เส้นทางที่พลิกผันของ ‘อธิคุณ ปิ่นทอง’ : จากเด็กสมาธิสั้นสู่นักวิเคราะห์เกมสโมสรอาร์เซน่อล

เส้นทางที่พลิกผันของ ‘อธิคุณ ปิ่นทอง’ : จากเด็กสมาธิสั้นสู่นักวิเคราะห์เกมสโมสรอาร์เซน่อล
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

สอง-สามวันที่ผ่านมาตามหน้าสื่อต่างๆ ในประเทศไทย ย่อมต้องมีการนำเสนอข่าวของ ‘เลี้ยง-อธิคุณ ปิ่นทอง’ คนไทยที่ประสบความสำเร็จ เรื่องการได้เข้าเป็นทีมงานของสโมสรอาร์เซน่อล ทีมดังแห่งศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในตำแหน่งนักวิเคราะห์เกมทีมเยาวชน

PHOTO : Liang Pinthong

การมองเรื่องราวของ เลี้ยง ที่ปลายทางแล้วแสดงความชื่นชม อาจเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมทุกวันนี้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของเขาว่า ต้องผ่านความผิดหวังอะไรมาบ้าง? เจอกับอุปสรรคหนักหนาสาหัสแค่ไหน? ในการเป็นคนต่างถิ่นจากประเทศแถบเอเชียที่ไปสู้ชีวิตอยู่ในแดนผู้ดี แย่งงานกับชาวต่างชาติแบบเท่าเทียม ด้วยการตัดสินบนบรรทัดฐานของประเทศที่เจริญแล้ว

ทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้รับเกียรติจาก เลี้ยง ที่ได้สละเวลามาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวในชีวิตของเขาตั้งแต่จุดแรกเริ่ม ก่อนจะมาประสบความสำเร็จอย่างที่ทุกคนเห็นกันในทุกวันนี้ได้ ซึ่งมันไม่ได้ง่ายและปูด้วยกลีบกุหลาบแบบที่ใครๆ หลายๆ คนคาดคิด

ครอบครัวคือสิ่งสำคัญเสมอ

ถ้าพูดถึงเด็กชาย อธิคุณ ในวัยเด็ก ตัวของเขานิยามว่าตัวเองเป็นเด็กที่ค่อนข้างดื้อพอควร สมาธิสั้น ไม่ค่อยโฟกัสกับการเรียน ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง อาศัยอยู่แถบเขตบางนา-อุดมสุข ในจังหวัดกรุงเทพฯ ถึงแม้ไม่ได้รวยขนาดเหลือกินเหลือใช่ แต่พ่อ-แม่ของเขาก็เคยบอกไว้ว่า มีทุนพอให้ลูกเรียนจบ มีกินมีใช้แบบไม่ได้หรูหรา ต้องอยู่บนความอ่อนน้อมถ่อมตัว ขอแค่ให้เติบโตมาเป็นคนที่ดีและมีความสุขก็พอแล้ว

PHOTO : Liang Pinthong

เลี้ยง มีพี่น้องอีกสองคน ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูที่ดีไม่ต่างกัน (คนนึงประกอบอาชีพเป็นเชฟและอีกคนเป็นนักออกแบบ) ปัญหาแรกที่พ่อ-แม่ของเขาสังเกตุได้ทันทีตั้งแต่อายุยังน้อย คือ เขาเป็นคนที่ทำการบ้านไม่เก่ง โรงเรียนให้การบ้านมาเยอะเกินไป ดูทรงแล้วน่าจะไปทางวิชาการได้ยาก เลยตัดสินใจเปลี่ยนโรงเรียนประถมมาเป็นสายเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการใช้ทักษะในการใช้ชีวิตชื่อว่า โรงเรียนทอสี อยู่แถบปรีดีพนมยงค์

แล้วที่โรงเรียนนี้เอง เลี้ยง ก็ได้รู้จักกีฬาฟุตบอลเป็นครั้งแรกในชีวิต โมเมนต์สำคัญที่เขาพอจะจดจำได้แบบไม่ลืมเลือน คือ ได้ลงสนามแล้วสามารถยิงประตูได้ หลังจากนั้นเพื่อนร่วมทีมก็วิ่งเข้ามาโผกอด แสดงความดีใจ จนกลายเป็นการจุดประกายให้เขาชอบฟุตบอลมากขึ้น

