ฟุตบอลสีเขียว : โบลาเวน สมุทรปราการ กับแนวทางเป็นหัวหอกนำร่อง Carbon Neutral ของไทยลีก 3
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพอากาศบนโลกของเราเวลานี้มีการแปรปรวนอย่างมากจาก ภาวะโลกร้อน และยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เร่งกระบวนการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จนส่วผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้
แน่นอนว่าลามไปถึงวงการฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลไทยที่ต้องมีการแข่งขันหลายๆ เกมกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลถึงสภาพร่างกายของผู้เล่นและบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลไปด้วย
แต่ในวงการฟุตบอลไทย ก็ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องของ Carbon Neutral หรือการรักษาสมดุลในการปล่อยคาร์บอน ไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ ให้สมดุลกับปริมาณที่ถูกดูดซับกลับคืน จนกระทั่งมีข่าวคราวว่า โบลาเวน สมุทรปราการ ทีมในไทยลีก 3 โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับการรับรองเป็นทีมฟุตบอลไทยทีมแรกของระดับไทยลีก 3 ที่ได้รับมาตรฐาน Carbon Neutrality
แล้ว Carbon Neutrality คืออะไร รายละเอียด และกระบวนการกว่าจะมาถึงจุดนี้เป็นอย่างไร ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ที่นี่
Carbon Neutrality อะไร?
ปกติในวันหนึ่งของเรา จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน เราจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างน้อย ประมาณ 0.35 กรัม ซึ่งใน 0.35 กรัม มาจากการใช้ไฟฟ้าของทั้งเราและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (กรณีที่เราต้องหาข้อมูลพิมพ์งานอยู่ตอนนี้)
ดูๆ ไปเหมือน 0.35 กรัมยังไม่ถึง 1 ขีด ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ต้องไม่ลืมว่า ทั้งโลกใบนี้ใช้งานแบบนี้ไม่ต่ำกว่าพันล้านคน หาลองคูณเข้าไป ถือว่าเป็นปริมาณการปล่อย CO2 ที่เยอะมากๆ ทีเดียว ไม่รวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ เช่นการขับรถ ที่ต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงมหาศาล และอีกมากมาย
ซึ่งประเทศไทย มีการคำนวณตัวเลขก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยต่อหัว ในปี 2565 อยู่ที่ 2.95 ตัน
ซึ่งกระบวนการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือการชดเชยปริมาณ CO2 ที่มนุษย์ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ให้กลับมาสมดุลเท่ากัน ซึ่งมีวิธีการทำได้ ทั้งเรื่องของการปลูกต้นไม้ เพื่อ 'ดูดซับ' แก๊สเรือนกระจก, การ 'ลด' การใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือกระทั่ง 'การซื้อคาร์บอนเครดิต' ซึ่งรายหลังมีต้นทุนการจ่ายที่สูงมากๆ
ในวงการฟุตบอล เราจึงได้เห็น แนวคิด 'ฟุตบอลสีเขียว' เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการปล่อย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ อย่างเรื่องราวของ ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ทีมในลีก ทู ของ อังกฤษ ที่มีแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งการเน้นใช้พลังแสงอาทิตย์ในสนามกีฬา, ที่จอดรถสำหรับรถ EV รวมไปถึง หรือโครงการ “แฟนบอลไทยไร้ E-WASTE” ของ ไทยลีก เมื่อฤดูกาลที่แล้ว (2022/23)
แล้วแบบนี้สโมสรฟุตบอลไทยอย่าง โบลาเวน สมุทรปราการ ทำได้อย่างไร?
"ไม่อยากทำบาปต่อโลก"
จ.สมุทรปราการ ถือเป็นจังหวัดที่เป็นดงโรงงานอุตสาหกรรมหนักมากมาย และแน่นอนว่า เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ปล่อยมลพิษสูงที่สุดของประเทศ
ซึ่ง "บิ๊กอาร์ท" พีรพัฒน์ ถานิตย์ ปธ.โบลาเวน สมุทรปราการ เป็นคนหนึ่งที่ทำธุรกิจในพื้นที่ และทำทีมฟุตบอลสมุทรปราการมามากกว่า 17 ปี มองเห็นถึงปัญหาของโลกใบนี้ จึงเริ่มต้นศึกษาและลงมือทำอย่างจริงจังเมื่อช่วงปี 2021 และทำต่อเนื่องมาตลอด 1 ปีครึ่ง
"เนื่องจากเราทำธุรกิจเกี่ยวกับรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เลยมองว่าเราอยากให้สโมสรฟุตบอลสมุทรปราการ เป็นต้นแบบของการรักโลก"
"เราทำบาปกับโลกนี้ไปเท่าไหร่ ซึ่งพอเรารู้ว่าเราทำบาปไปเท่าไหร่ เราเลยลด และทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ เช่นเราปลูกต้นไม้เพิ่ม เพื่อทำให้ค่าคาร์บอนเป็นกลาง นี่คือความหมายของคาร์บอนเครดิต"
และเมื่อได้เรียนรู้ สิ่งสำคัญต่อไปคือการลงมือทำ ซึ่งกับวงการฟุตบอลไทย การทำ Carbon Neutrality จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ลงมือทำ
