คาเซมิโร แห่ง AFF : บทบาทกองกลางยุคใหม่ที่คลาสของ ธีราทร ตอบโจทย์ทุกข้อ
โลกของฟุตบอลมีวิวัฒนการของแต่ละยุคแต่ละสมัย ในแต่ละยุคก็จะมีตำแหน่งการเล่นที่หายไป และมีบางตำแหน่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ของช่วงเวลานั้น ๆ
และในยุคนี้ที่เป็นยุคของฟุตบอลเเบบเพรสซิ่ง และ ทรานซิชั่น หนึ่งในตำแหน่งที่สำคัญกับวิธีการเล่นแบบนี้มาก ๆ คือมิดฟิลด์ในแบบของหมายเลข 6+8 ซึ่งมีต้นแบบที่ยอดเยี่ยมในระดับโลกอย่าง คาเซมิโร่ หรือถ้าใกล้ตัวเราในระดับอาเซียนก็คือวิธีการเล่นแบบ ธีราทร บุญมาทัน ที่เพิ่งแสดงให้เห็นความเหนือชั้นใน AFF2022
ตำหน่ง 6+8 เกิดขึ้นจากไหน ทำไมตำแหน่งนี้ถึงเข้ามามีบทบาทในโลกฟุตบอลยุคนี้ ติดตามที่ ThinkCurve - คิดไซด์โค้ง
ยุคสสมัยแห่งเพรสซิ่ง และ ทรานซิชั่น
หากอ้างอิงจากฟุตบอลโลก 2022 เราสามารถบอกได้ทันทีว่าโลกฟุตบอลในยุคสมัยนี้คือยุคที่การ เพรสซิ่ง และ ทรานซิชั่น คือหัวใจสำคัญในการเอาชนะ
เพรสซิ่ง คือการวิ่งไล่กวดคู่แข่งอย่างมีระบบระเบียบแบบแผนเพื่อเอาบอลกลับมาให้ฝั่งตัวเองให้ได้เร็วที่สุด ส่วนทรานซิชั่นนั้นคือ การเปลี่ยนสถานการณ์จากเกมรับเป็นเกมรุกหรือเปลี่ยนจากเกมรุกเป็นเกมรับด้วยความเร็ว ใช้บอลให้น้อยจังหวะที่สุด
วิธีการเหล่านี้แต่ก่อนถือเป็นศาสตร์ระดับสูง ถ้านักเตะความฟิต เซ้นส์บอล และทัศนคติไม่ดีพอไม่มีทางจะทำการเพรสซิ่งและทรานซิชั่นออกมาให้ได้สมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันถ้าโค้ชไม่เก่งและเชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ การเพรสซิ่ง หรือการทรานซิชั่นก็เหมือนกับการฆ่าตัวตาย เพราะวิธีการเหล่านี้นั้นอาศัยความแม่นยำเป็นอย่างมาก ยืนผิดตำแหน่งนิดเดียว หรือส่งบอลน้ำหนักผิดนิดเดียว จากที่ทีมของคุณจะเป็นฝ่ายได้บุก จะกลายเป็นการเสียบอล และเปิดพื้นที่ให้อีกฝั่งสวนกลับมาเล่นตัวเองแทน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโลกเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ข้อมูลและวิธีการไม่ใช่สิ่งที่หากันไม่ได้ และศาสตร์ของการเพรสซิ่งและทรานซิชั่นก็เดินทางไปทั่วโลก เพื่อให้เห็นภาพง่าย ๆ คุณลองนึกภาพทีมจากชาติเอเชียในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา เดิมทีชาติเอเชียเเทบจะกลายเป็นทีมที่อ่อนที่สุดในทัวร์นาเม้นต์ แทบไม่ต้องพูดถึงการคว้าชัยชนะ แค่ยิงประตูได้สักลูกก็เก่งแล้ว
