ก่อนถึงศุภณัฎฐ์ ? : รวม 11 นักเตะไทยที่เคยย้ายไปเล่นในลีกยุโรป
ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา กองหน้าบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กำลังมีลุ้นที่จะได้เป็นแข้งชาวไทยที่ได้ค้าแข้งในยุโรป หลังตกเป็นข่าวเชื่อมโยง กับ เลสเตอร์ ซิตี้ ทีมดังในพรีเมียร์ลีก
อย่างไรก็ดี หากดีลเกิดขึ้นจริง ศุภณัฏฐ์ ไม่ใช่นักเตะสายเลือดไทยคนแรก ที่ย้ายจากลีกไทยไปเล่นในทวีปแห่งฟุตบอล เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีรุ่นพี่ของพวกเขา ที่ได้ไปล่าฝันในดินแดนแห่งนั้นมาก่อน
และนี่คือเหล่าผู้บุกเบิก ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หมายเหตุ : นับเฉพาะแข้งสายเลือดไทย ที่ย้ายจากลีกไทยหรือเอเชียไปยุโรป
วิทยา เลาหกุล (1979)
ยันมาร์ ดีเซล (ญี่ปุ่น) > แฮร์ธา เบอร์ลิน (เยอรมัน)
นักเตะไทยคนแรกที่ได้เซ็นสัญญาอาชีพในทีมยุโรป หลังย้ายจากยันมาร์ ดีเซล หรือ เซเรโซ โอซากา ในปัจจุบัน ไปเล่นให้กับ แฮร์ธา เบอร์ลิน ที่ตอนนั้นเล่นอยู่ในลีกสูงสุดของเยอรมัน
แม้ว่าในช่วงแรก “โค้ชเฮง” อาจจะไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามมากนัก แต่หลังจากทีมร่วงตกชั้นไปเล่นในบุนเดสลีกา 2 เขาก็ถูกใช้งานบ่อยขึ้น และลงเล่นไปทั้งสิ้น 37 เกม ก่อนจะย้ายไปอยู่กับ ชาบรูคเคน และยึดตำแหน่งตัวจริงได้สำเร็จ
วรวรรณ ชิตะวณิช (1986)
เทจิน มัตสึยามะ (ญี่ปุ่น) > เฟเดอริคสเฮาน์ (เดนมาร์ก)
อดีตกุนซือ บีอีซีเทโร ถือเป็นอีกหนึ่งแข้งสายเลือดไทยยุคแรก ที่ไปไล่ล่าความฝันในยุโรป ตามหลัง “โค้ชเฮง” รุ่นพี่ของเขา หลังย้ายจาก เทจิน มัตสึยามะ (เอฮิเมะ เอฟซี) ในลีกญี่ปุ่นไปยัง เฟเดอริคสเฮาน์ ในลีกเดนมาร์กในปี 1986
เส้นทางของเขาอาจจะเรียกว่าบังเอิญก็ว่าได้ เมื่อมันเกิดขึ้นหลัง กลับมาเล่นให้กับทีมชาติไทยในศึกคิงส์คัพ ก่อนที่ฝีเท้าของเขาจะไปเตะตาแมวมองของทีมในเดนมาร์ก และถูกชวนไปทดสอบฝีเท้าจนได้เซ็นสัญญาในที่สุด
โค้ชป้ำ เล่นให้กับ เฟเดอริคสเฮาน์ เพียงซีซั่นเดียว ก่อนจะย้ายไปเล่นให้กับ วีบอร์ก ทีมระดับดิวิชั่น 2 และได้เป็นกำลังสำคัญพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้สำเร็จ จนได้อยู่ที่นั่นจนกระทั่งปี 1990
เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (1999)
เปอร์ลิส (มาเลเซีย) > ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ (อังกฤษ)
กองหน้าจอมตีลังกา และดาวยิงตัวเก่งทีมชาติไทย ได้จารึกชื่อว่าเป็นแข้งสายเลือดไทยคนแรกในลีกอาชีพอังกฤษ กับการได้เซ็นสัญญากับ ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ ที่อยู่ในลีกระดับสองของแดนผู้ดีในตอนนั้น
อย่างไรก็ดี ชีวิตที่แดนผู้ดีของ “ซิโก้” อาจจะเรียกได้ว่าฝันร้าย เมื่อเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับทีมสำรองของทีม และไม่ได้ลงเล่นให้กับทีมชุดใหญ่แม้แต่นาทีเดียว ก่อนจะอำลาทีมในเดือนตุลาคม 2000 หรือราวครึ่งหนึ่งของสัญญา 1 ปีครึ่งเท่านั้น
ดัสกร ทองเหลา (2001)