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นลงมือทำ บิ๊กอาร์ตเปิดเผยว่า ด้วยเป็นเรื่องใหม่ของฟุตบอลไทย และงบประมาณการทำทีมในยุคปัจจุบัน เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานในช่วงแรกมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ได้ความร่วมมือในหมู่นักฟุตบอลและทีมงานสตาฟฟ์ ที่ช่วยกันรณรงค์และลงมือทำ
ร่วมไปถึงได้พันธมิตรที่ดีในจังหวัด เข้ามาให้คำปรึกษาจนทำให้ทีมได้รับมาตรฐาน Carbon Neutral ทีมแรกของวงการฟุตบอลไทย
"กับสโมสรเราเริ่มต้นมาประมาณปีกว่าแล้ว เราทำมาตลอด เราเริ่มต้นเน้นการรณรงค์กับนักฟุตบอล ซึ่งแน่นอนว่าเขาเองอาจจะไม่เข้าใจเข้าเรื่องนี้เยอะ แต่เรารณรงค์ว่าอะไรที่ทำในชีวิตประจำวันแล้วมันดีกับโลก เราพยายามทำความเข้าใจกับนักฟุตบอล"
"ข้อจำกัดในช่วงแรกของเราก็เยอะอยู่ เพราะมันต้องอาศัยการศึกษาที่ต้องรู้จริงๆ แต่ประกอบกับเราได้พันธมิตรที่ดี ซึ่งเราได้พันธมิตรที่มาวิเคราะห์ข้อมูลที่สโมสรใช้ แล้วเราจะลดมันอย่างไร ทั้งการลงทุน อย่างการติดตั้งโซล่าเซลล์ ใช้เงินไหม ก็ต้องบอกว่าใช้เงิน ใช้ความรู้ และเลือกซื้อของ เราก็ต้องเลือกให้ดูว่าเจ้าไหนรีไซเคิลได้ไหม ทุกอย่างต้องดูหมดเลย"
"แต่วิธีการทำ Carbon Neutral มันมีหลายวิธี อย่างเราทำสนามบอล เราต้องเปลี่ยนปุ๋ย ไม่ใช่ปุ๋ยเคมี แต่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เราทำทุกอย่างเลย ทีมติดโซล่าร์เซลล์ก็ได้ คาร์บอนเครดิตเพิ่มอีก มันทำได้ทุกอย่างเลย"
ซึ่งจากความร่วมมือร่วมใจทั้งหมดในทีม ส่งผลถึงการได้รับการรับรองเครื่องหมาย Carbon Neutral จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เทียบเท่ากับบริษัทชั้นนำของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเพียง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ที่ทำได้ก่อนพวกเขา
ทีมฟุตบอลสีเขียว
แน่นอนว่าสำหรับ โบลาเวน สมุทรปราการ นอกจากการทำทีมฟุตบอลเพื่อคนสมุทรปราการ การทำทีมฟุตบอลเพื่อโลกนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง พีรพัฒน์ มองว่าจะต้องอาศัย 'วิสัยทัศน์' ของผู้บริหารของแต่ละทีม ในการกล้าที่จะเรียนรู้ ลงทุน ลงมือทำอย่างจริงจัง
"เราต้องมองไปที่เจ้าของทีมก่อน ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องตรงนี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาให้ความสำคัญ เราพร้อมที่จะให้ความรู้ เพราะอยากให้ทุกๆ สโมสรมองว่าฟุตบอลเป็นกีฬามหาชน เป็นสื่อกลางที่ดี อย่างเราเป็นสโมสรฟุตบอลเดียวในประเทศไทยที่สามารถขึ้นโลโก้ Carbon Neutral บนหน้าอกได้ ซึ่งถ้าทุกทีมมีโลโก้แบบนี้ติด คิดดูว่าจะโก้ขนาดไหน"
"เรามองว่าสโมสรเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ในด้านนี้ ซึ่งสโมสรต้องมีความรู้ในด้านนี้ ถามว่าทำยากไหม จริงๆ ไม่ได้ยากถ้ามีความรู้ อยู่ที่ว่าจะตั้งใจทำหรือเปล่า" บอสใหญ่แห่งทัพป้อมปราการกล่าว
แน่นอนว่า เวลานี้ทุกคนบนโลก ต่างให้ความสำคัญถึงเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อมของโลก ให้กลับมาสู่จุดที่เคยเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่าย ในการลงมือทำ ไม่เว้นแต่วงการฟุตบอล ซึ่งทุกคนๆ สามารถร่วมกันทำให้เกิดขึ้นได้ เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของเรายั่งยืนสู่คนรุ่นต่อไป
อ้างอิง
- สัมภาษณ์ คุณพีรพัฒน์ ถานิตย์ ประธานสโมสรโบลาเวน สมุทรปราการ (10 พฤษภาคม 2567)
- ทัศนธร ภูมิยุทธิ์. (2566). ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions.สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. https://www.onep.go.th/ลดโลกร้อนด้วย-carbon-neutrality-และ-net-zero-emissions/
- ปัณณวิชญ์ เถระ. (2563). เมื่อสีเขียวไม่ใช่แค่พื้นสนาม: บทบาทของกีฬาฟุตบอลสู่หนทางแห่งความยั่งยืน. ป่าสาละ. https://salforest.com/blog/football-and-sustainability
- ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ. (2564). สวน สนาม เมื่อสนามฟุตบอลสโมสร Forest Green Rovers เมืองผู้ดี ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และแบ่งพื้นที่ให้เป็นสาธารณะเพื่อคนรักกีฬา. The Cloud. https://readthecloud.co/forest-green-rovers-eco-park-stadium/
- workpointTODAY. (3 กุมภาพันธ์ 2563). กิจกรรมประจำวันมนุษย์ สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากแค่ไหน. workpointTODAY. https://workpointtoday.com/how-much-co2-human-activities-generate/
- นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงาน. (2565). ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และต่อหัวประชากร (2539-2565). สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน. http://env_data.onep.go.th/reports/subject/view/171