PHOTO : Liang Pinthong

คุณพ่อของเขาเป็นคนชื่นชอบในการดูฟุตบอลเช่นกัน แต่ไม่ได้เชียร์ทีมไหนเป็นพิเศษ เน้นดูเพื่อใช้เป็นการสันทนาการเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดมากกว่า แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เลี้ยงได้รับการสนับสนุนให้ไปฝึกฟุตบอลที่โรงเรียนในวันเสาร์ รวมไปถึงการผลักดันเข้าสู่อคาเดมี่อย่าง เอ็มบีเอฟ และ อินเตอร์ไทยแลนด์ ซึ่งเคยสร้างนักเตะคุณภาพเข้าสู่วงการบอลไทย ยกตัวอย่างเช่น สันติภาพ จันทร์หง่อม เป็นต้น

เลี้ยง กล่าวถึงการสนับสนุนของคุณพ่อที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเอาไว้ว่า

“คุณพ่อคอยพิมพ์มาหาให้กำลังใจ ให้คำแนะนำผมตลอด แม้มันจะไม่สามารถนำมาปรับใช้กับงานฟุตบอลของผมได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่แค่สิบเปอร์เซ็นต์ผมก็มองว่าเพียงพอแล้ว”

PHOTO : Pusdee Pinthong

“อยากให้ใช้ชีวิตให้เต็มที่มีความสุข ทำอะไรก็ทำได้เลยตามที่ต้องการ เคารพในการตัดสินใจของผมเสมอ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่รู้เลยว่า พ่อไปคุยอะไรกับแม่ ถึงยอมให้ผมตัดสินใจทำงานสายนี้ได้”

“ผมไม่รู้จริงๆ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายมันค่อนข้างสูง ซึ่งต้องยอมรับว่าคนที่มีโอกาสแบบนี้ในชีวิต การสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวนั้นสำคัญมากจริงๆ”

พอเข้าสู่วัยมัธยมศึกษา เลี้ยง ก็ย้ายโรงเรียนไปอยู่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งเป็นหนึ่งในเต้ยแห่งวงการลูกหนังขาสั้น มีการเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนที่มีชื่อเสียงอย่างมาก คือ จตุรมิตร ส่งผลให้ตัวของเขานั้นอินกับบรรยากาศและแพสชั่นของฟุตบอลมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามบทบาทของ เลี้ยง นั้นไม่ใช่นักฟุตบอลตัวแทนโรงเรียน แต่กลับต้องคอยให้กำลังใจด้วยการเป็นกองเชียร์เท่านั้น เนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ว่า

อยู่กับความผิดหวังเพื่อก้าวต่อไป

เลี้ยง ย้อนความเอาไว้ว่า ตัวของเขานั้นยังคงเตะฟุตบอลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ แต่ไม่ได้จริงจังถึงขนาดจะตั้งเป้าเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็พร้อมที่จะเสี่ยงลองวัดดวงดู ซึ่งในช่วงนั้นเขาก็ได้ตัดสินใจไปคัดตัวเข้าอคาเดมี่ของสโมสร แบงค็อก ยูไนเต็ด หรือ บียู นั่นเอง

การคัดตัวนั้นแบ่งออกเป็นสองวัน วันแรกนั้นเขามองว่าผลงานของตัวเองค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นการลงทีมแบบ สมอล ไซส์ แข่งขันกันในพื้นที่สนามเล็ก จำนวนผู้เล่นน้อย แล้วตัวของเขาก็สร้างโอกาสในการทำประตูได้ดี เลยได้เข้ารอบสุดท้ายไปต่อในวันที่สอง

PHOTO : Liang Pinthong

อย่างไรก็ตามในวันที่สอง เลี้ยง ต้องเจอกับบททดสอบที่ไม่เคยผ่านมาก่อนในชีวิต การเรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลจากอคาเดมี่ ทำให้เขาคุ้นชินกับการเล่นบอลสนามเล็กมาตลอด แต่คราวนี้ต้องมาเล่นในสนามใหญ่ 11 คน ณ สังเวียน ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ส่งผลให้การเล่นของเขาเกิดความผิดพลาด แล้วส่งผลให้คัดตัวไม่ติด ตามที่เล่าว่า

