Hanasaka : ปรัชญาที่ทำให้ เซเรโซ โอซาก้า ไม่เคยขาด "สตาร์" ที่โตจาก "อคาเดมี่"

Hanasaka : ปรัชญาที่ทำให้ เซเรโซ โอซาก้า ไม่เคยขาด "สตาร์" ที่โตจาก "อคาเดมี่"
ชยันธร ใจมูล

มีคำกล่าวว่าฟุตบอลคือเรื่องของการบริหารจัดการคน เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอุตสาหกรรมนี้

เพราะ… นักฟุตบอล 1 คน สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากมายมหาศาล

เขาคนนั้นอาจจะทำให้รายรับของสโมสรสะพัดขึ้นมาจากการซื้อขายเพียง 1 ครั้ง, เขาจะทำให้สโมสรมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะแหล่งเพราะบ่มยอดนักเตะ และที่สำคัญเขาจะกลายเป็นแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ ในท้องถิ่น... เพื่อให้มี "เขาคนต่อไป"

หลักการณ์ดังกล่าวมี 1 สโมสรเชื่อมั่นและพยายามทำเช่นนั้นมาโดยตลอดนั่นคือ เซเรโซ โอซาก้า สโมสรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนักเตะท้องถิ่น ภายใต้ปรัชญาที่ชื่อว่า "Hanasaka"

Photo : Cerezo Osaka

คำว่า Hanasaka คำนี้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของสโมสรแห่งนี้ และการเป็นจุดเริ่มต้นของยอดแข้งจาก โอซาก้า ... นี่คือเรื่องราวทั้งหมดที่เชื่อว่า "ฟุตบอลไทย" หรือแม้แต่ตัวคุณเองก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแน่นอน

Hanasaka คืออะไร ?

ชินจิ คากาวะ นักเตะญี่ปุ่นที่คว้าเเชมป์ทั้ง พรีเมียร์ลีก และ บุนเดสลีกา แถมยังมีชื่อเข้าชิงบัลลงดอร์มาแล้ว พูดถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นของเขาสมัยเป็นนักเตะเยาวชนของ เซเรโซ โอซาก้า ว่า ปรัชญา Hanasaka ช่วยให้เขามีวันนี้ ... คำ ๆ นี้หมายถึงอะไร ?

Hanasaka ไม่ใช่ปรัชญาของสโมสร เซเรโซ โอซาก้า เท่านั้นแต่เรื่องราวต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ที่ มาโกคิชิ ยามาโอกะ ได้ก่อตั้งบริษัท "ยันมาร์" ขึ้นมาในหมู่บ้านเกษตรกรเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จุดเริ่มต้นไม่ใช่เกิดจากความที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือความมั่งคั่ง แต่เป็นการพยายามที่จะทำให้ พ่อ-แม่ ของเขาทีเป็นเกษตรกรได้มีสิ่งที่มาแบ่งเบาภาระ ให้ได้ใช้ชีวิต และมีความสบายในแบบที่ควรจะเป็น

Our History | YANMAR Tractor
Photo : Yanmar

สิ่งนี้ทำให้เกิดคำว่า Hanasaka หรือที่แปลว่า "ความปรารถนาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนรอบตัว" เกิดขึ้น และเขาก็ใช้มันเป็นปรัชญาของ บริษัท ยันมาร์ จนประสบความสำเร็จ และแน่นอนมันถูกใช้กับสโมสรฟุตบอลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้พนักงานของบริษัท ยันมาร์ ได้ออกกำลังกายอย่างสโมสร "ยันมาร์ ดีเซล" หรือ "เซเรโซ โอซาก้า" ในปัจจุบัน

เซเรโซ โอซก้า สโมสรเพื่อนาคต

สโมสร เซเรโซ โอซาก้า มีปณิธานข้อหนึ่งที่ล้ำหน้ายิ่งกว่าสโมสรอื่นๆ นั่นคือการสร้างทีมเพื่อความแข็งแกร่งของภาพรวมวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ส่วนแชมป์นั้น "แค่เรื่องเล็ก"

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ
Photo : Cerezo Osaka

แม้ฟังดูแล้วจะเป็นนโยบายที่ดูโลกสวยสวนทางกับโลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน แต่ความจริงคือ เซเรโซ คือทีมที่ตั้งใจจะสร้างนักฟุตบอลท้องถิ่นให้ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะแถวหน้าของประเทศ

และเมื่อไปถึงจุดนั้นได้แล้ว ก็จะเป็นสเต็ปต่อไปที่พูดได้ว่าเป็นการเสียสละเต็มรูปแบบของสโมสร นั่นคือพวกเขาจะปล่อยเด็ก ๆ ที่สร้างขึ้นมากับมือให้ไปเล่นกับสโมสรในยุโรปด้วยค่าตัวที่ไม่แพงมากนัก

เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขาอยากทำให้วัฒนธรรมฟุตบอลของประเทศแข็งแกร่ง เด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นได้มีไอดอลเป็นนักเตะในชาติตัวเองที่ค้าแข้งในต่างประเทศ

International Japanese players in their J.League Days: #2 Shinji Kagawa |  ข่าว | เจลีก
Photo : J League

