กรณีศึกษาจากต่างประเทศ : ไทยควรจัดการกับแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามอย่างไร ?
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ส่อแววโดนสมาพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) ลงโทษสถานหนักกว่าการปรับเงิน หลังจากการแข่งขัน ฟุตบอลยู 17 ชิงแชมป์ เอเชีย 2023 ในเกม ไทย แพ้ เกาหลีใต้ 1-4 จากแฟลร์ที่แฟนบอลจุดและโยนลงไปในสนาม
ก่อนหน้านี้ ไทย ได้รับบทลงโทษจาก AFC มาแล้ว 2 ครั้ง เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 ในฟุตบอล AFC U16 ที่ไทยพบกับมาเลเซีย ที่สนามธันเดอร์โดม เมืองทอง ซึ่งทาง AFC ก็ปรับไป 11,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 363,000 บาท
ส่วนครั้งที่สองเมื่อปี 2016 ในฟุตบอลอาเซียนคัพนี่แหละครับ เกมที่ไทย ชนะ อินโดนีเซีย 2-0 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งก็ถูกปรับเงินเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,076,790 บาท ก็ขึ้นมาเกือบสามเท่าจากครั้งแรกเพราะเป็นความผิดซํ้าเดิม
แต่ยังมีแฟนบอลบางกลุ่มไม่เข็ดหลาบ ...
แน่นอนว่า สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องได้รับบทลงโทษที่หนักขึ้นกว่าเดิม และมีโอกาสถึงขั้นถูกสั่งให้ลงเล่นในสนามที่ไม่มีแฟนบอล ซึ่งถือเป็นความเสียหายใหญ่หลวงสำหรับทีมชาติไทย และแฟนบอลคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย เพราะมันเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ลีกยุโรปที่ถูกมองว่าก้าวหน้าที่สุด แล้วพวกเขามีวิธีรับมือและบทลงโทษกับแฟนบอลที่ชอบแหกคอกเหล่านี้อย่างไร ? Think Curve - คิดไซด์โค้ง หาคำตอบมาให้แล้ว
แฟลร์คืออะไรทำไมใช้ในการเชียร์บอล
ความจริงแล้วพลุแฟร์คืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือ กรณีที่คุณพลัดหลงเข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและหาทางออกไม่ได้ พลุแฟร์นี่แหละก็จะถูกใช้เป็นสัญญาณบ่งบอกตำแหน่งของคุณ แต่มันถูกนำเข้ามาในวงการฟุตบอล โดยกลุ่มแฟนบอลสายฮาร์ดคอร์ที่เรียกตัวเองว่า ”อุลตร้า” เพื่อใช้ประกาศศักดาตอนเชียร์ในสนาม ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
โทษของการจุดพลุแฟร์ในสนามมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสร้างมลพิษในอากาศ บดบังทัศนวิสัยตอนชมเกม หรือ บางคนถึงขนาดนำมาเป็นอาวุธทำร้ายแฟนบอลฝั่งตรงข้าม ซึ่งเคยมีกรณี จอห์น ฮิลล์ แฟนบอลทีมชาติสก็อตแลนด์ วัย 67 ปี เสียชีวิตเพราะโดนพลุแฟร์ปาเข้าที่ศีรษะ ตอนจบเกมทีมชาติเมื่อปี 1993 มาแล้ว
นั่นทำให้องค์กรลูกหนังทั่วโลกต้องออกมาตรการคุมเข้ม ไม่อนุญาตให้แฟนบอลพกพลุแฟร์เข้าสนาม หากใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ ทั้งการแบนและปรับเงิน ไม่เพียงแค่แฟนบอลที่ก่อเรื่องเท่านั้น แต่ทีมหรือสโมสรของแฟนบอลคนนั้นก็ต้องถูกลงโทษด้วย หากเป็นกรณีร้ายแรงอาจต้องลงเล่นในสนามที่ไม่มีแฟนบอลได้เลย
ตัวอย่างเช่น สหพันธ์ลูกหนังนานาชาติ (ฟีฟ่า) ส่งปรับเงินสมาคมฟุตบอลเวลส์ 13,000 ยูโร (480,000 บาท) เพราะมีแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในเกมเพลย์ออฟฟุตบอลโลก 2022 ที่ชนะยูเครน 1-0 ซึ่งกรณีนี้เวลส์ยังไม่ได้ลงโทษแฟนบอลที่ก่อเรื่อง แค่เตือนว่าถ้ามีการทำผิดแบบนี้อีกครั้ง จะใช้มาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด
ขณะที่ในประเทศอังกฤษนั้น การนำพลุแฟร์เข้าสนามบอล ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เพราะคุณจะมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายการจัดอีเว้นท์กีฬาปี 1985 ทันที ซึ่งคุณมีสิทธิ์ต้องถูกส่งเข้าไปสำนึกผิดในคุกเป็นเวลา 3 เดือน
ทว่าสมาคมฟุตบอลอังกฤษยังไม่ได้ใช้มาตรการที่เด็ดขาดเท่าที่ควร ทำให้ยังมีแฟนบอลละเมิดข้อห้ามจุดพลุแฟร์ในสนามให้เห็นอยู่เนือง ๆ กระทั่งมาถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งเกิดขึ้นที่สนามเอติฮัด สเตเดี้ยม ในเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล 2021/22