“ตอนเข้ารอบสุดท้ายผมถูกจับไปเล่นในตำแหน่งเซนเตอร์แบ็ค (กองหลังตัวกลาง) แต่ตัวผมคิดว่าผมน่าจะเหมาะกับการเล่นกองกลางมากกว่า แต่ตอนเด็กผมตัวใหญ่โค้ชเลยอาจมองเห็นอะไรในจุดนั้น”
“ผมก็ตื่นเต้นอยู่บ้างเพราะไม่เคยเล่นบอล 11 คนมาก่อน ไม่เข้าใจตำแหน่ง ไม่เข้าใจวิธีการเล่น แล้วมีจังหวะหนึ่งในเกมที่กำลังจะสร้างเกมขึ้นไปจากแดนหลัง ผมโดนกองหน้าฝั่งตรงข้ามวิ่งมาเพรส แล้วแย่งบอลเข้าไปยิงได้ จังหวะดังกล่าวน่าจะเป็นการตัดสินจากแมวมองให้ผมไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะมันเกิดความผิดพลาดขึ้นจริง”

พอพลาดหวังจากการคัดเลือกในครั้งนั้น เลี้ยง ก็เลยผันตัวมาเป็นแค่กองเชียร์ มีไปชมเกมฟุตบอลในไทยลีกอยู่บ้างกับเพื่อนๆ ยกตัวอย่าง เช่น เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือ การท่าเรือ เอฟซี รวมไปถึงการไปบ้านเพื่อนเพื่อนั่งชมเกมฟุตบอลจากต่างประเทศตามประสาวัยรุ่น

PHOTO : Liang Pinthong

เมื่อเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เลี้ยง จำเป็นต้องเลือกแล้วว่าเส้นทางอาชีพของเขาควรไปทางไหน แรกๆ มองถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ในประเทศไทย ด้านการบริหารธุรกิจ ภาคอินเตอร์แบบเพื่อนๆ เพราะช่วงวัยเด็กเคยผ่านการไปซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์, ออสเตรเลีย และ อังกฤษ ทำให้เรื่องภาษาพอจะได้อยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงจากการที่เป็นคนไม่ถนัดสายวิชาการ คะแนนเลยไม่ผ่านเกณฑ์แบบคนอื่นๆ

เมื่อแผนแรกไม่สำเร็จเลยจำต้องเปลี่ยนมาแผนสอง คือ สอบ IELTS (วัดความรู้ภาษาอังกฤษ) เพื่อหวังจะไปเรียนต่อต่างประเทศ พอบวกเข้ากับทักษะเดิมที่มีในการเล่นฟุตบอล นั่งศึกษานักวิเคราะห์เกมจากต่างประเทศ แถมยังมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์เรื่องของการตัดต่อคลิปวิดีโอ เลยคิดว่าจะไปเรียนต่อในสายงานที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ดู ซึ่งตอนแรกวางเป้าไว้กว้างๆ คือ โค้ช (ผู้ฝึกสอน)

จากโลกออนไลน์สู่สนามจริง

เมื่อตัวของ เลี้ยง พบกับสิ่งที่สนใจและตั้งเป้าจะเรียนจริงๆ จังๆ แล้วจึงไปปรึกษาที่บ้าน แต่ปรากฏว่า มหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าไว้ตอนแรกในกรุงลอนดอน มีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป จึงมาลงเอยที่ โซเลนท์ ยูนิเวอร์ซิตี้ เมืองเซาแธมป์ตัน คณะ Football Study ซึ่งสอนทุกอย่างเกี่ยวกับศาสตร์ลูกหนัง

PHOTO : SI-UK

ไม่ว่าจะเป็น การฝึกสอนฟุตบอล (Coaching), การจัดการฟุตบอล (Football Management), วิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport Science), กราส รู้ท (Grass Roots), จิตวิทยา (Psychology) และ การวิเคราะห์ (Analyst) จนมารู้ตัวว่า เขาต้องการจะไปต่อด้านการเป็นนักวิเคราะห์เกมมากที่สุด

พอได้เป้าหมายที่ต้องการแล้ว เลี้ยง จึงเลือกที่จะไปปรึกษาอาจารย์ในภาควิชาว่า สายงานนี้ต้องเริ่มจากจุดไหน? ควรจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้สามารถหางานในส่วนนี้ได้ คำตอบที่ได้รับกลับมาจากอาจารย์ คือ การสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมา ให้คนได้เห็นบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ

PHOTO : Chainat Hornbill Football Club

สุดท้ายก็ทำช่องวิเคราะห์ฟุตบอล พร้อมใช้ทักษะในการทำกราฟฟิกขึ้นมาชื่อว่า ดิ แอสซิสต์ แต่พอได้รู้จักและพูดคุยกับ ‘โค้ชอ๊อตโต้-พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ (ผู้ฝึกสอนสโมสรชัยนาท)’ ที่ทำเพจ The Next Coach อยู่พอดี ทั้งสองคนจึงได้มาร่วมงานกัน โดยคุยกันผ่านทางออนไลน์เพราะอยู่กันคนละประเทศ แล้วตั้งเป้าหมายส่วนตัวของตัวเองเพิ่มไว้ว่า ภายในการเรียนช่วงปีสามต้องได้ทำงานกับทีมชาติไทย

ต่อมาเมื่อจบการศึกษาปีหนึ่ง เลี้ยง มีช่วงปิดเทอมยาวประมาณ 3-4 เดือน ตัวเขาเริ่มถึงการหางานเป็นอาชีพแบบจริงจังในแดนผู้ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการเก็บประสบการณ์เป็น ‘อินเทิร์น’ หรือ ‘เด็กฝึกงาน’ ได้ลงสนามจริง เลยติดต่อมาทางเพื่อนอย่าง อ๊อตโต้ ที่กำลังทำทีมเยาวชนของ บียู อยู่ แล้วก็ได้รับไฟเขียวให้มาช่วยงานได้

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง คือ การที่เลี้ยงได้พบกับ ‘โค้ชเชน-ประสบโชค โชคเหมาะ’ หนึ่งในสตาฟฟ์โค้ชของทัพแข้งเทพ ที่สนใจงานด้านวิชาการเกี่ยวกับฟุตบอล แล้วมีโปรเจ็คท์งานเกี่ยวกับ ทีมชาติไทย อยู่ในมือพอดี เลยเกิดการดึงตัวเข้าไปช่วยงานในทีมชาติในเวลาต่อมา ตามที่ตัวเขาเล่าเอาไว้ว่า

“ตอนนั้นผมทำรีเสิร์ช (การวิจัย) เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการมาพัฒนานักกีฬา ยกตัวอย่างเช่น การกินเวย์โปรตีนเวลาไหนที่เหมาะสมที่สุด? บวกกับทักษะเรื่องการวิเคราะห์เกม เลยถูกอาจารย์เชนดึงตัวไปช่วยในจุดนี้”

PHOTO : Liang Pinthong

“ทัวร์นาเมนต์แรกอย่างเป็นทางการที่ผมได้ไปช่วยทีมชาติ คือ เอเอฟเอฟ ยู-19 มีโอกาสได้ร่วมงานกับ โค้ชหระ-อิสสระ ศรีทะโร ที่ทำทีมอยู่ในเวลานั้น ประกอบกับพี่เขาเป็นคนที่เชื่อในศาสตร์ฟุตบอลในการวิเคราะห์สถิติต่างๆ เหมือนกัน เลยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน แล้วก็ชักชวนให้ผมบินไปเป็นสตาฟฟ์กับทีมชาติด้วย”

หลังจากนั้น เลี้ยง ก็ได้มีโอกาสร่วมทำงานเป็นสตาฟฟ์ทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 16 ปี ต่อด้วยโครงการ Fox Hunt ครั้งที่ 5 ที่เจอปัญหาโควิดเลยต้องใช้สตาฟฟ์โค้ชจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในการฝึกสอน แล้วก็ได้ร่วมงานกับ ซัลบาดอร์ บาเลโร่ การ์เซีย โค้ชชาวสเปนที่เป็นทีมงานจาก เอคโคโน่ ที่เข้ามาดูแลการพัฒนานักเตะไทยชุดเยาวชน ณ เวลาดังกล่าว

PHOTO : Liang Pinthong

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เลี้ยง ค่อนข้างรู้สึกแอบมั่นใจในตัวเองระดับหนึ่งว่า หากยื่นสมัครเป็นเด็กฝึกงานกับสโมสรในประเทศอังกฤษ โปรไฟล์ระดับเขาที่ผ่านงานทีมชาติต้องได้แน่ แต่ก็ลงเอยด้วยการกินแห้วไปหลายที่ ใกล้เคียงที่สุด คือ การได้สัมภาษณ์กับสโมสร เวสต์แฮม ยูไนเต็ด แต่เจ้าตัวตอบคำถามได้ไม่ดี เนื่องจากไปโฟกัสว่า อยากทำงานกับทีมใน พรีเมียร์ลีก เลยพลาดโอกาสไป

