จบ ป.ตรี เงินเดือน 3 ล้าน : วิชาลับในรั้วมหา'ลัยของ คาโอรุ มิโตมะ

จบ ป.ตรี เงินเดือน 3 ล้าน : วิชาลับในรั้วมหา'ลัยของ คาโอรุ มิโตมะ
มฤคย์ ตันนิยม

โชว์ฟอร์มร้อนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2022 ลากยาวมาจนถึงพรีเมียร์ลีกที่กลับมาเตะกันอีกครั้งสำหรับ คาโอรุ มิโตะมะ

จังหวะลากเลื้อยทะลุทะลวงคืออาวุธเด็ดของเขา ... และท่าไม้ตายนี้เขาได้มาจากตอนที่เขาปฎิเสธการขึ้นทีมชุดใหญ่ของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล เพื่อเข้าไปศึกษาต่อในคณะพลศึกษา

การตัดสินใจที่ใครก็ว่าดูน่าจผิดเพี้ยน นำไปสู่การเลี้ยงทะลวงแบบยากจะหยุดได้ ได้อย่างไร ?

บทความที่เกี่ยวข้อง : ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล

ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง:ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สายสัมพันธ์อันลึกซึ้งจากสองทีมที่อยู่คนละซีกโลกที่กำลังจะดวลกันในบอลโลก 2022

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น? ติดตามไปพร้อมกับ คิดไซด์โค้ง

ปฎิเสธขึ้นทีมชุดใหญ่

อันที่จริงเส้นทางชีวิตของ คาโอรุ มิโตมะ น่าจะเดินเป็นเส้นตรง เมื่อเขาคือหนึ่งในนักเตะที่มีผลงานโดดเด่นมาตั้งแต่อยู่ทีมชุดเล็กของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ทีมดังแห่งจังหวัดคานางาวะ หลังเข้ามาอยู่ในอคาเดมีสโมสรตั้งแต่ 10 ขวบ

ยิ่งไปกว่านั้น ในระดับที่สูงกว่านั้น มิโตมะ ยังก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมเยาวชนฟรอนตาเล และได้รับการคาดหมายว่าต้องเป็นหนึ่งในนักเตะที่ถูกเลื่อนขั้นขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่อย่างแน่นอน

“นับตั้งแต่เขาอยู่ในทีมชุดจูเนียร์ เขาก็โดดเด่นมาตลอด เขาอยู่ในระดับสูงกว่ารุ่นเดียวกัน” ทัตสึรุ มูโคจิมะ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของฟรอนตาเลกล่าวกับ Number

Photo : The Japan Times

“อาจจะมีบางช่วงที่เขาต้องดิ้นรนในสมัยจูเนียร์ยูธ (U15) แต่หลังจากขึ้นมาอยู่ในชุดเยาวชน (U 18) เขาก็ขึ้นมาอยู่แถวหน้าอีกครั้ง”

อย่างไรก็ดี มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเจ้าตัวตัดสินใจปฏิเสธที่จะเซ็นสัญญาอาชีพหลังจบมัธยมปลาย

“ผมอยากไปเรียนมหาวิทยาลัยสึคุบะ เพื่อฝึกฝนตัวเองอีกครั้งใน 4 ปีกับมหาวิทยาลัยฟุตบอล” มิโตมะให้เหตุผล

แน่นอนว่ามันทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน เขาและครอบครัวเพิ่งจะยืนยันกับ อาคิระ คอนโนะ เฮดโค้ชชุด U-18, ฮารูโอะ โชจิ ผู้จัดการทั่วไป รวมถึง มูโคจิมะ ว่าจะอยู่กับทีมต่อ แต่พอฟังเหตุผลพวกเขาก็เข้าใจ

“ก่อนการหารือกัน เขาเคยไปฝึกซ้อมกับมหาวิทยาลัยสึคุบะมาแล้วครั้งหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ยังติดต่อกับโค้ชมาซาอากิ โคอิโดะ (โค้ชสึคุบะ) โค้ชโคอิโดชมเขามากเลย” มูโคจิมะ ย้อนความหลัง

Photo : Hindustan Times

“ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าตัวก็รู้ตัว เขาบอกกับเราว่า ‘ตอนนี้ผมยังไม่พร้อมที่จะเป็นมืออาชีพ’ และอยากคิดเกี่ยวกับอนาคตและเรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นมืออาชีพ ด้วยเหตุนี้จึงเคารพการตัดสินใจของเขา”