บีอีซี เทโร ศาสน > ไกเซอร์สเลาเทน II (เยอรมัน)
เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติไทย ที่สร้างชื่อให้กับ บีอีซี เทโรศาสน ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี จนทำให้เขาได้รับโอกาสครั้งสำคัญในการไปค้าแข้งในเยอรมันกับ ไกเซอร์สเลาเทน II หรือทีมสำรองของไกเซอร์ฯ ด้วยสัญญายืมตัว
ดัสกร ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น และลงสนามให้ทีมไปถึง 7 นัด ในดิวิชั่น 4 ของเยอรมัน จนทำให้สโมสร อยากจะได้ตัวเขามาร่วมทีมเป็นการถาวร ทว่าน่าเสียดาย เมื่อเขาตัดสินใจปฏิเสธ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องโฮมซิค
อาจพล ระดมเล็ก (2003)
ธำรงไทยสโมสร > สแปนกา ไอเอส (สวีเดน)
อดีตแข้งธำรงไทยสโมสร ทีมจากแดนสยาม ที่ไปสร้างชื่อในต่างประเทศหลายครั้ง และอาจพล ระดมเล็กก็คือหนึ่งในผลผลิตของพวกเขา
หลังจากจบมหาวิทยาลัย อาจพล ก็กลับมาค้าแข้งกับ ธำรงไทยสโมสร ที่เคยปลุกปั้นเขามาอีกครั้ง ก่อนจะได้ย้ายไปเล่นใน สแปนกา ไอเอส หลังสโมสรสนใจเขามาตั้งแต่ไปเล่นในศึกโกเธียคัพ สมัยเยาวชน และอยู่โยงจนได้สัญชาติสวีเดนไปเป็นที่เรียบร้อย
ธีรเทพ วิโนทัย (2008)
บีอีซี เทโร ศาสน > ลีเซร์ (เบลเยียม)
อดีตเยาวชนคริสตัล พาเลซ ที่กลับมาค้าแข้งกับทีมในบ้านเกิดกับ บีอีซี เทโร ศาสน และได้หวนสู่แผ่นดินยุโรปอีกครั้ง หลังได้เซ็นสัญญากับ เค ลีแซร์ ทีมในดิวิชั่น 2 ของลีกเบลเยียม ในฤดูกาล 2008-2009
อย่างไรก็ดี ลีซอ ได้รับโอกาสเพียงน้อยนิด และได้ลงเล่นไปเพียงแค่ 6 เกมเท่านั้น และยิงไปแค่ประตูเดียว ก่อนจะกลับมาค้าแข้งในบ้านเกิดกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในอีกหนึ่งปีหลังจากนั้น
ธีรศิลป์ แดงดา (2008, 2014)
เมืองทอง ยูไนเต็ด > แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ) > กลาสฮอปเปอร์ ซูริค II (สวิส)
เมืองทอง ยูไนเต็ด > อัลเมเรีย (สเปน)
อดีตดาวยิงช้างศึก น่าจะเป็นนักเตะสายเลือดไทยไม่กี่คน ที่ได้ไปเล่นในยุโรปถึง 2 ครั้ง หลังได้เซ็นสัญญากับทีมในพรีเมียร์ลีก และลาลีกา
ย้อนกลับไปในปี 2008 เขา รวมถึง สุรี สุขะ และ เกียรติประวุฒิ สายแวว ได้เซ็นสัญญากับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นเจ้าของ
ทว่า มันก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่ค่อยน่าจดจำมากนัก เมื่อนอกจากเขา จะไม่ได้ใบอนุญาตทำงาน จนต้องถูกส่งไปให้ กลาสฮอปเปอร์ ซูริค ในสวิตเซอร์แลนด์ยืมตัวไปใช้งาน ที่สวิส เขาก็ได้ลงเล่นแค่ในทีมสำรองเท่านั้น ก่อนที่ท้ายที่สุด เขาจะย้ายกลับมาในบ้านเกิด หลังอดีตนายกทักษิณ ขายทีมให้กลุ่มทุนจากอาบูดาบี
6 ปีให้หลัง ธีรศิลป์ ที่เติบโตขึ้น ก็ขอท้าทายตัวเองอีกครั้ง ด้วยการย้ายไปเล่นกับ อัลเมเรีย ในลีกสเปน และกลายเป็นแข้งอาเซียนคนแรกในประวัติศาสต์ในลาลีกา ซึ่งตอนแรก ธีรศิลป์ หลังได้ลงเล่นใน 10 เกมในทุกรายการ แต่หลังจากเปลี่ยนโค้ช เขาก็ไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีม และกลับมาเมืองทอง หลังผ่านไปครึ่งฤดูกาล
