คอสโม ออยล์ : อดีตแหล่งสิงสถิตแข้งไทยในญี่ปุ่น ที่เกือบได้เป็นทีมเจลีก
ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา กลายเป็นแข้งไทยรายล่าสุดที่ได้ย้ายไปเล่นในต่างแดน หลังเปิดตัวเป็นนักเตะคนใหม่ของ โอเอช ลูเวิน สโมสรในลีกสูงสุดเบลเยียม
อย่างไรก็ดี อดีตแข้งบุรีรัมย์ ไม่ใช่ผู้เล่นคนแรกที่ทำได้ แถมย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เคยมีผู้เล่นสายเลือดไทย พาเหรดไปค้าแข้งถึง 4 รายกับสโมสรเดียวกัน
คอสโม ออยล์ เอฟซี คือทีมนั้น และนี่คือเรื่องราวของสโมสรจากญี่ปุ่น ที่เคยเป็นแหล่งสิงสถิตแข้งไทยในอดีต
ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
บริษัทน้ำมัน เอฟซี
ช่วงทศวรรษที่ 1960s ถือเป็นยุคแห่งการเกิดใหม่ของฟุตบอลญี่ปุ่น ที่นอกจากทีมชาติของพวกเขาจะเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิก 1964 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพแล้ว Japan Soccer League (JSL) ลีกฟุตบอลของพวกเขาก็เกิดในช่วงนี้ (ปี 1965)
ขณะเดียวกัน มันยังเป็นจุดเริ่มต้นของสโมสรมากมาย จากการที่บริษัทกระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ และทำให้ชื่อสโมสรในช่วงแรกของลีกซามูไร เป็นชื่อขององค์กร เหมือนกับชื่อทีมเบสบอล และคอสโม ออยล์ เอฟซี ก็คือหนึ่งในนั้น
พวกเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1968 ในชื่อสโมสรฟุตบอลไดเคียออยล์ยกไคอิจิ หรือทีมของบริษัทน้ำมันไดเคียว โดยมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองยกไคจิ เมืองอุตสาหกรรมติดทะเลที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดมิเอะ ซึ่งห่างจากโตเกียวเกือบ 400 กิโลเมตร
ในช่วงแรก ไดเคียวออยล์ ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นอยู่ในโทไคลีก ลีกท้องถิ่นที่เอาทีมจากจังหวัดชิซึโอกะ, ไอจิ, กิฟุ และมิเอะ มาเตะด้วยกัน และสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการขึ้นไปถึงแชมป์ในปี 1975 และรองแชมป์อีกหลายครั้ง
จนกระทั่งในปี 1980 พวกเขาก็มีโอกาสได้สัมผัสกับ Japan Soccer League เป็นครั้งแรก หลังได้เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นใน JSL 2 ลีกระดับ 2 ที่ก่อตั้งในปี 1972 แต่สุดท้ายก็ดีใจได้ฤดูกาลเดียว เมื่อต้องกลับมาเล่นในโทไคในภายในปีเดียว หลังจบในอันดับสุดท้ายของตาราง
อันที่จริง บริษัทน้ำมันไดเคียว เจ้าของทีมก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้ทีมเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในลีกบนอีกครั้ง ด้วยการแต่งตั้ง มิตสึโอะ คามาตะ อดีตผู้เล่นชุดเหรียญทองโอลิมปิก 1968 เข้ามาคุมทัพในปี 1981 แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะแม้จะคว้าแชมป์ลีกภูมิภาค แต่สุดท้ายก็ไปแพ้ในรอบเพลย์ออฟทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ความพยายามของพวกเขาก็มาสัมฤทธิ์ผลในปี 1985 หรือหนึ่งปี หลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อ คอสโมไดเคียว ที่นอกจะสามารถคว้าแชมป์ลีกท้องถิ่นได้อีกครั้ง ยังทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมทั่วประเทศ จนได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ JSL 2 ได้สำเร็จ
พวกเขายังเอาตัวรอดได้ในฤดูกาลถัดมา พร้อมกับเปลี่ยนชื่อทีมเป็น คอสโม ออยล์ เต็มตัวตามชื่อบริษัทที่ใช้ชื่อนี้หลังควบรวมกิจการกับ มารุเซ็นออยล์ และเคยไปไกลถึงอันดับ 3 ใน JSL2 โซนตะวันตกในฤดูกาล ในปี 1987-1988
