“กัปตันสึบาสะ” สร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างไร?
เมื่อมังงะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างชาติญี่ปุ่น แล้วมังงะฟุตบอลที่มีท่าไม้ตายเวอร์วังอลังการเรื่องนี้ ช่วงเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างไร
ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ปักธง “ฟุตบอล” ในแผนที่ญี่ปุ่น
แม้ว่า “กัปตันสึบาสะ” จะเป็นหนึ่งในมังงะฟุตบอลยอดฮิต แต่จุดเริ่มต้นของมันกลับมาจากชายที่เล่นฟุตบอลไม่เป็น โดยมีเพียงแค่ความหลงใหลเป็นแรงขับเคลื่อนเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ยังเด็ก เขาก็ไม่ต่างจากเด็กญี่ปุ่นทั่วไปในยุค 1970s ที่ชื่นชอบในกีฬาเบสบอล ทว่าฟุตบอลโลก 1978 ที่อาร์เจนตินา ก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ความสนุกของทัวร์นาเมนต์นั้น ตก ทาคาฮาชิ เข้าอย่างจัง และทำให้เขาตัดสินใจว่ามังงะเรื่องแรกที่เขาจะวาดต้องเป็นกีฬาชนิดนี้ และหลังจากใช้เวลาพัฒนาบทอยู่ 3 ปี มังงะที่ชื่อว่า “กัปตันสึบาสะ” ก็เผยแพร่ออกสู่สายตาชาวญี่ปุ่นในปี 1981
“ตอนอยู่ ม.ปลายปี 3 (ม.6) ผมได้ดูฟุตบอลโลก (1978) ที่อาร์เจนตินาทางทีวี และพบว่ามันเป็นกีฬาที่สนุกมาก ความอยากรู้อยากเห็นของผมทำให้ผมศึกษาเรื่องฟุตบอล มันทำให้ผมรู้ว่าในยุโรป ฟุตบอลได้รับความนิยมกว่าเบสบอล และจำนวนของนักฟุตบอลก็มากกว่ามาก ฟุตบอลคือกีฬาอันดับหนึ่งของโลก นั่นคือสิ่งที่ผมรับรู้” ทาคาฮาชิให้สัมภาษณ์กับ Nippon.com
“แน่นอนว่าเบสบอลเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมคิดตอนเริ่มวาดมังงะ แต่ตอนนั้นมันมีมังงะเกี่ยวกับเบสบอลเยอะมาก ผมจึงคิดว่าผมน่าจะลุยไปกับฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่แทบจะไม่มีคนศึกษามัน (แทบจะไม่มีใครรู้จัก)”
“ตอนที่การ์ตูนเรื่องนี้เริ่มตีพิมพ์ แม้แต่คำว่า “ฟุตบอลโลก” ก็ยังไม่คุ้นหู ผมจึงต้องใช้ทางลัดเพื่ออธิบายมันในกัปตันสึบาสะว่ามันมีการแข่งขันที่ชื่อว่า ฟุตบอลโลก เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และจัดขึ้นทุกสี่ปี ซึ่งมันเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย”
อันที่จริงการเขียนมังงะฟุตบอลในช่วงเวลานั้นถือเป็นความเสี่ยง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นไม่ได้สนใจกีฬาชนิดนี้เท่ากับเบสบอล แถมพวกเขาก็ยังไม่มีลีกอาชีพด้วยซ้ำ
“ตอนที่ผมเริ่มวาดมังงะเกี่ยวกับฟุตบอล ผมหวังว่าวัฒนธรรมฟุตบอลจะเป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่น และผมหวังว่ากีฬาที่สนุกและมหัศจรรย์นี้จะแพร่หลายไปทั่วประเทศ ผมเริ่มวาดด้วยความคิดนี้ในใจ” ทาคาฮาชิกล่าวกับรายการ We Are 11 ของ EA Sports
“ตอนนั้นมันยังไม่ค่อยมีมังงะประเภทนี้ในญี่ปุ่น ผมต้องทดลองและพบกับความผิดพลาดหลายครั้งกว่าจะบรรยายให้เห็นภาพของฟุตบอลในการ์ตูนได้”
แต่สุดท้ายมันกลับได้รับความนิยมอย่างคาดไม่ถึง ด้วยพล็อตแบบ “สู้เพื่อฝัน” บวกกับท่าไม้ตายแบบเวอร์วังอลังการ ไม่ว่าจะเป็น ไดร์ฟชูตครึ่งสนามของสึบาสะ ตัวเอก, ไทเกอร์ช็อตที่ยิงจนทะลุตาข่ายของ ฮิวงะ โคจิโร หรือ สกายแลบเฮอร์ริเคนที่ต่อตัวขึ้นไปของสองพี่น้องทาจิบานา ไปจนถึงท่าสุดแปลกอย่าง ปืนใหญ่แรงสะท้อน ของ เซียว จุ้นกวง ที่ทำให้แม้แต่คนที่เล่นฟุตบอลไม่เป็นก็สนุกไปกับมังงะเรื่องนี้
