ขายทำไม กำไรยังบาน : เหตุใด Fenway Sports Group จึงประกาศขายลิเวอร์พูลสายฟ้าแล่บ ?
เป็นที่ฮือฮาเมื่อเจ้าของสโมสรลิเวอร์พูล หรือ Fenway Sports Group (FSG) ได่ประกาศว่าสโมสร “พร้อมเปิดโต๊ะเจรจา” กับผู้ต้องการเข้ามาถือหุ้นรายใหญ่ หรือก็คือสัญญาณที่บอกว่า “ต้องการขาย” สโมสร
ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ เพราะหากว่ากันตามสถานการณ์ ลิเวอร์พูลกำลัง “ขาขึ้น” แบบสุดๆ ทั้งผลงานในพรีเมียร์ลีก 3-4 ปีหลังที่ได้แชมป์ และลุ้นแชมป์ทุกปี รวมถึงในยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ที่คว้าแชมป์ เข้าชิง และเข้ารอบลึกๆ ได้บ่อยครั้ง รวมถึงตัว FSG เองที่ได้ควักเงิน 110 ล้านแอนด์ เข้ามารีโนเวทอัฒจันทร์หลักของสนามแอนฟิล์ดเพื่อเพิ่มความจุอยู่เลย
Think Curve จึงชวนมาร่วมกันวิเคราะห์ ประเมิน และอนุมานอย่างมีหลักการว่า ทั้งที่ช่วงเวลาและองค์ประกอบต่างๆ กำลังดีวันดีคืน เหตุใด Fenway Sports Group จึงประกาศขายลิเวอร์พูลแบบสายฟ้าแล่บเช่นนี้?
โลกธุรกิจก็แบบนี้
ในแง่ของการทำธุรกิจ หรือเป็นผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจต่างๆ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นประการแรก นั่นคือ “ผลประโยชน์” ที่จะตกแก่ตนเอง หรือบริษัทที่บริหารงานอยู่ โดยจะต้องทำทุกวิถีทาง ทำอย่างไรก็ได้ ให้ได้รับ “กำไร” ที่สูงที่สุดมาไว้ในครอบครอง หรือหากทะเยอทะยานมากพอ สิ่งที่ต้องการในขั้นต่อมาก็คือ “กำไรระยะยาว” ที่จะได้รับต่อยอดไปเรื่อยๆ
แน่นอน การบริหารทีมฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน เมื่อโลกแห่งฟุตบอล “เทิร์น” ตัวเองเข้าสู่โลกแห่งธุรกิจแบบเต็มตัว การตัดสินใจบนฐาน “เหตุผลทางฟุตบอล” ย่อมมีความสำคัญน้อยกว่า “เหตุผลด้านตลาด” ที่มีเรื่อง เงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
หลายครั้ง ที่การตัดสินใจโดยวางอยู่บนฐานของตลาด มักจะขัดกับขนบธรรมเนียมทางฟุตบอล โดยเฉพาะ ฟุตบอลอังกฤษ ที่สโมสรก็เหมือนภาพแทนแห่งจิตวิญญาณของชาวเมืองและแฟนบอล อยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในบางกรณี ก็นำความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มาสู่ทีมได้
เช่น กรณีของตระกูลเกลเซอร์ หลังจากกว้านซื้อหุ้น และเข้าเป็นเจ้าของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อย่างเป็นทางการ ก็ได้นำสโมสรเข้าสู่ “ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค หรือ เอ็นวายเอสอี (New York Stock Exchange : NYSE)” แทบจะทันที ในปี 2003
