เทียบกับไทยเป็นไงบ้าง ? : เปิดค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกชั้นนำ ‘อาเซียน-เอเชีย’

เทียบกับไทยเป็นไงบ้าง ? : เปิดค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกชั้นนำ ‘อาเซียน-เอเชีย’
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

ประเด็นมูลค่าลิขสิทธิ์ของ ไทย ลีก ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หลังจากจบวาระการประชุมระหว่างตัวแทนของสโมสร กับ ตัวแทนจาก บริษัท ไทย ลีก รวมไปถึงสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพราะข้อมูลต่างๆ ที่เผยออกมาภายหลัง ทั้งจากเจ้าของทีม หรือสื่อต่างๆ ล้วนมีรายละเอียดเพิ่มเติมทีละเล็กละน้อย

แน่นอนว่าจำนวนตัวเลขแรกที่เผยออกมา คือ 50 ล้านบาท ซึ่งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่มีทางนำไปบริหารจัดการอะไรได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนข้อมูลที่แว่วๆ มาเพิ่มเติม ที่มีการยื่นประมูลราวกว่า 500 ล้านบาท แล้วถอนการประมูลออกไปยังไม่สามารถหาต้นตอได้แน่ชัด ซึ่งทิศทางของข้อมูลต่างๆ เหมือนว่าจะมีการแทรกแซงเกิดขึ้น

จากเรื่องวุ่นวายดังกล่าว ทีมงานพร้อมไปสืบเสาะหาข้อมูลว่า ลีกอื่นๆ ในทวีปเอเชีย มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดนั้นอยู่ที่เท่าไหร่กันบ้าง ปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองพวกเขาเป็นเช่นไร ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

เพื่อนบ้านแถบอาเซียน

เริ่มกันที่ วี ลีก ประเทศเวียดนาม เริ่มขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และเซ็นสัญญาฉบับแรกกับ AN Vien Television ด้วยมูลค่า 6 พันล้านดอง (ประมาณ 9 ล้านบาท)ต่อปี ตั้งแต่ปี 2010 เป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะจ่ายเพิ่มเป็นขั้นบันไดปีละ 10%

แต่พอทาง VPF หรือฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลวีลีก ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2011 สัญญาฉบับเดิมก็ถูกยกเลิกไป แล้วลิขสิทธิ์ก็กลับมาเป็นของ VFF หรือ สมาคมฟุตบอลประเทศเวียดนาม มอบหมายหน้าที่ให้ VPF บริหารจัดการ  ก่อนจะมีการข่ายลิขสิทธิ์ไปยังบริษัทถ่ายทอดสดอย่าง Next Media ในปี 2017 เซ็นสัญญากัน 5 ปี โดยที่สี่ปีแรกมูลค่าอยู่ที่ 1 พันล้านดอง (ประมาณ 1.5 ล้านบาท) และปีสุดท้าย (2022) ต้องจ่ายเป็นสองเท่าตัว คือ 2 พันล้านดอง (ประมาณ 3 ล้านบาท)

PHOTO : Vietnam News

โดยดีลล่าสุด VPF เซ็นสัญญามูลค่าสูงที่สุดเป็นประวัติกาลกับ FPT สื่อยักษ์ใหญ่ในประเทศ เป็นระยะเวลา 4 ปี รับรายได้เน้นๆ ปีละ 2.29 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 82 ล้านบาท) สามารถถ่ายทอดฟุตบอลลีก วีลีก 1, วีลีก 2, ฟุตบอลถ้วย และการแข่งขันฟุตบอลอาชีพรายการอื่นๆ ได้ครบหมด จะเห็นได้ว่ามีทั้งเพิ่มมูลค่าและลดมูลค่าตามความนิยมเช่นกัน

ต่อกันที่ประเทศอินโดนีเซีย แชมป์ซีเกมส์ชาติล่าสุด ดูเหมือนพวกเขาจะมีความยุ่งเหยิงเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกในประเทศไม่น้อย เพราะผู้ขายลิขสิทธิ์อย่าง PSSi ทำให้ดีลการถือครองสิทธิ์ต่างๆ เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้ซื้อสิทธิ์อย่าง Emtek และ PT Mediatama Television

ลิขสิทธิ์ที่ประกอบไปด้วย ฟุตบอลลีก 1, 2 และลีกเยาวชนยู-20 ถูกทาง PSSi ขายออกไปให้ Emtek ถ่ายทอดสดผ่านทาง 3 แพลตฟอร์ม คือ ฟรีทีวีจำนวน 5 เกมต่อสัปดาห์ (รับชมผ่านระบบเสาอากาศ), เพย์ทีวีสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และ สตรีมมิ่ง

