ขุนพลเลือดผสม : ฟิลิปปินส์กับการปลุกกระแส ‘ลูกครี่ง’ จนสะท้านอาเซียน
ขุนพล “ช้างศึก” เตรียมจะลงทำศึกเอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คัพ 2022 นัดที่ 2 ด้วยการเปิดบ้านต้อนรับ ฟิลิปปินส์ ที่มี 3 คะแนนจาก 2 นัด
แม้ว่าช่วงหลัง ไทย จะมีผลงานที่ดีกว่า แต่ก็จะประมาท ฟิลิปปินส์ ไม่ได้ โดยเฉพาะในทศวรรษที่ผ่านมาที่พวกเขาคลาคล่ำไปด้วยนักเตะลูกครึ่งจากยุโรป และผ่านเข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายอาเซียนคัพ ถึง 4 ครั้ง จาก 6 ครั้งหลังสุด
ยิ่งไปกว่านั้น พลพรรค “อัซคาลส์” ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้นักเตะเลือดผสม และทำให้ชาติอื่นในอาเซียนรวมถึงไทยเดินรอยตาม ด้วยการเฟ้นหา นักเตะที่ไม่ได้เกิดในดินแดนของตัวเอง มาติดทีมกันอย่างคับคั่ง
และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ลูกครึ่งสร้างทีม
แม้ว่าฟิลิปปินส์ จะเป็นหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันอาเซียนคัพมาตั้งแต่ครั้งแรก แต่พวกเขากลับเป็นแค่ทีมรองบ่อน โดยเฉพาะในช่วงปี 1996-2008 ที่แพ้ไปถึง 19 นัดจาก 21 เกม หนึ่งในนั้นคือการแพ้อินโดนีเซีย 1-13 ในปี 2002
ความตกต่ำของทีมชาติ ทำให้สมาพันธ์ฟุตบอลฟิลิปปินส์ พยายามหาวิธีแก้ไข และความหวังของพวกเขาก็เริ่มขึ้นในปี 2005 เมื่อมีแฟน Football Manager เกมคุมทีมฟุตบอลชื่อดัง ไปพบว่ามีสองพี่น้องจากเชลซี ที่สามารถเล่นให้ทีมชาติฟิลิปปินส์ได้
พวกเขาคือ ฟิล และ เจมส์ ยังฮัสแบนด์ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี และ 19 ปี ของทีมสำรองสิงบลูส์ ที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์จากทางฝั่งแม่ แม้ว่าทั้งคู่จะมีสัญชาติอังกฤษก็ตาม
จากนั้นสมาพันธ์ฟุตบอลฯ ก็ติดต่อไปยังทั้งสอง ถึงความสนใจในการมาเล่นให้บ้านเกิดของแม่ ซึ่งพวกเขาก็ตอบรับ และได้ประเดิมสนามให้กับทีมชาติฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2006 หลังจากลองเล่นในทีมชุดอายุไม่เกิน 23 ปีมาก่อน
แม้ว่าเส้นทางกับเชลซีของพวกเขา อาจจะไม่ได้สวยหรูเท่าไร แต่สำหรับฟิลิปปินส์ มันคือปรากฎการณ์ เพราะ 4 ปีหลังจากนั้น ฟิล และ เจมส์ ไม่เพียงพาบ้านหลังใหม่ คว้าชัยเป็นนัดที่ 2 ในเอเอฟเอฟคัพ แต่ยังพาขุนพลอัซคาลส์ ไปไกลถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ฟิลิปปินส์ เฟ้นหาผู้เล่นนอกอาเซียน ที่มีเชื้อสายฟิลิปปินส์ มาเล่นให้พวกเขา ที่ทำให้ทีมคลำคล่ำไปด้วยนักเตะจากหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, อิตาลี หรือเยอรมัน
หนึ่งในนั้นคือ สเตฟาน ชร็อค อดีตเยาวชนทีมชาติเยอรมัน ที่ตอนนั้นเล่นให้กับอยู่ในบุนเดสลีกา 2 กับ กรอยเธอร์ เฟือร์ธ และทำให้ฟิลิปปินส์ มีมาตรฐานการเล่นที่ก้าวกระโดด
“เจ้าหน้าที่ของสมาคมอยากจะพาฟุตบอลไปข้างหน้า และรู้ว่านักเตะในยุโรปได้รับการศึกษาที่ดีกว่าบางคนที่เกิดในมะนิลา (เมืองหลวง) ด้วยซ้ำ” ชร็อคกล่าวกับ Goal
“แล้วทำไมจะไม่มองหานักเตะลูกครึ่งฟิลิปปินส์ในยุโรปล่ะ?”
