เสียงดัง ‘ตังค์ใคร : บอลลีกคนดูหลักร้อยแต่บอลโลกกองเชียร์กาตาร์มาเป็นหมื่นได้ไง ?

เสียงดัง ‘ตังค์ใคร : บอลลีกคนดูหลักร้อยแต่บอลโลกกองเชียร์กาตาร์มาเป็นหมื่นได้ไง ?
มฤคย์ ตันนิยม

แม้ว่ากาตาร์ จะจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกในฟุตบอลโลก 2022 แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่จดจำคือเหล่ากองเชียร์ในชุดสีน้ำตาลอมแดงของพวกเขา ที่จัดหนักจัดเต็มในทุกเกมที่เจ้าภาพลงสนาม

พวกเขาเชียร์ได้อย่างดุดัน พร้อมเพรียง จนชวนให้นึกถึงกลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอ หรือที่เรียกกันว่า อัลตร้า ของยุโรปและอเมริกาใต้

อย่างไรก็ดี หากลองมองให้ดีจะพบว่าแฟนบอลกลุ่มนี้ เต็มไปด้วยรอยสัก ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในสังคมของประเทศในอ่าวอาหรับ โดยเฉพาะในกาตาร์

ถ้าอย่างนั้นพวกเขาคือใคร และมาจากไหน? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

กองเชียร์ปริศนา


ปฏิเสธไม่ได้ว่านับตั้งแต่ กาตาร์ ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ชาติเล็ก ๆ จากตะวันออกกลางแห่งนี้ ก็ตกเป็นเป้าของคำวิจารณ์ในหลายแง่มุม และมันก็เริ่มหนักขึ้น เมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นปีของการแข่งขันเวียนมาถึง

ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตที่ทำให้ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ, การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาสร้างสนาม ไปจนถึงการห้ามขายเหล้าเบียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของการดูฟุตบอล

ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการถูกวิจารณ์ว่าประเทศแห่งนี้ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทั้งที่ไม่มีวัฒนธรรมฟุตบอล

กาตาร์ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ที่ใกล้เคียงที่สุดคือการจบในอันดับ 3 ของรอบคัดเลือก เมื่อปี 1990 (เอา 2 ทีมไปเล่นรอบสุดท้าย) และไม่เคยเฉียดอีกเลย จนกระทั่งรับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันในปี 2022

นอกจากนี้ แม้ว่า กาตาร์ สตาร์ลีก จะเป็นหนึ่งในลีกที่ร่ำรวยที่สุดของภูมิภาค ด้วยการทุ่มคว้านักเตะดังจากยุโรปมาค้าแข้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีสนามโอ่อ่าทันสมัยพร้อมเครื่องปรับอากาศ แต่แฟนบอลของหลายสโมสรที่เข้ามาเชียร์ในสนาม ก็มีเพียงหลักร้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี บรรยากาศกลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อทีมชาติกาตาร์ลงสนาม เสียงเชียร์ที่ดังกึกก้อง จากผู้คนนับพันบนอัฒจันทร์หลังประตูดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียง จนทำให้นึกถึงกลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอร์ หรือที่เรียกกันว่า อัลตร้า ของยุโรปและอเมริกาใต้

Photo : AFP

แต่คำถามก็คือกองเชียร์เหล่านี้มาจากไหน ในเมื่อลีกอาชีพพวกเขามีผู้ชมเฉลี่ยในหลักร้อยคนเท่านั้น

วัฒนธรรมที่เพิ่งจ้าง


ด้วยความที่ กาตาร์ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กของภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยพื้นที่ 11,571 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่าจังหวัดน่านของไทย ที่เต็มไปด้วยทะเลทรายและไม่มีสิ่งอื่นใด นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้พวกเขาต้องนำเข้าทรัพยากรจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ทรัพยากรมนุษย์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะนอกจากพวกเขาอิมพอร์ทแรงงานข้ามชาติเข้ามาสร้างสนามฟุตบอลโลกแล้ว ยังได้นำเข้ากองเชียร์จากต่างประเทศเข้ามา สร้างสีสันในเวิลด์คัพฉบับอาหรับครั้งนี้อีกด้วย

แม้ว่าพวกเขาจะสวมเสื้อยืดสีน้ำตาลอมแดงที่สกรีนคำว่า “กาตาร์” ในภาษาอังกฤษ และอารบิค แต่พวกเขาส่วนใหญ่ล้วนเป็นชายชาวเลบานอน ที่มีทั้งนักเรียนและแฟนบอลฮาร์ดคอร์จากสโมสรในเลบานีส พรีเมียร์ลีก