โครงสร้างดังกล่าวของสโมสร สามารถได้รับการเกื้อกูลจากปรัชญา Hanasaka ที่ใช้ในการก่อตั้งบริษัทแม่อย่าง ยันมาร์ อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะปรัชญา Hanasaka ถูกเอามาใช้กับเหล่านักฟุตบอล เพราะพวกเขาอยากผลักดันให้เด็ก ๆ ในท้องถิ่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อนักเตะมีชื่อเสียง พวกเขาก็จะมีรายได้มากขึ้น และเมื่อมีรายได้มากขึ้น พ่อ-แม่ ครอบครัวของพวกเขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น … เมื่อแต่ละครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ซึ่งการจะเป็นแบบนั้นได้เด็ก ๆ ต้องได้รับโอกาสในแบบที่พวกเขาสมควรจะได้ก่อน ... นั่นคือเหตุผลที่ เซเรโซ โอซาก้า พร้อมจะใช้งานนักเตะท้องถิ่นที่โตมาจากอคาเดมี่ของสโมสรในวันที่พวกเขาแข็งแกร่งพอ และผลักดันพวกเขาไปให้ไกลที่สุด เท่าที่คน ๆ นั้นจะไปถึง

Manchester United to sign Dortmund's Japan star Kagawa | CNN
Photo : CNN

เราจะสังเกตได้ว่า เซเรโซ โอซาก้า คือ 1 ในสโมสรที่ส่งออกนักเตะไปนอกประเทศมากที่สุดทีมหนึ่งของ ญี่ปุ่น แถมแต่ละคนที่พวกเขาส่งไปก็ถือว่าพวกเขาขายให้กับทีในยุโรปด้วยราคาแสนถูก ชินจิ คากาวะ มีราคา 250,000 ยูโร หรือราว 10 ล้านบาทเท่านั้นตอนย้ายไปอยู่กับ ดอร์ทมุนด์ หรือแม้กระทั่งรายล่าสุดอย่าง ทาคุมิ มินามิโนะ ก็ถูกขายให้ ซัลซ์บวร์ก ไปในราคา 800,000 ยูโร (ราว 30 ล้านบาท) ซึ่งแน่นอน นักเตะเหล่านี้มูลค่าเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเท่าในเวลาต่อมา … พวกเขาสามารถทำเงินกับนักเตะเหล่านี้ได้มากกว่าราคาที่ขายไปแน่ ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ รากฐานสู่อนาคต เพราะจะมีหลายสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก

เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

นอกจากจะผลักดันเต็มที่แล้ว เซเรโซ โอซาก้า ยังไม่เคยหยุดนิ่ง ปรัชญา Hanasaka ถูกเอามาใช้ในการสร้างนักเตะเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า "วิสัยทัศน์แห่งอนาคต" นั่นคือการบ่มเพาะคนรุ่นต่อไปและส่งเสริมวัฒนธรรม และเป็นแรงผลักดันในการตระหนักถึง “อนาคตที่ยั่งยืน” ในอนาคต ซึ่งทุกวันนี้ เซเรโซ ก็ใช้นักเตะที่โตมาจากอคาเดมี่ของตัวเองลงเล่นในทีมชุดใหญ่กว่าครึ่งทีมเลยทีเดียว

Cerezo Osaka marks second win of the season at the 5th Sec. of Prince  Takamado Trophy JFA U-18 Football Premier League WEST|Japan Football  Association
Photo : JFA

ไล่เรียงจากรุ่นสู่รุ่น โยชิโตะ โอคุโบะ, เคนยู ซึงิโมโตะ, ชินจิ คากาวะ, ฮิโรชิ คิโยทาเกะ จนกระทั่งมาถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง โซตะ คิตาโนะ กองหน้าวัย 19 ปี ที่กำลังมีข่าวกับทีมในยุโรปหลัง เจลีก จบซีซั่นลง และแน่นอนว่าหลังจากนี้จะมีเหล่านักรบซากุระรุ่นต่อ ๆ ไปแจ้งเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ภายใต้แนวคิดที่เป็นปรัชญาของสโมสรแห่งนี้

ที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะการมองไปที่ภาพรวม ที่ใหญ่กว่าแค่เรื่องของฟุตบอล การให้โอกาสกับนักเตะเยาวชน สร้างผลกระทบเชิงบวกหลายสิ่งตามมา ไม่ใช่แค่กับสโมสรเท่านั้น แต่หมายถึงท้องถิ่นก็จะได้รับสิ่งเหล่านี้กลับไปด้วย

คุณสร้างคนที่ดี คนที่เก่ง และคนที่จะสร้างความหวังและความฝันให้ผู้คนได้ คุณจะได้ชุมชนที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะในแง่ของคุณภาพชีวิต หรือเรื่องของความสุขทางจิตใจ

JUN INOUE|HANASAKA MURAL|HANASAKA|About YANMAR|YANMAR Thailand
Photo : Yanmar

สุดท้ายนี้ เซเรโซ โอซาก้า เชื่อว่า Hanasaka ของพวกเขา จะเดินหน้าไปพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และอยู่เคียงข้างผู้คนที่ปรารถนาจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าต่อไป

เริ่มจาก คน - ยันมาร์ - เซเรโซ โอซาก้า - สังคม และสุดท้ายเมื่อทุกอย่างส่งต่อถึงกัน อนาคต จะเป็นสิ่งที่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นอย่างแน่นอน

ถ้าคุณอยากรู้เรื่องราวความสัมพันธ์เกี่ยวกับ ชินจิ คากาวะ และ Yanmar เรามีเรื่องราวทั้งหมดให้อ่านต่อที่นี่ https://hi.switchy.io/J_Db

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