แม้จะมีการค่อนขอดจากบรรดาแฟนบอลว่า การกระทำในลักษณะนี้เป็นแบบ “เสือนอนกิน” เพราะด้วยชื่อเสียงที่สั่งสม จำนวนแฟนบอล และธุรกิจในนามของสโมสร ก็ดึงดูดนักลงทุนให้มาเจียดเงินซื้อหุ้นสโมสรได้ง่ายๆ ทำให้สโมสรอยู่ได้ด้วยตนเองแบบสบายๆ ตระกูลเกลเซอร์ไม่จำเป็นต้องควักเงินสักสตางค์ มิหนำซ้ำ ยังได้รับผลพลอยได้จาก “การปันผล” และเงินอื่นๆ อีกมากมายจากสโมสรอีกด้วย
ผลพวงที่ตามมาคือ แม้ตอนนี้ ผลงานในสนามของพลพรรคปีศาจแดงจะไม่เอาอ่าวมานาน แต่กลับมีกำไรทุกปี แม้แต่ช่วงโควิด-19 กำไรก็ลดลงจากเดิมไม่มากนัก
นั่นหมายความว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เสมือนเป็น “ของตาย” ที่กำไรเห็นๆ เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นกำไรที่เริ่มต้นก็อยู่ในระดับที่สูงมากแล้ว หากสูงไปกว่านี้ก็คือกำไร ร่วงลงมาอย่างน้อยก็เท่าทุน
แต่ไม่ใช่กับลิเวอร์พูล ที่ตัวสโมสรนั้นมีลักษณะแบบ “บริษัทจำกัด” หรือก็คือ ยังคงสถานะเป็นนิติบุคคลแบบ “จำกัดความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น” อยู่ นั่นหมายความว่า “ผู้ถือหุ้นใหญ่” มีความสำคัญที่จะต้องเป็นคนที่รับภาระ กำหนดความเป็นไปของสโมสรแต่เพียงผู้เดียว (ร่วมกับบอร์ดบริหาร ตามเปอร์เซนต์การถือหุ้นลดหลั่นลงไป)
ทำให้ที่ผ่านมา หากรายรับรายจ่ายของสโมสร จัดสรรปันส่วนงบประมาณต่อฤดูกาล ไม่เพียงพอต่อการป้อนแผนงานที่ได้วางไว้ พันธะจึงตกอยู่กับ FSG ที่จะต้อง “ควักกระเป๋า” จ่ายในส่วนที่ขาดแบบเลี่ยงไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่า จะไม่ยอมจ่ายจริงๆ โดยมีปณิธานให้สโมสรพึ่งพาตนเอง แบบที่ สแตน โครเอนเก ของอาร์เซนอล โดนแฟนบอลของพวกเขาวิจารณ์บ่อย ๆ
หมายความว่า ในบางครั้ง เจ้าของสโมสร จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง “ใช้กระเป๋าสตางค์ร่วมกัน” กับสโมสร นั่นเอง
แน่นอน หากเจ้าของมีแพสชั่นสำหรับการทำทีมฟุตบอล หรือมีใจรักสโมสรจริงๆ นั่นเป็นสิ่งที่โชคดีเหมือนถูกหวย หากแต่ส่วนมาก ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเจ้าของทีมก็คือนักธุรกิจ และนักธุรกิจย่อมมีความเขี้ยวลากดินอยู่ในตนเองเสมอ
โดยเฉพาะ “พวกเศรษฐีอเมริกัน” ที่ไม่ได้มีความผูกพันธ์แน่นแฟ้นกับทีมกีฬามากมาย เหมือนพวกชาวอังกฤษและยุโรป การซื้อมาขายไปจึงเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางทีแทบไม่ให้แฟนบอลตั้งตัวเสียด้วยซ้ำ FSG ก็เช่นเดียวกัน!
