ความงามที่สาบสูญ : เหตุใดชุดแข่งฟุตบอลโลกยุคนี้จึงไม่เฟี้ยวฟ้าวเหมือนยุค 90s

ความงามที่สาบสูญ : เหตุใดชุดแข่งฟุตบอลโลกยุคนี้จึงไม่เฟี้ยวฟ้าวเหมือนยุค 90s
วิศรุต หล่าสกุล

ในช่วง 10 กว่าปีมานี้ มีสิ่งหนึ่งที่บรรดาแฟนฟุตบอลทั้งไทยและต่างประเทศต่างพากันบ่นอุบ วิจารณ์ และเป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะ นั่นคือเรื่องของเทมเพลท (Template) ในชุดแข่งขันฟุตบอล ซึ่งจะเกิดขึ้นกับแบรนด์เจ้าดัง ที่ครองตลาด อย่าง ไนกี้ อาดิดาส หรือพูม่า ที่ไม่ว่าจะออกแบบมากี่ปีต่อกี่ปี กี่รุ่นต่อกี่รุ่น ใช้ในสโมสรใดๆ หรือทีมชาติใดๆ ก็ตาม ดันออกมาดูเหมือนกันไปเสียหมด

หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า วงการนี้ได้ขาด เอกลักษณ์ (Uniqueness) ของทั้งตัวแบรนด์ และคู่ค้าไปจนหมดสิ้น ไม่มีภาพจำ ไม่มีความรู้สึกร่วม ไม่เหมือนกับชุดแข่งขันฟุตบอลในอดีต ที่ติดตราตรึงใจมากกว่าเป็นเท่าทวี

ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง:ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สายสัมพันธ์อันลึกซึ้งจากสองทีมที่อยู่คนละซีกโลกที่กำลังจะดวลกันในบอลโลก 2022

สิ่งที่ทำตอนนี้เหมือนเป็นการผลิต "ของโหล" ที่ตะบี้ตะบันผลิต เน้นทำเพื่อปริมาณ เพื่อจำนวนเข้าว่า (Mass Production) ไปเสียเฉยๆ

คิดไซด์โค้ง จึงชวนทุกท่านไปย้อนรอยความเป็นมา ตื้นลึกหนาบาง วิธีคิดที่อยู่ในเทมเพลทชุดแข่งขันฟุตบอล รวมถึงประเมินว่า เหตุที่แบรนด์ทำเช่นนี้ เพราะ เน้นไว เน้นปริมาณ หรือแค่ขี้เกียจออกแบบกันแน่?

บริโภคนิยม ความยูนีค และของโหล

หลายท่านอาจจะคิดว่า ในโลกทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่ ณ ขณะนี้ การจะขายสินค้าและบริการให้ตีตลาด ติดลมบน ใครๆ ก็อยากจับจ่ายมาครอบครองนั้น จะต้องทำให้ของของตนเองนั้น "โดดเด่นไม่เหมือนใคร" แตกต่างจากคู่แข่งโดยสิ้นเชิง ยิ่งคุณภาพ ประสิทธิภาพ หรือความล้ำสมัยมีมากกว่าเท่าไร ก็ยิ่งได้เปรียบในตลาดมากเท่านั้น

แต่ความเป็นจริง ในสังคมที่ตะโกนหาสรรหา “ความแตกต่าง” เพื่อการขาย กำไร และทำยอด กลับมีความสลับซับซ้อน ในแง่ของวัฒนธรรมว่าด้วย “ความเหมือนๆ กัน” ของสินค้า ที่ดำรงอยู่ในชุดวิธีคิดของประชาชนทั่วไปมาช้านาน อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

Photo : engineering.com

การทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างดีที่สุด คือต้องย้อนไปยังยุคพัฒนาอุตสาหกรรม ที่สังคมเริ่มมีความเป็นทุนนิยม ที่เน้นการบริโภคนิยมมากขึ้น จึงมีการให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าเพื่อขายสนองตอบให้ทันกับความต้องการบริโภคจำนวนมากที่ตั้งตารออยู่

ดังนั้น จึงเกิดระบบการผลิตที่ใช้ "สายพาน" เข้ามาช่วยลำเลียงชิ้นส่วน โดยมีแรงงานมนุษย์ประจำการเพื่อประกอบให้เป็นสินค้า โดยเรียกระบบนี้ว่า "ฟอร์ดิสม์" (Fordism) ซึ่งได้ชื่อมาจาก เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ ฟอร์ด ที่ริเริ่มระบบสายพานการผลิตนั่นเอง