และมันก็คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง

สร้างความแข็งแกร่งจากมหา’ลัย

แน่นอนว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ มิโตมะ ตัดสินใจไม่เป็นนักเตะอาชีพ คือความไม่มั่นใจ แม้ว่าเขาจะมีฝีเท้าที่โดดเด่น แต่เขาไม่เชื่อว่าตัวเองจะเล่นในเจลีกได้ในตอนนั้น

“บอกตามตรงตอนนั้นผมไม่มีความมั่นใจที่จะเป็นมืออาชีพ เมื่อมองไปที่ (โคจิ) มิโยชิ และ (โค) อิทาคุระ ที่แก่กว่าผมหนึ่งปี จากมุมมองทั่วไป ผมขาดความมั่นใจที่จะเล่นในทีมชุดใหญ่ ในตอนนั้น เมื่อคิดถึงอนาคต ผมคิดว่าผมควรไปเรียนต่อที่สึคุบะน่าจะดีกว่า” มิโตมะย้อนความหลัง

อย่างไรก็ดี มิโตมะ ยังไม่ได้ทิ้งความฝันที่จะเป็นนักเตะอาชีพ เพราะความตั้งใจของเขาคือใช้ฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย มาช่วยเสริมสร้างตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้น และมหาวิทยาลัยสึคุบะเอง ก็เป็นแหล่งผลิตนักเตะชั้นยอดสู่เจลีกและทีมชาติ

Photo : JFA

“แน่นอนว่าความฝันและเป้าหมายของผมคือการเป็นนักเตะอาชีพและติดทีมชาติชุดใหญ่ รวมถึงทำผลงานได้ดีในต่างประเทศ ทว่าแม้จะเบี่ยงเส้นทางออกมา แต่ตอนนั้นผมก็คิดว่ามันดีกว่าที่ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย แทนที่จะจบมัธยมปลายแล้วไปเป็นมืออาชีพเลย” มิโตมะกล่าวต่อ

แต่มันก็ยิ่งกว่าที่เขาคาดไว้ เมื่อ มิโตมะ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่อยู่ปี 1 ด้วยการเป็นกำลังสำคัญให้ ม.สึคุบะ ก้าวขึ้นไปคว้ารองแชมป์ลีกมหาวิทยาลัยภูมิภาคคันโต

ก่อนที่ปี 2017 ตอนเขาอยู่ปี 2 ดาวเตะจากคณะสุขภาพและวิทยาศาสตร์การกีฬา จะเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น หลังทำสองประตูช่วยให้ ม.สึคุบะ เอาชนะ เวกัลตะ เซนได ทีมจากเจ 1 ลีกไปได้ 3-2 โดยหนึ่งในนั้น คือการลากเลื้อยจากฝั่งตัวเอง เข้าไปยิงสุดสวยให้ทีมออกนำไปก่อน

นอกจากนี้ ในปีดังกล่าว มิโตมะ ยังถูกเรียกติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดลุยศึกมหาวิทยาลัยโลก และสามารถช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ได้อย่างยิ่งใหญ่ หลังเอาชนะฝรั่งเศส 1-0 ก่อนจะป้องกันแชมป์ในอีก 2 ปีต่อมา ด้วยการเอาชนะบราซิลไป 4-1 ในนัดชิงฯ

“ผมได้ดูเขาเล่นตลอด และจินตนาการว่าเขาจะเป็นอย่างไร เมื่อได้กลับมาฟรอนตาเล หลังจากไปเรียนมหาวิทยาลัยวิสัยทัศน์ของเขาก็กว้างขึ้นมาก ร่างกายและความเร็วก็เช่นกัน และด้วยความเร็วเช่นนั้นความสามารถของเขาก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” มูโคจิมะให้ความเห็น

Photo : The Japan Times

“ในบรรดานักเตะในทีม การมีอยู่ของเขาในเกมพบกับเซนไดนั้นโดดเด่นจริง ๆ เขาเติบโตขึ้นมาในฐานะมนุษย์ที่มหาวิทยาลัย และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาถูกใช้งานตลอดตั้งแต่ปีหนึ่ง”