เมื่อมีช่องทาง สบโอกาสในการทำกำไร หรือคิดเชิงตรรกะ หักลบกลบหนี้แล้วพบว่า มูลค่าการขาย ณ ตอนนี้ ถือว่า “คืนทุนที่สุด” การซื้อขายย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที
โดยเฉพาะ การได้เห็นกรณีของ ทอดด์ โบห์ลี ที่เทคโอเวอร์เชลซีด้วยจำนวนเงินมากถึง 2,500 ล้านปอนด์ ก็อาจจะนับว่า มีความคุ้มค่ามากพอ ที่จะประกาศขายเสียตั้งแต่ตอนนี้
ขายเมื่อถึงจุดสุดยอด
ล่าสุด จากการจัดอัดดับมูลค่าสโมสร ประจำปี 2022 โดยนิตยสาร Forbes เจ้าแห่งการจัดอันดับระดับโลก ได้ชี้ให้เห็นว่า ลิเวอร์พูล เป็นสโมสรลับดับที่ 4 ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก มูลค่าประมาณ 4,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นสโมสรลำดับที่ 2 ของประเทศอังกฤษ รองจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่จำนวน 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกได้ว่า เฉือนกันเพียงหลักร้อยล้านนิดเดียวเท่านั้น
การที่ลิเวอร์พูลอยู่อันดับที่ 2 อาจจะทำให้รู้สึกว่า “ยังไปต่อได้” ในแง่ของการเร่งเพิ่มมูลค่า หากแต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบว่า อันดับที่ 1 อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เม็ดเงินพุ่งเข้าหาสโมสรจากใครหน้าไหนก็ได้ทั่วทุกมุมโลก ย่อมเป็นการยากที่เดอะค็อปจะต่อกรด้านอำนาจเงิน
หมายความว่า ตอนนี้ ลิเวอร์พูล ได้กลายเป็น สโมสรบริษัทจำกัด ที่มีมูลค่าอันดับที่ 1 เหนือทุกทีมในพรีเมียร์ลีกแล้วนั่นเอง
หากคิดในทางเม็ดเงินแบบเพียวๆ สโมสรอาจจะพุ่งทะยานได้มากกว่านี้ แต่หากคิดถึง “ดัชนี”(ตัวชี้วัด) อาจจะต้องกล่าวว่า ลิเวอร์พูลนั้น “ชนเพดาน” เข้าเสียแล้ว ประกอบกับ ผลงานในสนาม เดอะค็อปเองก็เริ่มที่จะ “แกว่ง” บ้างเล็กน้อย อย่างในฤดูกาล 2022-23 ทีมก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงความสั่นคลอน และต้องใช้เงินซ่อมหลายสิ่งในสโมสรหากจะกลับไปต่อกรลุ้นเเชมป์และกลายเป็นทีมระดับแถวหน้าของโลกอีกครั้ง
เมื่อคิดถึงหลักความเป็นจริง การพุ่งทะยานไปสู่จุดที่สูงที่สุดได้แล้ว นั่นหมายถึงการเป็นเรื่องยากที่จะไปได้สูงกว่านี้อีกแล้ว หรือต่อให้ถูลู่ถูกังไปได้ ก็จะเป็นการ “ไต่ขอบ” ไปเรื่อยๆ หรือในกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือการค่อยๆ “ลดระดับ” ตนเองลง รวมถึงการสวนดัชนี้กับ “ผู้ท้าชิง” ที่ขยับเข้ามาใกล้เรื่อยๆ จนอาจจะมาแรงแซงทางโค้งไปในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ตามคอมมอนเซนส์แล้ว “การเปลี่ยนมือ” จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะหลังจากหักลบกลบหนี้จากการเข้าเทคโอเวอร์ของ MSG เมื่อปี 2010 ประมาณ 300 ล้านปอนด์ แต่เมื่อผ่านไป 10 กว่าปี มูลค่าของสโมสรต่างๆ ก็ได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก
นั่นจึงอาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับการขายหุ้นของ FSG จากลิเวอร์พูลไปเสียตั้งแต่ตอนนี้ เพราะหากปล่อยให้กาลเวลาไหนผ่านไป แล้วลิเวอร์พูลกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะขาลง บรรดานักลงทุนที่พร้อมจะจ่ายตอนนี้ อาจจะมีการเล่นแง่ เล่นตุกติก และมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้น
