เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
ศึกฟุตบอล เอฟเอ คัพ ของประเทศไทย กำลังจะได้บทสรุปทีมแชมป์สมัยล่าสุด หลังจากผ่านเกมที่จะลงแข่งขันกันในช่วงวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ระหว่าง แบงค็อก ยูไนเต็ด และ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งต่างฝ่ายก็หวังกับถ้วยนี้เอาไว้มากไม่ต่างกัน
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูทำเนียบแชมป์ของรายการนี้ ตามเว็บไซต์ที่ระบุข้อมูลทำเนียบของทีม ที่เคยก้าวไปถึงการชูถ้วยได้สำเร็จ แฟนบอลคงจะรู้สึกแปลกใจไม่น้อยกับทีม “ดอนมูล” ที่แทบไม่คุ้นหูคุ้นชื่อเลยแม้แต่น้อย แต่กลับสามารถไปถึงตำแหน่งแชมป์ร่วมกับสโมสร ธนาคารกรุงเทพ ได้ในปี 2524
คงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกเท่าไหร่นัก หากจะบอกว่า ดอนมูล คือ ทีมระดับตำบลทีมเดียวในประเทศไทย ที่สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ในรายการนี้ได้แบบน่าเหลือเชื่อ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ต่างกับคำว่าเทพนิยาย ที่ไม่เคยมีสโมสรใดทำได้อีกนับตั้งแต่นั้น
ทีมงาน คิดไซด์โค้ง ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของเพจ ฟุตบอลไทยในอดีตByTommyBar จากคำแนะนำของผู้รู้ในวงการบอลไทยว่า ถ้าอยากได้ข้อมูลของ ดอนมูล แบบลึกถึงแก่นแท้แล้วนั้น คงไม่มีใครจะให้ข้อมูลได้แน่นเท่าพี่เขาได้อีกแล้ว
ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกันเป็นเวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง ทีมงานก็ได้ทราบถึงเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างละเอียดเกี่ยวกับทีม ดอนมูล ตั้งแต่ความเป็นมารวมไปถึงทีมคู่แข่งในจังหวัดถิ่นฐานของพวกเขาในโซนภาคเหนืออย่างจังหวัดแพร่ อีกด้วย
ความเป็นมาเป็นไปของตำนานแชมป์ เอฟเอ คัพ ของทีม ดอนมูล มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร? การสร้างทีมของพวกเขาในจังหวัดแพร่มีใครเป็นผู้ริเริ่ม ปัจจุบันทีมนี้มีสถานะเป็นยังไงบ้าง ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ต้นกำเนิดของทีมดอนมูล
สาเหตุที่ทีมงานมั่นใจได้ว่าการบอกเล่าของเจ้าของเพจ ฟุตบอลไทยในอดีตByTommyBar จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้จริง เป็นเพราะว่าผู้ให้ข้อมูลนั้นมีถิ่นฐานเป็นชาวจังหวัดแพร่แบบแท้ๆ ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าตัวยังเคยเป็นนักฟุตบอลระดับเยาวชนของทีมคู่แข่งประจำจังหวัดของทีมดอนมูลอย่าง “ทีมพิชิตมาร” อีกด้วย
ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างทีม ดอนมูล จากคำบอกเล่า คือ “กำนัน วิโรจน์ พอจิต” ที่ต้องการให้จังหวัดแพร่ ที่เขานั่งแท่นเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลอยู่ สามารถก้าวขึ้นไปเทียบชั้นมหาอำนาจในภาคเหนืออย่าง ลำปาง, เชียงใหม่ และ เชียงราย ตั้งแต่สมัยยังเป็นกีฬาเขตไม่ใช่การแข่งขันกีฬาระดับชาติ ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ ก็มีระเบียบต่างกันออกไป
โดยสิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้ชาวเมืองแพร่ คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลมีที่มาจากการผลักดันของสื่อกีฬาในประเทศไทยที่เป็นมหาอำนาจในเวลานั้นอย่าง สยามกีฬา ภายใต้การบริหารของคุณ ระวิ โหลทอง ที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลในบ้านเรา ให้คล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบ ตามที่เล่าว่า
“สมัยนั้นคุณ ระวิ เขาต้องการผลักดันกีฬาฟุตบอลให้กระจายไปตามท้องถิ่นต่างๆ จากการนำเสนอข่าวหรือด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ เลยเป็นที่มาของการจัดการแข่งขันชิงแชมป์กีฬาท้องถิ่นตามจังหวัดใหญ่ อาทิ เช่น ลพบุรี คัพ เป็นต้น”
“แล้วพอมาถึงปี 2523 นิตยสารฟุตบอลสยาม ก็ตีพิมพ์ฉบับแรกออกมา ทำให้กระแสต่างๆ เริ่มเป็นที่นิยมของแฟนบอลในวงกว้าง”
อย่างไรก็ตามจังหวัดแพร่นั้นมีทีมมหาอำนาจประจำจังหวัดเดิมอยู่แล้ว คือ ทีมพิชิตมาร ซึ่งปัจจุบันนี้ คือ สโมสรแพร่ ยูไนเต็ด ที่มีแม่เลี้ยงติ๊ก- คุณศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เป็นผู้บริหารอยู่ เมื่อทางกำนันวิโรจน์ ต้องการสร้างทีมขึ้นมาเทียบกับมหาอำนาจขั้วเดิม จึงเป็นที่มาของทีม ดอนมูล ที่เป็นทีมระดับตำบลเท่านั้น
ด้วยความที่ กำนันวิโรจน์ เป็นคนกว้างขวางมีคอนเนคชั่นรู้จักกับพรรคพวกในกรุงเทพฯ เลยสามารถดึงตัว โค้ชก๊อก - พงษ์พันธ์ วงษ์สุวรรณ ที่มีดีกรีระดับคุมสโมสรใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงไทย เข้ามาคุมทีมจังหวัดแพร่ แล้วประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับเขต ด้วยการดึงตัวผู้เล่นจากกรุงเทพมาเป็นกำลังหลัก
ย้อนกลับไปในยุคนั้นสโมสรดังๆ ในประเทศไทย สามารถส่งทีมแข่งขันชิงถ้วยกีฬาพระราชทานได้ทุกระดับตั้งแต่ถ้วย ก, ข และ ค เป็นต้น เลยทำให้นักเตะในสโมสรแบ่งออกเป็นหลายชุด ตัวนักเตะที่ไม่ได้อยู่ในทีมชุดบนๆ เลยสามารถถูกดึงไปเล่นให้กับรายการอื่นๆ ได้ จะบอกว่าเป็นการกวาดเอานักเตะส่วนเกิน ที่มีดีกรีไม่ธรรมดา มาเล่นด้วยกันก็ไม่ผิดเท่าไหร่นัก
กำนันวิโรจน์ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำทีมจังหวัดแพร่ เลยต้องการต่อยอดความสำเร็จสร้างทีม ดอนมูล ขึ้นมา แล้วก็มีการจัดการแข่งขัน แพร่ คัพ ชิงแชมป์ประจำจังหวัดขึ้นมา ซึ่งระเบียบเรื่องของตัวผู้เล่นก็ต่างจากเดิมที่เคยใช้แต่นักเตะท้องถิ่น แต่เปิดกว้างให้มีการดึงนักเตะจากต่างถิ่นมาได้ตามโควต้าที่กำหนด
ฝั่งทาง พิชิตมาร ที่เคยครองความยิ่งใหญ่อยู่เดิม เห็นว่ากำลังมีทีมที่จะพยายามก้าวขึ้นมาเทียบชั้น ย่อมไม่หยุดพัฒนาทีมตัวเองเช่นกัน แล้วก็เลือกที่จะคัดเอานักเตะจากแถบภาคเหนือมาเสริมทัพ กลายเป็นทีมรวมดาราเขต 5 ที่ดึงเอานักเตะฝีเท้าดีจากภาคเหนือมาขับเคี่ยวกับ ดอนมูล
แต่ด้วยความที่โค้ชก๊อก เป็นหนึ่งในโค้ชผู้สร้างนักเตะดังๆ ในวงการบอลไทยมากมายในยุคนั้น เลยสามารถดึงตัวระดับทีมชาติมาเล่นให้กับ ดอนมูล ได้ รวมไปถึงนักเตะส่วนเกินจากสโมสรยักษ์ใหญ่ ที่หลุดโผต้องลงไปเล่นถ้วยรองๆ มาเหมือนเป็นการรับจ็อบเสริมช่วงสั้นๆ
