เมื่อ “ซิโก้” ค้าแข้งฮัดเดอร์ฟิลด์ และพบเรื่องราวยิ่งกว่าที่แข้งไทยคนไหนเคยเจอ
“นี่ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผม ผมฝันเสมอที่จะเป็นนักเตะอาชีพให้ได้ในสักวัน” เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองกล่าวเมื่อปี 1999
ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเลยสำหรับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ดาวเตะทีมชาติไทย หลังไม่มีชื่อแม้แต่ตัวสำรองมาแล้ว 4 นัดติดในเกมลีก ทั้งที่ยิงประตูสุดสวยให้กับ คาวาซากิ ฟรอนทาเล ในเกมเจลีก ลูวานคัพ เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ชนาธิป ไม่ใช่นักเตะไทยคนแรกที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตศูนย์หน้าเบอร์ 1 ทีมชาติไทย ก็มีประสบการณ์คล้ายกัน ในตอนที่ย้ายไปเล่นให้กับ ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ ในลีกแดนผู้ดี
เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
แข้งประวัติศาสตร์
1999 น่าจะเป็นปีที่น่าจดจำสำหรับแฟนบอลหลายคน เพราะนอกจากจะเป็นปีที่ทีมชาติไทย คว้าแชมป์ฟุตบอลซีเกมส์ สมัยที่ 9 แล้ว ยังเป็นปีที่ชาวไทย ตื่นเต้นกับข่าวใหญ่ 2 ครั้งซ้อนจากชายที่ชื่อว่า “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง
มันเริ่มต้นในช่วงกลางปี 1999 เมื่อกระแสออกมาว่า มิดเดิลสโบรห์ ทีมในพรีเมียร์ลีก ที่มี ไบรอัน ร็อบสัน ตำนานแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังให้ความสนใจ ในตัวของ ซิโก้ หลังได้เห็นวิดีโอที่ พงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ ซีอีโอ สยามสปอร์ต ซินดิเคท เจ้าของหนังสือพิมพ์กีฬาชื่อดังอย่าง สยามกีฬา และสตาร์ซ็อคเกอร์ ส่งไปให้ดู
อันที่จริง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในตอนนั้น ซิโก้ คือยอดดาวยิงหมายเลข 1 ของไทย จากผลงานอันโดดเด่น ทั้งกับ เปอร์ลิส ( 22 ประตูจาก 21 นัด) และทีมชาติไทย (36 ประตู) แถมยังทำได้ดีในการเจอกับสโมสรยุโรป ที่เดินทางมาอุ่นเครื่องที่ไทยก่อนหน้านี้
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่ตอนนั้นไทยยังไม่มีลีกอาชีพ การไปเล่นในลีกยุโรป จึงเป็นเหมือนความฝันของนักเตะไทยหลายคน รวมถึง เกียรติศักดิ์ แม้ว่าจะต้องผ่านการทดสอบฝีเท้าก็ตาม
“นี่ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผม ผมฝันเสมอที่จะเป็นนักเตะอาชีพให้ได้ในสักวัน” เกียรติศักดิ์ เพิ่งยิงประตูพาทีมคว้าชัยเหนืออาร์เซนอล ในเกมอุ่นเครื่องกลางปี 1999
“ผมเคยเจอทีมดังๆมาหลายทีม และผมก็มั่นใจในความสามารถของผม”
อย่างไรก็ดี น่าเสียดายที่เขาไม่ผ่านการทดสอบฝีเท้า แต่ความฝันก็ยังไม่จบ เมื่อในเดือนกันยายน 1999 สตาร์ทีมชาติไทย ได้รับข้อเสนอให้ไปทดสอบฝีเท้ากับอีกทีมจากแดนผู้ดีอย่าง ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์
แม้ว่าตอนแรก จะเกิดปัญหา เนื่องจากราชประชา อดีตต้นสังกัดของซิโก้ อ้างสิทธิ์ในตัวของเขา จนเกิดเป็นดราม่าใหญ่โต แต่สุดท้ายทั้งก็เคลียร์กันลงตัว และทำให้เขาได้ไปอังกฤษ
ก่อนที่พฤศจิกายน 1999 วันที่แฟนบอลชาวไทยรอคอยก็มาถึง เมื่อฮัดเดอร์ฟิลด์ ประกาศว่า เกียรติศักดิ์ ผ่านการทดสอบฝีเท้า และจะได้เซ็นสัญญากับทีม ที่จะทำให้เขากลายเป็นนักเตะทีมชาติไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ
“คาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี เราหวังว่าเขาจะสามารถเล่นในทีมสำรองของเราในวันที่ 1 ธันวาคม กับ เปรสตัน นอร์ธ เอ็นด์ มันขึ้นอยู่ว่าเขาปรับตัวกับอากาศหนาวทางตอนเหนือได้ไหม” เจ้าหน้าที่สโมสรฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ กล่าวกับ Reuters
แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ที่ทำให้เขาลืมไม่ลง
ฝันร้ายที่ยอร์คเชียร์
รายงานระบุว่า ตลอดสัญญา 1 ปีครึ่งกับฮัดเดอร์ฟิลด์ เกียรติศักดิ์ จะได้รับค่าเหนื่อยราว 1,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือราว 63,000 บาท เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนั้น และจะได้โบนัสอีก 500 ปอนด์ (ราว 31,500 บาท) ในแต่ละเกมที่ลงสนามให้ทีม รวมไปถึงแฟลต 2 ห้องนอน และรถฟอร์ดไว้ใช้ตลอดที่อยู่ที่นี่
แม้ว่าในช่วงแรก ฮัดเดอร์ฟิลด์ ที่ตอนนั้นอยู่ในดิวิชั่น 1 ลีกระดับสองของอังกฤษ จะให้ ซิโก้ ไปเล่นในทีมสำรอง เพื่อปรับตัวให้ได้ก่อน แต่เขาก็ได้รับความสนใจไม่น้อยจากสื่ออังกฤษ จนถึงขั้นตามมาทำสกู๊ปกองหน้าชาวไทย
“เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กองหน้าชาวไทย ที่กำลังทำความคุ้นเคยในทีมสำรองของฮัดเดอร์ฟิลด์ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในอังกฤษ แต่ในบ้านเกิดเขาคือดาราดังเหมือนกับเดวิด เบ็คแฮม และแม้แต่การออกไปเที่ยวที่เขาเพนนี เขาก็ไม่สามารถหนีจากความสนใจในหมู่แฟนๆที่ชื่นชอบเขา” รายงานจาก The Independent ระบุ
เช่นกัน สำหรับแฟนบอลในไทย การย้ายทีมของเขา ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ได้รับความสนใจไปทั่วประเทศ ที่สื่อต่างเกาะติดในระดับทุกฝีก้าว ตั้งแต่การซ้อม การลงเล่นในทีมสำรอง หรือแม้แต่ออกไปกินข้าวในเมือง รวมถึงได้รับอีเมลจากแฟน ๆ อย่างล้นหลาม
“เขาได้รับอีเมลวันละ 700-800 ฉบับ” อัสราภา วุฒิเวทย์ เอเยนต์ของซิโก้ ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาคู่ชีวิต กล่าวกับ The Independent
“พวกเขาอยากรู้ทุกอย่างว่าเขาก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง เรากำลังทำเว็บไซต์ของเขาเอง ให้แฟนสามารถอ่านข่าวเขาได้”
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ซิโก้ พยายามอย่างหนักเพื่อที่จะปรับตัว ทั้งฟิตซ้อมร่างกาย ฝึกกินอาหารท้องถิ่น ฝึกพูดภาษาอังกฤษ แต่ไม่สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นในชุดใหญ่ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีมสำรอง ทั้งที่ได้รับใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) มาแล้วก็ตาม
“พอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองมาได้ ก็ได้ทดสอบฝีเท้ากับทางสโมสรซึ่งเขาก็เซ็นสัญญากับเราเป็นเวลาหนึ่งปีโดยให้เล่นกับทีมสำรอง หลังจากนั้นการขอใบอนุญาตทำงานหรือ Work Permit ก็ตามมา สำหรับผมแล้วไม่มีปัญหาเพราะเล่นทีมชาติเกินกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอันดับทีมชาตินั้นทางสโมสรไม่ได้ซีเรียสอะไร” เกียรติศักดิ์ กล่าวกับ Manager Online เมื่อปี 2007
“จริงๆแล้วการเซ็นสัญญาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมการฝึกซ้อม ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมทีม สภาพอากาศ และ อาหารการกิน เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างยิ่ง”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง ตลาดยังไม่ปิด : หากต้องการย้ายทีม 'ชนาธิป' เหมาะกับทีมไหนในเจลีกบ้าง?