ไม่ขายตอนนี้ อาจจะไม่มีใครยอมจ่าย ราคาตั้งต้น 4,000 ล้านปอนด์ ที่ FSG ตั้งไว้ก็เป็นได้
ผลพวงจาก “ซูเปอร์ ลีก”
การวิเคราะห์ผ่านวิธีคิดเชิงธุรกิจก็น่าสนใจประมาณหนึ่ง หากแต่ อีกหนึ่งแนวทางในการวิเคราะห์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั้นคือ การเจาะลึกไปที่ปัจจัยทาง “ฟุตบอล” ที่มีผลกระทบต่อสโมสรโดยตรง
แนวการวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ ได้พิจารณาไปในนทำนองเดียวกันว่า สาเหตุหลักๆ ที่ FSG กำลังตีจากเดอะค็อป นั่นเพราะ “ยูโรเปี้ยน ซุเปอร์ ลีก” ก่อตั้งไม่สำเร็จ
โดยจอห์น ดับเบิลยู เฮนรี หัวเรือใหญ่ของ FSG ได้รับการวางตัวให้เป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ ซูเปอร์ ลีก ร่วมกับตระกูลเกลเซอร์แห่ง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สแตน โครเอนเก แห่ง อาร์เซนอล อันเดรีย อัญเญลี แห่ งยูเวนตุส และมี ฟลอเรนติโน เปเรซ แห่ง เรอัล มาดริด นั่งแท่นประธานองค์กร
นั่นหมายความว่า FSG ได้ “อภิสิทธิ์” ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง รวมถึงการนั่งในบอร์ดบริหารสูงสุด เท่ากับว่าจะได้รับเงินปันผล ที่เป็นเงินกินเปล่าแบบทันท่วงที รวมถึงสามารถที่จะดำเนินการอะไรต่อมิอะไร ที่สร้างความได้เปรียบแก่สโมสร อาทิ การวางตารางแข่งขันให้เอื้ออำนวย การเสนอวิธีแบ่งสรรปันส่วนกำไรที่ได้จากการแข่งขัน หรือการสร้างรายได้อื่นๆ ได้อย่างสะดวกแน่นอน
เช่นนี้ จึงได้เปรียบทีมอื่นๆ ที่จะขอเข้าร่วมในภายหลังอย่างมาก คล้ายคลึงกับกรณีของการก่อตั้ง สมาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป หรืออีซีเอสซี (ก่อนจะกลายเป็นอียูในตอนนี้) ที่ประเทศร่วมก่อตั้งอย่าง เบลเยียม, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, และเยอรมัน ต่างมีอภิสิทธิ์มากกว่า อังกฤษ ที่เข้ามาในภายหลัง แม้จะไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง และการเงินเทียบเท่าก็ตาม
หากแต่ตอนนั้น ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนาหู ทั้งการด่าทอว่าเป็นพวกเห็นแก่เงิน เป็นกลุ่มทุนผูกขาด กีดกันทีมระดับกลางและระดับเล็ก ทำลายมนต์ขลัง มนต์เสน่ห์ของฟุตบอล หรือแม้แต่ยูฟ่า และฟีฟ่า ก็ร่วมใจกันประนาม จนท้ายที่สุด โปรเจกต์นี้ก็ได้รับการพับเก็บเข้ากรุไป
การไม่ได้เห็น ซุเปอร์ ลีก นั้น ไม่เพียงแต่สร้างความผิดหวังให้แก่ FSG หากแต่ที่ต้องคิดไปมากกว่านั้น คือการที่องค์กรที่กำกับความคุมฟุตบอล อย่างยูฟ่า และฟีฟ่า ก็ทำตัว “มาเฟีย” ไม่ได้ต่างจากที่ว่าซุเปอร์ ลีก เลย
สององค์กรนี้ถือว่า “ผูกขาดฟุตบอลโดยชอบธรรม” การดำเนินนโยบาย วางแผน หรือจัดสรรปันส่วนงบประมาณต่างๆ นั้นมาจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่หยิบมือ ทำให้ได้รับคำถามย้อนกลับถึง “ความเป็นธรรม” จากบรรดาทีมใหญ่บ่อยครั้ง
