ฮิโรมิชิ คาตาโนะ : แข้งญี่ปุ่นที่อยู่ไทยมานานจนรู้ "แก่นแท้ฟุตบอลไทย"
"ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเลยกับการเป็นสถิตินักเตะญี่ปุ่นที่ค้าแข้งในไทยนานที่สุด เชื่อเถอะอีกไม่นานก็จะมีนักเตะญี่ปุ่นคนอื่นทำสถิตินี้แซงผม"
นับตั้งแต่ศึกไทยลีกมีโควต้าต่างชาติ และโดยเฉพาะนักเตะโควต้าเอเชีย หนึ่งในนักเตะจากชาติที่ฮิตที่สุดในโควต้านี้คือนักเตะญี่ปุ่น ซึ่งนักเตะญี่ปุ่นที่ครองสถิติค้าแข้งในไทยยาวนานที่สุด ณ ตอนนี้คือ ฮิโรมิชิ คาตาโนะ ... และวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักเขาให้มากขึ้นกว่าเดิม
ประสบการณ์ 13 ปีในประเทศฟุตบอลไทยบอกอะไรกับเขาบ้าง
คุณครูยอดแข้ง
วงการฟุตบอลญี่ปุ่นเพิ่มจะมาเป็นรูปเป็นร่างในช่วงต้นปี 90s โดยฟุตบอลเจลีกนั้นเริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 1992 และในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ ฮิโรมิชิ คาตาโนะ เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่น เป็นวัยแห่งความฝันที่เจ้าตัวหวังว่าจะได้กลายเป็นนักเตะอาชีพในสักวัน
อย่างไรก็ตามฟุตบอลระดับสูงคือกีฬาที่คัดเอาเฉพาะคนที่เก่งที่สุดเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งศึก เจลีก ...
ตัวของ คาตาโนะ พยายามที่จะเป็นนักเตะอาชีพให้ได้ แต่ ณ ช่วงเวลานั้น (ต้นปี 2000s) มีนักเตะเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นจากจำนวนั้งหมดที่ดีพอจะได้สัญญาอาชีพและมีค่าเหนื่อยในระดับที่ใช้ชีวิตได้แบบสุขสบายระดับหนึ่ง ซึ่ง คาตาโนะ ไม่ใช่หนึ่งในนั้น เขาไม่ได้ค้าแข้งกับทีมดัง และไม่มีสัญญาอาชีพในตอนแรก ซึ่งสโมสรแรกของเขาอาจจะไม่คุ้นหูแฟนบอลไทยมากนัก นั่นคือสโมสรที่อชื่อว่า โทชิกิ เอสซี
โทชิกิ เอสซี นั้นเป็นสโมสรท้องถิ่นจริง ๆ พวกเขาก้่อตั้งมาแล้วกว่า 70 ปี (1953) สโมสรแห่งนี้เกิดจากกลุ่มครูในญี่ปุ่นที่รวมตัวกันสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมา เพื่อส่งทีมเข้าแข่งขันในระดับภูมิภาค(เขตคันโต) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสโมสรมาเกิดขึ้นในยุคที่ คาตาโนะ ค้าแข้งอยู่กับทีมพอดิบพอดี
หลังจาก คาตาโนะ ที่รับอาชีพเป็นครูไปด้วยและเตะฟุตบอลไปด้วยเข้ามาอยู่กับ โทชิกิ ในปี 2004 อีก 1 ปีต่อมาสโมสรก็พยายามจัดตั้งคณะกรรมการสโมสรเพื่อวางเป้าหมายจะเปลี่ยนสถานะของทีม จากทีมระดับภูมิภาค เพื่อเป็นทีมในระดับมาตรฐานที่ เจลีก ยอมรับก่อนที่ 2 ปีหลังจากนั้น โทชิกิ ที่มี คาตาโนะ เป็นนักเตะตัวหลักจะสามารถทำให้สโมสรมีมาตรฐานผ่านเกณฑ์ที่คณะกรรมการเจลีกตั้งเอาไว้ พวกเขาจึงถูกโปรโมตขึ้นไปยังศึก เจลีก 3 ซึ่งเป็นระบบลีกอาชีพที่ต่ำที่สุดในประเทศญี่ปุ่นในปี 2008
ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็เล่นในลี เจลีก 3 อยู่พักใหญ่โดยย้ายสโมสร 2 ครั้งในระดับเดียวกันกับสโมสร เซงาวะ พรินติ้ง และ กิราวานซ์ คิตาคยูชุ ซึ่งปีที่สุดท้ายที่เขาเล่นกับ กิราวานซ์ ทีมสามารถเลื่อนชั้นไปยัง เจลีก 2 ซึ่งเป็นลีกรองของประเทศได้สำเร็จ แต่ตัวของ คาตาโนะ ก็หมดสัญญากับต้นสังกัดพอดี ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขาต้องตัดสินใจว่าจะกลับไปเล่นในระดับ เจลีก 3 อีกครั้ง หรือว่าลองเปลี่ยนบรรยากาศ ไปยังลีกประเทศอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์กับฝีเท้า และรายได้ที่เขาต้องการมากกว่า
"ผมเริ่มเป็นนักเตะฟุตบอลสมัครเล่นในฐานะที่ทำงานเป็นครูไปพร้อม ๆกัน ผมอยู่กับหลายทีมในญี่ปุ่น และช่วยทีม กิราวานซ์ ผ่านไปเล่นยังเจลีก 2 ได้ ผมเล่นในลีกนั้นสักพักก็มีเรื่องให้ต้องขยับขยายพอดี ... ผมได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคนหนึ่งที่เล่นอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นผมสนใจมาก ๆ พูดตรง ๆ ว่าตอนนั้นผมพยายามจะที่มองหาอะไรใหม่ ๆ ให้ชีวิต ผมอยากจะรู้จักฟุตบอลของที่อื่นบ้างว่าเขาเล่นกันอย่างไร ? .. นั่นแหละเมื่อเพื่อนผมแนะนำ ผมก็เลยตัดสินใจมาที่ประเทศไทย" ... จากนั้น คาตาโนะ ก็ได้รู้ว่าเขาจะต้องพบประสบการณ์จากลีกไทยในแบบที่ต่างจากลีกญี่ปุ่นที่เขาผ่านมาโดยสิ้นเชิง
ไม่รักได้ไง
ย้อนกลับไปในปี 2010 ฟุตบอลไทยก็มีหลายเรื่องหลายข่าวคราวที่เป็นเรื่องคลาสสิกให้แฟนบอลไทยได้พูดถึง เพราะ ณ ตอนนี้เรื่องการจัดการและอะไรต่าง ๆ นานา ถือว่ายังไม่เข้าที่มากนัก โดยฟุตบอลไทยลีกฉบับยุคใหม่เริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 2009 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ คาตาโนะ ได้เข้ามาสัมผัสความคลาสสิกแบบเต็ม ๆ
คาตาโนะ เล่นกับสโมสรไทยสโมสรแรกคือ โอสถสภา ในปี 2011 ... จริง ๆ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องฟุตบอลด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของไทยก็ถือว่าสร้างสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ใหม่ให้กับเขามากมาย ไม่ว่าจะดีหรือแย่ แต่ คาตาโนะ สรุปว่าเขารักประสบการณ์เหล่านี้จริง ๆ
"อย่างแรกที่ตรงตามที่ทุกคนบอกเล่าให้ผมฟังคือคนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจและมีความเป็นมิตรแบบสุด ๆ ไปเลย เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในแง่ของฟุตบอลและชีวิตล้วนเป็นเรื่องที่ผมประทับใจทั้งนั้น ถ้าจะให้ผมเลือกว่าเรื่องไหนที่ผมประทับใจที่สุดผมคิดว่ามันยากมาก ๆ เลย" คาตาโนะ กล่าว
"ผมเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ไทย และวิถีของนักฟุตบอลอาชีพคือการ พบเจอ เริ่มต้น และการจากลา เชื่อไหมว่าประสบการณ์เหล่านี้กับหลาย ๆ สโมสรถือเป็นช่วงเวลาที่ผมยกให้เป็นช่วงเวลาพิเศษของชีวิต ยิ่งกว่าคำว่ามหัศจรรย์ด้วยซ้ำไป พูดตรง ๆ เพื่อนร่วมทีมของผมแต่ละคนที่เจอมาเป็นคนที่สุดยอดทั้งนั้น ผมยังนึกขอบใจที่พวกเราได้ลงสนามเคียงข้างกัน"