“ผมคิดว่าความจริงที่ผมไม่เคยเล่นฟุตบอล ทำให้ผมมีไอเดียเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นประหลาดๆ ถ้าคุณเคยเล่นฟุตบอลมาก่อน คุณจะรู้ข้อจำกัดของมัน ผมสามารถมีไอเดียแบบนักเขียนการ์ตูนดิบๆ เพราะว่าผมไม่รู้พรมแดนของมัน” ทาคาฮาชิ อธิบายเหตุผล
กัปตันสึบาสะ ใช้เวลาไม่นานก็ทำให้ “ฟุตบอล” กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วญี่ปุ่น ที่การันตีได้จากยอดขายของ โชเนน จัมป์ นิตยสารที่ลงเรื่องนี้ สามารถจำหน่ายได้ถึง 2.5 ล้านเล่มต่อสัปดาห์ในปี 1982 ยิ่งไปกว่านั้น ภาคเยาวชนโลก ซึ่งเป็นภาคต่อมา ยังทำให้ โชเนน จัมป์ สามารถทำยอดขายได้ถึง 6.5 ล้านเล่ม ต่อสัปดาห์
ความนิยมของมัน ทำให้มังงะเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นทั้งอนิเมะ วิดีโอเกม แถมยังถูกจัดให้เป็นอนิเมะ ท็อป 100 ของ Animage และ TV Asahi รวมทั้งเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์โปรโมตโตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ความยอดเยี่ยมของมันไม่ได้อยู่แค่ในโลกจินตนาการเท่านั้น
ขับเคลื่อนวงการฟุตบอลซามูไร
กัปตันสึบาสะ ไม่ได้เป็นเพียงมังงะที่เข้าไปอยู่ในใจของผู้อ่าน แต่มันยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างมหาศาล
เพราะย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980s ซึ่งเป็นตอนที่กัปตันสึบาสะเพิ่งตีพิมพ์ ฟุตบอลเป็นเพียงแค่กีฬาไว้ให้พนักงานบริษัท หรือองค์กร เล่นฆ่าเวลาหลังเลิกงาน แถมลีกฟุตบอลยังเพียงลีกกึ่งอาชีพเท่านั้น
นอกจากนี้ ในระดับทีมชาติ แม้ว่าขุนพล “ซามูไรบลู” จะเคยไปไกลถึงเหรียญทองแดงโอลิมปิก 1968 แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็ไม่เคยเข้าไปเล่นในทัวร์นาเมนต์นี้อีกเลย ส่วน ฟุตบอลโลก แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่เคยแม้แต่ “เฉียด” ที่จะเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย
แต่หลังจากกัปตันสึบาสะ กลายเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมไปทั่วญี่ปุ่น มันก็ทำให้ “ฟุตบอล” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับนักฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ทั้ง ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ, ชุนซุเกะ นาคามูระ หรือ โยชิคัตสึ คาวางุจิ
“ในญี่ปุ่นเมื่อปี 20 หรือ 30 ปีที่แล้วเบสบอลยิ่งใหญ่มาก ส่วนฟุตบอลเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นผมจึงไม่มีฮีโร หรือทีมในฝันอะไร” นาคาตะกล่าวกับ FIFA.com
“แต่มันมีการ์ตูนเรื่องนึงที่ชื่อว่ากัปตันสึบาสะ ตอนที่ผมอ่านมัน ผมรู้สึกชอบฟุตบอลมากๆ ผมเคยคิดว่าจะเล่นเบสบอลหรือฟุตบอลดี และสุดท้ายผมก็เลือกฟุตบอล”
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นก่อตั้งเจลีกในปี 1993 การปูทางให้คนญี่ปุ่นรู้จักฟุตบอล ของกัปตันสึบาสะ ยังเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ลีกอาชีพญี่ปุ่น ได้รับความนิยมอย่างมหาศาล
ก่อนที่มันจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในการพาญี่ปุ่นไปเล่นในฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998 รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ “นาเดชิโกะ” นักเตะสาวทีมชาติญี่ปุ่น ในการก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลกสุดยิ่งใหญ่ในปี 2011
