คัตสึฮิโตะ คิโนชิ : โค้ชญี่ปุ่นที่ทุ่มสุดตัวจนพาทีมชาติเซอร์เบีย ไปลุยฟุตบอลโลก
ฟุตบอลโลก 2022 มีชาติจากเอเชียได้สิทธิ์ลงแข่งขัน 5 ชาติ (นับตามภูมิศาสตร์) ประกอบด้วย กาตาร์ ชาติเจ้าภาพ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย โดย ญี่ปุ่น คือทีมเดียวที่ใช้บริการโค้ชใหญ่จากชาติตัวเอง นั่นคือ ฮาจิเมะ โมริยาสุ และเขาก็เป็นกุนซือชาวเอเชียเพียงคนเดียวในทัวร์นาเมนต์นี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ศิษย์-อาจารย์, เพื่อน, คู่แข่ง : ญี่ปุ่น-เยอรมัน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งผ่านฟุตบอล
เหตุผลที่โค้ชจากเอเชียยังได้การยอมรับน้อยในระดับนานาชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากผลงานของทีมชาติในเวทีโลก ชาติจากเอเชียยังไร้ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม มีแค่ ญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ ที่ผ่านรอบแรกในฟุตบอลโลกไปได้ โดย เกาหลีใต้ เคยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศในปี 2002 ก็จริง แต่อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของโค้ชต่างชาติอย่าง กุสส์ ฮิดดิงค์
หากนับเฉพาะโค้ชเอเชีย มีเพียง ทาเคชิ โอกาดะ, ฮู จอง-มู และ อากิระ นิชิโนะ (อดีตกุนซือทีมชาติไทย) ที่พาทีมเข้าถึงรอบน็อคเอาท์ ผิดกับโค้ชจากยุโรปและอเมริกาใต้ที่ผลัดกันคว้าถ้วยแชมป์โลกคนแล้วคนเล่า
ด้วยผลงานที่ผ่านการพิสูจน์ในระดับโลกมาแล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาติส่วนใหญ่เลือกใช้บริการกุนซือจากยุโรปและอเมริกาใต้ ในขณะที่โค้ชจากเอเชียมักจะถูกมองข้ามเสมอ ยิ่งเป็นชาติในยุโรปด้วยแล้ว โค้ชจากเอเชียแทบจะไม่อยู่ในสายตาด้วยซ้ำ
แต่ใช่ว่าโค้ชจากเอเชียจะไม่มีที่ยืนในยุโรปเลย เพราะวันหนึ่งมีชายที่ชื่อ คัตสึฮิโตะ คิโนชิ เข้ามาเปลี่ยนมุมมองของคนในโลกตะวันตกที่มีต่อโค้ชชาวเอเชีย ในฐานะผู้ช่วยโค้ชทีมชาติเซอร์เบีย และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ผลักดันทีมจนได้ไปเล่นฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเขาต้องก้าวข้ามอุปสรรคใหญ่ที่ขวางอยู่ตรงหน้า
คัตสึฮิโตะ คิโนชิ เริ่มต้นอาชีพโค้ชในปี 2003 ในบทบาทฟิตเนสโค้ชของ โอมิยะ อาร์ดิจา สโมสรในบ้านเกิด ก่อนย้ายไปอยู่กับ โยโกฮาม่า เอฟซี ในปี 2005 ที่นั่นเขาได้เป็นทั้งฟิตเนสโค้ชและผู้ช่วยโค้ช จากนั้น 3 ปีต่อมา เขาก็ถูก นาโงย่า แกรมปัส ดึงตัวไปเป็นฟิตเนสโค้ช และชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อได้เจอกับ ดราแกน สตอยโควิช ตำนานดาวยิงชาวเซิร์บที่เป็นโค้ชใหญ่ของทีมในเวลานั้น