สุรีย์ สุขะ (2008)
ชลบุรี เอฟซี > แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ) > กลาสฮอปเปอร์ ซูริค (สวิส)
หนึ่งในผู้เล่นที่ถูกซื้อเป็นแพคเกจมัดรวมของ แมน ซิตี้ ในปี 2008 ที่ต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากธีรศิลป์ หรืออาจจะเลวร้ายยิ่งกว่า
เพราะขณะที่ “มุ้ย” ยังได้ลงเล่นเคาะสนิมในทีมสำรองบ้าง แต่สุรีย์ ทำได้เพียงแค่มองเพื่อนจากข้างสนาม และไม่ได้ลงเล่นให้กับ กลาสฮอปเปอร์ ทั้งทีมชุดใหญ่ และทีมสำรองแม้แต่นาทีเดียว
เกียรติประวุฒิ สายแวว (2008)
ชลบุรี เอฟซี > แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ) > คลับ บรูช
เพื่อนร่วมทีมชลบุรีของ สุรีย์ ที่ถูกมองว่าจะกลายเป็นความหวังของทีมชาติไทยยุคใหม่ในตอนนั้น ทว่า การมาเล่นในยุโรปของเขา คือชะตากรรมเดียวกันที่ ธีรศิลป์ และสุรีย์ ต้องเผชิญ
เพราะแม้ว่า เกียรติประวุฒิ จะถูกส่งไปให้ คลับ บรูช ทีมในลีกเบลเยียม ไม่เหมือนกับเพื่อนของเขาที่ไปลีกสวิส แต่สถานการณ์ก็ไม่ต่าง หลังใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการซ้อม โดยไม่ได้ลงเล่นแม้แต่นัดเดียว
กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ (2018)
เมืองทอง ยูไนเต็ด > โอเอช ลูเวิร์น (เบลเยียม)
ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย สร้างความฮือฮาอย่างมากในปี 2018 หลังย้ายไปร่วมทัพ โอเอช ลูเวิร์นในลีกเบลเยียม ที่มีชาวไทยเป็นเจ้าของ ด้วยค่าตัวสูงถึง 1.25 ล้านยูโร หรือราว 48 ล้านบาท
ช่วงแรก นายด่านจากแดนสยาม ทำผลงานได้ไม่เลว เมื่อสามารถยึดตำแหน่งตัวจริงของทีมมาได้ ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับบาดเจ็บ และพักไปร่วมเดือน จนทำให้เสียตำแหน่งตัวจริง ก่อนจะหลุดไปเป็นมือสาม หลัง ลูเวิร์น คว้าตัวนายด่านคยใหม่เข้ามา และทำให้เขาโบกมือลาสโมสรในอีก 2 ปีต่อมา
เอกชัย โพนทองถิ่น (ไม่ทราบปี)
ลียง ซันจีลัว (เบลเยียม)
แข้งสายเลือดไทย ที่ได้ไปเล่นในลีกเบลเยี่ยม เพียงเพราะตามรุ่นพี่ไปในฐานะล่าม และสร้างชื่อกลายเป็นนักเตะชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของที่นั่น จากการได้เซ็นสัญญากับ ลียง ซันจีลัว ทีมในลีกระดับ 3
เอกชัยเล่าว่าเขาได้อยู่ที่นั่นราว 1 ปีครึ่ง ก่อนจะรู้สึกว่าได้ทำตามความฝันแล้ว นั่นคือการได้เป็นนักเตะอาชีพ จึงตัดสินใจกลับมาเล่นให้กับสโมสรธนาคารกรุงเทพในเวลาต่อมา
แหล่งอ้างอิง
https://www.facebook.com/thaifootballcyclopedia/posts/2523934130967608/
https://www.youtube.com/watch?v=ROBCTiBz2lE
https://www.youtube.com/watch?v=EfhyKmj_fiM
https://www.facebook.com/108football/photos/a.749901285476585/1170210903445619/?type=3&source=48
https://www.fussballdaten.de/person/withaya-laohakul/leistungsdaten/saisons/
https://www.facebook.com/thaifootballcyclopedia/posts/2530609003633454/
https://www.facebook.com/BallThaiVintage/photos/a.279376396179169/906407880142681/?type=3