วันนั้น แมนฯ ซิตี้ พลิกสถานการณ์กลับมาชนะ แอสตัน วิลล่า 3-2 เข้าป้ายคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกไปครองแบบเหลือเชื่อ แต่ดันมีแฟนบอลตัวแสบของเจ้าถิ่นรายหนึ่ง ก่อเรื่องปาพลุแฟร์ไปยังที่นั่งกองเชียร์ทีมเยือน สุดท้ายเขาก็โดนปรับเงินไป 1,440 ปอนด์ (60,000 บาท) และถูกแบนไม่ให้เข้าชมเกมในสนาม 3 ปี
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้พรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลลีกอังกฤษ (EFL) และสมาคมนักเตะอาชีพอังกฤษ (PFA) ประกาศเดินหน้าจัดการกับแฟนบอลกลุ่มนี้แบบจริงจัง รวมถึงแฟนบอลที่มีพฤติกรรมวิ่งลงสนามและปาข้าวของลงมา ด้วยการออกมาตรการบทลงโทษที่เข้มข้นมากขึ้น
นับจากนี้แฟนบอลแหกคอกเหล่านี้จะไม่เพียงถูกแบนหรือปรับเงินเท่านั้น แต่สโมสรจะส่งชื่อแฟนบอลที่ก่อเรื่องไปให้กับตำรวจ จากนั้นพวกเขาเหล่านี้ก็จะมีประวัติอาชญากรรมติดตัวตลอดไป ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งต่อการใช้ชีวิตของพวกเขา ทั้งการยื่นสมัครงาน, ยื่นสมัครเรียน หรือบางคนหนักข้อก็อาจต้องถูกส่งตัวเข้าคุก
“ตั้งแต่ฤดูกาล 2022/23 เป็นต้นไป สโมสรจะส่งชื่อแฟนบอลที่ทำผิดทุกคนไปให้กับตำรวจ และพวกเขาก็จะมีประวัติอาชญากรติดตัวตลอดไป” แถลงการณ์ร่วมของ พรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลลีกอังกฤษ (EFL) และสมาคมนักเตะอาชีพอังกฤษ (PFA)
“และใครก็ตามที่ยังจุดพลุแฟร์ก็จะถูกแบนโดยอัตโนมัตทันที ในกรณีที่คนก่อเรื่องเป็นเยาวชน พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็จะต้องถูกแบนไม่ให้เข้าสนามด้วย”
นอกจากแฟนบอลแล้ว สมาคมอังกฤษ (FA) ยังลงโทษนักเตะที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างเคสของ ริชาร์ลิซอน ก็โดนแบน 1 เกมมาแล้ว ตอนที่ลงเล่นกับเอฟเวอร์ตัน หลังเขาฉลองประตูชัยเหนือเชลซี ด้วยการโยนพลุแฟร์กลับไปบนอัฒจันทร์ หรือกรณีของ ฮาร์วีย์ เอลเลียต กองกลางดาวรุ่งของลิเวอร์พูล ก็เคยถูก FA ตักเตือนเช่นกัน จากการถือพลุแฟร์ฉลองหลังชนะจุดโทษเชลซี และคว้าแชมป์คาราบาว คัพ ในฤดูกาลที่ผ่านมา
ส่วนลีกออสเตรเลีย พวกเขาแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้มาตรการที่เด็ดขาด นั่นคือหากใครฝ่าฝืนจุดพลุแฟร์ในสนามและนำมันมาใช้ในทางที่ผิด พวกเขาจะถูกปรับเงิน 5,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (174,000 บาท) และถูกจำคุก 2 ปี เรียกได้ว่าพวกเขาพร้อมลงโทษแฟนบอลที่ก่อเรื่องแบบไร้ความปราณี
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าจะพยายามให้ความรู้กับแฟนบอลในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดพลุแฟร์ให้หมดไปจากสนามฟุตบอลได้ และนี่ก็ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กำลังจะโดนลงโทษเรื่องนี้ในเกมระดับนานาชาติ
มันพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ไม้อ่อนไม่ได้ผลกับแฟนบอลบางคน หรือบางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องใช้ไม้แข็งแบบต่างประเทศ เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมที่ถ่วงความเจริญแบบนี้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะกัดกร่อนวงการฟุตบอลไทยไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้จักจบจักสิ้น
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ยุคนั้นมีใครบ้าง : ตามหาเเข้งไทยยู-17 ที่ไปเล่นบอลโลก 1999
Outside In : ฟุตบอลโลก U17 1999 ทัวร์นาเมนต์ล่าสุดที่ไทยไปโชว์ฝีเท้าในระดับโลก
“ถ้าเขามีผู้เล่นชุดที่ดีที่สุด” : มุมมอง ‘โค้ชอ๊อตโต้’ ถึง ‘มาโน่’ ช่วงแฟนบอลเริ่มเสียงแตก
แหล่งที่มา : https://www.bbc.com/news/uk-scotland-35402735
https://www.thesun.co.uk/sport/19323159/wales-fine-flares-fifa-world-cup-ukraine/
https://www.liverpoolecho.co.uk/news/liverpool-news/fan-banned-throwing-flare-pitch-24308441
https://theathletic.com/3449074/2022/07/25/footballing-bodies-announce-tougher-measures-to-tackle-fan-disorder/
https://www.sportingnews.com/au/football/news/a-league-flare-fans-to-be-severely-punished/s9mchor7jfh113891ynzlzz8k