Soccer vs Football : เมื่อ อเมริกา ส่งคนล้างจานมาชนะทีมชาติอังกฤษในบอลโลก | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
อังกฤษ เรียกฟุตบอลว่าฟุตบอล แต่ อเมริกัน เรียกมันว่าซ็อคเกอร์ เรื่องนี้เถียงกันไปก็ไม่จบแต่ที่แน่ ๆ คนอังกฤษ 99.99% คิดว่า ซ็อคเกอร์ ของ อเมริกัน คือของปลอมอย่างไม่ต้องสงสัย อังกฤษ เล่นฟุตบอลมาก่อน สร้างลีกอาชีพมาก่อน อเมริกา อยู่หลายสิบปี หรืออาจจะเป็นร้อยปี แต่เรื่องนี้มันเซอร์ไพรส์เสียยิ่งกว่าอะ…

ระบบดังกล่าว ได้ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมานั้นมีรูปแบบ ดีไซน์ กระทั่งมาตรฐานที่เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะวางจำหน่ายค้าปลีกที่ไหน หากมาจากโรงงานเดียวกัน หรือไลน์การผลิตเดียวกัน สิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับไปก็เหมือนกันทั้งนั้น

หรือเรียกง่ายๆ ว่าที่ผลิตออกมาสู่สายตาชาวโลกทั้งหลายแหล่นั้น ก็เป็น ของโหล ทั้งกระบินั่นเอง

แม้จะได้สินค้าแบบเท่าเทียมกับคนอื่นๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ บรรดาผู้บริโภค ก็ได้เสียสิ่งที่เรียกว่าความยูนีค ไปแบบไม่มีวันหวนกลับ

เพราะฟอร์ดิสม์นั้น คิดขึ้นมาเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการผลิตแบบดั้งเดิม ตามครัวเรือนที่ "ไม่ทันกิน" แบบตรงจุด ครั้นจะมาใช้แรงงานมนุษย์เพียวๆ แบบโอเวอร์ออล ละเมียดละไม ประดิดประดอย นั่งทำทีละชิ้นต่อคนตั้งแต่ต้นจนจบ เห็นทีลูกค้าจะทนรอไม่ได้

Photo : Puma Catch up

แน่นอน ผลกระทบไม่ได้มีทิศทางเดียว เมื่อเวลาผ่านไป กลับกลายเป็นผู้ผลิตเองที่สามารถกำกับควบคุมการบริโภคของประชาชนได้ ไม่ต้องรอให้รีเควสท์ ก็สามารถผลิตสินค้าและบริการที่ทำให้คนควักเงินซื้อได้แบบไม่ต้องบังคับหรือฮาร์ดเซลล์

สิ่งที่ระบบสร้างขึ้นมาจึงเรียกว่า "แมส" (Mass : เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่) อย่างที่รับรู้เข้าใจกันดีในปัจจุบัน

หรือก็คือ แม้จะพยายามหาจุดขายให้สินค้าขนาดไหน แต่สิ่งที่ผลิตออกมาก็ยังต้องขายให้ได้ตามเป้าอยู่วันยังค่ำ จึงไม่สามารถที่จะหลีกหนีกระบวนการทำให้แมสได้ ต่อให้พยายามยูนีคแค่ไหน ก็ต้องกลับมาตายรังที่เดิมเสมอ

ดังที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงเรื่องทำนองนี้ไว้ว่า

"ไม่งั้นทุกคนแม่งก็ทำตามใจตัวเองหมด การบ้านกูไม่ส่ง ก็กูยูนีคอะ หรือถ้าผมยูนีค ผมตอบว่า 'ไอ้เ-*ย' เวลาคุณทักทายผมได้ไหม นี่ยูนีคไหม? … บริษัทโฆษณาเสียตังค์เท่าไหร่ในการทำให้คุณกินข้าวของแมสๆ พวกนี้ได้ ถ้าทุกคนยูนีคนะ แม่ง! เจ๊งหมด"

Photo : บทความ ธเนศ วงศ์ยานนาวา : มหาวิทยาลัยไม่ใช่พระเจ้า “ถ้าคุณไม่ขวนขวาย…ก็จบ”