เนื่องจาก ส่วนมากยูฟ่าและฟีฟ่ามักจะมีการหมกเม็ด ไม่ยอมกระจายรายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงมีการจัดการแข่งขันสารพัด เพื่อหาเงินเข้าองค์กร เดือดร้อนไปถึงนักเตะ ต้องบินไปบินมา เล่นรายการนั้น มาต่อด้วยรายการนี้ จนกรอบเป็นข้าวเกรียบ และเกิดอาการบาดเจ็บบ่อยครั้ง บางรายกลับมา ฟอร์มการเล่นก็ไม่เหมือนเดิมตลอดไป
หากบรรดาทีมเหล่านี้เกิดแข็งขืน ไม่ยอมส่งนักเตะให้ไปแข่งขัน ยูฟ่าและฟีฟ่าก็ไปไล่แบน ปรับเงิน หรือที่หนักที่สุด คือการขู่จะตัดสิทธิ์ทุกกรณีอย่างไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งปัญหาที่กล่าวมานั้น เป็นเรื่องคาราคาซังมาช้านาน และยังไม่สามารถที่จะหาข้อยุติได้
และที่สำคัญที่สุด คือการออกกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ (Financial Fair Play : FFP)” หรือมาตรการควบคุมทางการเงิน ไม่ให้บรรดาสโมสรใช้เงินจนเกินตัว แล้วล้มละลายดังในอดีต ซึ่งตรงนี้ เป็นกฎที่ออกมาเพื่องัดกับสโมสรยักษ์ใหญ่ เงินถุงเงินถังโดยตรง
แม้กฎจะระบุว่า มีเยอะใช้เยอะ มีน้อยใช้น้อย หากแต่การใช้เยอะนั้น ต้องมาจากรายได้ของสโมสรแบบโดดๆ ห้ามให้เจ้าของควักกระเป๋ามาสมทบให้ ซึ่งจุดนี้ ถือว่าสร้างผลกระทบแบบสุดขีด เพราะในยุคที่ราคานักฟุตบอลพุ่งสูง บางรายเกินกว่ามูลค่าของสโมสรเสียด้วยซ้ำ ย่อมเป็นการยากที่จะใช้งบประมาณจากสโมสรเพียวๆ แล้วจะได้ของดีเข้าสู่ทีม
ดังนั้น จึงพบเห็นได้หลายครั้ง ที่ผู้จัดการทีมออกมาบ่นอุบว่า คนที่อยากได้ไม่ซื้อ ไปซื้อแต่อะไรมาก็ไม่รู้ ซึ่งเหตุผลก็เป็นผลพวงมาจาก FFP ไม่น้อยเช่นกัน
และอย่าลืมว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีข้อจำกัดด้านเงินทุนดังที่ได้กล่าวไป และเจ้าของถึงแม้ว่าจะรวยในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รวยล้นฟ้าแบบพวก “เศรษฐีอาหรับ” ที่ขออะไรก็สามารถที่จะเสกให้ได้ตามใจนึก
“FSG ก็เหมือนเจ้าของทีมอื่นๆ ในยุโรปนั่นแหละ ที่ไม่สามารถหนุนหลังสโมสรได้แบบเต็มสตรีม ผลก็เลยไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ตรงอกตรงใจได้ดั่งใจนึกในตลาดซื้อขาย แฟนบอลเลยไม่พอใจกันเสียยกใหญ่ แม้แต่เจอร์เก็น คล็อปป์ เองก็ยังเรียกร้องให้กล้าๆ เสี่ยงหน่อย เผื่อหวังไปถึงอะไรๆ ที่จะได้กลับมามากขึ้น” เอียน ดอยล์ บรรณาธิการ ลิเวอร์พูล เอ็คโค สื่อท้องถิ่นชื่อดังแห่งเมืองลิเวอร์พูลกล่าวเน้นย้ำ
ซึ่งจุดนี้ หากมีการแข่งขันซุเปอร์ ลีก ปัญหาที่กล่าวมาก้จะได้รับการขจัดให้สิ้นไป แต่น่าเสียดายที่โอกาสเกิดขึ้นนั้นริบหรี่มาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว
ดังนั้น การเลือกขายสโมสร ในช่วงที่กำลังพักเบรก เพื่อเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2022 ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ FSG คิดมาแล้วเป็นอย่างดีก็ได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่จะปล่อย “นกลิเวอร์เบิร์ด” ตัวนี้ ให้ไปอยู่กับเจ้าของคนใหม่ หลังร่วมทุกข์ร่วมสุข ผ่านอะไรต่อมิอะไรมาด้วยกันนานเกิน 10 ปี
ข่าวและบทความล่าสุด