คิงคาซูค้าแข้งในโปรตุเกสตอนอายุ 56 ปีได้อย่างไร ?
“ชีวิตนักฟุตบอลอาชีพมันสั้น” เป็นวลีอมตะที่หลายคนพูดถึง แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ “คิงคาซู” หรือ คาซูโยชิ มิอูระ กองหน้าระดับตำนานของวงการญี่ปุ่น
เขาเริ่มต้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาตั้งแต่ปี 1986 หรือก่อนเจลีก ลีกอาชีพญี่ปุ่นจะเริ่มต้นถึง 7 ปี และตอนนี้ก็ยังค้าแข้งอยู่ แถมยังเป็นสโมสรในลีกโปรตุเกส และเพิ่งได้ประเดิมสนามไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
อะไรที่ทำให้ผู้เล่นในวัยอย่างเขาไปเล่นในยุโรปได้ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
พระเจ้าลูกหนังแห่งแดนซามูไร
เชื่อว่าใครที่ติดตามฟุตบอลญี่ปุ่น น่าจะคุ้นเคยกับ “คิงคาซู” คาซูโยชิ มิอุระ มาอย่างยาวนาน เพราะผู้เล่นรายนี้อยู่มาตั้งแต่ลีกอาชีพญี่ปุ่น หรือเจลีกเปิดทำการปีแรกในปี 1993 และยังคงมีสถานะนักเตะอาชีพ แม้ว่าเจลีกจะเข้าสู่ปีที่ 30 ในปัจจุบัน
และหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขายืนหยัดมาได้ถึงตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากสถานะการเป็น “ตำนาน” ของเขา
คาซู เริ่มต้นสร้างชื่อได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของเจลีก ด้วยการยิงประตูอย่างถล่มทลาย พาเวอร์ดี คาวาซากิ คว้าแชมป์ 2 สมัยซ้อน (1993,1994) รวมถึงคว้ารางวัล MVP (1993) และ ดาวซัลโว (1996) อีกอย่างละครั้ง
“เขาเป็นสตาร์ แน่นอนว่าเป็นสตาร์ของญี่ปุ่นในยุคเริ่มต้นของเจลีกบูม ซึ่งเป็นยุคที่เจลีกได้รับความนิยมมากที่สุดด้วยวัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่น” เบ็น มาเบลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ใช้ชีวิตอยู่ในแดนซามูไรมากว่า 16 ปี กล่าวกับ Optus Sport
“ตอนนี้มันเป็นลีกที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกว่าที่เป็นมา แต่ในแง่ของความเป็นจริงจากการที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากเกี่ยวกับฟุตบอลตอนที่เจลีกเริ่มต้น เขาคือคนที่ดังที่สุด”
“บทบาทของเขาในการสร้างเจลีกจึงได้รับการเคารพมาก เขาจึงไม่ใช่แค่นักเตะที่เล่นมานาน แต่เป็นนักเตะที่มีชีวิตอาชีพที่ยอดเยี่ยม และบางทีอาจจะเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่สุด ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่น”
นั่นจึงทำให้ตอนที่ โอโนเดระ กรุ๊ป เจ้าของสโมสรโยโกฮามา เอฟซี เข้าไปเทคโอเวอร์ โอลิเวียเรนเซ ทีมในลีกระดับ 2 ของโปรตุเกส นักเตะชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ถูกส่งไปที่นั่นเพื่อเปิดตลาด คงจะไม่มีใครเหมาะสมไปกว่า “คิงคาซู”
เนื่องจาก มิอูระ เคยมีประสบการณ์ไปเล่นในยุโรปมาแล้วถึง 2 ครั้ง กับการค้าแข้งให้ เจนัว ในลีกอิตาลี เมื่อปี 1994-1995 และ ดินาโม ซาเกรบ ของโครเอเชียในปี 1999 แถมตัวเขาเอง ยังมีความมุ่งมั่นที่จะไปเล่นในต่างแดน แม้จะอยู่ในวัย 56 ปีแล้วก็ตาม
“ผมรู้สึกว่าผมอยากจะรับความท้าทายนี้ด้วยการไปเล่นในต่างประเทศ” มิอูระ กล่าวกับ Japan Times
นอกจากนี้ สถานะอันสูงส่งราวกับพระเจ้า ยังทำให้การมีอยู่ของ คิงคาซู ยังคงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในแง่ของการตลาด หรือโฆษณาในญี่ปุ่น และการส่งเขาไปเล่นต่างแดน ก็ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้เขาไม่น้อย
“เขาถูกมองว่าเป็นตำนานที่โต้เถียงไม่ได้” ฌอน แคร์โรล ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นบอกกับ Optus Sport
“ขณะที่หลายคนมองว่าการต่อสัญญาปีต่อปี เป็นเรื่องที่บิดเบี้ยว แต่เขาถูกมองว่ายังคงเป็นดาวเด่นของเจลีกโดยพฤตินัย และได้รับการนับถือจากทุกคน ในฐานะแบบอย่างของความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนัก”
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลอาจจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีสิ่งนี้
ความเป็นมืออาชีพ