และมันก็ไม่ได้ส่งผลต่อพวกเขาเท่านั้น
ปลุกกระแสเลือดผสม
เควิน อิเกรสโซ, ปาทริค เรเชล, มานูเอล อ็อต, ไดซูเกะ ซาโตะ รวมถึง นีล เอเธอริดจ์ อดีตโกลระดับพรีเมียร์ลีกของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ คือเหล่านักเตะเชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่พาเหรดมาเล่นให้กับบรรพบุรุษของเขา และทำให้ ฟิลิปปินส์ กลายเป็นหนึ่งในทีมที่น่ากลัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พวกเขาผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ เอเอฟเอฟ คัพได้อีก 3 ครั้งหลังจากนั้น ในปี 2012, 2014 และ 2018 แถมยังสามารถผ่านเข้าไปเล่นในเอเชียนคัพได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 2019 ซึ่งเป็นทีมชุดพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง เมื่อประกอบด้วย 12 นักเตะที่มาจากชาติที่แตกต่างกัน และมีเพียงแค่ 4 คนที่เกิดในอาเซียนเท่านั้น
ความสำเร็จที่จับต้องได้ของ ฟิลิปปินส์ ทำให้ชาติอื่นเดินรอยตาม และทำให้นับตั้งแต่ปี 2010 มีนักเตะจากยุโรปจำนวนมาก เดินทางมาเล่นให้ทีมชาติในอาเซียน รวมถึงทีมชาติไทย ที่ได้นักเตะอย่าง ชาร์ริล ชัปปุยส์, ทริสตอง โด, มานูเอล เบียร์ มาเสริมทีม
อย่างไรก็ดี สำหรับฟิลิปปินส์ การมาถึงของนักเตะจากยุโรป ไม่ได้ทำให้ผลงานโดยรวมของทีมดีขึ้นเท่านั้น แต่มันยังปลุกกระแสฟุตบอลขึ้นมาได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ทั้งที่เกมลูกหนังไม่ได้เป็นกีฬายอดนิยมของประเทศ หากเทียบกับ บาสเก็ตบอล หรือมวย
“ตอนที่ผมอยู่ที่นั่นครั้งแรกในปี 2011 ผมถูกปฏิบัติราวกับร็อคสตาร์ ไม่ว่าเราจะอยู่ไหน เราก็ถูกรุมล้อมด้วยแฟน ๆ เสมอ” ชร็อค ย้อนความหลังกับ Goal
“เป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ ครั้งหนึ่งเราอยู่ในสตาร์บั๊คกันทั้งทีม แต่เราต้องใช้ทางออกฉุกเฉินเพื่อออกจากร้าน”
กระแสความนิยมของขุนพลอัซคาลส์ ในช่วงเวลานั้น ทำฟุตบอลกลายเป็นหัวข้อที่คนฟิลิปปินส์คุยกัน ขณะที่ตั๋วก็ขายหมดเกลี้ยงแทบทุกครั้งที่ทีมชาติของพวกเขาลงสนาม
“แถมยังมีแฟนบอลอีกหลายพันคนที่ยังไม่มีตั๋วอยู่หน้าสนาม” ชร็อคกล่าว
ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ทุกอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แฟนบอลเริ่มหายหน้าหายตาไปจากสนาม ผู้ชมหลักหมื่นก็เหลือเพียงหลักร้อย และฟุตบอลก็ไม่ได้รับความสนใจอีกต่อไป
“ผมไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร หลังจากที่ไม่มีเกมเตะไป 6 เดือน ทีมชาติก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว จากแฟนบอล 20,000 คน ก็เหลือเพียงแค่ 150 คนที่มาดูเกมของเรา” ชร็อคกล่าว
มันคือการพัฒนาที่แปลกอย่างแท้จริง
ปัญหาที่มองไม่เห็น
“เงื่อนไขทางการเมืองในประเทศทำให้เป็นเรื่องยาก ราคาตั๋วขึ้นอย่างรวดเร็ว และการตลาดผ่านสื่อก็หยุดลงอย่างสมบูรณ์เพียงชั่วข้ามคืน” นักเตะทีมชาติฟิลิปปินส์ที่ไม่ระบุนามกล่าวกับ Goal