ซึ่งแน่นอนว่า วิธีการและชุดวิธีคิดดังกล่าว ก็ได้ไปปรากฏตัว แฝงฝังอยู่ในวงการฟุตบอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากของมีเกียรติ สู่ของที่ระลึก

ในสมัยแรกเริ่ม ชุดแข่งขันฟุตบอลถือได้ว่าเป็นของสำหรับวิชาชีพเฉพาะ เป็นเครื่องแสดงสถานะอย่างหนึ่ง ไม่แตกต่างจากอาชีพที่ต้องใช้ “เครื่องแบบ” อย่างพวกงานราชการ แพทย์ พยาบาล หรือเซเคียวริตี้ การ์ด

เห็นได้จาก ต้นกำเนิดของฟุตบอล อย่างประเทศอังกฤษ ที่มีสารพัดชุดการแข่งขัน แตกต่างกันออกไปในแต่ละสโมสร เพื่อบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ ตัวตน และการสร้างสตอรี่ของสโมสรอีกทอดหนึ่ง

และแน่นอน ในสมัยนั้น แม้ว่าการลงแข่งจะเป้นไปเพื่อการกีฬา นันทนาการ เรียกเหงื่อล้วนๆ แต่การจะได้สวมอาภรณ์ดังกล่าว ก็จำเป็นที่จะต้องผ่านด่านทดสอบต่างๆ นานา เพื่อให้ได้เข้าสังกัด เข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้นๆ

ดังนั้น ชุดการแข่งขันฟุตบอลจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนความยูนีค เป็นของที่จะต้องสงวนไว้ ใช่ว่าใครนึกอยากจะหาใส่ ก็สามารถจะใส่ได้ ยิ่งกับการแข่งขันในระดับทีมชาติ ความสำคัญของการได้ใส่ชุดแข่ง มีคุณค่าเทียบเท่ากับการได้รับ “หมวก” ที่ระลึกเลยทีเดียว (การติดทีมชาติ ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า Caps)

Photo : Honours Cap

กระนั้น ในกาลต่อมา เมื่อฟุตบอลเริ่มเป็นธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่สงวนชุดแข่งไว้ให้นักฟุตบอลเพียวๆ ก็เริ่มมีการขยายฐานการผลิตผลิตเพื่อขายแฟนบอลในจำนวนหนึ่ง

แต่การผลิตยุคแรกนั้น ส่วนมากมีแต่ “ของแท้” (Authentic) หรือในภาษาปัจจุบันเรียกว่า “เกรดเพลเยอร์” ที่คุณภาพ การตัดเย็บ เนื้อผ้า การปักตราสโมสร แบบเดียวกับที่นักเตะสวมใส่ลงสนามทุกกระเบียดนิ้ว

อย่างไรก็ตามของที่ผลิตออกมา มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือเป็นสินค้าในรูปแบบของที่ระลึก ของสะสม ที่มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ได้ไว้ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือหากสวมใส่ ก็มักจะเฉพาะตอนไปเชียร์ทีมรักแนบชิดติดขอบสนาม ดังนั้น การตั้งราคาที่ขายจึงสูงลิบ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในตลาดเฉพาะกลุ่ม

ดังนั้น บรรดาสโมสรจึงผลิต “เรพลิกา” (Replica) หรือในภาษาปัจจุบันเรียกกันว่า “เกรดแฟนบอล” ออกวางจำหน่าย ในตอนแรกเสื้อแบบเกรดแฟนบอลนั้น ผลิตขึ้นมาสำหรับให้เยาวชนสวมใส่ล้วนๆ เพราะเป็นไซส์ที่เล็กกว่าเกรดเพลเยอร์ ทำให้ประหยัดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการผลิต

Photo : The Mirror

อีกทั้งยังต้องการ “สร้างคติ” แก่เยาวชนเหล่านี้ว่า พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสโมสรตั้งแต่วัยเยาว์ การสวมเสื้อจึงเหมือนประหนึ่งตนเองได้ลงสนามด้วยความสง่า ทำให้เกิด “ลอยัลตี้” (Loyalty : ความจงรักภักดี) กับสโมสรนั้นๆ ในระยะยาวตามไปด้วย สังเกตุได้จาก บรรดานักฟุตบอล ที่มักจะโดนขุดรูปเก่าๆ หาเสื้อแข่งขันตัวแรกที่ครอบครัวซื้อให้ เพื่ออนุมานว่า “ตัวพวกเขาในวัยเด็ก” นั้น มีความภักดีแก่สโมสรใด