นอกจากนี้ เขาต้องทรมานกับสภาพอากาศอันหนาวเหน็บของเมืองฮัดเดอร์ฟิลด์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอังกฤษ รวมถึงไม่ได้รับความเชื่อใจจากเพื่อนร่วมทีม และผ่านเวลาไปโดยไม่ได้ลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่แม้แต่นาทีเดียว
“แม้ว่าเขาจะยืนยันว่าช่วงเวลาที่ฮัดเดอร์ฟิลด์ คือประสบการณ์ที่ดี แต่เขาก็พบว่าในห้องแต่งตัวไม่มั่นใจกับนักเตะตัวเล็กอย่างเขา ที่หนักแค่ 69 กิโลกรัม และสวมรองเท้าเบอร์ 6.5 จะมีศักยภาพเพียงพอ” สตีฟ วิลสัน กล่าวในบทความ Kiatisak Senamuang ในเว็บไซต์ When Saturday Comes
“เขาสร้างสายสัมพันธ์ กับ เคน มองเคา และ มาร์คัส สจ๊วต แต่ไม่เคยรู้สึกเหมือนว่าบ้าน เกือบหนึ่งปีกับสโมสร เขาไม่ได้ลงเล่นในทีมชุดใหญ่เลย”
หลังจากพยายามอย่างหนักมาเกือบ 1 ปีเต็ม ในเดือนตุลาคม 2000 ซิโก้ ยกเลิกสัญญากับสโมสร ก่อนจะกลับไปค้าแข้งในบ้านเกิด กับราชประชา
“เขาต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อจะให้เข้ากับที่นั่น ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องสภาพอากาศ อาหารการกิน วัฒนธรรม ที่เปลี่ยน ‘การย้ายทีมแห่งความฝัน’ ไปสู่ฝันร้าย” วิลสัน กล่าาวต่อ
และนั่นก็เป็นหมุดหมายว่าการผจญภัยในลีกแดนผู้ดีของเขาจบลงแล้ว
ประสบการณ์ที่ล้ำค่า
อันที่จริง เหตุผลที่ทำให้ซิโก้ ไม่สามารถแทรกตัวขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากฟอร์มการเล่นอันยอดเยี่ยมของ ไคล์ วินฮาร์ด และมาร์คัส สจ๊วต คู่หัวหอกตัวจริงของ ฮันเดอร์ฟิลด์ ที่กำลังร้อนแรง ที่ซัดไปถึง 15 และ 14 ประตูในซีซั่นนั้นตามลำดับ
ดูห์ ธอมป์สัน แห่ง หนังสือพิมพ์ Huddersfield Daily Examiner ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ เกียรติศักดิ์ มาใหม่ๆ เขาบอกว่า หนทางเดียวที่ ซิโก้ จะได้ลงเล่นอาจต้องลุ้นให้หนึ่งในสองคนนี้ได้รับบาดเจ็บ
แม้สุดท้ายมันจะไม่เกิดขึ้น แต่ซิโก้ ก็ยืนยันว่ามันเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า เพราะหลังจากกลับมาอังกฤษ ซิโก้ ก็มีฝีเท้าที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก รวมถึงร่างกายที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก และทักษะที่ต่างจากนักเตะไทย หรือแข้งอาเซียนอย่างชัดเจน
“ตอนที่ผมย้ายไป ผมไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากฟิตซ้อมร่างกายตลอด 3 เดือนแรก ผมต้องฝึกเหมือนคนอังกฤษ จึงได้เริ่มกินไก่ต้ม มันฝรั่ง และถั่วอบทุกวัน ผมยังไม่เชื่อตัวเองเลยว่าผมกินสิ่งนั้นได้” ดาวยิงสูงสุดทีมชาติไทย ย้อนความหลัง
เขายิงไป 18 ประตูจาก 26 นัดให้ราชประชา จนได้ย้ายไปเล่นให้กับ อาร์มฟอร์ซ ในลีกสิงคโปร์ ก่อนจะฝากผลงาน ไว้ที่ 15 ประตูจาก 20 นัด และโยกไปค้าแข้งกับฮองอันยาลายในเวียดนาม พร้อมกับสร้างตำนานพาทีมจากวีลีก คว้าแชมป์อีกหลายสมัย
ส่วนทีมชาติ ซิโก้ กลายเป็นกำลังสำคัญของทัพช้างศึก จนเข้าถึงรอบ 10 สุดท้ายฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่แม้จะจอดป้ายในรอบนี้ ก็ซัดไปถึง 10 ประตู เทียบเท่า อาลี ดาอี ดาวยิงระดับตำนานของเอเชีย
ขณะเดียวกัน เขายังสร้างปรากฎการณ์ไปทั่วอาเซียน และทำให้เสื้อของ ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ กลายเป็นที่นิยมในภูมิภาคนี้ ที่แม้แต่ จอห์นนี่ หนึ่งในผู้นำกองกำลังปฏิวัติ "ก็อดอาร์มี" ของเมียนมาร์ยังมีใส่
ดังนั้น การไปอังกฤษของดาวยิงหมายเลข 13 จึงไม่ได้สูญเปล่า มันทำให้เขาเติบโตขึ้น เก่งขึ้น และที่สำคัญ คือการเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะรุ่นหลัง อยากทำตามความฝันในไปเล่นในลีกยุโรป
มันคือประสบการณ์ที่บางทีอาจจะหาไม่ได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหนก็ตาม
“มันยากมากที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศในอังกฤษ ผมพยายามพูดภาษาอังกฤษ และไม่กินอาหารไทย” อดีตกุนซือทีมชาติไทยกล่าวกับ Asia One News เมื่อปี 2007
“ผมไม่มีความสุข ผมยังดีไม่พอ อีกทั้งมันก็ยังหนาวเกินไป และผมก็คิดถึงบ้าน ผมได้เรียนรู้ว่าฟุตบอลอังกฤษโหดหินเพียงใด แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น”
แหล่งอ้างอิง
https://www.wsc.co.uk/the-archive/kiatisak-senamuang/
http://www.thaifootball.com/news1999.html
https://itsahabitthatsticks.blogspot.com/2019/11/zico-international-superstar-arrives-in.html