ฟ้าใหม่เมืองสุพรรณ : สุพรรณบุรี เอฟซี โฉมใหม่ที่ไม่หวือหวาแต่เร้าใจ
การตกชั้นจากไทยลีกของ สุพรรณบุรี เอฟซี เมื่อฤดูกาล 2021/22 ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากอดีตทีมที่เคยเกือบไปเล่นในศึกเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก สู่การกลับมาเล่นลีกพระรองในรอบ 10 ปี
นอกจากการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร ทีมงานสตาฟฟ์โค้ช และ ผู้เล่น แนวทางการสร้างทีมเพื่อกลับมาสู่ "ความเป็นท้องถิ่น" จึงเกิดขึ้น และเป็น "ฟ้าใหม่" ของทีมที่ทำให้ทีมยังเดินต่อไปได้ อะไรคือที่มาที่ไป Think Curve - คิดไซด์โค้ง จะนำทุกคนมาสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นกัน
ตักศิลาลูกหนัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตแข้งฝีเท้าดีระดับชาติ ขึ้นมาประดับวงการ ไล่มาตั้งแต่ ผลผลิตในยุคของ ร.ร.บรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อาทิ สถาพร วาจาขำ, คัมภีร์ ปิ่นทะกุล, มานิตย์ น้อยเวช, สมเจตร สัตบุษ, ธวัช ยอดปรางค์, อมรการ ศรีทะโร, ณรงค์ จันทรเสวก โดยมี อ.ชนะ ยอดปรางค์ เป็นเฮดโค้ช
ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ร.ร.กีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นอีกที่ ที่ผลิตนักฟุตบอลป้อนสู่ระบบ ชื่อของ อนุวัฒน์ ตั้งอนุรัตน์ (ภัทร ปิยภัทร์กิติ ในปัจจุบัน), ไกรสร ศรีแสงจันทร์, รณรงค์ หงษ์อินทร์, รุ่งโรจน์ สว่างศรี, วีรยุทธ จิตรขุนทด, ธาดา คีละลาย, ดำรงศักดิ์ บุญม่วง, พิชิตพงษ์ เฉยฉิว, จักรพงษ์ (นนทพันธ์) เจียรสถาวงศ์, ปิยะวัฒน์ ทองแม้น, ไกรเกียรติ เบียดตะคุ (คูณธนทรัพย์), จักรพันธ์ แก้วพรม ล้วนเป็นนักฟุตบอลดีกรีเอกจากที่นี่
ซึ่งสองตักศิลานี้เอง เป็นส่วนผสมที่ทำให้ลูกหนังเมืองสุพรรณฯ ผงาดคว้าแชมป์ลูกหนังกีฬาแห่งชาติถึง 2 สมัยติดกัน (2543 และ 2545) และต่อยอดสู่การก่อตั้ง สุพรรณบุรี เอฟซี 1 ใน 12 ทีมรุ่นบุกเบิกของ โปรวินเชี่ยล ลีก โดยมีกำนันเกรียง นักพาณิชย์ เป็นคนดูแลทีม
สร้างกำแพง
สุพรรณบุรี เอฟซี ในยุคโปรลีก ใครหลายคนอาจจำได้กับ ยุค "สามทหารเสือ" ทั้ง เบคเคนบาวร์ เสืออินทร์-มานิตย์ น้อยเวช-คัมภีร์ ปิ่นฑะกูล ที่ไปไกลถึงแชมป์โปรลีก 2 สมัย และเลื่อนชั้นสู่ไทยลีกหนแรกในฤดูกาล 2006 ภายหลังการรวมลีก ก่อนจะตกชั้นในซีซั่นถัดมา และดูเหมือนจะรุมล้อมด้วยปัญหาสารพัด โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ถึงขั้นดาวเตะ "ไอคอนนิก" ของทีมในเวลานั้น อย่าง คัมภีร์ ถอดเสื้อดีใจด้วยข้อความทวงเงิน จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตบนหน้าหนังสือพิมพ์
