เสียงดัง ‘ตังค์ใคร : บอลลีกคนดูหลักร้อยแต่บอลโลกกองเชียร์กาตาร์มาเป็นหมื่นได้ไง ?
แม้ว่ากาตาร์ จะจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกในฟุตบอลโลก 2022 แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่จดจำคือเหล่ากองเชียร์ในชุดสีน้ำตาลอมแดงของพวกเขา ที่จัดหนักจัดเต็มในทุกเกมที่เจ้าภาพลงสนาม
พวกเขาเชียร์ได้อย่างดุดัน พร้อมเพรียง จนชวนให้นึกถึงกลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอ หรือที่เรียกกันว่า อัลตร้า ของยุโรปและอเมริกาใต้
อย่างไรก็ดี หากลองมองให้ดีจะพบว่าแฟนบอลกลุ่มนี้ เต็มไปด้วยรอยสัก ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมของประเทศในอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะในกาตาร์
ถ้าอย่างนั้นพวกเขาคือใคร และมาจากไหน? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
กองเชียร์ปริศนา
ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ กาตาร์ ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ชาติเล็ก ๆ จากตะวันออกกลางแห่งนี้ ก็ตกเป็นเป้าของคำวิจารณ์ในหลายแง่มุม และมันก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นปีของการแข่งขันเวียนมาถึง
ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตที่ทำให้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ, การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาสร้างสนาม ไปจนถึงการห้ามขายเหล้าเบียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของการดูฟุตบอล
ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการถูกวิจารณ์ว่าประเทศแห่งนี้ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทั้งที่ไม่มีวัฒนธรรมฟุตบอล
กาตาร์ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ที่ใกล้เคียงที่สุดคือการจบในอันดับ 3 ของรอบคัดเลือก เมื่อปี 1990 (เอา 2 ทีมไปเล่นรอบสุดท้าย) และไม่เคยเฉียดอีกเลย จนกระทั่งรับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันในปี 2022
นอกจากนี้ แม้ว่า กาตาร์ สตาร์ลีก จะเป็นหนึ่งในลีกที่ร่ำรวยที่สุดของภูมิภาค ด้วยการทุ่มคว้านักเตะดังจากยุโรปมาค้าแข้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีสนามโอ่อ่าทันสมัยพร้อมเครื่องปรับอากาศ แต่แฟนบอลของหลายสโมสรที่เข้ามาเชียร์ในสนาม ก็มีเพียงหลักร้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี บรรยากาศกลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อทีมชาติกาตาร์ลงสนาม เสียงเชียร์ที่ดังกึกก้อง จากผู้คนนับพันบนอัฒจันทร์หลังประตูดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียง จนทำให้นึกถึงกลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอร์ หรือที่เรียกกันว่า อัลตร้า ของยุโรปและอเมริกาใต้
แต่คำถามก็คือกองเชียร์เหล่านี้มาจากไหน ในเมื่อลีกอาชีพพวกเขามีผู้ชมเฉลี่ยในหลักร้อยคนเท่านั้น
วัฒนธรรมที่เพิ่งจ้าง
ด้วยความที่ กาตาร์ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กของภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยพื้นที่ 11,571 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่าจังหวัดน่านของไทย ที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้พวกเขาต้องนำเข้าทรัพยากรจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ทรัพยากรมนุษย์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะนอกจากพวกเขาอิมพอร์ทแรงงานข้ามชาติเข้ามาสร้างสนามฟุตบอลโลกแล้ว ยังได้นำเข้ากองเชียร์จากต่างประเทศเข้ามา สร้างสีสันในเวิลด์คัพฉบับอาหรับครั้งนี้อีกด้วย
แม้ว่าพวกเขาจะสวมเสื้อยืดสีน้ำตาลอมแดงที่สกรีนคำว่า “กาตาร์” ในภาษาอังกฤษ และอารบิค แต่พวกเขาส่วนใหญ่ล้วนเป็นชายชาวเลบานอน ที่มีทั้งนักเรียนและแฟนบอลฮาร์ดคอร์จากสโมสรในเลบานีส พรีเมียร์ลีก
