ซามูไรไร้รอยสัก : ทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นไม่กี่ชาติในฟุตบอลโลกที่นักเตะไม่สักลาย

ซามูไรไร้รอยสัก : ทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นไม่กี่ชาติในฟุตบอลโลกที่นักเตะไม่สักลาย
มฤคย์ ตันนิยม

รอยสัก กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มนักฟุตบอลในยุุคปัจจุบัน เมื่อหลายคนใช้ศิลปะบนเรือนร่างเหล่านี้ บันทึกความสำเร็จ แสดงตัวตน ไปจนถึงแสดงความเคารพต่อสิ่งที่ตัวเองศรัทธา

และขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ กำลังมาถึง รอยสักเหล่านี้ก็เตรียมไปอวดสู่สายตาชาวโลก ทว่า กลับมีชาติหนึ่งที่ผู้ชมไม่มีทางจะเห็นรอยสักจากนักเตะของพวกเขา ทั้งที่บ้านเกิดของพวกเขาคือแหล่งรวมช่างสักฝีมือดีมากมาย

ชาตินั้นคือ 'ญี่ปุ่น' เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปกับ #คิดไซด์โค้ง

ของต้องห้ามแดนซามูไร


อันที่จริงการสักสำหรับชาวญี่ปุ่น เป็นศาสตร์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เมื่อสามารถย้อนกลับไปได้ถึง 5,000 ปีก่อนคริสตกาล หลังค้นพบรูปปั้นดินเหนียวของสมัยโจมง (14,000 ปีก่อนคริสตกาล - 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ที่มีรอยสักอยู่บนใบหน้า

แต่การสักที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ครั้งแรกของพวกเขา เกิดขึ้นในช่วงคศ.300 เมื่อพงศาวดาวจีนได้พูดถึง ชาวญี่ปุ่นที่มีรอยสักอยู่บนใบหน้าและร่างกาย ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนในยุคนั้น

Photo: Courtesy Iwate Prefectural Museum

อย่างไรก็ดี มุมมองที่มีต่อมันก็เริ่มเปลี่ยนไปในเวลาต่อมา เพราะแม้ศิลปะบนเรือนร่างนี้ จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็อยู่ในกลุ่มชนชั้นล่างหรือโสเภณี รวมไปถึงกลุ่มอาชญากร

จวบจนกระทั่งสมัยเอโดะ  (ค.ศ.1603-1868) การสักก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากอิทธิพลของวรรณกรรมจีน ที่มีชื่อไทยว่า 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งมีภาพประกอบเป็นเหล่านักรบที่มีรอยสักลายมังกรและรูปสัตว์ต่างๆ

ทว่า ในปี 1720 ภาพลักษณ์ของรอยสักก็ติดลบ เมื่อรัฐบาลเอโดะ ใช้การสักเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อระบุตัวตน หลังจากก่อนหน้านี้ ใช้การตัดหูหรือจมูกจัดการพวกเหล่าอาชญากร

และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ยากูซ่า กลุ่มอันธพาลที่มีต้นกำเนิดในช่วงกลางเอโดะ ก็นำการสักมาใช้เป็นเครื่องหมายแทนคำมั่นสัญญาของคนในแก๊ง เนื่องจากการสักในสมัยก่อน หรือที่เรียกว่า Irezumi ต้องใช้ความอดทน

ทว่า สมัยเมจิ (1868-1912) การสักก็ถูกแบนอย่างเป็นทางการ หลังถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนไร้อารยะ ขัดจากแนวทางพัฒนาประเทศ ที่พยายามทำให้ทันสมัยและเท่าทันตะวันตก

แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กองกำลังสหรัฐฯ จะยกเลิกกฎหมายข้อนี้ แต่การสักก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะมันถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้กระทำความผิด หรือยากูซ่า มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักฟุตบอลญี่ปุ่นส่วนใหญ่ รวมไปถึงนักกีฬาชนิดอื่นจึงไม่นิยมสักกัน เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากร ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลยสำหรับชาวอาทิตย์อุทัย

“แม้ว่าในประเทศตะวันตก เช่น อเมริกา จะยอมรับรอยสักมากขึ้น แต่ในญี่ปุ่นมันยังคงเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการถูกตัดออกจากสังคม ที่ฝั่งแน่นอยู่ในความคิดของคนทั่วไป” บทความใน  Asia Pacific Perspective อธิบาย

“รอยสักในญี่ปุ่นเป็นภาพลักษณ์ของปัญหา”