ความสำเร็จของ กัปตันสึบาสะ ในด้านนี้ ยังทำให้มังงะฟุตบอลของ ทาคาฮาชิ ได้รับการยกย่องจากสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น และถูกบรรจุอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลของ JFA
ขณะที่เมืองคัตสึชิกะ บ้านเกิดของ อาจารย์ ทาคาฮาชิ ที่ตั้งอยู่ชานกรุงโตเกียว ยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองกัปตันสึบาสะ ที่มีรูปปั้นทองแดงรูปตัวละครกระจายอยู่ทั่วเมือง ให้นักท่องเที่ยวและแฟนการ์ตูน ได้ตามมาถ่ายรูป และเที่ยวชม
“เรามีมังงะ และเราก็มีอนิเมะ ทุกคนอ่านการ์ตูนแล้วก็ดูอนิเมะ ก่อนหน้านั้น ประวัติศาสตร์ฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่นเพิ่งจะมีมาแค่ 25 ปี เรายังเด็กมาก แต่กัปตันสึบาสะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะมีลีกฟุตบอลอาชีพเสียอีก” จิฮิโระ โนดะ อดีตนักเตะชาวญี่ปุ่นที่ค้าแข้งอยู่ในแคนาดากล่าวกับ Yahoo Sports
“กัปตันสึบาสะ ช่วยทำให้ฟุตบอลเป็นที่แพร่หลายทั่วทุกที่ในญี่ปุ่น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมทุกคนชอบมังงะเรื่องนี้”
อย่างไรก็ดี อิทธิพลของมันไม่ได้อยู่ในแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อหลังจากอนิเมะและมังงะถูกแปลออกไปในหลายภาษา มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่แข้งระดับโลกหลายราย
ไม่ว่าจะเป็น ซีเนอดีน ซีดาน, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร, อเล็กซิส ซานเชส แข้งแชมป์โลกที่ย้ายมาเล่นในเจลีก ตามรอยมังงะขวัญใจในวัยเด็กของพวกเขาอย่าง ลูคัส โพดอลสกี, อันเดรส อิเนียสตา และ เฟร์นันโด ตอร์เรส
“ผมจำได้ตอนสมัยเด็กๆ ทีวีสัญญาณก็ยังไม่ค่อยดี แต่ทุกคนที่โรงเรียนเอาแต่พูดถึงการ์ตูนฟุตบอลจากญี่ปุ่น มันชื่อว่า Oliver y Benji ในสเปน” ตอร์เรสกล่าวกับสื่อตอนเดินทางไปแข่งฟุตบอลสโมสรโลกกับเชลซีที่ญี่ปุ่น
“มันเป็นเรื่องของเด็กสองคนที่เริ่มเล่นบอลตั้งแต่เด็ก ติดทีมชาติ คว้าแชมป์ (เยาวชน) โลก และย้ายไปบาร์เซโลนา กับบาเยิร์น มิวนิค มันเหมือนกับความฝันเลย”
“ผมเริ่มเล่นฟุตบอลเพราะมัน ผมอยากเป็น โอลิเวอร์ (สึบาสะ)”
นับจนถึงวันนี้ “กัปตันสึบาสะ” ก็เดินทางมาเกือบ 40 ปี โดยภาคล่าสุดของคือ Rising Sun ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องของทีมชาติญี่ปุ่นชุดลุยโอลิมปิก ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบตอนไหน แม้ว่า ทาคาฮาชิ จะบอกว่าเขาเตรียมจะรีไทร์แล้วก็ตาม
แต่ถึงอย่างนั้น การมีอยู่ของ “กัปตันสึบาสะ” ก็สร้างคุณูปการให้วงการฟุตบอลระดับโลกไม่น้อย และครั้งนี้ ตัวละครจากมังงะเรื่องนี้ ก็เตรียมมาปรากฏกายในโครงการ ‘Dream Stadium…สนามแห่งฝัน’ ซีซั่น 2 โปรเจ็คปรับปรุงลานกีฬากลางชุมชนที่ผนวกกีฬาและป๊อปคัลเจอร์เข้าด้วยกัน
ส่วนจะเป็นนักเตะคนไหน จากทีมอะไร รอติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ที่จะอัพเดทให้ทุกคนได้รู้ก่อนใครอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
http://www.thehardtackle.com/2013/japanese-football-rise-captain-tsubasa/
https://www.tofugu.com/japan/soccer-in-japan/
https://www.nippon.com/en/views/b00103/
https://ca.sports.yahoo.com/news/comic-book-inspired-generation-soccer-players-171830825.html
https://thisisfutbol.com/2011/01/blogs/asia-can-thank-captain-tsubasa/
https://www.marca.com/2013/11/01/en/football/barcelona/1383332099.html
ข่าวและบทความล่าสุด