กระนั้น ด้วยความที่เกรดแฟนบอลนั้น “เป็นของแท้แสนเทียม” คือได้ลิขสิทธ์จากทางสโมสร หากแต่ยังไงก็ทำมาเพื่อขายล้วนๆ ราคาจับต้องได้ เหมือนกับสินค้าประเภท “เครื่องนุ่งห่ม” (Garment) อื่นๆ ตามท้องตลาด นั่นจึงทำให้ เสื้อฟุตบอล แปรเปลี่ยนจาก “เครื่องกีฬา” (Sportswear) สู่ “สินค้าใส่เดินเล่น” (Leisurewear) ไปโดยปริยาย

และก็หมายความว่า ชุดแข่งขันฟุตบอล ได้เปลี่ยนจากของที่มีความยูนีค กลายเป็น ของโหล ที่ใครๆ ก็ใส่กันได้ ไปเสียด้วย

โดยเฉพาะ การเข้ามาของ “แบรนด์” ในฐานะตัวกลาง เซ็นสัญญาดูแลการผลิตสินค้าต่างๆ ของสโมสร รวมถึงรับเป็นผู้จัดจำหน่ายเอง สโมสรรับเงินแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ก็ยิ่งตอกย้ำความเป็นของโหลมากยิ่งขึ้น

เมื่อจ่ายเงินให้สโมสรไปแล้ว อำนาจสิทธิขาดในเรื่องของการออกแบบ จึงตกอยู่กับแบรนด์แต่เพียงผู้เดียว สโมสรอาจมีเอี่ยวบ้าง แต่ไม่ได้มีอำนาจ การต่อรอง หรือใหญ่เท่ากับแบรนด์

Photo : FootyHeadlines

และแน่นอน แบรนด์ไม่ได้เซ็นสัญญากับสโมสรเดียว ดังนั้น เพื่อประหยัดเวลา และทำให้สามารถกำหนดรูปแบบการผลิตได้ชัดเจน การใช้ “เทมเพลท” จึงได้เริ่มต้นขึ้น

โดยที่มีการใช้ในลักษณะดังกล่าว มานานพอสมควร อย่างที่หลายท่านไม่ทันสังเกตเลยทีเดียว

ใช้เทมเพลทมานานนม

หากคำว่าเทมเพลทนั้น เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงการตัดเย็บส่วนประกอบ ให้ออกมาเป็นชุดแข่งขัน นั่นก็แปลว่า การใช้งานในลักษณะดังกล่าวในวงการฟุตบอลมีมานานมากแล้ว

ในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมสิ่งทอยังไม่ได้ล้ำสมัย ทำได้ง่ายและเร็วเท่าปัจจุบัน ส่วนประกอบของเสื้อฟุตบอลที่ทำออกมาจึงเหมือนๆ กับ เสื้อที่ขายทั่วไป นั่นคือ การตัดตัวเสื้อ แขนเสื้อ คอเสื้อ ชายเสื้อ ต่างกันแค่เนื้อผ้าที่จะต้องบางเบา และระบายเหงื่อได้ดี เว้นแต่ชุดแข่งสำหรับหน้าหนาว ที่เนื้อผ้าจะต้องหนาเป็นพิเศษ

ฉะนั้น การใส่ “ลูกเล่น” ในชุดแข่งขันจึงทำได้ไม่มาก จุดที่ทำได้ และนิยมทำ นั่นคือ คอเสื้อ เป็นหลัก ดังที่เห็นได้จาก คลาสสิคที่สุดส่วนมากก็นิยมใช้ คอกลม (Round Neck) หรือทันสมัยขึ้นมาเล็กน้อยก็จะเป็น คอวี (V Neck) บางครั้ง ก็ใช้เป็น คอปก (Collar) โดยจะเป็นปกยาวสุดไหปลาร้าแบบวัยรุ่นยุค 80s หรือปกสั้นแบบนักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งใช้เป็น คอจีน (Mandarin Collar) ก็ได้