คาตาโนะ พยายามเล่าเรื่องเกี่ยวกับช่วงเวลาในหลายสโมสรของเขาในประเทศไทยไล่ตั้งแต่ โอสถสภา, สระบุรี เอฟซี ,สุโขทัย เอฟซี, ตราด เอฟซี , ศรีสะเกษ เอฟซี, ตราด เอฟซี ซึ่งเป็นสโมสรสุดท้ายที่เขาค้าแข้งในประเทศไทย ก่อนจะหันมาทำงานเป็นโค้ชที่สโมสรแห่งนี้ ซึ่งล่าสุด ตราด คว้ารองแชมป์ไทยลีก 2 เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่ คาตาโนะ บอกอาจจะเกิดขึ้นจากการที่เขาเป็นนักเตะประเภทมีคาแร็คเตอร์แบบผู้นำ เป็นคนที่ทุ่มเทสู้ตายเพื่อทีมเสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะไปเล่นกับสโมสรไหน เขาจึงมักได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมและแฟนบอลอยู่เสมอ
แต่แน่นอนว่าความทรงจำของคนเรานั้นมีหลายรสชาติ ซึ่ง คาตาโนะ ก็ยอมรับว่าไม่ใช่ในแง่ของมิตรภาพและการใช้ชีวิตเท่านั้น ประสบการณ์ลุย ๆ ฮา ๆ แบบเปิดโลกที่เขาไม่เคยเจอมาก่อนในญี่ปุ่น ก็ไม่มีเช่นกัน ซึ่งประสบการณ์นี้เขายอมรับว่า "เป็นหนึ่งในเรื่องที่เซอร์ไพรส์ที่สุดตั้งแต่มาอยู่ประเทศไทย"
"คือเรื่องนี้ผมจำฝังใจเลยนะปีแรก ๆ ที่ผมมาค้าแข้งในประเทศไทย น่าจะสักปี 2011 โอสถสภา ทีมของผมนั้นมีโปรแกรมจะต้องเจอกับ ขอนแก่น เอฟซี พอพวกเรารู้โปรแกรมเราก็นั่งรถบัสไปประมาณ 8-9 ชั่วโมง ผมนี่ฟิตพร้อมลงเล่นมากเพราะมันเป็นเกมนัดเปิดสนามด้วย แต่พอถึงวันแข่งโค้ชของเรามาบอกกับพวกเราว่า 'เกมนัดนี้เลื่อนไปก่อนเพราะสนามไม่พร้อมใช้งาน'
"คือตอนนั้นผมงงเลย ทำไมพวกเขาไม่รู้ว่าสนามไม่พร้อมใช้งานทั้ง ๆ ที่มีเวลาให้แจ้งข่าวและตรวจสอบอย่างน้อย 1-2 วัน หรืออย่างน้อย ขอนแก่น ก็น่าจะแจ้งข่าวมาให้ทีมผมสักหน่อยว่าสนามมันยังไม่พร้อมใช้ ยังไม่ต้องรีบมา ... จะบอกว่าเซอร์ไพรส์ก็มีส่วนนิดนึง แต่ผมใช้คำว่าผมช็อคมากกว่า (หัวเราะ)"
"ความช็อคปิดท้ายคือหลังจากแข่งเสร็จตอนกลางคืนนั้น เราต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อนั่งรถบัสกลับกรุงเทพฯ ทันที ... ผมล่ะเชื่อจริง ๆ ว่าผมไม่มีวันเจอเหตุการณ์แบบนี้ที่ญี่ปุ่นแน่นอน" คาตาโนะ เล่าอย่างอารมณ์ดีแม้จะดูเป็นเรื่องที่ชวนเครียดก็ตาม นั่นอาจจะเป็นเพราะเขาซึมซับกับความเป็นไทยมากขึ้นในทุก ๆ วันก็เป็นได้
"คุณคิดถูกแล้วล่ะ ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากนิสัยคนไทย”
“คนไทยมีวิธีคิดแตกต่างกับคนญี่ปุ่นอย่างผมมาก ๆ ผมหมายถึงในแง่ดีนะ ผมสามารถเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารและการเข้าสังคมจากนิสัยของคนไทยได้ดีเลยล่ะ คนไทยที่เข้าถึงง่ายมาก คุยเก่ง ซึ่งเอาจริง ๆ ผมว่าผมชอบและเอามาปรับใช้ได้ดีมาก ๆ เลยนะ" คาตาโนะ ทิ้งท้าย
ลึกซึ้งถึงฟุตบอลไทย