ส่วนทาง PT Mediatama Television ถ่ายทอดโปรแกรมทั้งหมดเช่นกันจำนวน 306 เกม ผ่านทางระบบจานดาวเทียม ซึ่งดูจะเป็นการขายลิขสิทธิ์แบบทับซ้อน ทำให้เกิดกรณีพิพาทจนเป็นเรื่องถึงโรงถึงศาล แถมคุณภาพด้านการถ่ายทอดสด ยังได้รับเสียงตำหนิจากแฟนบอลว่าต่ำกว่ามาตรฐานอีกด้วย

PHOTO : Liga-Indonesia

แรกเริ่มเดิมทีฟุตบอลลีกของอินโดนีเซียช่วงต้นยุค 90 ยังไม่มีการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด แต่รับรายได้จาก โฆษณา และ สปอนเซอร์ จากช่องฟรีทีวี มาใช้เป็นเงินทุนในการบริหารจัดการ แล้วเป็นทาง PSSi ที่เริ่มคิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ในการของลิขสิทธิ์ช่วงปี 2005-2006 ตอนที่กระแสฟุตบอลได้รับความนิยมมากขึ้น

เจ้าแรกที่ประมูลลิขสิทธิ์ไปได้ คือ Antv Station ด้วยระยะเวลาสัญญา 10 ปี มูลค่า 1 แสนล้านอินโดนีเซียรูเปียห์ (ประมาณ 240 ล้านบาท) ก่อนจะมาถึงยุคที่ Emtek และ PT Mediatama Television ถือครองแบบทับซ้อนในปัจจุบัน ที่ขายออกไปสูงขึ้นด้วยราคาแพงเป็น 2 เท่า มูลค่า 2 แสนล้านอินโดนีเซียรูเปียห์ (ประมาณ 480 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดสดผ่านทาง ฟรีทีวี ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อเกมนั้นสูงถึง 700 ล้านอินโดนีเซียรูเปียห์ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) ทำให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ต้องไปเร่ขายโฆษณา เพื่อระดมเงินทุนกลับคืนรวมไปถึงหวังฟันกำไร แต่ปรากฏว่า เรทติ้งความนิยมแพ้ให้กับละครทีวีห่างกัน 4 เท่าตัว บวกกับข้อพิพาทจากคดีฟ้องร้อง ทำให้การถ่ายทอดสดต้องมีการหยุดชะงักไป

PHOTO : Bola Kompas

ซึ่งทาง เอริก โทเฮียร์ ประธานของ PSSi หวังจะแก้ไขปัญหาระหว่าง 3 ฝ่ายให้ได้โดยเร็ว และเชื่อมั่นว่าฟุตบอลลีกอินโดนีเซียในฤดูกาล 2023/24 จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากพยายามปรับปรุงข้อเสียต่างๆ ให้ผู้ชมพอใจที่สุด

ด้าน มาเลเซีย ซูเปอร์ลีก ของฝั่ง เสือเหลือง เพิ่งจะได้ข้อสรุปผู้ประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ตั้งแต่ปี 2023-2025 เป็นทาง Astro บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศของพวกเขา ที่จะมีการผลักดันลีกให้ได้รับความนิยมแบบเต็มรูปแบบ มีการปรีวิวก่อนเกม วิเคราะห์วิจารณ์ และรายการอื่นๆ เพื่อเรียกกระแสครบทั้ง 75 เกม

PHOTO : Astro Malysia Holdings

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางผู้จัดการแข่งขันอย่าง MFL หรือ ฟุตบอลลีกมาเลเซีย เคยดีลกับทาง Astro มาก่อนแล้ว แต่ดีลต้องถูกยกเลิกไปเพราะทางเอเจนซี่ตัวแทนที่ทาง Astro ว่าจ้างให้ดูแลสิทธิประโยชน์อีกทอด ทำยอดได้ไม่ตามเป้าที่ตั้งไว้

ทำให้ต้องกระจายขายลิขสิทธิ์ไปให้หลายบริษัทต่างแพลตฟอร์ม อาทิ iFlix และ Telekom Malaysia มารับช่วงต่อเพื่อไม่ให้ทาง MFL ขาดรายได้ราว 14.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 502 ล้านบาท)