พวกเขาบอกว่า พวกเขาได้ทั้งตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน อาหาร และค่าจ้างเล็กน้อย ในการมาแสดงวัฒนธรรมของกลุ่ม “อัลตร้า” ในฟุตบอลโลก 2022
มันเป็นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ โดยเฉพาะชาวเลบานอน ที่ฟุตบอลโลก ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อขณะนี้ประเทศของพวกเขากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก
จากรายงานของ World Bank ระบุว่าอัตราว่างงานของเยาวชนเลบานอนในปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 30 จนทำให้มีผู้คนนับพันอพยพออกนอกประเทศ เพื่อหางานทำ รวมไปถึงแฟนบอลจัดตั้งกลุุ่มนี้
พวกเขาต้องเดินทางมากาตาร์ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม เพื่อซักซ้อมท่าเชียร์ และเพลงเชียร์ ที่คิดขึ้นมาใหม่ และเพื่อให้เนียนที่สุด พวกเขาต้องเรียนร้องเพลงชาติกาตาร์ให้ได้
อย่างไรก็ดี แฟนบอลกลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 1,500 คน ไม่ได้มีแค่ชาวเลบานอนเท่านั้น แต่ยังมีคนจากชาติอื่นในภูมิภาคอาหรับ ทั้งอียิปต์ แอลจีเรีย และบางส่วนจากซีเรีย
ทั้งนี้ พวกเขายืนยันว่าเงินไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสำหรับงานนี้ แต่คือการแสดงให้เห็นพลังของพี่น้องอาหรับให้โลกได้เห็น
“มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะสนับสนุนชาติจากอาหรับ เราใช้ภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน เราเป็นพวกเดียวกัน เราอยากแสดงให้โลกได้เห็นอะไรบางอย่างที่พิเศษ คุณจะได้เห็นสิ่งพิเศษนี้” แฟนบอลชาวเลบานอนที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวกับ New York Times
ทว่า ชาวกาตาร์ ก็ไม่ได้อินกับสิ่งนี้ทุกคน
อัลตร้าเทียม
อัลตร้า เป็นวัฒนธรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอิตาลี ก่อนที่จะแพร่หลายไปในยุโรป อเมริกาใต้ รวมถึงบางชาติในภูมิภาคอาหรับ แต่สำหรับกาตาร์ ดูเหมือนว่ากลุ่มแฟนบอลอัลตร้าของพวกเขา จะต่างไปจากหลักปฏิบัติเดิมพอสมควร
เนื่องจากแนวคิดหลักของกลุ่มอัลตร้า คือการปฏิปักษ์และต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างลึกซึ้ง ที่ทำให้แฟนบอลกลุ่มนี้มักจะมีความขัดแย้งกับสื่อหรือตำรวจ ไปจนถึงมีอิทธิพลทางการเมืองในการขับเคลื่อนสังคม
ยกตัวอย่างเช่น อัลตร้าอียิปต์ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับไล่ ฮอสนี มูบารัค อดีตผู้นำเผด็จการของประเทศ ที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 30 ปี ในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อปี 2011 รวมถึงขัดขวางการขึ้นสู่ตำแหน่งของ อับเดล ฟาตา เอล ซีซี ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของ มูบารัคเมื่อปี 2014
หรือเพลงที่ร้องเชียร์บนอัฒจันทร์ ของกลุ่มอัลตร้า ในตูนีเซีย, แอลจีเรีย, โมร็อคโก หรือเลบานอน ก็ล้วนเป็นเพลงที่ประท้วง หรือส่งเสียงต่อต้านรัฐบาลแทบทั้งสิ้น
แต่สำหรับ อัลตร้ากาตาร์กลุ่มนี้ พวกเขาเป็นเหมือนแค่ผู้ที่เข้ามาสร้างสีสัน สร้างบรรยากาศให้ดูฮึกเหิม จึงทำให้การเชียร์ค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ตายตัว และดูไม่เป็นธรรมชาติ ที่แม้แต่คนกาตาร์ยังรู้สึกรู้สึก
“คนกาตาร์ไม่ได้เชียร์ฟุตบอลแบบนี้” อัลดุลลาห์ อาซิซ อัล คาลาฟ แฟนบอลกาตาร์วัย 27 ปีกล่าวกับ New York Times
“เพราะว่าในกาตาร์ เราไม่ได้มาดูการแข่งขันมากขนาดนี้”
ขณะที่ อาลี อัลซามิคห์ นักเรียนกาตาร์วัย 16 ปีที่เป็นแฟนบอลของ อัล รอยยาน ก็บอกว่าแม้จะรู้สึกฮึกเหิม แต่หากให้ไปยืนอยู่ตรงนั้น เขาคงไม่เอาเหมือนกัน
“ผมชอบมันนะ มันดูน่าตื่นเต้นดีออก แต่ผมไม่ได้อยากทำแบบนั้นเลย” เขากล่าว
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้
แฟนบอลจัดตั้ง?
แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายจี้ถามฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่าพวกเขาได้จ้างกองเชียร์ของทีมชาติกาตาร์กลุ่มนี้มาหรือไม่ แต่พวกเขาก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้มาโดยตลอด
อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายจัดฯ กาตาร์ 2022 เผชิญข้อครหาในเรื่อง “หน้าม้า” เพราะก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น พวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่า ได้จ้างแรงงานต่างชาติ มาคอยต้อนรับผู้มาเยือนทั้ง 31 ทีมในฟุตบอลโลกครั้งนี้
แม้ว่ามันจะดูแนบเนียนและแยบยล ไม่ว่าจะเป็นการที่กองเชียร์ล้วนใส่ชุดแข่งของชาตินั้น รวมถึงร้องเพลงเชียร์ของชาตินั้น เช่น “It’s coming home” ของทีมชาติอังกฤษ แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า กองเชียร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะของชาติใดกลับไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว และเป็นส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย
นอกจากนี้ รายงานจาก Arab News ระบุว่ารัฐบาลกาตาร์ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับแฟนบอลทั้ง 1,600 คน โดยแลกกับการพูดถึงกาตาร์ และเวิลด์คัพ 2022 ในเชิงบวกทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงคอยสอดส่องบัญชีที่มีการโพสต์ที่ไม่เหมาะสมในโลกอออนไลน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายจัดการแข่งขันได้ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหานี้ และยืนยันว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกคือของจริง และไม่มีการจัดตั้งอะไรทั้งนั้น
“นักข่าวและนักวิจารณ์หลายคนในโซเชียลมีเดีย ตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขาเป็นกองเชียร์ ‘จริงๆ’ หรือไม่” ฝ่ายจัดการแข่งขันระบุ
“เราขอปฏิเสธคำอ้างนี้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งน่าผิดหวัง และไม่แปลกใจที่เราโดนแบบนี้”
ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าหลายคนจะยังกังขา จากการที่เรื่องของกองเชียร์กาตาร์ชาวเลบานอนได้ถูกเปิดเผยออกมา แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าอารมณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นคือของจริง
“แน่นอนว่าผมไม่แฮปปี้” อาเหม็ด กองเชียร์ชาวอียิปต์ กล่าวหลังเกมกาตาร์พ่ายต่อเซเนกัล 3-1 ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นชาติแรกของฟุตบอลโลก 2022 ที่ตกรอบแบ่งกลุ่ม กล่าวกับ New York Times
อาเหม็ดกล่าวว่า แม้ว่าเขาจะเป็นชาวอียิปต์ แต่เขาอาศัยอยู่ใน กาตาร์ จริง ๆ ที่ทำให้เขาผูกกันกับประเทศที่ทำให้เขามีงานทำแห่งนี้ จึงได้เข้ามาร่วมกลุ่มกองเชียร์น้ำตาลอมแดงของทีมชาติกาตาร์
“เราเป็นกลุ่มของชาวอาหรับที่ทำงานที่นี่ เรามาเชียร์ทีมชาติกาตาร์ ถ้าเราทำงานที่อังกฤษ เราก็จะเชียร์ทีมชาติอังกฤษเหมือนกัน” อาเหม็ดอธิบาย
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า แฟนบอลกลุ่มนี้จะอยู่ที่ กาตาร์ แค่เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น และได้เก็บของบินกลับไปยังบ้านเกิดทันทีที่ทีมชาติกาตาร์หมดภารกิจในรอบแรก เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สุดท้ายแล้ว แม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอด 3 เกมที่ทีมชาติกาตาร์ลงแข่ง มาจากใจหรืออามิสสินจ้าง แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นว่า กาตาร์ เต็มที่กับฟุตบอลโลกครั้งนี้มากแค่ไหน
บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการพัฒนาวัฒนธรรมฟุตบอลของกาตาร์ ก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.arabnews.com/node/2201176/middle-east
https://www.nytimes.com/2022/11/28/sports/soccer/world-cup-fans-qatar-ultras.html
https://www.middleeasteye.net/news/qatar-world-cup-lebanon-ultra-fans-shipped-support-team