อย่างไรก็ดี การเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้ช่วยในเรื่องทักษะการเล่นฟุตบอลเท่านั้น

เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์ลูกหนัง

แม้ว่า มิโตมะ จะยอมรับว่าบางครั้งเขาก็ครุ่นคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ ที่เลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ทว่าสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยหลายสิ่ง ก็ช่วยยืนยันว่าเขาตัดสินใจไม่ผิด

เพราะจากสาขาพละศึกษา ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งสำคัญในการเป็นนักกีฬา ที่มีตั้งแต่การเสริมสร้างร่างกายอย่างถูกต้องไปจนถึงการโภชนาการ ที่ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง จนสามารถสู้กับกองหลังร่างใหญ่ในพรีเมียร์ลีกได้อย่างไม่เป็นรอง

“ผมคิดว่ามันดีมาก เพียงแต่ในส่วนลึกของจิตใจผมรู้สึกว่า ‘ผมอาจจะช้าเกินไป’” มิโตมะกล่าวถึงความรู้สึกในตอนนั้น

Photo : The Athletic

“ก่อนหน้านั้น ผมเคยไปซ้อมกับฟรอนตาเล ผมได้ซ้อมกับ เคงโงะ นาคามูระ, ยู โคบายาชิ, โชโงะ ทานิงูจิ และชินทาโร คูรูยามะ ผมคิดว่า ‘ถ้าผมทำงานหนักแบบนี้ทุกวันในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ผมคงจะพัฒนาได้ ผมรู้สึกอิจฉาเล็กน้อย”

“แต่แน่นอนว่ามันมีบางสิ่งที่สามารถทำได้ในมหาวิทยาลัย ผมเรียนอยู่ในสาขาพละศึกษา และการเรียนรู้ด้านสรีระวิทยา การออกกำลังกาย โภชนาการ และด้านอื่นๆของการแข่งขันก็มีความสำคัญมาก ผมใส่ใจกับมันมาก นอกจากนี้ผมยังสนใจ ‘การฟื้นฟูร่างกาย’ โดยเฉพาะ”

“เมื่อก่อนผมแค่ตระหนักแค่การเล่นและการซ้อม แต่ตอนนี้ผมสามารถดูแลร่างกายได้อย่างมีเหตุผล”

นอกจากนี้ การเรียนมหาวิทยาลัย ยังทำให้มุมมองที่มีต่อฟุตบอลของเขาเปลี่ยนไป มันทำให้เขาอยู่กับความจริงมากขึ้นและ เหนือสิ่งอื่นใดผลงานธีสิสชิ้นโบว์เเดงของเขา ก็กลายเป็นการศึกษาที่ทำให้เขาเป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรก ๆ ที่ลงเล่นให้กับต้นสังกัดในฐานะ "นักเตะตัวหลัก"

มีการเปิดเผยว่าในช่วงที่เขาเรียนมหาวิทยาลัยนั้น มิโตะมะ ได้เลือกทำธีซิส (Thesis - วิทยานิพนธ์ก่อนจบการศึกษา) ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก และวิทยานิพนธ์นี้คือหนึ่งในเบื้องหลังวิธีการเล่นของเขา

มิโตะมะ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง eurosport ว่า งานวิทยานิพนธ์ของเขาคือ "การหาจุดอ่อนของกองหลัง" โดยตัวของ มิโตะมะ จะติดกล้อง GoPro ไว้บนหัว แบบรอบทิศทาง และจากนั้นเขาจะเริ่มเลี้ยงบอลใส่คู่ต่อสู้ สุดท้ายเขาจะมาเปิดกล้องแต่ละตัวว่ามุมไหนบ้างที่ทำให้เขาเร็วกว่าคู่แข่ง และเหลี่ยมใดบ้างที่เขาจะเล่นงานจุดศูนย์ถ่วงของตัวประกบเขาได้

ซึ่งถ้าคุณได้เห็นวิธีการเลี้ยงบอลของเขา อาทิ เกมล่าสุดที่เขายิงใส่ เอฟเวอร์ตัน (ชนะ 4-1)  คุณจะเห็นได้ว่าเวลาบอลอยู่ที่เท้า มิโตะมะ มักจะมองไปข้างหน้า มากกว่าก้มมองไปที่พื้น เพราะเขาจะคอยดูคู่แข่งว่ามีจุดศูนย์ถ่วงอยู่ตรงไหน