แน่นอนว่าการมาอยู่ไทยทำให้ชีวิตของเขานั้นมีความสุข แต่ในเมื่อเขาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เขาย่อมต้องเห็นอะไรมากมายในวงการฟุตบอลไทย คาตาโนะ คือกลุ่มนักเตะญี่ปุ่นกลุ่มแรก ๆ ที่มาเล่นที่ไทย และเขายอมรับว่าแต่ละปี ๆ ฟุตบอลไทยก็พัฒนาขึ้นจริง ๆ โดยสิ่งที่เขาอธิบายว่าพัฒนาชัดที่สุดคือ "โควต้านักเตะต่างชาติ" ที่ปัจจุบันมีนักเตะดีกรีแรง ๆ ฝีเท้าดี ๆ เข้ามาค้าแข้งในไทยลีกมากกว่ายุคที่เขามาที่ไทยตอนแรก ๆ เยอะเลยทีเดียว
"ตอนที่ผมมาไทยแรก ๆ ผมคิดว่าผมได้เจอนักเตะไทยที่เก่งจริง ๆ อย่าง ธีรศิลป์ แดงดา ส่วนนักเตะต่างชาติที่เก่งมาก ๆ อีกคนก็คือ มาริโอ ยูรอฟสกี้ สองคนนี้มีเทคนิคและทักษะในการอ่านเกมสูงมาก ไอเดียความสร้างสรรค์ก็เยอะ นักเตะแบบนี้ประกบยากกว่านักเตะที่แค่ตัวใหญ่ หรือวิ่งเร็วเยอะ ... ซึ่งจนถึงตอนนี้ผมว่านักเตะไทยก็เก่งขึ้นเยอะนะ มีนักเตะระดับบอลสมองหลายคนโดยเฉพาะในตำแหน่งมิดฟิลด์ที่เล่นในไทยลีก 1 ตอนนี้หลาย ๆ คน"
"ส่วนนี้ผมว่าเป็นเพราะมาจากการปรับเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติด้วย ในช่วงหลังปี 2015 ที่มีการลดโควต้านักเตะต่างชาติลดลงผมว่ามันดีขึ้นจริง ๆ เพราะคุณจะได้เห็นนักเตะต่างชาติที่เก่งมาก ๆ และในขณะเดียวกันนักเตะไทยหลายคนก็ได้โอกาสเล่นมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ส่งผลถึงเรื่องต่อมาอีก" คาตาโนะ เผยมุมมองของเขา
"เพราะว่านักเตะต่างชาติถูกใช้ไปกับตำแหน่งกองหน้าตัวยิงประตูแทบทุกทีม สิ่งนี้เริ่มจะส่งผลกระทบต่ออนาคตฟุตบอลไทยนะ นักเตะไทยหลายคนต้องหลีกทางในตำแหน่งนั้น และเราจะได้เห็นนักเตะกองกลางของไทยเก่ง ๆ หลายคน แต่อย่างน้อยมันก็มีแง่ดีเกิดขึ้น เราจะได้เห็นนักเตะไทยทักษะดี ๆครองบอลเก่ง ๆ และพวกเขาก็จะได้เรียนรู้มากขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้เรื่องของความเป็นมืออาชีพนั้นผมว่านักเตะไทยดีขึ้นมากเลยทีเดียว ... "
คาตาโนะ ไม่ได้เห็นแค่ปัญหาของเรื่องโควต้าต่างชาติในตำแหน่งกองหน้าเท่านั้น เขายังมองเห็นปัญหาที่คอบอลไทยทุกคนเห็นนั่นคือเรื่องการผลักดันนักเตะจากทีมชุดเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอดว่าทำไมฟุตบอลไทยจึงไม่มีลีกเยาวชน และสโมสรบางสโมสรกลับไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้
"คือผมเข้าใจนะว่าสโมสรฟุตบอลทั้งในไทยลีก 1 และไทยลีก 2 จะต้องใช้เงินทุนมาก ๆ เลยในการปรับปรุงสภาพต่าง ๆ สำหรับการสร้างทีมเยาวชนขึ้นมา มันมีหลายเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะมันจะต้องใช้เงินมากจริง ๆ เพื่อจะได้นักเตะเยาวชนที่เก่ง ๆ สักคน คุณต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดใจ มีเงินจ้างโค้ชที่ดีและเก่ง มองหานักเตะที่มีแวว(สเก้าท์) และก็ให้โอกาสเด็ก ๆ ในเวทีระดับสูงมากขึ้น"
"มันยากแน่นอนถ้าจะทำแบบนั้น แต่ถ้าทำได้นักเตะที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้จะเป็นนักเตะที่เป็นหน้าเป็นตาของสโมสร และทีมของคุณก็จะได้กลุ่มนักเตะฝีเท้าดีป้อนขึ้นมาสู่ทีมเรื่อยๆ" คาตาโนะ กล่าว