อย่างไรก็ดี ความลำบากของผู้ที่มีรอยสักไม่ได้มีแค่นั้น

พลาดสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะ

การที่รอยสักถูกเชื่อมโยงกับ ยากูซ่า ไม่เพียงทำให้เกิดมุมมองแง่ลบที่มีต่อคนที่มีรอยสักเท่านั้น แต่มันยังทำให้พวกเขาต้องมีชีวิตที่ยากลำบากในสังคมญี่ปุ่น

หนึ่งในนั้นคือการใช้พื้นที่สาธารณะ คนที่มีรอยสักไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิม (Irezumi) หรือแบบแฟชั่น (Tattoo) จะหมดสิทธิ์ใช้งานพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันอย่างบ่อออนเซ็น (บ่อน้ำร้อน) ห้องซาวน่า ชายหาด สระว่ายน้ำรวม โรงยิม หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร

“เหตุผลสำคัญที่ออนเซ็นปฏิเสธผู้ที่มีรอยสักคือมันมองเห็นได้ชัด และอาจทำให้ลูกค้าคนอื่นกลัว” ยูโกะ ยามาซากิ จากสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดโออิตะ อธิบายกับ ABC News สื่อของออสเตรเลีย

แม้ว่าพวกเขาอาจจะผ่อนปรนสำหรับผู้ที่มีรอยสักขนาดเล็ก ที่อาจจะถูกขอให้เอาพลาสเตอร์ปิดรอยสักก่อนใช้งาน แต่สำหรับคนที่มีรอยสักขนาดใหญ่ สิ่งเดียวที่ได้รับคือคำปฏิเสธ

นอกจากนี้ สถานให้บริการบางแห่งยังมีป้ายประกาศขนาดใหญ่ห้ามผู้ที่มีรอยสักเข้าใช้บริการ และเมื่อผนวกกับหมายที่ประกาศใช้เมื่อปี 2001 ซึ่งระบุว่าการสักคือปฏิบัติการทางการแพทย์ที่กระทำได้โดยผู้มีใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกถูกแบ่งแยกของคนกลุ่มนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น

“การจะเป็นหมอต้องเสียทั้งเงินและเวลาเป็นจำนวนมาก มันตลกที่คิดว่าคุณต้องได้ใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์เพื่อมาเป็นช่างสัก” ไทกิ มาซูดะ ช่างสักที่ถูกโดนจับเมื่อปี 2015 กล่าวกับ CNN

และไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะคนต่างชาติก็ล้วนได้รับการปฏิบัติในรูปแบบเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะห่างไกลจากความเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าก็ตาม (ตลกร้ายที่รัฐบาลญี่ปุ่นแบนการสักในสมัยเมจินั้นมีผลเฉพาะคนญี่ปุ่นเท่านั้น ทำให้การสักเฟื่องฟูอย่างมากบริเวณเมืองที่เป็นท่าเรืออย่างโยโกฮามา โดยมีชาวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก)

โทค เฟล อดีตนักรักบี้ชาวนิวซีแลนด์กล่าวว่า เขายังจำครั้งแรกที่ถูกปฏิเสธจากโรงอาบน้ำญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นในปี 2002 ตอนที่เขาร่วมทีมมาแข่งรักบี้ในแดนซามูไร และมันไม่เคยเปลี่ยนไป แม้จะผ่านมาเกือบ 20 ปี

“ตอนที่เราไปที่นั่น เราถูกหยุดไว้ที่ประตู และเพราะว่าพวกเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พวกเขาจึงชี้ไปที่ป้ายบนกำแพง ที่มีรูปชายพร้อมรอยสัก และมีเครื่องหมายกากบาท นั่นคือตอนที่ผมรู้” เฟล ย้อนความหลังกับ ABC News

“ผ่านมาเกือบ 20 ปี มันยังคงเหมือนเดิม ผมยังคงถูกห้ามเข้า บางครั้งผมก็แสร้งทำเป็นไม่รู้ แล้วเดินเข้าไป จากนั้นถ้าไม่ยอมให้ผมเข้าไป เขาก็มาตามผมออกไปทีหลัง”

เฟล บอกว่าเขาพยายามหาออนเซ็นที่เปิดรับคนที่มีรอยสัก แต่เมื่อเข้าไปก็พบว่ามันคือสถานที่รับรองผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล หรือลูกค้าของกลุ่มยากูซ่า

“มันน่ากลัวมาก เพราะเมื่อคุณไปที่นั่น คุณจะรู้ว่าชายกลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งของแก๊งมาเฟีย” เฟล ที่ผันตัวมาเป็นนักมวยปล้ำในญี่ปุ่น กล่าวต่อ