สตอยโควิช กับ คิโนชิ ทำงานกันได้อย่างเข้าขารู้ใจ และพัฒนาความสัมพันธ์จนแน่นแฟ้น ทั้งในฐานะเพื่อนร่วมงานในสนามและเพื่อนในชีวิตจริง ตลอดระยะเวลาที่ร่วมงานในถิ่นวาฬเพชฌฆาต 5 ปี พวกเขาเสกแชมป์เจลีกให้ทีม 1 สมัย กระทั่ง สตอยโควิช ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2013 ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ทั้งคู่ได้ร่วมงานกัน
ปี 2015 ดราแกน สตอยโควิช ได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือของ กวางโจว อาร์ แอนด์ เอฟ ในศึกไชนีส ซูเปอร์ ลีก และเขาก็ไม่ลืมที่จะดึงเพื่อนคนสนิทอย่าง คัตสึฮิโตะ คิโนชิ เข้ามาร่วมงานอีกครั้ง ในฐานะผู้ช่วยโค้ช คราวนี้พวกเขาได้ทำงานร่วมกันถึงต้นปี 2020 ก่อนที่ทั้งคู่จะโบกมือลาทีม
คัตสึฮิโตะ คิโนชิ กลายเป็นคนว่างงาน 1 ปีเต็ม กระทั่งเดือนมีนาคม ปี 2021 เขาได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนซี้ ดราแกน สตอยโควิช ที่เพิ่งรับตำแหน่งโค้ชใหญ่ทีมชาติเซอร์เบีย โทรมาชวนเขาให้ไปร่วมทีมสตาฟฟ์ และเขาก็รีบเก็บกระเป๋ามุ่งหน้าสู่กรุงเบลเกรดทันที โดยที่ไม่ทันได้ถามรายละเอียดด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ดีว่าโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีผ่านเข้ามาบ่อย ๆ
คิโนชิ กลายเป็นโค้ชชาวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ร่วมทีมสตาฟฟ์ของชาติในยุโรป หลังรับตำแหน่งเป็นมือขวาของ ดราแกน สตอยโควิช ในทีมชาติเซอร์เบีย มันคือความท้าทายครั้งใหญ่ที่มาพร้อมกับความกดดันมหาศาล
ด้วยความที่เซอร์เบียเต็มไปด้วยนักเตะที่เล่นในลีกชั้นนำของยุโรป ขณะที่ คิโนชิ เป็นเพียงโค้ชที่มีประสบการณ์แค่ในลีกเอเชีย เขาจึงต้องพยายามมากขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อพิสูจน์ตัวเองและเอาชนะใจนักเตะเหล่านั้นให้ได้ เพราะเขาไม่อยากให้ ดราแกน สตอยโควิช มาพลอยเสื่อมเสียไปด้วย
คิโนชิ จึงก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างหนัก เริ่มจากศึกษาเทปการเล่นของผู้เล่นทั้ง 30 คน คิดรูปแบบการฝึกซ้อมที่จะช่วยรีดศักยภาพในตัวนักเตะออกมา และสร้างแรงจูงใจให้นักเตะลงสนามด้วยความกระหาย ความพยายามของ คิโนชิ ไม่สูญเปล่า เพราะนักเตะยอมรับเขาตั้งแต่เกมแรก หลัง เซอร์เบีย เปิดรังเฉือน ไอร์แลนด์ 3-2 ในเกมคัดบอลโลกโซนยุโรป
“ผมดูเทปการเล่นของผู้เล่นทั้ง 30 คนทุกวัน เพื่อจดจำการเล่นของพวกเขาในหัว ผมพยายามดึงความแข็งแกร่งของพวกเขาออกมา แทนที่จะไปกดดันพวกเขา พวกเขาเคารพผมนะ บอกตามตรงผมค่อนข้างกังวลในตอนแรก” คิโนชิ เขียนผ่านบทความของตัวเอง