ปรากฏการณ์ของทีมชาติฟิลิปปินส์ เกิดขึ้นราวกับดอกไม้ไฟ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลงานของพวกเขา เพราะแม้ว่าขุนพลอัซคาลส์ จะเข้าได้ถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย เอเอฟเอฟ หลายครั้ง แต่พวกเขาก็ไม่เคยได้ลุ้นแชมป์ ที่ทำให้ความสนใจจากผู้ชมลดน้อยถอยลง
นอกจากนี้พวกเขายังเผชิญกับคำครหาในเรื่องเชื้อชาติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับความหลากหลายของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นปี 2018 ที่อินโดนีเซีย ออกมาวิจารณ์ในเรื่องนี้ หลังเจอกันใน เอเอฟเอฟ คัพรอบแบ่งกลุ่ม
“เขาบ่นและบอกว่าเราเป็นลูกผสม และได้รับประโยชน์จากลักษณะทางกายภาพ พวกเขาทึกทักว่าเราทุกคนโอนสัญชาติมา” ชร็อคอธิบาย
“แต่ผมคิดว่าคุณไม่ควรตัดสินใครเพราะภูมิหลังทางเชื้อชาติของพวกเขา”
หรือแม้แต่คนในประเทศเอง ที่เชื้อชาติเริ่มเป็นประเด็นใหญ่ หลัง คาตริโอนา เกรย์ ลูกครึ่งออสเตรเลีย-ฟิลิปปินส์ คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส และทำให้เกิดเสียงต่อต้านว่าเธอไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์แท้
แต่ฝ่ายสนับสนุนก็ออกมาโต้แย้งว่า ไม่มีใครในฟิลิปปินส์ ที่พูดได้เต็มปากว่าตัวเองเป็นสายเลือดบริสุทธิ์ เพราะประวัติศาสตร์การแต่งงานข้ามชาติ หรือเผ่าพันธ์สามารถสืบย้อนไปได้หลายร้อยปี
“มันเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน มันไม่มีผิดไม่มีถูก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรักที่มีต่อเกม และผู้คนที่คุณพบเจอจากเกมนี้” มิเกล เดวิด อดีตเจ้าหน้าที่ชาวฟิลิปปินส์ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียกล่าวกับ South China Morning Post
“ไม่ควรมีใครต้องรู้สึกผิดจากสิทธิ์นี้ ประเทศของผมถูกสร้างมากจากเลือดผสม แม้แต่ในเชิงการเมือง ผมเป็นลูกครึ่ง เพราะว่าลูกครึ่งปรารถนาที่จะให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน”
แต่ปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติพหุวัฒนธรรมของพวกเขาดำรงอยู่ยาก คือความคลั่งไคล้ในกีฬาบาสเก็ตบอลของชาวฟิลิปปินส์ และเมื่อรวมเข้ากับผลงานที่ไม่คงเส้นคงวาของทีมชาติแล้ว ก็ทำให้ฟุตบอลยังคงเป็นกีฬาของชนกลุ่มน้อย
“ฟุตบอลมันไม่ได้ฮิตเท่าบาสเก็ตบอล และมันก็เป็นความท้าทายเสมอที่จะทำให้กีฬาได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก” เซเดลฟ์ ตูปาส นักข่าวจาก Philippine Daily Inquirer กล่าวกับ South China Morning Post
“มันมีช่วงที่ทีมได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม แต่พวกเขาไม่ได้คว้าแชมป์หรือใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะแข่งสักเกม มันจึงยากที่จะทำให้มันได้รับความสนใจอย่างสาธารณะชนอย่างมั่นคง”
“บาสเก็ตบอลฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของชาวฟิลิปปินส์ มันเป็นศาสนาหนึ่ง”
ทว่า เหล่านักเตะลูกครึ่งเหล่านี้ก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ว่าควรค่าที่จะสวมเสื้อขาวน้ำเงินของฟิลิปปินส์ ทั้งการย้ายมาใช้ชีวิตที่นี่ รวมถึงลงเล่นให้กับสโมสรในท้องถิ่น