Photo : Subside Spots

ดังที่เห็นได้จาก ชุดฟุตบอลยุคแรกๆ มักจะมีลักษณะเรียบๆ ใช้สีชุดสีเดียวตลอด เว้นแต่จะมีการทอลาย บนผ้าดิบมาก่อนหน้านั้น ให้ออกเป็น ลายขวาง (Hoops) ลายทาง (Stripes) ลายแบ่งครึ่ง (Halves) ลายทะแยง (Slash) หรือ ลายตัววี (Chevron)

ต่อมา เมื่อเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีในการพิมพ์ลายลงบนตัวเสื้อ ประมาณยุค 1980s การทำเทมเพลทจึงเปลี่ยนโฟกัสจากการตัดเย็บไปสู่การดีไซน์มากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด นั่นคือ เทมเพลทของอาดิดาสในปี 1988 กับเทมเพลท “ลูกศรทะแยง” ในตำนาน ที่เป็นการพิมพ์ลายตัววีซ้อนกันหลายๆ ชั้น และไล่ระดับสีอ่อนไปเข้มตลอดลำตัว โดยมีภาพจำคือทีมชาติเนเธอแลนด์ ได้สวมใส่เทมเพลทนี้ คว้มแชมป์ยูโร 88 ด้วยลูกยิงผีจับยัดของ มาร์โค ฟาน บาสเทน

หรือในช่วง 1994 ที่อาดิดาสหมายมั่นปั้นมือกับการทำเทมเพลทอย่างจริงจัง ด้วยดีไซน์แบบ “ไดมอนด์” เป็นซี่ๆ สลับฟันปลาอยู่ด้านหัวไหลจนถึงคอของตัวเสื้อ โดยมีหลากหลายสโมสรและทีมชาติ นำไปใช้ หากแต่ภาพจำนั้น ต้องเป็นทีมชาติเยอรมนี ใส่ลงแข่งฟุตบอลโลก 1994 อย่างแน่นอน

Photo : Time Of Malta

คู่แข่งตัวฉกาจอย่างไนกี้ก็ไม่น้อยหน้า ในยุค 2000s เป็นต้นมา ก็ได้ออกเทมเพลทที่สะดุดตาเป็นว่าเล่น หนึ่งในนั้นคือปี 2002 ที่ได้เน้นๆ ที่การตัดเย็บแลลวดลาย “ข้างลำตัว” เป็นส่วนแหลมเรียวลงมาถึงชายเสื้อ เพื่อการระบายอากาศ และดีไซน์ร่วมด้วย ภาพจำคือทีมชาติบราซิล ใส่ลงแข่งและคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2002 ได้สำเร็จจากฝีเท้ายอดมนุษย์ของ โรนัลโด้

หรือการต่อยอดมาในปี 2004 ที่ออกแบบในเทมเพลท ตัดเย็บผ้าชิ้นใหญ่เป็นรูปทรง “โล่” ไว้บนตัวเสื้อ โดยมีภาพจำคือทีมชาติโปรตุเกส ที่ใส่ลงแข่งขันยูโร 2004 ที่ได้ตำแหน่งรองแชมป์ในบ้านตนเองอย่างน่าเศร้า

ที่กล่าวมาข้างต้น มีไม่ต่ำกว่าหลักร้อย ที่นำเทมเพลทเหล่านั้นไปใช้ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือการนำของโหลไปใช้ เพียงแต่ปรับนิดปรับหน่อยให้เข้ากับลูกค้า ไม่ต่างกันกับที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในปัจจุบัน

แต่ทำไมบรรดาเทมเพลทเหล่านี้จึงกลับกลายเป็นว่า “คลาสสิค” ไปเสียอย่างนั้น?

สำคัญที่ดีไซน์เหนือสิ่งอื่นใด

เมื่อเทมเพลทเสื้อแข่ง ที่ผลิตออกมาเหมือนๆ กัน กลับกลายมาเป็นความคลาสสิคได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า สิ่งนี้เป็นของโหลๆ ของดาดๆ หรือไม่? กลับกัน ความสำคัญจะเทไปทาง “ดีไซน์” เสียมากกว่า

โดยดีไซน์นั้นเป็นคนละเรื่องกับเทมเพลท เพราะเทมเพลทนั้นเป็นเรื่องของการตัดเย็บ ตามชิ้นส่วนที่ได้ตัดออกมา เพื่อประกอบให้เป็นชุดแข่ง ส่วนดีไซน์นั้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง คือการสร้างมูลค่า พลิกแพลง เพิ่มเติมให้ตัวเทมเพลทดั้งเดิม มีความโดดเด่นสะดุดตามากยิ่งขึ้น ซึ่งหนักไปในเรื่องของ “กราฟิก” เป็นสำคัญ