หลังจากนั้น เลี้ยง ก็มีการได้ปรึกษากับสตาฟฟ์จาก เอคโคโน่ ชื่อว่า เปา การ์นาเช่ ที่ดูแลด้านจิตวิทยา จึงได้มีการติวเรื่องการสัมภาษณ์งาน, ทัศนคติ และเปลี่ยนเรื่องการนำเสนอตัวเองใหม่ จนสามารถผ่านการสัมภาษณ์เป็น เด็กฝึกงาน ของสโมสร อ็อกฟอร์ด ยูไนเต็ด

ซึ่งในขณะนั้นมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ สัมฤทธิ์ ธนะกาญจนสุทธิ์ แต่หนึ่งในความภาคภูมิใจของ เลี้ยง เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้ใช้เส้นสายหรือรู้จักใครเลยในการผ่านการคัดเลือก โดยสตาฟฟ์ที่คัดกรองเขาเข้าไปทำงานก็เป็นชาวต่างชาติ เรียกได้ว่าผ่านเข้าไปด้วยความสามารถของตัวเองล้วนๆ

ฝันให้ใหญ่เข้าไว้

การได้เข้าไปทำงานกับสโมสร อ๊อกฟอร์ด ยูไนเต็ด ตัวของ เลี้ยง มีหน้าที่เป็นสตาฟฟ์ในทีมชุดอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำหลายบทบาท อาทิ อัดวิดีโอฝึกซ้อม, ฝึกสอนผู้เล่น, เตรียมวิเคราะห์ก่อนเกม-หลังเกม, เก็บข้อมูลหลังเกม และคุยกับโค้ช เพื่อหาสิ่งที่โค้ชต้องการในการพัฒนาเยาวชน

ประสบการณ์จากการทำทีมชาติไทยร่วมกับ โค้ชหระ ทำให้ตัวของเขา นำเอาวิธีการใหม่ๆ ในการอธิบายเรื่องยากๆ อย่าง แท็คติก และ การเคลื่อนที่ ให้นักเตะเข้าใจด้วย กระดานหมากผู้เล่น (Tactic Board) และ คีย์โน้ต เพื่อช่วยให้ผู้เล่นแต่ละคนเห็นภาพเสมือนจริงมากขึ้น แล้วกลายเป็นวัฒนธรรมของทีมไปแล้วในปัจจุบันโดยมีตัวเขาเป็นผู้ริเริ่ม

PHOTO : Liang Pinthong

ยิ่งไปกว่านั้น เลี้ยง ยังนำทักษะในการทำวิดีโอและตัดต่อ มาช่วยในการสร้าง วิดีโอกระตุ้นความกระหายของนักเตะ (Motivation Video) ช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นในการทำงาน ด้วยแนวคิดในการนำเสนอที่เน้นความสนุกและผ่อนคลาย ส่งผลดีทางอ้อมให้ความสัมพันธ์ภายในทีมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คลิปในการหยอกล้อกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เลี้ยง นั้นจำเป็นต้องมองเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น เนื่องจาก อ๊อกฟอร์ด ไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้กับ ‘เด็กฝึกงาน’ ดังนั้นเขาจึงไม่มีรายได้ในการทำงานส่วนนี้ ทั้งที่รับผิดชอบหลากหลายหน้าที่ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้เขาต้องย้ายงานไปอยู่กับสโมสร เซาแธมป์ตัน ทีมในระดับ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่มีค่าตอบแทนให้ในบทบาทดังกล่าว

เขามองว่าช่วงเวลาสองปีที่อยู่กับ เซาแธมป์ตัน ทำให้เขาผูกพันธ์และชื่นชมสโมสรแห่งนี้เอามากๆ เพราะการบริหารงานของสโมสรแห่งนี้ มีปรัชญาฟุตบอลชัดเจน แล้วถ่ายทอดไปยังนักเตะทุกชุด ซึ่งเขาก็มีส่วนร่วมกับนักเตะเยาวชนตั้งแต่ชุดอายุต่ำกว่า 9-21 ปี

เลี้ยง มองว่า เซาแธมป์ตัน เป็นหนึ่งในสโมสรที่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์เป็นอย่างมาก มีซอฟท์แวร์และเครื่องมือในการช่วยเหลือที่ทันสมัย ขนาดประชุมงานอยู่ยังสามารถสั่งอัดวิดีโอการซ้อม ผ่านทางกล้องวงจรปิดของสโมสรได้ สมแล้วกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมที่สร้างนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่วงการฟุตบอลอังกฤษเป็นระดับท็อปๆ ของลีก