อย่างไรก็ดี หลังฤดูกาล 1988-1989 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ คามาตะ ได้ลาออกจากตำแหน่ง และส่งไม้ต่อให้ มาโคโตะ ซูงิโมโตะ
ก่อนที่มันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ คอสโม ออยล์ กลายเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย
แหล่งสิงสถิตแข้งไทย
แม้ว่าในช่วงเวลานั้น Japan Soccer League ยังมีสถานะเป็นแค่ลีกกึ่งอาชีพ แต่มาตรฐานโดยรวมก็ยังสูงกว่าไทย ที่ยังเป็นการแข่งขันชิงแชมป์แบบฟุตบอลถ้วย ทำให้ลีกญี่ปุ่น กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับแข้งไทย
“ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เทคนิค และการตัดสินใจของไทยน่าจะดีกว่าญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีร่างกายที่แข็งแกร่งกว่า รวมทั้งเมนูฝึกที่มากกว่า” วิทยา เลาหกุล ที่เคยเล่นให้ ยันมาร์ ดีเซล กล่าวกับ The Answer
และเฮงซัง ก็เป็นผู้ริเริ่มในการพานักเตะไทยไปเล่นที่ญี่ปุ่น หลังได้งานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมของไฟฟ้า มัตสึชิตะ (กัมบะ โอซากา) ที่ทำให้ นที ทองสุขแก้ว และ รณชัย สยมชัย สองดาวเตะทีมชาติไทยได้ไปเล่นที่นั่นในช่วงปี 1989-1990
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่ มัตสึชิตะ เท่านั้น เมื่อ คอสโม ออยล์เอง ก็สนใจนักเตะจากแดนสยาม ที่เชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากโค้ชเฮง จนมาถูกใจกับ พิชิตพล อุทัยกุล ของการท่าเรือไทย เอฟซี และได้บินลัดฟ้ามาค้าแข้งที่ญี่ปุ่น
แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อในฤดูกาลต่อมา พวกเขาเซ็นสัญญานักเตะไทยถึงสองคน นั่นคือ สมชาย ทรัพย์เพิ่ม และ พงศ์ธร เทียบทอง โดยรายหลัง ผู้บริหารของคอสโม ออยล์ ถึงขั้นบินมาเซ็นสัญญาถึงประเทศไทย
“ก่อนที่จะได้ไปเล่นต่างประเทศ ตอนนั้นเล่นอยู่ตำรวจ ได้เล่นรายการโตโยต้าคัพ ผู้จัดการทีมของญี่ปุ่นเขามาดู เขาเป็นเพื่อนกับน้าต๋อง นิวัติ ศรีสวัสดิ์” พงศ์ธรกล่าวในรายการ THE PLAYER
“เขามาเลือกผู้เล่นที่จะไปเสริมทีมในดิวิชั่น 2 ของญี่ปุ่น”
“ส่วนรายได้ ถ้าเป็นอดีตก็ไม่เยอะ ถ้าเป็นเงินเดือน รวมโบนัสรวมอะไรแล้วก็ตกเดือน ๆ นึงเฉียดแสน บางเดือนก็แสน บางเดือนก็เกือบแสน”
และเป็น พงศ์ธร ที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องอึ้ง เมื่อกองหน้าจากจังหวัดสงขลา ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ทั้งที่ถูกจับไปเล่นเป็นกองกลางตัวรุก หลังยิงให้ทีมไปถึง 8 ประตูจาก 24 นัด จนได้รับการต่อสัญญาต่อไปอีกหนึ่งปี
“ตอนนั้นที่ไปเล่น เขายังไม่มีอาชีพ ตอนนั้นเบสบอลญี่ปุ่นจะดัง แต่ฟุตบอลยังไม่บูม แต่ว่าโดยการทำงานของระบบเขา รู้สึกว่า เขาจะมีแบบแผน มีอะไรที่ดีกว่าบ้านเราเยอะ” พงศ์ธรกล่าวต่อ
“ซึ่งระเบียบวินัยของนักเตะ ผมดูแล้วจะเหนือกว่าบ้านเราเยอะ ความรับผิดชอบ การฝึกซ้อมอะไร เขาจะมีแผนล่วงหน้า มีรายละเอียดล่วงหน้ามาให้นักเตะเป็นเดือนสองเดือน ก่อนจะมีเก็บตัว มีซ้อม จะมีรายละเอียดบอกมาก่อน”
นอกจากนี้ ในฤดูกาล 1991-1992 คอสโม ออยล์ ยังมีโอกาสได้ต้อนรับแข้งไทยอีกราย หลังคว้าตัว ประเสริฐ ช้างมูล กองหน้าทีมชาติไทยชุดคว้าอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 1990 ที่ปักกิ่ง ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นชาวไทยคนที่ 4 ของสโมสร
อย่างไรก็ดี นั่นก็เป็นปีสุดท้ายที่ คอสโม ออยล์ ใช้งานนักเตะไทย
เกือบเป็นทีมเจลีก