นั่นเพราะ ต่อให้เทมเพลทนั้น จะมีจำนวนหลักล้านชิ้นบนโลก หากแต่ เมื่อมีการดีไซน์ออกมาแจ่มแมวแวววับ ก็เป็นการคุ้มค่าที่จะเสียเงินมาครอบครอง ต่อให้จะเสียเปรียบเชิงตลาดในการปล่อยต่อก็ตาม

หรือแม้แต่ชุดแข่งขันในสมัยปัจจุบัน ต่อให้รู้ทั้งรู้ มองปราดเดียวก็ดูออก ว่านี่มันคือเทมเพลทชัดๆ หากแต่ดีไซน์โดนใจ โดนจริตของผู้บริโภคจริงๆ มีหรือจะไม่ควักเงินซื้อหามาครอบครอง ดังที่เกิดขึ้นกับชุดแข่งทีมชาติ “ไนจีเรีย” ในระยะ 4-5 ปีหลังมานี้

Photo : Complete Sport Nigeria

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “กาลเวลาที่ไหลผ่าน” สร้างมูลค่าให้แก่ของโหลได้มานักต่อนัก เพราะในการผลิตของโหล จะมีระยะเวลาที่จำกัดอยู่ ไม่ได้ผลิตออกมาแบบไม่หยุดพัก นั่นหมายถึงจะมีจำนวนที่ตายตัว  และด้วยความที่เป็นของโหล จึงไม่ได้สลักสำคัญในการรักษาแต่อย่างใด จำนวนที่ยังคงสภาพเดิมไว้ก็ลดลงตามไปด้วย

สิ่งนี้ ทำให้จากเดิมที่เป็นของโหล ก็กลับกลายเป็น “ของแรร์” ได้อย่างเหลือเชื่อ

มาถึงตรงนี้ จึงอาจจะสรุปได้ว่า การใช้เทมเพลท เป็นไปเพื่อเน้นไว เน้นปริมาณจริงๆ หากแต่การออกแบบนั้น ไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจ แต่เป็นเพราะเรื่องของความจำเป็น ในแง่ของการผลิต เพื่อสอดรับกับความไว และการขายในวงกว้าง เป็นที่ตั้ง

การออกแบบให้ยูนีคกับสโมสรหรือทีมชาติเดียว นั้นขายได้ยากกว่าอีกทั้งยังเสียเวลากว่า การทำเป็นเทมเพลทแล้วไปเสริมเติมแต่งดีไซน์เล็กๆ น้อยๆ จากคู่ค้าในภายหลัง

เพราะจำเป็นต้องทุ่มพลังสมองไปที่จุดๆ เดียว เพื่อเป้าหมายที่จะขายไปที่ตลาดๆ เดียว แบบนี้ สำหรับตลาดชุดฟุตบอลที่เป็น “เรด โอเชียน” หรือตลาดที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ถือว่าไม่ทันการเป็นแน่

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์ได้เช่นนี้ ปัญหาของแฟนบอลจึงไม่ได้อยู่ที่เทมเพลท หากแต่เป็นเรื่องของดีไซน์ต่างหาก

เพราะการลดระดับความครีเอทีฟในส่วนของดีไซน์ลงไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการกลับไปหาความเพลนๆ ของเสื้อฟุตบอลแบบเมื่อเกือบ 100 กว่าปีก่อน นี่อาจไม่ใช่เรื่องของการ “เรโทร” แต่อาจจะ เรียกว่า “ถอยหลังลงคลอง” จริงๆ ก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

บทความ From Sportswear to Leisurewear: The Evolution of English Football League Shirt Design in the Replica Kit Era
บทความ Azul Y Oro: The Many Social Lives of a Football Jersey’
http://www.historicalkits.co.uk/Articles/History.htm
https://thebold.one/2019/03/21/thanes-wongyannava-living-in-the-paradox-of-being-alone/
https://www.youtube.com/watch?v=tqeyD1qzmjk
https://thefootballattic.blogspot.com/2015/06/top-templates-adidas-diamonds-1-199495.html
https://www.footyheadlines.com/2017/11/most-iconic-jersey-design-ever-closer-look-adidas-1994-template.html

แชร์บทความนี้
หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