หน้าที่ของสตาฟฟ์แต่ละคน มีการแบ่งบทบาทชัดเจน รู้ว่าต้องทำอะไร แบบไหน ยังไง เปิดโอกาสให้เขาทำงานแบบเต็มตัวโดยไม่ได้มองว่าเป็นแค่เด็กฝึกงาน หัวหน้ามีความเชื่อใจให้เขาออกหน้าเต็มตัวในบางเกม แล้วความสำเร็จที่เขาไม่ลืมเลย คือ การพาทีม ยู-18 ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศศึก เอฟเอ ยูธ คัพ

PHOTO : The Non League Paper

เลี้ยง ได้เจอกับหัวหน้างานดีๆ อาทิ ไมค์กี้ แฮร์ริส (ปัจจุบันย้ายไปเป็นผู้จัดการทีมยู-21ของ ไบรท์ตัน) และ เดวิด ฮอร์สแมน (ปัจจุบันย้ายมาเป็นผู้จัดการทีม ฟอร์เรส กรีน) และ ราล์ฟ ฮาเซนฮุทเทิล อดีตผู้จัดการทีมของทัพนักบุญแดนใต้ ซึ่งทำให้เขารู้ว่าโค้ชระดับโลกสนใจรายละเอียดปลีกย่อยมากแค่ไหน ตามที่กล่าวชื่นชมเอาไว้ว่า

“มันอาจจะดูแปลกๆ หน่อยนะที่ผมชื่นชม ราล์ฟ เพราะทาง เซาแธมป์ตัน ตกชั้นเมื่อปีก่อน แต่เขาเป็นคนที่สร้าง เพลย์บุ๊ค ให้กับทีมใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการเล่นที่เน้นไปที่การเพรสซิ่งที่ดุดันในเกมรับ”

“ราล์ฟ ต้องการกลบจุดบอดเรื่องภาษาที่ใช้สั่งการในสนาม จึงสร้างเพลย์บุ๊คนั้นขึ้นมา แล้วถูกส่งต่อไปถ่ายทอดให้กับนักเตะเยาวชนทุกชุด เผื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาก้าวขึ้นมาชุดใหญ่ จะได้ไม่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนาน เคมีปรับจูนกันได้เร็ว”

PHOTO : Sky Sports

“ทุกคนที่เป็นหัวหน้าผมที่ เซาแธมป์ตัน มีทัศนคติตรงกันว่า หากเจอใครที่มีศักยภาพต้องส่งเสริมเขาไปให้สุด ไม่มีกั๊กตำแหน่ง แล้วมันอาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากวัฒนธรรมที่พบเจอในประเทศไทย”

ประสบการณ์สองปีกับ เซาแธมป์ตัน ทำให้ เลี้ยง รู้ถึงจุดเด่นของตัวเองในการทำหน้าที่นี้ ได้รับการยอมรับจากโค้ชต่างชาติ แล้วเรียนรู้สิ่งสำคัญว่า ต้องมีแผนสองอยู่เสมอ...เพราะความจริงแล้วปลายทางของเขาตอนแรกหลังแยกทางกับ เซาแธมป์ตัน สโมสรแรก คือ เลสเตอร์ ซิตี้ ไม่ใช่ทาง อาร์เซน่อล แล้วเป็นเรื่องราวที่หลายคนไม่รู้มาก่อน

สู่ปลายทางที่ลอนดอน

ทักษะในการทำ วิดีโอกระตุ้นความกระหายของนักเตะ (Motivation Video) ของ เลี้ยง กลายเป็นจุดขายของเขาที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เขาไม่เคยที่จะหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ แล้วนำเอาเทรนด์ใหม่ๆ อย่าง คลิปใน Tiktok ที่มีความยาวแค่ระดับ 30 วินาที มาปรับเนื้อหาดึงความสนใจจากนักเตะได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การสรุปว่าเซสชั่นนี้จะเรียนเนื้อหาอะไร, นักเตะระดับโลกเขาคิดและทำแบบไหน? และ การอธิบายการเล่นเป็นวิดีโอประกอบเพลง ทำให้ผู้เล่นเยาวชนภายในทีม สามารถเปิดดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากเขาคำนึงถึงการเรียนรู้ของแต่ละคน ที่มีความช้า-เร็วต่างกันในการทำความเข้าใจ ซึ่งเขามองว่าส่วนนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาได้งานกับสโมสร อาร์เซน่อล