อย่างไรก็ดี หลายปีที่ผ่านมา บางอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป

ปรับตัวสู่โลก

“แต่เดิมแล้วกฏมีเป้าหมายเพื่อกำจัดคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมที่คอยข่มขู่คนอื่นด้วยการโชว์รอยสัก” จิยูโกะ ทานิงูจิ ผู้อำนวยการซายาโนะ ยูโดโคโระ ออนเซ็น ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของโตเกียวบอกกับ CNN

“รอยสักไม่ได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมญี่ปุ่นอยู่แล้ว”

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะห้ามยากูซ่าเข้าใช้ การห้ามทุกคนที่มีรอยสักจึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า และจากการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่สอบถามเรียวกัง หรือ ที่พักแบบดั้งเดิม 3,800 แห่งทั่วญี่ปุ่นยังพบว่ามีจำนวนมากถึง 56 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิเสธผู้ที่มีรอยสัก และอนุญาตแค่เพียง 31 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 13 เปอร์เซ็นต์เข้าได้ แต่ต้องปิดไม่ให้เห็น

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ทัศนคติหลายอย่าง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็เริ่มเปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างเช่นคำตัดสินของศาลฎีกา เมื่อปี 2019 ที่ไทกิ มาซูดะ ถูกสั่งฟ้องในคดีที่เขาสักโดยไม่มีใบอนุญาตทางการแพทย์ ที่แม้ว่าเขาจะถูกปรับเป็นเงินกว่า 150,000 เยน (ราว 38,000 บาท) แต่คำเสนอของศาลก็ทำให้เห็นว่าบรรทัดฐานเดิมกำลังจะหายไป

“การปฏิบัติทางการแพทย์ คือการกระทำที่พิจารณาว่าเป็นการรักษาหรือให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายด้านสุขลักษณะอนามัยที่ทำโดยแพทย์” ผู้พิพากษากล่าว

“การสักต้องใช้ทักษะทางศิลปะ ซึ่งต่างจากการบำบัดโรค และไม่สามารถสรุปได้ว่าแพทย์ต้องเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น”

นอกจากนี้ จากการที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก ทั้งรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี 2019 และโอลิมปิก 2020 เมื่อปี 2021 บวกกับการหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรม รวมถึงบ่อออนเซ็นหลายแห่งได้ยกเลิกกฎห้ามผู้มีรอยสักเข้ารับบริการ

Photo: AFP

“เราอยากให้ทุกคนเพลิดเพลินกับออนเซ็น” ยูโกะ ยามาซากิ ผู้ให้บริการออนเซ็นในเมืองเบ็ปปุ จังหวัดโออิตะ ซึ่งถูกขนานนามว่าเมืองหลวงแห่งออนเซ็นกล่าวกับ ABC News

“ฉันคิดว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มุมมองเกี่ยวกับรอยสักในญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนไป และมีวัยรุ่นบางคนที่มีสิ่งนี้ มันเป็นเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว”

ทั้งนี้ สำหรับนักฟุตบอลญี่ปุ่น ปัจจุบันอาจจะยังเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็นรอยสักจากพวกเขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีวันเกิดขึ้น ตราบใดที่โลกยังคงหมุนไปข้างหน้าในทุกวินาที

และบางทีในอนาคต เราอาจจะได้เห็นรอยสักสวยๆ ในสไตล์ญี่ปุ่น จากนักเตะเลือดซามูไรก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

https://edition.cnn.com/2017/10/18/asia/tattoos-japan/index.html

https://www.abc.net.au/news/2019-01-28/japanese-region-breaks-taboo-on-tattoos/10735044

https://today.line.me/th/v2/article/DvEqBX

https://www.scmp.com/sport/article/3142255/tokyo-2020-are-tattoos-still-taboo-olympics-or-has-covid-19-swallowed

https://www.scmp.com/sport/article/3019117/japans-tattoo-problem-about-get-messy-2019-rugby-world-cup-and-2020-tokyo

https://www.bbc.com/news/world-asia-45586210

https://www.nzherald.co.nz/travel/no-onsen-for-you-why-tattoos-are-stigmatised-in-japan/4L2V7DDU3VX7CIVST2KDLYRUHI/

https://english.kyodonews.net/news/2019/01/c1057c380013-tattoo----no-problem-at-most-hot-springs-in-beppu-japan.html

https://www.aljazeera.com/gallery/2018/5/28/japan-what-my-tattoo-means-to-me

https://www.savedtattoo.com/countries-where-tattoos-are-illegal-or-limited/

https://thinkglobalschool.org/the-culture-of-tattoos-in-japan/

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