ท้ายที่สุดมีหนึ่งคำถามที่แฟนฟุตบอลไทยสงสัยและชอบจะถามนักเตะต่างชาติโดยเฉพาะนักเตะญี่ปุ่นมาตลอดว่า "ไทยลีก ตามหลัง เจลีก อยูกี่ปี ?" ซึ่ง คาตาโนะ ก็เผยมุมมของเขาถึงคำถามนี้ว่า
"ในความคิดของผมความต่างระหว่างฟุตบอลญี่ปุ่นกับฟุตบอลไทยก็ยังมีพอสมควร ที่ญี่ปุ่นเราเน้นเรื่องรายละเอียดมาก ๆ ในการสั่งการผู้เล่นแต่ละคน เราเจาะลึกเรื่องแท็คติกและชี้ลงไปในแต่ละสถานการณ์ว่าควรทำแบบไน ?"
"ขณะที่ประเทศไทยนั้นจะไม่ได้เน้นเรื่องแท็คติกมากเท่า ไม่ลงลึกรายตัวมากมายนัก ไม่ได้สื่อสารกันมากเท่าไหร่ และนั่นเป็นเหตุผลที่ผมคิดว่าฟุตบอลไทยนั้นคุณจะแพ้หรือชนะสิ่งที่คอยชี้ขาดมันไม่ใช่เรื่องแท็คติกแต่ะเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะมากกว่า"
"ส่วนเรื่องที่ถามว่าฟุตบอลไทยตามหลังฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นกี่ปี ผมว่าเราลองมาเทียบกันระหว่าง ธีราทร บุญมาทัน ที่ไปล่นในญี่ปุ่นและได้แชมป์เจลีก กับ ฮิเดโตชิ นากาตะ ที่ไปคว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ... ให้ผมกะตัวเลขคร่าว ๆ ความห่างคงจะอยู่ที่ 20 ปี"
"ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีนักเตะหลายคนไปเล่นในยุโรปตามรอย นากาตะ เราผ่านช่วงเวลาการสร้างลีกมานานกว่า 30 ปี เราเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะศาสตร์จากยุโรป พวกเราลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งเราได้แนวทางฟุตบอลของคนญี่ปุ่นจริง ๆ ในท้ายที่สุด"
สุดท้าย คาตาโนะ ได้ปิดการสัมภาษณ์ครั้งนี้ว่าเขามีความสุขกับทุกช่วงเวลาไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตหรือเรื่องเกี่ยวกับฟุตบอลในช่วงที่เขาอยู่ในประเทศไทย โดยเขาเชื่อว่าฟุตบอลไทยนั้นมีความหวังที่จะก้าวกระโดดเพื่อการพัฒนา หากใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสม การให้เวลากับสิ่งที่ควรให้ และการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรได้รับความสำคัญ ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดต้องลงมือทำสิ่งเหล่านี้พร้อม ๆ กับความมุ่งมั่นและความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในเวลาเดียวกันด้วย
ส่วนเรื่องสถิติที่เขาเป็นนักเตะญี่ปุ่นที่ค้าแข้งในไทยลีกนานที่สุดนั้น เขาตอบเพียงว่า "ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเลยกับการเป็นสถิตินักเตะญี่ปุ่นที่ค้าแข้งในไทยนานที่สุด เชื่อเถอะอีกไม่นานก็จะมีนักเตะญี่ปุ่นคนอื่นทำสถิตินี้แซงผม" คาตาโนะ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สืบจาก มิโตมะ : ลีกเบลเยี่ยมเหมาะกับแข้งจากชาติที่ได้ "เวิร์ค เพอร์มิต" ยากอย่างไร ?
ยุโรปไม่ไกลเกินฝัน : 5 ลีกทางเลือกที่แข้งไทยเล่นได้ไม่ต้องห่วงเรื่องเวิร์คเพอร์มิต
เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?