แฟนฟุตบอลในจังหวัดแพร่ เลยได้กำไรตรงจุดนี้ ได้เห็นนักเตะดีกรีระดับทีมชาติอย่าง ณรงค์ อาจารยุตต์, บรรหาร สมประสงค์, ไพศาล มีอำพัน และ กิตติ สุวรรณหมัด มาโว์ฝีเท้าและลีลาในถิ่นฐานบ้านเกิด แม้ว่าตัวสนามในจังหวัดจะมีแค่สองสนามหลักๆ ไม่ได้เพียบพร้อมขนาดนั้น แต่แฟนบอลก็พร้อมเข้ามายืนชมเกมแบบใกล้ชิดทุกครั้งที่มีการแข่งขัน แพร่ คัพ เกิดขึ้น
พอสอบถามถึงเรื่องของกลุ่มแฟนบอลในจังหวัดแพร่ ข้อมูลที่ได้รับมา คือ แบ่งออกเป็นสามฝ่าย คือ 1.แฟนบอลทีมดอนมูลที่เป็นคนในตำบลล้วนๆ ปิดหมู่บ้านมาเชียร์กันให้เต็มที่ 2.แฟนบอลของทีมพิชิตมาร 3.แฟนบอลทั่วไปที่อยากมาดูนักเตะทีมชาติ
การเจอกันของ ดอนมูล และ พิชิตมาร ในรายการ แพร่ คัพ การันตีความเดือดทุกครั้ง แฟนบอลตีกันเป็นประจำ ซึ่งความรุนแรงที่ฟังแล้วน่าตกใจที่สุด ถึงขนาดมีการขับรถจี๊บไล่ชนกันในสนามเลยด้วย แต่เอาจริงๆ แล้วทั้งผู้บริหารและนักเตะสองทีม ไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ เบื้องหลังเลย กลายเป็นอารมณ์ของแฟนบอลที่เดือดไปเองมากกว่า
เกมนัดชิงที่กล่าวถึงดังกล่าว มีนักเตะชื่อดังอย่าง เฉลิมวุฒิ สง่าพล อดีตนักเตะทีมชาติไทย ลงเล่นในตำแหน่งเซนเตอร์แบ็คด้วย แต่ว่าเกมต้องยุติกลางคันจากเหตุวุ่นวายที่กล่าวถึงไปข้างต้น แล้วไม่ได้แข่งกันต่อเสมอกันไป 0-0
เทพนิยายของการเป็นแชมป์
จากความคลั่งฟุตบอลของกำนันวิโรจน์ บวกกับการรู้จักมักจี่กับสายข่าวกีฬาภูธรภายในเครือของ สยามกีฬา ในเวลานั้น ทำให้ทีม ดอนมูล ได้รับคำเชื้อเชิญจากผู้ใหญ่ในสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้เข้าร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ เอฟเอ คัพ ปี 2524 เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาทีม
ปกติแล้ว ดอนมูล เป็นทีมฟุตบอลระดับตำบล ที่ไม่ใช่ทีมเดินสายล่าแชมป์นอกถิ่นของตัวเอง น้อยครั้งนักที่จะเดินทางออกนอกเซฟโซนเพื่อไปแข่งขันในพื้นที่อื่นๆ แต่ในเมื่อเดินมาไกลจากจุดเริ่มต้นพอสมควร พวกเขาเลยลองตอบรับไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ สงกรานต์บางกะปิ คัพ ที่จัดขึ้นแถบคลองจั่น
ปรากฏว่า ดอนมูล ประสบความสำเร็จครองแชมป์ได้แบบเหนือความคาดหมาย แล้วประกอบกับตัวผู้เล่นตัวหลักหลายราย เป็นนักเตะที่สังกัดสโมสรในกรุงเทพฯอยู่แล้ว ดังนั้นการต่อยอดในการจะเล่นถ้วย เอฟเอ คัพ แบบต่อเนื่อง เลยไม่ได้เป็นปัญหามากเท่าไหร่นัก ต่อยอดจากชุดแชมป์สงกรานต์บางกะปิ คัพ ได้สบาย
เป้าหมายของ ดอนมูล ที่เข้าแข่งขัน เอฟเอ คัพ กำนันวิโรจน์ ไม่ได้หวังถึงความสำเร็จใดๆ แค่ต้องการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ใหญ่ของสมาคม หลังตบปากรับคำเรียบร้อยว่าจะส่งทีมไปแข่งเป็นสีสันและเก็บเกี่ยวประสบการณ์
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ดอนมูล กลับทะลุผ่านไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แล้วมีคู่แข่งเป็นดีกรีแชมป์เก่าอย่าง ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเต้ยแห่งวงการบอลไทยอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วบทสรุปของนัดชิงก็จบลงด้วยการครองแชมป์ร่วม หลังเสมอกันในช่วงต่อเวลา 0-0 ซึ่งเมื่อสอบถามเบื้องลึกเบื้องหลังทีมงานก็ได้รับคำตอบมาว่า
