ฟีฟ่า คองเกรส : สิ่งควรรู้ก่อนการประชุมใหญ่องค์กรลูกหนังที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัดสินใจเลือก ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 การประชุมลูกฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง โดยจะจัดที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงเดือน พฤษภาคมนี้
การประชุมนี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มีวาระอะไรที่น่าสนใจ ประเทศไทย และวงการฟุตบอลไทย จะได้รับประโยชน์อะไรจากการประชุมนี้ ติดตามได้จากบทความนี้ ของ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จุดเริ่มต้น
เท้าความถึงองค์กรอย่าง ฟีฟ่า กันก่อน สำหรับ ฟีฟ่า ก่อตั้งขึ้นในปี 1904 จากการประชุมกันของบรรดาชาติที่เล่นฟุตบอล และต้องการมีองค์กรที่จะดูแลการแข่งขันฟุตบอล
โดยมี 7 ชาติเริ่มต้น คือ เบลเยียม, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, มาดริด ฟุตบอล คลับ ในฐานะตัวแทนจากสเปน และ ฝรั่งเศส โดยมีการประชุมกันครั้งแรกในปี 1904 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และถือเป็นจุดกำเนิดของ ฟีฟ่า คองเกรส ที่มีวาระจัดการประชุมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ในการประชุมครั้งที่ 73 ที่ประเทศราวันด้า โดยเป็นชาติที่ 5 ในเอเชีย และชาติแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเกียรตินี้
สาระสำคัญ
สำหรับการประชุม ฟีฟ่า คองเกรส เป็นงานการประชุมสามัญที่จะจัดขึ้นทุกปีขององค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของ ฟีฟ่า ซึ่งจะมีการจัดการประชุม ทั้งแบบ 'สมัยสามัญ' และ 'สมัยวิสามัญ'
โดยในการประชุมแต่ละครั้งจะมีวาระที่น่าสนใจ อาทิ หากเป็นการประชุม 'สมัยวิสามัญ' วาระสำคัญ คงหนีไม่พ้นการเลือกประธานฟีฟ่า คนใหม่ ซึ่งในประวัติศาสตร์ ฟีฟ่า คองเกรส มีเพียง 8 ครั้งที่เป็น ฟีฟ่า คองเกรส ในวาระที่เป็นการเลือกประธานฟีฟ่า
ส่วนในการประชุม ฟีฟ่า คองเกรส รอบนี้เป็นการประชุม 'สมัยสามัญ' โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2027 โดยจะจัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงวันที่ 13-17 พฤษภาคม 2567
ทำไมถึงเลือกไทย แล้ว 'ไทย' จะได้อะไร?
การนำเสนอการเป็นเจ้าภาพประชุม ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งนี้ ฟีฟ่า ตัดสินใจเลือก ประเทศไทย จากความพร้อมในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ไทยจะได้ต้อนรับอาคันตุกะลูกหนังจาก 211 ชาติสมาชิกจากทั้ง 6 ทวีป รวมไปถึงตำนานอดีตนักฟุตบอลระดับโลก ที่จะเข้าร่วมประชุมในคราวนี้
"ในช่วงของการเสนอตัวฯ มีหลายประเทศที่นำเสนอการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน แต่ท้ายที่สุดกลับเป็น ประเทศไทย ที่ได้ถูกรับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งที่ 74 นี้ โดยเหตุผลที่ประเทศไทย ได้ถูกรับเลือก คือ ทางฟีฟ่ามั่นใจในด้าน สถานที่, โลจิสติกส์, การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเรื่องวีซ่า และได้มีการทำงานร่วมกันตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการจัดงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมจากการต้อนรับของทุกคน" ส่วนหนึ่งในถ้อยแถลงของ แฟรงค์ เด เรเดลิจ์คีด หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษและเอนเตอร์เทนเมนต์ ของ ฟีฟ่า กล่าว
ซึ่งผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ มีการคาดการว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามาร่วมงานประชุมครั้งนี้ที่ประเทศไทย ถึง 3000 คน และจะมีสมาชิกของฟีฟ่าเดินทางมาเข้าร่วม 211 ประเทศจากทั่วโลก รวมไปถึงมีนักกีฬาฟุตบอลระดับตำนาน และจะมีการถ่ายทอดสดการประชุมครั้งนี้ไปทั่วโลก
ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบาย “Soft Power” ของรัฐบาล และรวมไปถึงการที่นักเตะระดับตำนานมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ อาจจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ นักกีฬา เด็กๆและเยาวชน
ชณะที่ จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เผยการประมาณการณ์รายได้จากการประชุมครั้งนี้ว่า จะมีรายได้เข้าประเทศเกือบ 300 ล้านบาท และจะเป็นการยกระดับให้ไทย เป็น HUB ของวงการกีฬามากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ ไทยมีอีเว้นต์กีฬาสำคัญๆ ระดับโลก อย่าง MotoGP
“การประชุมครั้งนี้จะสร้างรายได้เข้าประเทศและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจกว่า 228 ล้านบาท เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศประมาณ 126 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 160 อัตราอีกทั้งยังเป็นการยกระดับและส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการรวมตัวกันของชุมชนกีฬาระดับโลกอีกด้วย”
แน่นอนว่า การประชุม ฟีฟ่า คองเกรส สิ่งหนึ่งที่ ฟุตบอลไทย จะได้นอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพ คือการแสดงศักยภาพการพัฒนาฟุตบอลไทย ผ่านโครงการที่ ฟีฟ่า มอบเงินสนับสนุน ทั้ง ศูนย์ฝึกฟุตบอล ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี, สนามซ้อมฟุตซอลในที่ทำการหลังใหม่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งน่าสนใจว่า การประชุมครั้งนี้ ฟุตบอลไทย จะได้อะไรเพิ่มเติมอีกไม่มากก็น้อย
อ้างอิง
- https://web.archive.org/web/20150516094922/http://www.fifa.com/about-fifa/who-we-are/history/index.html
- https://web.archive.org/web/20170610194654/http://resources.fifa.com/mm/document/fifafacts/organisation/52/00/12/143824-factsheet-fifacongressvenues_neutral.pdf
- https://inside.fifa.com/about-fifa/organisation/fifa-council