“เกมที่เราแซงชนะไอร์แลนด์ 3-2 คือจุดเปลี่ยน หลังจบเกมนักเตะเข้ามาชมผมใหญ่เลย ผมรู้สึกโล่งอกมากกว่ามีความสุขอีกนะ เพราะผมรู้ว่าผมต้องแบกรับอะไรไว้บ้าง ผมต้องรับผิดชอบชื่อเสียงของดราแกนที่ชวนผมเข้ามา รวมถึงวงการฟุตบอลเซอร์เบียด้วย ชัยชนะเกมแรกสร้างความมั่นใจให้กับเราว่า เรากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง”
คัตสึฮิโตะ คิโนชิ ไม่ได้โฟกัสแต่การทำงานในสนาม เขายังให้ความสำคัญกับชีวิตนอกสนามด้วย เขารู้ดีว่าถ้าปรับตัวเข้ากับชีวิตที่นี่ได้ การทำงานของเขาก็จะง่ายขึ้น เขาจึงพยายามหัดกินอาหารท้องถิ่น, เรียนภาษา, วัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่เพลงชาติเซอร์เบีย
คิโนชิ มองว่า มันเป็นการหยาบคาย หากร้องเพลงชาติเซอร์เบียไม่ได้ หรือไม่เข้าใจความหมายของเนื้อเพลง ในเมื่อเขาเข้ามาเป็นสตาฟฟ์ทีมชาติเซอร์เบียแล้ว เขาจึงเรียนรู้จนปัจจุบันสามารถยืนร้องเพลงชาติเคียงข้างนักเตะและสตาฟฟ์คนอื่น ๆ ก่อนเกมแข่งขันได้แล้ว ซึ่งได้ใจแฟนบอลเซอร์เบียไปเต็ม ๆ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทของเขา
“ผมเรียนรู้ภาษาเซอร์เบีย อาหาร วัฒนธรรม และเพลงชาติ ถ้าคุณร้องเพลงชาติไม่ได้ หรือไม่รู้ความหมายของเนื้อเพลง มันถือเป็นการหยาบคายนะ ตอนแรกผมก็ร้องได้ไม่คล่อง แต่ก็ฝึกร้องไปเรื่อย ๆ จนร้องได้” คิโนชิ เล่าต่อ
นับตั้งแต่ทีมชาติเซอร์เบียได้ ดราแกน สตอยโควิช กับ คัตสึฮิโตะ คิโนชิ ผลงานของทีมก็ดูดีขึ้นแบบผิดหูผิดตา พวกเขาไม่แพ้ใครตลอด 8 เกมหลังในศึกคัดบอลโลก และสามารถคว้าตั๋วไปเล่นรอบสุดท้ายที่กาตาร์โดยอัตโนมัติ ในฐานะแชมป์กลุ่ม A โดยไฮไลท์อยู่ที่การบุกไปเอาชนะทีมแกร่งอย่าง โปรตุเกส ที่มี คริสเตียโน โรนัลโด้ ถึงกรุงลิสบอนในเกมสุดท้าย
นอกจาก ดราแกน สตอยโควิช จะได้รับเครดิตจากความสำเร็จของเซอร์เบียแล้ว คัตสึฮิโตะ คิโนชิ คืออีกคนที่ได้รับคำชมไม่น้อย สื่อพายกย่องเขาเป็นบุคคลเบื้องหลังคนสำคัญ ไม่ได้เป็นเพียงที่ปรึกษาด้านแท็คติค แต่เขายังใช้ความรู้ด้านฟิตเนสดูแลสภาพร่างกายของนักเตะด้วย ขณะที่ตัวเขาก็กลายเป็นที่รักของแฟนบอล จนมีชื่อในภาษาเซอร์เบีย ‘คิโนซิช’
คัตสึฮิโตะ คิโนชิ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า โค้ชเอเชียก็มีฝีมือและดีพอร่วมงานกับทีมในยุโรป ขอเพียงคุณต้องอุทิศตัวเองให้กับงานแบบสุดกำลัง แม้ว่าตอนนี้เขาจะเป็นเพียงผู้ช่วยโค้ช แต่ผลงานของโค้ชญี่ปุ่นหัวใจเซิร์บผู้นี้ ก็ถือเป็นใบเบิกทางเล็ก ๆ ให้โค้ชจากเอเชียได้เดินตาม และสักวันอาจมีคนทำลายกำแพงไปสู่ตำแหน่งกุนซือใหญ่ของทีมยุโรปก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง :
https://theathletic.com/3836912/2022/11/15/serbia-squad-guide-world-cup/