“นัดชิงเตะกับ ธนาคารกรุงเทพ เสมอกันใน 90 นาที 0-0 ต่อเวลาก็ยังเสมอกันอยู่ แล้วสมัยก่อนนักเตะที่ลงแข่งขันก็รู้จักกันหมด นักเตะของแบงค์กรุงเทพบางคน ยังเคยไปเล่นให้กับ ดอนมูล เลย”
“สุดท้ายพอต่อเวลาเสร็จ ผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองทีมก็มาคุยกัน รวมไปถึงคณะกรรมการแข่งขัน มีมติเห็นชอบว่าควรให้แชมป์ร่วมกัน โดยปกติแล้วมันไม่เคยมีมาก่อนในรายการนี้ ก็แปลกดีเหมือนกัน”
จากการประสบความสำเร็จดังกล่าว ส่งผลให้ทำเนียบแชมป์รายการ เอฟเอ คัพ ของประเทศไทย ดอนมูล เป็นเพียงแค่ทีมเดียวเท่านั้น ที่มีศักดิ์ศรีเป็นแค่ทีมระดับตำบล แต่ก้าวไปถึงจุดสูงสุดได้ในปี 2524 แล้วก็เป็นเพียงแค่แชมป์ใหญ่ครั้งเดียวของพวกเขานับมาจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ของทีมในปัจจุบัน
ปัจจุบันทีม ดอนมูล นั้นยังคงสถานะเป็นทีมระดับตำบลเช่นเดิม แต่ไม่ได้ส่งทีมลงแข่งขันในระดับอาชีพหรือลีกภูมิภาคใดๆ แข่งขันในรายการในตัวจังหวัดเป็นครั้งคราวเท่านั้น เต็มที่ก็ส่งทีมไปแข่งในรายการ ไทย ซอคเกอร์ลีก ครั้งที่สอง แต่ทัวร์นาเมนต์ก็แข่งขันไม่จบ รวมไปถึงรายการ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ คัพ ยุคก่อน
ประกอบกับผู้ปลุกปั้นหลักอย่าง กำนันวิโรจน์ ย้ายถิ่นฐานตามลูกๆ ไปอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งด้วยใจที่รักในฟุตบอลเป็นทุน กำนันวิโรจน์ ก็หันไปทำทีม อุตรดิตถ์ ศักดิ์สยาม นั่งแท่นเป็นผู้จัดการทีมอยู่ในปัจจุบัน แข่งขันอยู่ใน ไทยลีก 3 จบในอันดับที่ 6 เมื่อฤดูกาลก่อน
ส่วนตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลจังหวัดแพร่ ก็ถูกส่งต่อมาถึง แม่เลี้ยงติ๊ก ที่ทำทีม แพร่ ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นขั้วมหาอำนาจเก่าอย่างทีม พิชิตมาร ตามที่เล่าไปข้างต้น
ถือว่าการสร้างวัฒนธรรมฟุตบอลในจังหวัดแพร่ ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคของทีม ดอนมูล เนื่องจากเหตุผลที่ว่า
“ถ้าเป็นยุคช่วงปี 2522-23 ยาวไปจนถึงปี 2527 ที่พี่อยู่ที่จังหวัดแพร่ แล้วได้สัมผัสกับบรรยากาศช่วงนั้นที่พี่เป็นนักบอลใหม่ๆ ถือว่าแฟนบอลเหนียวแน่นเลยทีเดียว”
“คนเข้ามาชมเกมการแข่งขันแพร่คัพเยอะ เพราะว่าทีมดอนมูลนี่แหละ ที่เอาตัวทีมชาติไปเยอะ คนก็อยากเข้าไปดูนักเตะทีมชาติ ลองคิดในมุมของคนต่างจังหวัดที่รู้ว่าตัวทีมชาติจะมาเตะให้ชม ย่อมเป็นกระแสเรียกแขกบอกกันปากต่อปากเป็นวงกว้าง”
“วันไหนดอนมูลแข่งเท่าที่ค้นข้อมูลเจอเนี่ย คนในตำบลนั้นเขาปิดหมู่บ้านไปเชียร์กันเลยนะ แพร่ คัพ เตะทีไรคนดูเต็มสนามตลอด”
แม้ว่าความสำเร็จของ ดอนมูล จะคว้าแชมป์รายการระดับเมเจอร์มาได้เพียงครั้งเดียวในประเทศไทย แต่มันก็เป็นการจารึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ลงในวงการบอลบ้านเรา ที่มีทีมระดับตำบลสามารถก้าวไปถึงจุดสูงสุดได้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
การสัมภาษณ์ส่วนตัวกับเจ้าของเพจ ฟุตบอลไทยในอดีตByTommyBar
https://www.facebook.com/ByTommyBar
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?
ศุภณัฏฐ์ นำทัพ : 6 วันเดอร์คิดเอเชียที่ติดอันดับโลกปี 2019 ทุกวันนี้เป็นอย่างไร ?