แต่ในฟุบอลโลก 2022 ทีมอย่าง ซาอุดิ อาระเบีย, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ นั้นแสดงให้เห็นชัด ๆ เลยว่าพวกเขาเล่นฟุตบอลตามเทรนด์ของโลกได้เรียบร้อยเเล้ว หลาย ๆ ประตูของพวกเขามาจากการสวนกลับ เปลี่ยนจากรับเป็นลุกภายในเสี้ยววินาที ชัดที่สุดคือเกมที่ ซาอุดิอาระเบีย ชนะ อาร์เจนตินา 2-1
โดย ซาอุดิอาระเบีย ไม่ได้ถอยลงไปอุดในเเดนตัวเองเหมือนกับที่เคยเป็นมา พวกเขาใช้แนวรับยืนสูงเพื่อคอยตัดบอลผู้เล่นอาร์เจนตินาตั้งแต่จังหวะแรก อย่างประตูแรกที่พวกเขาได้ (ตีเสมอ 1-1) ก็เกิดจากการรุมกินโต๊ะ เมสซี่ ตั้งแต่กลางสนามโดยใช้กองกลาง 2 คนตัดบอล และเมื่อตัดได้สำเร็จพวกเขาก็แทงบอลพรวดเดียวไปที่แนวรุกทันที ไม่มีแปะออกข้าง ไม่มีย้อนหลังใด ๆ ทั้งสิ้น และนั้นเป็นที่มาของทั้งประตูแรก และประตูตัดสินเกมของ ซาอุดิอาระเบีย
เมื่อต้องชิงบอลแดนกลางให้ได้ มันจึงเป็นโจทย์สำหรับกองกลางยุคใหม่ในทันที แต่เดิมโลกฟุตบอลมักจะแบ่งหน้าที่ของกองกลางเป็น 2 แบบ คือตัวรุก และตัวรับ เพื่อเห็นภาพง่าย ๆ ในช่วงต้นยุค 2000s ตัวรับก็จะมีนักเตะที่เล่นเกมรับอย่างเดียวแบบโคล้ด มาเกเลเล่ ส่วนตัวรุกก็จะคอยสร้างสรรค์เกมอย่างเดียวแบบ ซีเนอดีน ซีดาน ... ทั้ง 2 ตำแหน่งแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แต่ในยุคปัจจุบัน เทรนด์ของกองกลางยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ไปทั่วสนามและเล่นตามเซ้นส์
เมื่อต้องตัดบอลและสร้างเกมรุกคนเดียว นักเตะกองกลางยุคใหม่ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง ใครที่ปรับตัวไม่ได้ก็ตกยุค ส่วนใครที่มีคุณสมบัติดี ทัศนคติเยี่ยม และปรับตัวได้ พวกเขาเหล่านั้นจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างได้ทันทีขอแค่ได้ลงมายืนเป็นกองกลางให้กับทีม
ยกตัวอย่างที่ คาเซมิโร่ อีกครั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยมีนักเตะแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว นั่นทำให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็น ยูไนเต็ด เสียประตูจากการส่วนกลับของคู่แข่งแบบแทงพรวดเดียวทะลุมาถึงหน้าปากประตูอยู่บ่อย ๆ แต่ คาเซมิโร่ ทำให้ปัญหานี้หมดไป เขาเก็บเกลี้ยงด้วยทักษะการแย่งบอลที่แม่นยำ การอ่านสถานการณ์ล่วงหน้าไปยืนรอในตำแหน่งที่ได้เปรียบ นั่นทำให้ ยูไนเต็ด เสียประตูน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในซีซั่นนี้ โดยเสียไป 20 ประตู เทียบกับช่วงเดียวกันในฤดูกาลที่แล้วที่ไม่มีคาเซมิโร พวกเขาเสียประตูไปทั้งหมด 30 ลูก
