เคลียร์ทุกข้อสงสัย : คนดูแลสนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ชี้แจงดราม่าคิงส์คัพ

เคลียร์ทุกข้อสงสัย : คนดูแลสนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ชี้แจงดราม่าคิงส์คัพ
วิสูตร ดำหริ

สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง ตั้งแต่ก่อนศึกคิงส์คัพ ครั้งที่ 49 ที่จังหวัดเชียงใหม่ จะเปิดฉากขึ้น หลังมีการแชร์ภาพพื้นสนามที่มีแต่รอยด่างในโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้แต่ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ยังออกปากบ่นวันนี้

Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงไปสอบถามความจริงจากปากของทีมงานผู้ดูแลสนามอย่าง นายเกียรติพงศ์ บุญเกิดไวย์ หัวหน้างานศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติส่วนภูมิภาค ในทุกประเด็นเพื่อขจัดข้อสงสัยที่อยู่ในใจของแฟนบอลชาวไทย ก่อนที่ทีมชาติไทยจะลงชิงถ้วยคิงส์คัพกับ ทีมชาติอิรัก ในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน

[เวลาเตรียมการ]

เกียรติพงศ์ : เราเริ่มวางแผนดูแลสนามตั้งแต่ตอนที่สมาคมฯประกาศให้เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ แต่ได้ลงมือทำกันจริง ๆ หลังจบเกมไทยลีก 2 ระหว่าง เชียงใหม่ ยูไนเต็ด กับ สุพรรณบุรี เอฟซี เราจึงมีเวลาเตรียมสนามก่อนเกมคิงส์คัพประมาณ 12 วัน เราจัดการกำจัดวัชพืชหญ้าแทรมและรอให้หญ้าใหม่ขึ้นแทนหญ้าเดิม เราใช้วิธี Top soil (ดูแลพื้นผิวหญ้าที่เป็นหลุมหรือเปิดขึ้นมา) จะเอาหญ้าผืนใหม่มาแปะแทนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นตอนแข่งหญ้าจะหลุด ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์ที่สุด ต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

[ดราม่าพื้นสนาม]

เกียรติพงศ์ : ก็รู้สึกเสียใจ แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากร สิ่งของ และเวลาที่งวดเข้ามา เราไม่สามารถเนรมิตให้สนามสมบูรณ์ได้ 100% เพราะสนามถูกใช้มาก่อนแล้ว ไทม์มิ่งจึงไม่ได้ เราพยายามฟื้นฟูสนามให้อยู่ในสภาพพร้อมที่ใช้งานที่สุด แม้จะเจอกระแสดราม่า แต่ทีมของเราก็ตั้งใจทำจนผ่านมาตรฐานในการจัดการแข่งขัน เราทำกันอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของทีมชาติไทย

[ดราม่าสเปรย์พ่นสีหญ้ากลบ]

เกียรติพงศ์ : ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทรายคือวัสดุบำรุงหญ้า เราจึงทำให้มันเป็นสีเขียวเพื่อสนามจะได้ออกมาดูเสมอกัน เราไม่ได้ใช้ทรายโรยทั้งสนาม โรยแค่ข้างสนาม แต่มุมกล้องที่แฟนบอลดูผ่านการถ่ายทอดสดและเห็นเป็นรอยด่าง มันไม่ใช่ทรายทั้งหมด มันคือหญ้าจริงที่ติดอยู่กับตัวพื้นสนาม แต่ด้วยความที่หญ้าสมบูรณ์แข็งแรงไม่เท่ากัน บางจุดมันก็เลยเป็นสีเข้ม บางจุดก็เป็นสีอ่อน อยากให้ทีมงานถ่ายทอดสดทำความเข้าใจกับคนดูในส่วนนี้

[ระบบระบายน้ำ]

เกียรติพงศ์ : ระบบระบายน้ำของสนามนี้ยังใช้งานได้ดี ต่อให้ฝนจะตกหนัก สนามก็ยังระบายน้ำได้ดี แต่มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าน้ำระบายเร็ว หญ้าก็จะดูดซึมแร่ธาตุได้น้อย ผิดกับน้ำระบายช้าที่หญ้าจะดูดซึมได้มากกว่า รู้สึกดีใจที่คนไม่ได้มองว่าระบบระบายน้ำเป็นปัญหา อย่างในเกมระหว่าง ทีมชาติไทย กับ เลบานอน ฝนตกหนักต่อเนื่องพอสมควร แต่ก็ไม่มีน้ำขังในสนาม วิถีลูกฟุตบอลยังกลิ้งไปอย่างธรรมชาติ

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ฟุตบอล, อนิเมะ, กาแฟ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