PHOTO : Liang Pinthong

อย่างไรก็ตาม เลี้ยง เล่าเรื่องสุดพลิกผันว่า ตอนแรกตัวเขาจะไปลงเอยกับสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ในตำแหน่ง วิดีโอ สเกาท์ เนื่องจากคัดเลือกผ่านเรียบร้อยแล้ว รอเพียงแค่การแจ้งเวลาเริ่มงานตามกำหนดการอีกที แต่พอทาง จิ้งจอกสยาม ตกชั้นไปเล่นในลีกรอง ตารางการบริหารต่างๆ เลยเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด ไม่มีการดำเนินการต่อในฝ่ายของ HR

ระหว่างที่รอแจ้งหมายกำหนดการเข้าไปทำงาน เลี้ยง ได้รับการแจ้งข่าวจากเพื่อนร่วมงานเก่าที่ เซาแธมป์ตัน มาว่า อาร์เซน่อล มีการเปิดรับสมัครตำแหน่ง ‘นักวิเคราะห์เกม (Performance Analysis)’ ตัวเขาจึงตัดสินใจลองยื่นใบสมัครเข้าไปดู พร้อมมีความคิดเพียงแค่ว่า มันอาจจะเป็นโอกาสสุดท้าย เพราะนี่คือตำแหน่งที่เป็นที่สุดแล้วในสายงานนักวิเคราะห์เกม มีหน้าที่หลักเป็นการช่วยทำให้นักเตะแต่ละคนเก่งขึ้น

เขาใช้เวลาทั้งหมดที่มีเหลืออยู่ ก่อนจะถึงวันนัดสัมภาษณ์ออนไลน์ด้วยการทำ พรีเซนเทชั่นนำเสนอปรัชญาการวิเคราะห์ของตัวเองว่าดีแค่ไหน ไปเรียนรู้วิถีของ อาร์เซน่อล จากสารคดีต่างๆ อาทิ ALL OR NOTHING กับ Hale End พยายามเข้าถึงแหล่งความรู้ที่สามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของสโมสรแห่งนี้ให้ถ่องแท้ที่สุด พร้อมกับตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ดีที่สุดในการสัมภาษณ์ เพื่อไม่ให้เสียใจในภายหลัง

หลังจากนั้น เลี้ยง ก็ได้อธิบายถึงช่วงเวลาที่มีเจ้าหน้าที่ของ ไอ้ปืนใหญ่ โทรกลับมาแจ้งผลว่า

“ผมสัมภาษณ์เมื่อประมาณเดือนที่แล้ว วันถัดมาเขาก็โทรกลับมาพร้อมกับบอกว่า ยินดีด้วยคุณได้งานที่อาร์เซน่อลนะ ผมก็ตกใจ ไม่คิดว่าจะได้ ผมตอบกลับไปว่าขอเวลาผมคิดแปบนึงแต่ใจผมเซย์เยสไปแล้ว”

PHOTO : Liang Pinthong
“เจ้าหน้าที่เขาเล่าให้ผมฟังว่าผมไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์เยอะที่สุด แต่ผมมีโพเทนเชียลบางอย่างที่เขาชอบ สามารถเอาชนะคนห้าพันคนจากทั่วโลก ด้วยการเป็นแค่คนเดียวที่ได้รับการคัดเลือก คุณต้องภูมิใจนะที่คุณเอาชนะหัวหน้าทีมวิเคราะห์จากบางสโมสร บางอคาเดมี่ เพราะว่าปรัชญาในการวิเคราะห์ของคุณมันดีจริงๆ”

“ผมก็รู้สึกดีใจนะแล้วก็ตื่นเต้นจนนอนไม่ค่อยหลับ ใครจะไปคิดว่าวันพรุ่งนี้ (17 สิงหาคม) ผมจะต้องไปกินบาร์บีคิวร่วมกับ มิเกล อาร์เตต้า แต่ในทางกลับกันผมก็ต้องโทรไปบอกเลสเตอร์ พิมพ์ไปขอโทษสตาฟฟ์ที่รู้จักกันว่าไม่สามารถรับงานนี้ได้อีกแล้ว ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ลำบากใจเหมือนกันในช่วงเวลานั้น”

หน้าที่ของ เลี้ยง คือ ดูแลและวิเคราะห์ทีมชุดอายุต่ำกว่า 13-14 ปีของ อาร์เซน่อล ถ่ายวิดีโอเกมการแข่งขัน, การซ้อม, ทำวิดีโอพรีเซนเทชั่นทั้งเรื่องของเทคนิคและแท็คติกให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย รวมไปถึงเข้าไปช่วยเหลือทีมสตาฟฟ์เยาวชนชุดอื่นๆ ในบางโอกาสในช่วงที่เขาขาดคน

กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เลี้ยง ต้องพบกับความผิดหวังมาหลายต่อหลายครั้ง จากการถูกปฏิเสธจากหลายสโมสร อาทิ เลสเตอร์, เวสต์แฮม และ สเปอร์ส แต่สิ่งที่เขามุ่งมั่นมาตลอด คือ การห้ามยอมแพ้ ห้ามทิ้งฝันของตัวเอง ต้องพยายามต่อไปอย่างดีที่สุด ขนาดจะคว้าโอกาสได้แล้วยังต้องรอเรื่องวีซ่าการทำงานเป็นด่านสุดท้ายนานถึง 2-3 สัปดาห์

PHOTO : Liang Pinthong

จุดเริ่มต้นของเขาจากเด็กสมาธิสั้น เรียนไม่เก่ง พลาดหวังในการคัดตัวเป็นนักฟุตบอล สอบมหาวิทยาลัยในเมืองไทยไม่ติด กลายเป็นการเปิดเส้นทางใหม่ให้เขาได้ลองเสี่้ยง แล้วใช้เวลากับประสบการณ์ในการแก้ไขข้อบกพร้องของตัวเองไปทีละจุดแบบไม่มีลดละ

เหมือนกับคำที่ อาร์เซน เวนเกอร์ ตำนานกุนซือ ไอ้ปืนใหญ่ เคยสอนว่า นักเตะระดับโลกนั้นต้องมีความอดทนสูงกับสิ่งที่เขารักมากกว่าคนทั่วไป อยู่กับความเป็นจริงพร้อมกับยอมรับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนี้ทุกคนอาจจะรับรู้เรื่องราวของเขาในวันที่ประสบความสำเร็จ แต่วันที่ล้มแล้วเจอเหตุการณ์แย่ๆ มันมากกกว่าที่จะเล่าออกมาได้แน่นอน

จะกลับมาช่วยชาติบ้านเกิดไหม?

สุดท้ายนี้เขาตั้งใจว่าจะไม่กลับไปทำงานในเมืองไทยบ้านเกิดภายใน 5-10 ปีนี้ แต่ถ้าเก็บองค์ความรู้ได้ครบถ้วนทุกแขนงเมื่อไหร่ ความตั้งใจของเขาที่จะเป็นโค้ชฟุตบอลยังไม่ได้จางหายไปไหน แล้วเขาก็พร้อมที่จะกลับไปช่วยชาติ เมื่อเส้นทางมาบรรจบกันในเวลาที่เหมาะสม แต่ขอฝากถึงแฟนบอลไทยไว้สั้นๆ ว่า

“ถ้าวันไหนที่ผมทำให้ทีมๆ นึงประสบความสำเร็จได้ โดยที่องค์ความรู้ของผมทั้ง วิทยาศาสตร์การกีฬา, จิตวิยา, การวิเคราะห์ และ การฝึกสอนผู้เล่น ครบแล้ว…ผมจะกลับไปประเทศไทยแน่นอน”

PHOTO : Liang Pinthong

“แต่ขอให้รู้เอาไว้เลยว่า ผมคนเดียวหรือคนเพียงคนเดียว คงไม่พอที่จะพัฒนาทีมชาติไทย ต้องมีคนอื่น มีทีมงานที่มีคุณภาพมาช่วยเหลือกัน ถ้าวันหนึ่งผมได้งานจริงๆ แล้วมาคาดหวังว่าผมจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้มันไม่ใช่”

ไม่ว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมา อธิคุณ จะผ่านเรื่องราวการต่อสู่ด้วยตัวเองที่น่าประทับใจขนาดไหน ส่วนตัวแล้วเขายังจดจำโมเมนต์ที่ได้ไปช่วยทีมชาติครั้งแรกแบบไม่ลืมเลือน พร้อมความความรู้สึกเอ่อล้นด้วยความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ร้องเพลงชาติ ซึ่งสำหรับเขาแล้วช่วงเวลานั้นมันคือที่สุดในชีวิตที่ต้องการสัมผัสมันอีกครั้ง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์ออนไลน์โดย : พุฒิพงศ์ แสงโชติ

บทความที่เกี่ยวข้อง :

อธิคุณ เผยเรียนรู้จาก โค้ชหระ-ซัลบา ก่อนได้งานนักวิเคราะห์ที่อาร์เซนอล

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