“ไม่ว่าจะมีเลือดฟิลิปปินส์หรือไม่ เราก็อยากถูกเรียกว่าคนฟิลิปปินส์” ชร็อค กัปตันทีมชุดปัจจุบันบอกกับ Goal
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความหวังที่จะให้เกมลูกหนัง เป็นช่องทางหลบหนีจากปัญหาในสังคม ทั้งความยากจน การคอร์รัปชั่น และทำให้ขุนพล “อัซคาลส์” กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของประเทศชาติอีกครั้ง
“ฟิลิปปินส์ มีปัญหามากมายในตอนนี้ เราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว เรายังคงเป็นประเทศหาเช้ากินค่ำ ด้วยอัตราการออมที่ต่ำมาก” เดวิด ที่ดูแลโปรแกรมการแข่งขันฟุตซอลของ AFC กล่าวกับ South China Morning Post
“เราไม่มีวัฒนธรรมการพักผ่อนเหมือนกับชาวอเมริกันหรือยุโรป เพราะเราจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นในทุกวัน”
“สำหรับผม ข้อความที่ผมหวังให้ทีมชาติชุดนี้ได้สื่อสารแก่ผู้คน คือฝันและทำ มันต้องทำงานควบคู่กันไป และฟุตบอลก็จะมอบอีกพื้นที่หนึ่งในชีวิตให้เรา”
สำหรับศึกลูกหนังชิงแชมป์อาเซียนเป็นรายการที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดย 11 ชาติที่อยู่ในภูมิภาคนี้ จะลงชิงชัยเพื่อชิงความเป็นหนึ่งด้านเกมลูกหนัง ว่ากันว่านี่คือการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
นี่ถือเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันที่ Yanmar เป็นสปอนเซอร์หลักของการแข่งขันรายการนี้ หลังเคยเป็นมาแล้วในปึ 2016, 2018 และ 2020 โดย Yanmar จะโปรโมตการแข่งขันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนในระหว่างทัวร์นาเมนต์
“Yanmar ต้องการเป็นพลังขับเคลื่อนการใช้ชีวิตที่ก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสนับสนุนชีวิตของคนในภูมิภาคนี้ ผ่านผลิตภัณฑ์, การให้บริการ, และทางเลือกในอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำประมง ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Yanmar จะส่งต่อประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและแบ่งปันความสุขผ่านเกมฟุตบอล” สึโตมุ มูรายามะ ผอ.ฝ่ายธุรกิจกีฬาของ Yanmar กล่าว
สำหรับ การเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอล AFF MITSUBISHI ELECTRIC CUP 2022 หนนี้ Yanmar จะทำกิจกรรมในภูมิภาคนี้ภายใต้สโลแกนที่ว่า “#Football is our engine -Challenge for tomorrows, together-" เพื่อตอกย้ำถึงความปรารถนาที่จะสนับสนุนผู้คนที่ต้องการท้าทายกับอนาคตต่อไป โดยมีฟุตบอลเป็นแรงขับเคลื่อนของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แหล่งอ้างอิง
https://www.scmp.com/sport/football/article/2181099/afc-asian-cup-half-breed-pilipinas-players-symbolise-what-it-means-be
https://www.goal.com/en/news/a-football-manager-miracle-how-six-native-germans-are-writing-history-with-the-philippines/1txq5z57n9f0v12dy03c3o6uov