ปี 1993 หรือ 2 ปีหลัง ประเสริฐ และ พงศ์ธร เดินทางกลับไทย วงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัยก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น เปิดตัว เจลีก ลีกอาชีพอย่างเป็นทางการของพวกเขา
การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ได้ทำให้ทีมฟุตบอลที่จะเข้าร่วม ต้องละทิ้งชื่อที่ข้องกับบริษัทแม่ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาคือสโมสรอาชีพเต็มตัว ที่ทำให้ ไฟฟ้า มัตสึชิตะ กลายเป็นกัมบะ โอซากา, มิตซูบิชิ กลายเป็น อุราวะ เรดส์ หรือ โยมิอูริ กลายเป็น เวอร์ดี คาวาซากิ
สำหรับ คอสโม ออยล์ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เข้าร่วมเจลีกในยุคแรก แต่ก็มีความพยายามที่จะแปรสภาพตัวเองเป็นสโมสรอาชีพมาตั้งแต่ปี 1992 จากแผนก่อสร้างสนามกีฬากลางยกไคจิ ความจุ 30,000 ที่นั่งในแผนงบประมาณของเมือง
“เมืองยกไคจิ ได้ใส่งบประมาณ 5 ล้านเยน ในงบประมาณเริ่มต้นของปี 1992 โดยระบุว่าเป็น ‘ค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการสำรวจสำหรับสนามกีฬากลางยกไคจิ’' และบอกว่า เป็นสนามฟุตบอลที่มีความจุ 30,000 ที่นั่ง” โทโมฮิโระ โทริ นายกเทศมนตรีเมืองยกไคจิ กล่าวในบล็อกส่วนตัวเมื่อปี 2015
นอกจากนี้ในปี 1996 คอสโม ออยล์ ยังได้เตรียมพร้อมสู่การเป็นสมาชิกเจลีก ด้วยการเปลี่ยนเพิ่มชื่อเมืองเข้าไปในทีมและกลาย เป็น คอสโม ออยล์ยกไคจิ เอฟซี
อย่างไรก็ดี นั่นเป็นฉากสุดท้ายของ คอสโม ออยล์ เมื่อสภาของเมืองในตอนนั้นไม่เห็นด้วยกับการสร้างทีมเจลีก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเยอะเกินไป แถมการสร้างสนามก็อาจจะไม่คุ้มทุน จึงทำให้การสร้างสนามไม่เคยเกิดขึ้น
“ในปัจจุบัน เมืองไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นสร้างฐานที่มั่นของทีมเจลีก และไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขเข้าร่วมเจลีกได้ทันที ทั้งในองค์ประกอบที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ” รายงานจากสถาบันวิจัยโนมูระ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สุดท้าย คอสโม ออยล์ ไม่ได้ไปต่อ ก่อนที่ผู้บริหารจะตัดสินใจยุบทีมหลังจบฤดูกาล 1996 ที่ทำให้เรื่องราวของพวกเขากลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี ในปี 2018 ชื่อของ คอสโม ออยล์ ก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมฟุตบอลของจังหวัดมิเอะ ด้วยการเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ชุดแข่งของ เวียเตียน มิเอะ ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2012
แม้ว่าครั้งนี้พวกเขาจะไม่ได้เป็นเจ้าของทีม แต่มันก็คือความตั้งใจที่ดีในการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้สโมสรของเมืองเดินหน้าต่อไป ในฐานะที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีทีมฟุตบอลมาก่อน
“สำหรับกีฬา มันสามารถร่วมสนุกได้หลายแบบ เล่น ดู หรือส่งเสียงเชียร์” แถลงการณ์ของคอสโม ออยล์ เมื่อปี 2018
“แม้ว่าเราจะมีความสามารถที่จำกัด แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์และผู้สนับสนุน เราอยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดมิเอะ เมืองยกไคจิ และครอบครัว เวียเตียน มิเอะ ไปพร้อมกับทุกคน”
และทำให้สุดท้ายชื่อของ คอสโม ออยล์ ยังคงถูกพูดถึงในหมู่แฟนบอลญี่ปุ่นต่อไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.veertien.jp/fc/news_all/club/18078
https://ameblo.jp/mori-tomohiro/entry-12032106034.html
https://www.facebook.com/thaifootballcyclopedia/photos/a.2820699601291058/2820700837957601/?type=3