"ผมพยายามทำตัวเองให้มีสติอยู่ตลอด และพยายามหลอกล่อเพื่อขยับจุดศูนย์ถ่วงของฝั่งตรงข้ามให้ได้ และถ้าผมทำให้พวกเขาหลงเหลี่ยมได้ นั่นเเปลว่าผมชนะพวกเขาเเล้ว" มิโตะมะ อธิบายเพิ่มเติม

ไม่ใช่แค่มุมมองด้านฟุตบอลเท่านั้น มิโตะมะ ยังเข้าใจถึงทัศนคติที่ถูกต้องของชีวิตและมองไปไกลจนถึงตอนเลิกเล่นด้วยซ้ำ

“อันที่จริง การได้รับคำชวนไปเรียนมหาวิทยาลัยสึคุบะเป็นข้อเสนอที่ใหญ่มาก ผมคิดว่าผมสามารถเรียนอีก 4 ปี และสามารถมองตัวเองกับฟุตบอลด้วยมุมมองทั่วไปได้มากขึ้น”

“เมื่อกลายเป็นนักเตะอาชีพ คุณจะถูกคาดหวังจากแพชชั่นในแต่ละเกมที่อยู่ตรงหน้า แต่ผมอยากมองตัวเองกับฟุตบอลด้วยเป้าหมายระยะยาว ผมคิดว่ามุมมองระยะยาวเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผม และสร้างผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตผม”

Photo : Kyodo News

และสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ มิโตมะ เฉิดฉาย เพราะทันทีที่ได้ประเดิมสนามกับฟรอนตาเลในซีซั่นแรก หลังเรียนจบเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่นด้วยการทำไปถึง 13 ประตูกับอีก 12 แอสซิสต์ พร้อมช่วยให้ทีมคว้าแชมป์เจลีกมาครองได้สำเร็จ

ทั้งนี้ สถิตินี้ยังทำให้เขากลายเป็นนักเตะคนแรกในรอบหลายปี ที่ยิงได้สองหลักตั้งแต่ฤดูกาลแรก หลังโยชิโนริ มุโต เคยทำไว้เมื่อปี 2014 สมัยเล่นให้กับ เอฟซี โตเกียว จนทำให้ ไบรท์ตัน โฮฟ อัลเบียน ควักเงิน 3 ล้านยูโร คว้าตัวไปร่วมทัพ

“มิโตมะ เป็นนักเตะที่ดีมาก ในเกมกับลิเวอร์พูล เขาและอดัม ลัลลานา ลงมาเปลี่ยนเกม นี้ (เกมกับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์) ก็เช่นกัน อันที่จริงผมอยากหาวิธีส่งนักเตะที่มีศักยภาพลงไปในสนามพร้อมกัน แต่ผมส่งลงไปได้แค่ 11 คน” โรแบร์โต้ เด แซร์บี้ กุนซือของไบรท์ตัน กล่าวถึงลูกทีมชาวญี่ปุ่น

นี่คือภาพสะท้อนชั้นดี ของนักฟุตบอลยุคใหม่ ที่วางแผนและมองการณ์ไกล ในเส้นทางชีวิตของตัวเอง และทำให้ มิโตมะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง จนสามารถสู้กับนักเตะตะวันตกได้อย่างทัดเทียม

ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนกับชีวิตให้มากมายนัก อาชีพนักฟุตบอลแม้จะสั้น แต่ถ้าเลือกเส้นทางที่มั่นคง ก็ออกผลมาเป็นฝีเท้าที่ยอดเยี่ยม และรายรับราวสัปดาห์ละ 20,000 ปอนด์ ตีเป็นเงินเดือนแบบไทย ๆ ก็อยู่ที่ 3.2 ล้านบาท เลยทีเดียว ... ไม่ว่าจะแง่มุมไหน นี่ก็เป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมของเขาอย่างแท้จริง

“การตัดสินใจ (เรียนมหาวิทยาลัย)นั้น อาจจะดูเหมือน ‘การหลบหนี’ แน่นอนว่าเพราะผมคิดถึงอนาคต ผมจึงต้องใช้ความกล้าอย่างมากที่จะตัดสินใจเรียนต่อ แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจอย่างนั้น” มิโตมะกล่าว

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