ซึ่งวิบากกรรมในหลายอย่าง ส่งผลถึงผลงานในสนามจนถึงขั้น “เกือบตกชั้น” ในดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2010 แต่ด้วยการเพลย์ออฟ เพิ่มทีม-ลดทีมในช่วงนั้น ทำให้ทีมยังคงอยู่รอดปลอดภัย
พร้อมๆ กับการเดินเข้าสู่ยุคใหม่ของทีม เมื่อ บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาให้ความสำคัญกับทีมลูกหนังของจังหวัด โดยตอบรับคำเชิญ ของ บุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี ในเวลานั้น เป็นประธานที่ปรึกษาสโมสร ก่อนจะมอบหมายให้ “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน เข้ามาทำหน้าที่ประธานสโมสร ในปี 2011
ซึ่งทีมค่อยๆ ขยับไต่เต้าจากที่เคยประคองทรงอยู่กลางตาราง ปีนั้น พวกเขาเสริมทัพพร้อมผูกพันธมิตรกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด จนกระทั่งในปี 2012 พวกเขาได้ “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ กุนซือสงขลา เอฟซี ในตอนนั้น เข้ามาทำทีมก่อนจบรองแชมป์ตีตั๋วขึ้นสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง
และดูเหมือนว่า เทรนด์การซื้อบิ๊กเนมของทัพช้างศึกยุทธหัตถี ดูจะเป็นของคู่กันตั้งแต่เลื่อนชั้นมา รวมไปถึงการได้กุนซือดีๆ เข้ามาทำทีมทั้ง พยงค์ ขุนเณร ที่พาทีมจบที่ 4 ในปี 2013 หรือ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทย ในปัจจุบัน ก็เคยมาฝากผลงานที่นี่ โดยมี บียอร์น ลินเดมันน์ จอมทัพชาวเยอรมนีเข้ามาสร้างสรรค์เกม และที่พีคที่สุดคือในฤดูกาล 2015 ที่ทีมไปถึงอันดับ 3 โดยมีตัวชูโรงอย่าง เซอจินโญ่ ฟาน ไดค์ ดาวยิงอินโดนีเซีย, คาร์เมโล กอนซาเลซ กองกลางชาวสเปนที่ทีมได้มาจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีเซนเตอร์แบ็ค ตัวตึงอย่าง ปรัชญ์ สมัคราษฎร์ ยืนคู่กับ มาร์ซิโอ โรซาริโอ หรือ ประทุม ชูทอง
แต่สุดท้าย โลกนี้ไม่มีอะไรแน่ ผันแปรเปลี่ยนไป ฟุตบอลก็เช่นกัน....
กำแพงพัง
แม้การซื้อผู้เล่นของ สุพรรณบุรี เอฟซี ในแต่ละปี ดูจะมีความหวือหวา น่าสนใจแต่หลังจากปี 2015 เป็นต้นมา พวกเขาลดระดับตัวเองลงมาอยู่เป็นเพียงทีมกลางตาราง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่องานการเมืองของ วราวุธ เริ่มมีมากขึ้น ทำให้การดูแลเอาใจใส่ทีม ลดลงตาม
ซึ่งหลังจากปี 2015-2022 สุพรรณบุรี เอฟซี ใช้โค้ชถึง 8 ราย (รวมรักษาการ) หรือเฉลี่ยแทบจะปีละคน ส่งผลถึงผลงานและแนวทางของทีมที่ไปได้ไม่ไกล และอีกสิ่งที่แทบจะละเลยไปคือ “ขุมกำลังเยาวชน” ที่สุพรรณบุรี เอฟซี เคยภาคภูมิใจ ทว่าเราแทบไม่ได้เห็นแข้งจากอะคาเดมี่ของสุพรรณบุรี ขึ้นมาเป็นแข้งหลักของทีมเลย แม้ว่าทีมจะฟอร์มทีมสำรองในนามของ สีหมอก เอฟซี หรือการส่งทีม บี ในการแข่งขันไทยลีก 4 อยู่ช่วงหนึ่ง
