ แฟนเลสเตอร์ ก็พยายามสนับสนุน รวมถึงให้กำลังใจเจ้าของทีมรุ่นสองคนนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

Photo : AFP

“เขา (วิชัย) ทำให้เลสเตอร์มีตัวตนบนแผนที่ เขาเป็นหนึ่งในคนที่นำสิ่งที่ดีที่สุดออกมา เขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมมาก” ซาราห์ เบนเน็ตต์ แฟนเลสเตอร์กล่าวกับ BBC ในวันครบรอบหนึ่งปีการจากไปของวิชัย

“แต่เราก็ลืมต็อปไม่ได้เหมือนกัน เขาทุ่มเทตัวเองกับสโมสรจนฉันสงสัยว่าเขายังเศร้าอยู่หรือเปล่า แต่เขายังเดินหน้าต่อไป ด้วยสนามซ้อมใหม่ ขยายสนาม และสวนอนุสรณ์สถาน”

“ฉันแน่ใจว่าสิ่งที่เขาทำตลอดปีที่ผ่านมาต้องทำให้พ่อของเขาต้องภูมิใจ”

และนี่คือสิ่งที่ทำให้ตระกูลศรีวัฒนประภา ได้รับสถานะพิเศษ มากกว่าใคร ที่ไม่ใช่เฉพาะเปรียบเทียบกับเจ้าของสโมสรชาวไทย แต่อาจรวมไปถึงชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของทีมในอังกฤษ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

แหล่งอ้างอิง

https://news.sky.com/story/leicester-city-fans-love-vichai-for-his-deeds-not-his-words-11538249

https://www.espn.co.uk/football/story/_/id/37503813/leicester-owner-vichai-srivaddhanaprabha-connection-club-ran-deeper-miracle-premier-league-title

https://www.bbc.com/sport/football/50112490

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