แน่นอนว่าหน้าที่ของ คาเซมิโร ยังไม่ใช่กองกลางที่คอยปัดกวาดเกมรุกคู่แข่งเท่านั้น แต่เมื่อมีจังหวะบอลยาวของเขาจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทรานซิชั่นของ แมนฯ ยูไนเต็ด ทันที โดย คาเซมิโร สามารถวางบอลยาวทะลุไปถึงแนวรุกได้ถึง 48 ครั้ง จากการลงเล่นทั้งหมด 14 เกม นอกจากนี้ยังมีบอลทะลุช่องที่กลายเป็นที่มาของการได้ประตูอีกถึง 4 ครั้ง
กองกลางที่ครบเครื่องทั้ง แรง สมอง และทัศนคติ แบบนี้ จะสามารถดึงหรือเร่งจังหวะการเปลี่ยนรับเป็นรุกให้เห็นบ่อยครั้งมากอีกนับไม่ถ้วน ไหนจะรวมถึงการเติมเข้าไปเล่นในกรอบเขตโทษ ซึ่งเปลี่ยนเป็นประตูได้ถึง 2 ลูก นี่คือภาพของความครบเครื่องที่มิดฟิลด์ตัวกลางของฟุตบอลยุคใหม่ต้องการ
"สำหรับผม คาเซมิโร เหมือนกับผู้เล่นเบอร์ 5 เบอร์ 6 เบอร์ 9 และ เบอร์ 11 หรืออะไรก็ช่าง คุณคาดเดาไม่ได้หรอก เพราะเขาอยู่ทุกที่ของสนาม และไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนเขาก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีตลอด" โรดรีโก้ โกเอส กองหน้าทีมชาติบราซิล พูดถึง คาเซมิโร หลังจากกองกลางจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ยิงประตูชัยให้ บราซิล ชนะ สวิตเซอร์แลนด์ 1-0 โดยหลังเกมนั้น เนย์มาร์ ก็ยังออกมาพูดเองว่า คาเซมิโร คือกองกลางตัวรับที่เก่งที่สุดในโลก เพราะเขาไม่ได้เล่นแค่เกมรับ แต่มีอิทธิพลในแทบทุกจังหวะของเกมนั่นเอง
สโมสรดัง ๆ ในปัจจุบันต่างก็มีวิธีเล่นแบบมีกองกลางประเภทนี้ด้วยกันทั้งหมด ลิเวอร์พูล มี จอร์เเดน เฮนเดอร์สัน, แมนฯ ซิตี้ มี เควิน เดอ บรอยน์, อาร์เซน่อล มี กรานิต ชาก้า เป็นต้น
สาเหตุที่ต้องมีนักเตะแบบนี้ก็เพราะเมื่อมีพวกเขาอยู่ในสนาม เพื่อนร่วมทีมจะเล่นง่ายขึ้น เกมรับมีตัวชะลอเกมไม่ให้ฟุตบอลมาถึงพวกเขาเร็วเกินไป ขณะที่ตัวรุกก็ได้บอลมากขึ้น ซึ่งก็สะท้อนไปถึงโอกาสการยิงประตูที่มากขึ้นด้วย
ไม่ใช่แค่ในเกมระดับสูงอย่างฟุตบอลโลกเท่านั้น แม้แต่ใน AFF2022 เราก็ได้เห็นวิธีการเล่นกองกลางแบบ 6+8 ที่มีภาพชัด ๆ จากากรเล่นของ ธีราทร บุญมาทัน ที่เป็นแบ็คซ้ายอาชีพ แต่เมื่อขยับเข้ามาเล่นกองกลาง เราสามารถเห็นได้ชัด ๆ เลยว่าคลาสของเขาประคองทั้งทีมเอาไว้ได้อย่างหมดจด อีกทั้งยังเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ด้วยการ "อ่านจังหวะ ตัดบอล และจ่ายบอล" 3 สเต็ปง่าย ๆ แต่ทำให้ทีมชาติไทยได้ลุ้นประตูแทบทุกที ... และเราจะแจกแจงให้ชัดขึ้นในความสำคัญของของ "กัปตันอุ้ม" ที่มีต่อทีมชาติไทยชุดนี้