ดังนั้นแม้ว่าจะไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขที่ชัดเจนออกมาจาก MFL แต่คาดการได้ว่า Astro คงจะประมูลสิทธิ์ไปถือครองได้ด้วยราคาไม่ต่ำกว่าตัวเลขเดิมแน่นอน

ลีกชั้นนำญี่ปุ่นและเกาหลี

สำหรับการขายลิขสิทธิ์ของ เจ ลีก ญี่ปุ่น มีการผูกกับพาร์ทเนอร์ที่คุ้ยเคยกันมาอย่างยาวนาน คือ DAZN หรือ ดาซอน ซึ่งดีลเดิมของสองฝ่ายในการถ่ายทอดสด J1-J3 ครบทั้ง 306 เกม จะตกอยู่ที่ 118 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล (ประมาณ 4,200 ล้านบาท) กินระยะเวลาระหว่างปี 2017-2028

PHOTO : Sportcal

อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา DAZN และ เจ ลีก ได้มีการพูดคุยรายละเอียดเรื่องสัญญากันใหม่ แล้วตกลงกันได้ที่ตัวเลข 1.45 พันล้านปอนด์ (ประมาณ65,330 ล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 10 ปี ระหว่าง 2023-2033 เฉลี่ยออกมาที่ปี 145 ล้านปอนด์ ( ประมาณ 6,533 ล้านบาท แปลว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ด้าน เค ลีก เกาหลีใต้ ข้อมูลที่เปิดเผยมูลค่าออกมาล่าสุด คือ ในปี 2019 ตกอยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านยูโร (ประมาณ 178 ล้านบาท) ซึ่งทำให้ทาง เค ลีก ต้องพยายามขายแพ็คเกจลิขสิทธิ์มัดรวมกับทีมชาติเกาหลีใต้ ตกอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 712 ล้านบาท) ต่อปี

ไม่มีรายงานระบุถึงตัวเลขที่ตกลงกันชัดเจนของทั้งสองฝ่ายออกมาว่าเท่าไหร่ แต่มี 4 สถานีโทรทัศน์ที่ร่วมหุ้นกันแล้วได้สิทธิ์การออกอากาศทาง ฟรี ทีวี ประกอบไปด้วย JTBC Golf&Sports, Sky Sports (South Korea), IB Sports และ KBS1 แต่ส่วนใหญ่แล้วจะพยายามชิงโอกาสในการถ่ายทอด เบสบอล ที่เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากกว่า

PHOTO : Twitter

อย่างไรก็ตามล่าสุด Coupang บริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ได้ปิดดีลการถ่ายทอดสดบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ไปเรียบร้อยแล้ว เหมารวมทุกรายการฟุตบอลในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งระยะเวลาสัญญาจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2025-2028 ซึ่งถ้าดำเนินแผนการตลาดดีๆ มูลค่ารวมจะพุ่งสูงขึ้นแน่นอน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://e.vnexpress.net/news/football/fpt-acquires-national-football-broadcasting-rights-with-record-fee-4527866.html

https://www.sportstars.id/read/arahan-erick-thohir-kualistas-tayangan-liga-1-2023-2024-harus-lebih-jernih-W1g2t3

https://www.tvonenews.com/berita/opini/52600-ulasan-sepakbola-televisi-dan-sepakbola-begini-dalilnya?page=2

https://en.wikipedia.org/wiki/Liga_1_(Indonesia)

https://sport.detik.com/sepakbola/liga-indonesia/d-5733389/digugat-mnc-group-soal-hak-siar-liga-1-pt-lib-usahakan-mediasi

https://www.sportbusiness.com/news/astro-returns-as-malaysian-football-league-broadcaster-in-three-year-deal/

https://media.sportbusiness.com/2020/03/malaysian-football-rights-values-come-back-down-to-earth-as-telekom-returns/

https://www.digitaltveurope.com/2023/03/31/dazn-group-and-j-league-inks-new-deal/#close-modal

https://www.sportbusiness.com/2020/01/unsuccessful-initial-tender-raises-questions-over-k-leagues-domestic-media-strategy/

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สรุปประชุมสมาชิกไทยลีก 1 ฤดูกาล 2023-24 "ลิขสิทธิ์บริหารกันเอง"

หาข้อดี - ข้อเสีย : เจาะลึกเมื่อสโมสรบริหารลีกกันเองต้องทำอะไร, จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส : เมื่อพรีเมียร์ลีกครองโลกได้เพราะแยกตัวออกจาก ส.บอล

ลิขสิทธิ์ไทยลีกยังไม่จบAIS - True รอประมูลไม่ได้?สโมสรเดือดร้อนแน่!

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