22 เมษายน 2023 เป็นอีกครั้งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก เมื่อคิงคาซู ที่ย้ายมาร่วมทีม โอลิเวียเรนเซ เมื่อเดือนมกราคม ได้รับโอกาสลงสนามใน ลีกา โปรตุกัล 2 หลังถูกส่งลงไปในฐานะตัวสำรอง ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ และทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นอายุมากสุดที่ได้ลงเล่นในลีกโปรตุเกส
“การลงเล่นของมิอูระ ทำให้เขากลายเป็นนักฟุตบอลที่อายุมากสุดในฟุตบอลโปรตุเกส ด้วยวัย 56 ปี 1 เดือน กับ 24 วัน” เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของลีกโปรตุเกสระบุ
แม้จะได้ลงเล่นเพียงไม่กี่นาที แต่มิอูระ ก็แสดงให้เห็นสภาพร่างกายที่ยังฟิตพอสมควร เขายังวิ่งไล่บอลได้ และประสานงานกับเพื่อนร่วมทีม รวมถึงมีมวลกล้ามเนื้อที่กระชับ ราวกับว่าเวลาทำอะไรเขาไม่ได้เลย
สิ่งเหล่านี้มาจากความเป็นมืออาชีพของ “คิงคาซู” ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เริ่มเป็นนักเตะอาชีพ เพราะเขาคือนักฟุตบอลชาวญี่ปุ่นยุคแรกๆ ที่ได้ไปเล่นในลีกอาชีพของบราซิล หลังไปเล่นให้กับ เอฟซี ซานโตส เอฟซี ในปี 1986
“เขายังคงมีความมุ่งมั่นที่สูงมาก และเป็นมืออาชีพที่แท้จริงคนหนึ่ง” คัลวิน จอง อาปิน กองหลังชาวดัตช์ ที่เคยเล่นกับคาซูที่โยโกฮามา เอฟซี ในช่วงปี 2018-2021 กล่าวกับ AFP
“ในการฝึกซ้อม เราจะมีฐานที่หนักซึ่งเราต้องวิ่ง และเขาก็วิ่งนำหน้า เขาเป็นคนแรกที่ทำได้ครบทุกรอบ ทุกคนตามหลังเขา”
คิงคาซู เป็นหนึ่งในนักฟุตบอล ที่มีวินัย เขาเข้มงวดกับตัวเองและทำทุกอย่างจนเป็นกิจวัตร เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนตอนตี 5 กินอาหารที่ดูแลโดยนักโภชนาการ แข่ตัวในน้ำแข็งหลังซ้อมเสร็จ และซ้อมรักษาความฟิตกับเทรนเนอร์ส่วนตัวในช่วงปิดฤดูกาล
"เขาเป็นคนที่มาถึงก่อนเวลาซ้อม 2 ชั่วโมง เขามาก่อนทุกคน และเกือบทุกครั้งที่เป็นคนสุดท้ายที่กลับบ้าน แน่นอนว่าร่างกายของเขาช้าลงไปกว่าเดิม แต่เทคนิค การสัมผัสบอล ทั้งหมดยังคงดีอยู่ "อิบบา ลายาบ อดีตกองหน้าของ โยโกฮามา เอฟซี กล่าวกับ The Athletic
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นที่จะเล่นฟุตบอลให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเชื่อว่าการพลาดไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1998 ที่ฝรั่งเศส อย่างสุดช็อค ทั้งที่เป็นตัวหลักมาตลอดในรอบคัดเลือก เป็นตัวขับเคลื่อน
“ผมคิดว่ามันอาจจะย้อนไปในปี 1998 ที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส” โยอิจิ อิงาวะ นักข่าวชาวญี่ปุ่นกล่าวกับ Number นิตยสารกีฬาแดนซามูไร
“ไม่มีใครคิดว่าคาซู จะไม่ได้อยู่ในทีม มันไม่แม้แต่จะพูดถึง มันทำให้คาซูช็อคมาก แต่รวมถึงแฟนฟุตบอลญี่ปุ่นทุกคน”
“คาซูพูดเสมอว่าความฝันอันดับหนึ่งของเขาคือการลงเล่นฟุตบอลโลกให้ญี่ปุ่น และฝันของเขาก็เกือบจะเป็นจริง เมื่อสุดท้ายมันถูกพรากไปจากเขา”
“ผมคิดว่าเมื่อความฝันของคาซู หายไป เขาก็สร้างความฝันใหม่ นั่นคือเล่นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้”
และสิ่งเหล่านี้ ทำให้คาซู สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการฟุตบอลได้อย่างยาวนานถึง 38 ปี จนได้ทำตามความฝัน ด้วยการย้ายไปเล่นในยุโรป ในวัยเกือบ 60 และได้จารึกชื่อลงในประวัติศาสตร์อีกครั้ง
แข้งจอมสร้างประวัติศาสตร์
ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่า คิงคาซู จะเล่นฟุตบอลไปอีกนานแค่ไหน แต่จากที่เขาบอกเพื่อนร่วมทีม รวมถึงให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่ง เชื่อว่าวันสุดท้ายในชีวิตนักเตะอาชีพคงจะยังไม่มาถึงในเร็ววัน
“เขาบอกผมว่าเขาอาจจะตายในสนาม ผมเชื่อเขา ต้องมีใครสักคนทำให้เขาเลิกเล่น เพราะว่าเขาไม่คิดเลิกเองแน่นอน” จอง อาปิน กล่าวกับ AFP
และตราบใดที่สี่ห้องหัวใจยังมีคำว่าฟุตบอลอยู่ แฟนบอลน่าจะยังได้เห็นเขาลงเล่นอีกหลายครั้ง และอาจจะเพิ่มสถิติที่ยากจะมีใครทำลายก็เป็นได้
https://www.espn.com/soccer/oliveirense/story/4931529/king-kazu-makes-oliveirense-debut-aged-56
https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/12/23/soccer/miura-portugal-move/
https://sport.optus.com.au/articles/os20691/king-kazu-jleague-analysis