คาเซมิโร อาเซียน
บทบาทตลอดทั้งทัวร์นาเม้นต์ที่ มาโน่ โพลกิ้ง มอบให้ ธีราทร ใน AFF2022 คือกองกลางจอมทัพของเกม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นพื้นที่รับผิดชอบของธีราทร แทบจะไปในทั่วทั้งสนาม โดยในเกมที่ทีมชาติไทยลงเเข่งขัน ธีราทร จึงเป็นผู้เล่นที่มีระยะทางวิ่งในแต่ละเกมมากที่สุดแทบทุกเกมหากอ้างอิงจากสถิติจากทาง AFF ที่มักจะออกมาหลังจบเกมแต่ละแมตช์
และหากสังเกตุจากรายชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด ทั้ง คาเซมิโร, เดอ บรอยน์, ชาก้า หรือ เฮนเดอร์สัน คุณจะเห็นได้ว่าพวกเขาไม่ได้เล่นในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่แรก
แต่เวลาและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเกมแต่ละปี ทำให้พวกเขามีความเข้าใจเกมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งกองกลางที่เล่นในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักเตะรุ่นหนุ่ม ๆ แต่มักจะเป็นคนที่อยู่ในวัย 30 ต้น ๆ ทั้งสิ้น เรียกง่าย ๆ ว่าเมื่อมีพื้นฐานที่ดีแล้ว และเพิ่มประสบการณ์เข้าไป พวกเขาเหล่านี้จึงมีความเคี่ยวมากพอที่จะรับหลายบทบาทด้วยตัวคนเดียว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จะบอกว่ายิ่งแก่ ยิ่งเก่ง ก็คงไม่ผิดนักสำหรับรายชื่อที่กล่าวมา และ ธีราทร เองก็เช่นกัน เขาเริ่มจากตำแหน่งวิงแบ็ค แต่เมื่อผ่านเกมระดับสูงมา เขาสามารถเรียนรู้วิธีการเล่นที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นนักเตะที่มีประโยชน์ต่อทีมได้มากขึ้น ด้วยการขยับมายืนตรงกลาง ที่เป็นตำแหน่งที่เล่นยากกว่าด้านข้าง เพราะมีพื้นที่เล่นน้อย และจะต้องโดนรุมกินโต๊ะอยู่บ่อย ๆ
ไม่ใช่แค่วิ่งเยอะ แต่ยังเป็นการวิ่งแบบมีคุณภาพ กล่าวคือวิ่งเพื่อไปรอรับบอลต่อจากเพื่อน หรือวิ่งเพื่อไปคอยซ้อนดักเล่นจังหวะ 2 ดังที่เราได้เห็นกันเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้คิดไปเองแต่อย่างใด เพราะ ธีราทร เป็นนักเตะที่มีสถิติในเกมรุกและรับโดดเด่นพอ ๆ กัน หากคนไม่รู้จักเขา หรือไม่เคยดูฟุตบอลไทยมาก่อน อาจจะเดาจากสถิติของ ธีราทร ไม่ออกเลยว่า เขาเล่นตำแหน่งไหนกันแน่ ?