Photo : New York Times

พวกเขาบอกว่า พวกเขาได้ทั้งตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน อาหาร และค่าจ้างเล็กน้อย ในการมาแสดงวัฒนธรรมของกลุ่ม “อัลตร้า” ในฟุตบอลโลก 2022

มันเป็นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธ โดยเฉพาะชาวเลบานอน ที่ฟุตบอลโลก ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อขณะนี้ประเทศของพวกเขากำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก

จากรายงานของ  World Bank ระบุว่าอัตราว่างงานของเยาวชนเลบานอนในปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 30 จนทำให้มีผู้คนนับพันอพยพออกนอกประเทศ เพื่อหางานทำ รวมไปถึงแฟนบอลจัดตั้งกลุุ่มนี้

พวกเขาต้องเดินทางมากาตาร์ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม เพื่อซักซ้อมท่าเชียร์ และเพลงเชียร์ ที่คิดขึ้นมาใหม่ และเพื่อให้เนียนที่สุด พวกเขาต้องเรียนร้องเพลงชาติกาตาร์ให้ได้

อย่างไรก็ดี แฟนบอลกลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 1,500 คน ไม่ได้มีแค่ชาวเลบานอนเท่านั้น แต่ยังมีคนจากชาติอื่นในภูมิภาคอาหรับ ทั้งอียิปต์ แอลจีเรีย และบางส่วนจากซีเรีย

ทั้งนี้ พวกเขายืนยันว่าเงินไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวสำหรับงานนี้ แต่คือการแสดงให้เห็นพลังของพี่น้องอาหรับให้โลกได้เห็น

Photo : AFP

“มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะสนับสนุนชาติจากอาหรับ เราใช้ภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน เราเป็นพวกเดียวกัน เราอยากแสดงให้โลกได้เห็นอะไรบางอย่างที่พิเศษ คุณจะได้เห็นสิ่งพิเศษนี้” แฟนบอลชาวเลบานอนที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวกับ New York Times

ทว่า ชาวกาตาร์ ก็ไม่ได้อินกับสิ่งนี้ทุกคน

อัลตร้าเทียม


อัลตร้า เป็นวัฒนธรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอิตาลี ก่อนที่จะแพร่หลายไปในยุโรป อเมริกาใต้ รวมถึงบางชาติในภูมิภาคอาหรับ แต่สำหรับกาตาร์ ดูเหมือนว่ากลุ่มแฟนบอลอัลตร้าของพวกเขา จะต่างไปจากหลักปฏิบัติเดิมพอสมควร

เนื่องจากแนวคิดหลักของกลุ่มอัลตร้า คือการปฏิปักษ์และต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างลึกซึ้ง ที่ทำให้แฟนบอลกลุ่มนี้มักจะมีความขัดแย้งกับสื่อหรือตำรวจ ไปจนถึงมีอิทธิพลทางการเมืองในการขับเคลื่อนสังคม

ยกตัวอย่างเช่น อัลตร้าอียิปต์ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับไล่ ฮอสนี มูบารัค อดีตผู้นำเผด็จการของประเทศ ที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 30 ปี ในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อปี 2011 รวมถึงขัดขวางการขึ้นสู่ตำแหน่งของ อับเดล ฟาตา เอล ซีซี ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของ มูบารัคเมื่อปี 2014

Photo : AFP 

หรือเพลงที่ร้องเชียร์บนอัฒจันทร์ ของกลุ่มอัลตร้า ในตูนีเซีย, แอลจีเรีย, โมร็อคโก หรือเลบานอน ก็ล้วนเป็นเพลงที่ประท้วง หรือส่งเสียงต่อต้านรัฐบาลแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับ อัลตร้ากาตาร์กลุ่มนี้ พวกเขาเป็นเหมือนแค่ผู้ที่เข้ามาสร้างสีสัน สร้างบรรยากาศให้ดูฮึกเหิม จึงทำให้การเชียร์ค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ตายตัว และดูไม่เป็นธรรมชาติ ที่แม้แต่คนกาตาร์ยังรู้สึกรู้สึก

“คนกาตาร์ไม่ได้เชียร์ฟุตบอลแบบนี้” อัลดุลลาห์ อาซิซ อัล คาลาฟ แฟนบอลกาตาร์วัย 27 ปีกล่าวกับ New York Times

“เพราะว่าในกาตาร์ เราไม่ได้มาดูการแข่งขันมากขนาดนี้”

Photo : AFP

ขณะที่ อาลี อัลซามิคห์ นักเรียนกาตาร์วัย 16 ปีที่เป็นแฟนบอลของ อัล รอยยาน ก็บอกว่าแม้จะรู้สึกฮึกเหิม แต่หากให้ไปยืนอยู่ตรงนั้น เขาคงไม่เอาเหมือนกัน

“ผมชอบมันนะ มันดูน่าตื่นเต้นดีออก แต่ผมไม่ได้อยากทำแบบนั้นเลย” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี  นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้

แฟนบอลจัดตั้ง?

แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายจี้ถามฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่าพวกเขาได้จ้างกองเชียร์ของทีมชาติกาตาร์กลุ่มนี้มาหรือไม่ แต่พวกเขาก็เลี่ยงที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้มาโดยตลอด

อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายจัดฯ กาตาร์ 2022 เผชิญข้อครหาในเรื่อง “หน้าม้า” เพราะก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น พวกเขาก็ถูกกล่าวหาว่า ได้จ้างแรงงานต่างชาติ มาคอยต้อนรับผู้มาเยือนทั้ง 31 ทีมในฟุตบอลโลกครั้งนี้

แม้ว่ามันจะดูแนบเนียนและแยบยล ไม่ว่าจะเป็นการที่กองเชียร์ล้วนใส่ชุดแข่งของชาตินั้น รวมถึงร้องเพลงเชียร์ของชาตินั้น เช่น “It’s coming home” ของทีมชาติอังกฤษ แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตุว่า กองเชียร์เหล่านี้ ไม่ว่าจะของชาติใดกลับไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียว และเป็นส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดีย

Photo : Martin Rickett/PA

นอกจากนี้ รายงานจาก Arab News ระบุว่ารัฐบาลกาตาร์ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้กับแฟนบอลทั้ง 1,600 คน โดยแลกกับการพูดถึงกาตาร์ และเวิลด์คัพ 2022 ในเชิงบวกทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงคอยสอดส่องบัญชีที่มีการโพสต์ที่ไม่เหมาะสมในโลกอออนไลน

อย่างไรก็ดี ฝ่ายจัดการแข่งขันได้ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหานี้ และยืนยันว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกคือของจริง และไม่มีการจัดตั้งอะไรทั้งนั้น

“นักข่าวและนักวิจารณ์หลายคนในโซเชียลมีเดีย ตั้งข้อสงสัยว่าพวกเขาเป็นกองเชียร์ ‘จริงๆ’ หรือไม่” ฝ่ายจัดการแข่งขันระบุ

“เราขอปฏิเสธคำอ้างนี้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งน่าผิดหวัง และไม่แปลกใจที่เราโดนแบบนี้”

ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าหลายคนจะยังกังขา จากการที่เรื่องของกองเชียร์กาตาร์ชาวเลบานอนได้ถูกเปิดเผยออกมา  แต่พวกเขาก็ยืนยันว่าอารมณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นคือของจริง

“แน่นอนว่าผมไม่แฮปปี้” อาเหม็ด กองเชียร์ชาวอียิปต์ กล่าวหลังเกมกาตาร์พ่ายต่อเซเนกัล 3-1 ซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นชาติแรกของฟุตบอลโลก 2022 ที่ตกรอบแบ่งกลุ่ม กล่าวกับ  New York Times

อาเหม็ดกล่าวว่า แม้ว่าเขาจะเป็นชาวอียิปต์ แต่เขาอาศัยอยู่ใน กาตาร์ จริง ๆ ที่ทำให้เขาผูกกันกับประเทศที่ทำให้เขามีงานทำแห่งนี้ จึงได้เข้ามาร่วมกลุ่มกองเชียร์น้ำตาลอมแดงของทีมชาติกาตาร์

“เราเป็นกลุ่มของชาวอาหรับที่ทำงานที่นี่ เรามาเชียร์ทีมชาติกาตาร์ ถ้าเราทำงานที่อังกฤษ เราก็จะเชียร์ทีมชาติอังกฤษเหมือนกัน” อาเหม็ดอธิบาย

Photo : AFP

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า แฟนบอลกลุ่มนี้จะอยู่ที่ กาตาร์ แค่เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น และได้เก็บของบินกลับไปยังบ้านเกิดทันทีที่ทีมชาติกาตาร์หมดภารกิจในรอบแรก เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สุดท้ายแล้ว แม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอด 3 เกมที่ทีมชาติกาตาร์ลงแข่ง มาจากใจหรืออามิสสินจ้าง แต่อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นว่า กาตาร์ เต็มที่กับฟุตบอลโลกครั้งนี้มากแค่ไหน

บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการพัฒนาวัฒนธรรมฟุตบอลของกาตาร์ ก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

https://www.arabnews.com/node/2201176/middle-east

https://www.nytimes.com/2022/11/28/sports/soccer/world-cup-fans-qatar-ultras.html

https://www.middleeasteye.net/news/qatar-world-cup-lebanon-ultra-fans-shipped-support-team

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