จากเหตุผลในหลายปัจจัย จึงไม่แปลกใจว่า สุพรรณบุรี เอฟซี ในฤดูกาล 2021/22 ต้องมีอันเป็นไปจากไทยลีก ชนิดที่ไม่มีอภินิหารใดๆ คืนชีพพวกเขาได้อีก และนั่นนำมาซึ่ง “ฟ้าใหม่” ของ สุพรรณบุรี เอฟซี
ฟ้าใหม่
สุพรรณบุรี เอฟซี ในวันที่ทีมตกชั้น จบสิ้นลงพร้อมกับบทบาทของ “ตระกูลศิลปอาชา” ในสโมสร สวนทางกับการกลับมาของ นายกฯ บุญชู จันทร์สุวรรณ ที่กลับมากอบกู้ทีมอีกรอบ และควงคู่ลูกชายอย่าง วันธรรมนูญ จันทร์สุวรรณ มารับบทบาทประธานสโมสร เพื่อกอบกู้ สุพรรณบุรี เอฟซี ให้กลับมาเป็นทีมชั้นนำ
ในส่วนของทีมงานสตาฟฟ์โค้ช อเดบาโย กาเดโบ ผอ.เทคนิค ที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนาน ออกจากทีมไป พร้อมๆ กับการแต่งตั้ง ลูกหม้อของทีมอย่าง สถาพร วาจาขำ ผู้ช่วยโค้ช ขึ้นมาคุมทีมบ้านเกิดอย่างเต็มตัว ซึ่งเขายอมรับว่า เป็นงานที่ไม่ง่าย
"กดดันพอสมควร เพราะที่ผ่านมาเราอยู่เบื้องหลัง เป็นผู้ช่วยให้ทั้งต่างชาติและคนไทย อาจจะไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ ณ วันนี้ เรามารับบทบาทหัวหน้าผู้ฝึกสอน ทุกอย่างอยู่ที่เราหมด ก็กลัวอยู่เหมือนกันเพราะไม่มีประสบการณ์เลย แต่พอมา T2 มันมึดหมดเลย ก็ต้องอาศัยสตาฟฟ์ทีมงานแชร์กันว่าใครเหมาะกับทีมเราไหม"
แต่เมื่อออกซองจริง กลับกลายเป็นว่า ทัพช้างศึกยุทธหัตถี โชว์ฟอร์มเกินความคาดหมาย ทั้งๆ ที่ตัวผู้เล่นชุดเดิมออกจากทีมไปเกินกว่า 10 ราย และเน้นใช้ผู้เล่นเกรดรองลงมา ทั้ง เจตน์จิณณ์ ศรีปราชญ์, รชานนท์ กันยาทอง, ณัฐวุฒิ สาและ, ภานุพงศ์ รุ่งสุรีย์, สิทธินันท์ รุ่งเรือง ชื่อเหล่านี้ เข็น สุพรรณบุรี เอฟซี เกือบมีลุ้นเลื่อนชั้นแบบเซอร์ไพรส์ ก่อนจะโดน อุทัยธานี เอฟซี เบรคฝันในบั้นปลาย
ทว่าในมิติใหม่ๆ การหวนกลับมาร่วมมือกับ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นสัญญาณที่ดีอีกคราหนึ่ง ชื่อของ จักรกรี อุทา, เฉลิมพงศ์ จีนอยู่, อิสระ ชมภูทัศน์, รพีภัทร ผาดไธสง, ธนกร เพ็ชรชุมแสง ถูกเซ็นสัญญา โดยในเด็กชุดนี้ รพีภัทร ผาดไธสง คือแข้งรายแรกที่ถูกเซ็นสัญญาขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ รวมไปถึงการดึง 2 แข้งผลผลิตกีฬาสุพรรณฯ อย่าง ธเนศ สุขเนตร และ ศรัณยวัฒน์ น้าประเสริฐ แข้ง U17 ทีมชาติไทย ชุดชิงแชมป์เอเชียหนล่าสุดจากบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ย่อมส่งสัญญาณแล้วว่า สุพรรณบุรี เอฟซี โฉมใหม่ กำลังกลับมาสู่แนวทางของพวกเขาอีกครั้ง
ท้ายที่สุด ด้วยการเสริมทัพปีนี้ ที่เน้นตัวคุณภาพมากขึ้น และขุมกำลังเดิมที่ยังอยู่เป็นส่วนใหญ่ จะพาทัพช้างศึกยุทธหัตถี ไปสู่ "ฟ้าใหม่" ที่ยั่งยืนบนเวทีไทยลีกอีกครั้งได้หรือไม่ ฤดูกาล 2023/24 คงเป็นบทพิสูจน์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Admin