ในส่วนของเกมรุกนั้น ธีราทร มีสถิติสุดยอดจากการทำไป 6 แอสซิสต์จาก 7 เกม คว้าแมน ออฟ เดอะ แมตช์ ไป 3 ครั้ง สร้างโอกาสการทำประตูได้ถึง 27 ครั้ง, ครอสบอลสำเร็จ 10 ครั้ง และจ่ายอลแบบคิลเลอร์พาส อีก 21 ครั้ง ... นี่คือสถิติของ เพลย์เมคเกอร์ชัด ๆ
อย่างไรก็ตามในทัวร์นาเม้นต์นี้เกมรับของ ธีราทร ก็ถือว่าสุดจัดอีกเช่นกัน เขาแย่งบอลสำเร็จถึง 8 ครั้ง, แท็คเกิลชนะคู่แข่ง 9 ครั้ง, บล็อคลูกยิงได้ 2 ครั้ง ... คุณสามารถเห็นได้เลยว่า ธีราทร สามารถทำได้ทั้งตัดเกมและเปิดเกมในตัวคนเดียว นี่คือคุณสมบัติของมิดฟิลด์สมัยใหม่ แบบเอาวิธีการเล่นของ เบอร์ 6 มารวมกับเบอร์ 8 อย่างแท้จริง
การมีนักเตะแบบนี้อยู่ในทีมนำมาซึ่งสมดุลของเเดนกลางที่ยอดเยี่ยม ต่อให้โดนกดจากแนวรุกคู่แข่ง ก็จะสามารถกลับมาอยู่ในเกมของตัวเองได้ตลอด และสามารถหาวิธีแก้ปัญหาในเกมได้ด้วยเชาว์วัยไหวพริบ
ยกตัวอย่างเช่นการเล่นร่วมกันของ ธีราทร, สารัช อยู่เย็น และ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี นั้น ทั้ง 3 คน ไม่ใช่กองกลางตัวรุกเลยสักคน แต่เมื่อลงเล่นร่วมกันแล้ว สมดุลมันเกิดขึ้น เพราะว่าพวกเขามีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน หมุนเวียนตำแหน่ง ทดแทนกันได้ตลอด เมื่อมีคนหนึ่งบุก อีกคนก็จะรู้ว่าตัวเองจะไปยืนอยู่ตรงไหนเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเกมรุกและเกมรับมากที่สุด นั่นเองที่ทำให้ไทยสามารถเป็นฝ่ายครองเกมได้สบาย ๆ ในแทบจะทุกเกมที่ลงสนามในทัวร์นาเม้นต์นี
หรือต่อให้บางจังหวะที่มีคนเสียตำแหน่ง พวกเขาก็จะทำหน้าที่ทดแทนกันได้ตลอดเวลา ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้กองกลางทีมชาติไทนหาจุดลงตัวเจอนับตั้งแต่เกมรอบน็อคเอาต์เป็นต้นมา
สิ่งที่เราได้เห็นจาก ธีราทร นั้นอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ คลาสบอล อย่างแท้จริง เพราะนักเตะที่คลาสถึงจะสามารถอ่านสถานการณ์ล่วงหน้าได้ดี ครอสบอลด้วยสัญชาติญาณ จ่ายบอลทะลุแนวรับจังหวะเดียว หรือการเล่นร่วมกับเพื่อนเพื่อตีชิ่งเอาบอลออกจากสถานการณ์กดดัน
ทุกอย่างคือภาพที่แฟนบอลไทยเห็นจนชินตาจากธีราทร ใน AFF2022 ครั้งนี้ และวิธีการเล่นแบบนี้แหละที่ขึ้นชื่อว่า "มิดฟิลด์สมัยใหม่" อย่างแท้จริง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
1.ไกด์บุ๊คฉบับสมบูรณ์ : AFF มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 แต่ละชาติเน้นกันเบอร์ไหน ?
2.โมเดิร์นกัมพูชา : ‘ฮอนดะสไตล์’ การสอนให้นักเตะ วิ่ง บู๊ และกินอยู่แบบมืออาชีพ
3.กรณีศึกษาจากต่างประเทศ : ไทยควรจัดการกับแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามอย่างไร ?
แหล่งอ้างอิง
https://www.besoccer.com/new/casemiro-is-a-number-5-9-and-11-he-plays-everywhere-1207244
https://www.espn.com/soccer/fifa-world-cup/story/4827905/why-brazils-casemiro-is-essential-to-their-world-cup-hopes
https://english.alarabiya.net/sports/2022/11/24/Explainer-How-did-Saudi-Arabia-beat-Argentina-