ลูปท่าเรือฯ : วังวนเดิมกับการหวังผลลัพท์ใหม่... เป็นได้จริงหรือ ?

ลูปท่าเรือฯ : วังวนเดิมกับการหวังผลลัพท์ใหม่... เป็นได้จริงหรือ ?
ชยันธร ใจมูล

การท่าเรือเปลี่ยนโค้ชไปแล้ว 18 ครั้ง นับตั้งแต่ นวลพรรณ ล่ำซำ หรือ "มาดามแป้ง" เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในปี 2015

ตลอดระยะเวลา 8 ปี แม้จะมีความสำเร็จคือแชมป์ เอฟเอ คัพ ในปี 2019 แต่ปัญหาที่หลายคนมองเห็นคือพวกเขามักจะเลือกโค้ชในแบบที่เป็น "คนใน" อยู่เสมอ และบ่อยครั้งความสำเร็จก็ไม่เกิดขึ้นตามที่หวัง

ล่าสุดเป็นคิวของ โชคทวี พรหมรัตน์ และ สุรพงษ์ คงเทพ ที่รับบทกุนซือคู่ ซึ่งก็ยังคงเป็นประเด็นสำหรับแฟนฟุตบอลไทยอยู่เหมือนเดิม… ซึ่งจริงแล้วนี่ไม่ใช่ของใหม่เพราะโลกฟุตบอลก็มีทีมจากลีกท็อป ๆ ที่มีการตัดสินใจแต่งตั้งและปลดโค้ชแบบไม่เหมือนกันใครเช่นนี้  … ซึ่งหากสืบฟุตบอลต่างประเทศปลายทางของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?

ติดตามที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

การเลือกสรรจากคนรอบข้าง

มาดามแป้ง เข้ามาเทคโอเวอร์ท่าเรือในปี 2015 และวางเป้าหมายว่าจะพาสโมสรเก่าแก่ของวงการฟุตบอลไทยที่มีแฟนบอลเหนียวแน่นกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ให้ได้

ทว่าในโลกแห่งฟุตบอลนั้นมีรายละเอียดมากมายเหลือเกิน ไม่ใช่แค่การส่งนักเตะที่เก่ง ๆ 11 คนลงไปในสนามจะสามารถการันตีการันตีชัยชนะและความสำเร็จ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต้องผสมกันให้ได้อย่างลงตัวตั้งแต่เจ้าของทีม ผู้บริหาร เฮ้ดโค้ช นักเตะ และแฟนบอล ซึ่งตลอดการทำทีมของ มาดามแป้ง ยังไม่เคยมีปีไหนที่การท่าเรือ ก้าวขึ้นมาลุ้นเเชมป์ไทยลีกอย่างที่หวังได้เลยแม้แต่ปีเดียว ... จุดนี้แสดงให้เห็นชัด ๆ ว่าพวกเขามีปัญหาจริง ๆ ในส่วนใดส่วนหนึ่งของกระบวนการการทำทีมฟุตบอล

สิ่งแรกที่มองได้ง่ายที่สุดคือ "เฮ้ดโค้ช" นับตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบันมีเพียงกุนซือ มาซิฮิโร วาดะ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นกุนซือที่มาดามแป้งไม่ได้มีความสนิทสนมชิดเชื้อมาก่อน ส่วนที่เหลือนั้นก็อย่างที่แฟนบอลได้เห็นกัน ท่าเรือ เปลี่ยนโค้ชทั้งหมด 14 คน จากการเปลี่ยนโค้ชทั้งหมด 18 ครั้ง ... แน่นอนหากวัดจากความสำเร็จที่สโมสรแห่งนี้ได้มาก ส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักจะล้มเหลวกับการแต่งตั้งโค้ชมากกว่าการประสบความสำเร็จ

Photo : Football Tribe

การเลือกโค้ชผิดไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทุกสโมสรบนโลกนี้ล้วนแต่เคยได้ประสบกับปัญหานี้มาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าของการท่าเรือออกจะแตกต่างกับทีมอื่น ๆ อยู่สักหน่อย ตรงที่แม้กุนซือที่เคยทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง ก็ยังถูกนำกับมาคุมทีมอีกครั้ง ซึ่งในรายของ จเด็จ มีลาภ นั้นเคยได้รับโอกาสการคุมทีมท่าเรือถึง 3 ครั้งทั้งในรูปแบบของการคุมทีมอย่างเป็นทางการ และรักษาการณ์ชั่วคราว นอกจากนี้ สระราวุฒิ ตรีพันธ์ ที่ได้โอกาสคุมทีมอีก 2 หน

แน่นอนว่าสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจเป็นของ "มาดามแป้ง" ที่ถือเป็นยอดของปิระมิดสำหรับสโมสรแห่งนี้ ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้กับคำวิจารณ์จากสื่อและแฟนบอลในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ซึ่งหนล่าสุดก็เป็นการใช้กุนซือคนเดิมเป็นหนที่ 3 แล้วหลังจากแต่งตั้ง โชคทวี พรหมรัตน์ เข้ามาเป็นกุนซือโดยจะทำงานคู่กับ สุรพงษ์ คงเทพ

ไม่มีอะไรการันตีว่าท่าเรือจะกลับมายิ่งใหญ่ได้ในยุคนี้ เช่นเดียวกันกับไม่มีอะไรการันตีได้ว่าพวกเขาจะล้มเหลว ... ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแผนงาน และการสนับสนุน และการลงมือทำ ซึ่งการแต่งตั้งโค้ชคนเดิมเป็นหนที่ 3 หนนี้ อาจจะเป็น Third Time Lucky ก็ได้ใครจะไปรู้

Photo : Goal

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นแค่ในฟุตบอลเท่านั้น เพราะในฟุตบอลต่างประเทศก็เคยมีการแต่งตั้งโค้ชคนเดิมซ้ำ ๆ มาทำงานแบบนี้เช่นกัน และมากกว่าที่การท่าเรือทำอีกด้วยซ้ำ สโมสรที่เคยทำแบบนี้ชื่อ ปาแลร์โม่ เป็นสโมสรในประเทศ อิตาลี ที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาพวกเขาใช้โค้ชคุมทีมไปแล้วทั้งหมด คน 40 คน และมีโค้ชบางคนที่ได้กลับมาคุมทีมถึง 5 ครั้ง และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปาแลร์โม่ ซึ่งอาจจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับการท่าเรือก็เป็นได้

ปาแลร์โม่ ในมือของเศรษฐีเฒ่า

เรื่องราวของ ปาแลร์โม่ นั้นก็เหมือนกับของท่าเรือ คือนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาพวกเขาใช้งานโค้ชไปแล้วทั้งหมด 40 คนเหนือสิ่งอื่นใดคือหากนับเป็นจำนวนครั้งในการแต่งตั้งโค้ชใหม่ตั้งแต่ปี 2002 ถึงตอนนี้ ปาแลร์ แต่งตั้งโค้ชใหม่ไปแล้วทั้งหมด 57 ครั้ง ... และคนที่ได้สิทธิ์ขาดในการตัดสินใจมีเพียงผู้เดียวคือ เมาริซิโอ ซามปารินี่  ประธานสโมสรของพวกเขา

ซามปารินี่ จัดว่าเป็นนักธุรกิจในระดับเศรษฐี มีธุรกิจในมือมากมายโดยเฉพาะการบริหารห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Emmezeta เขาเป็นเจ้าของทีมแบบปั้นแล้วขายมาแล้วหลายหน จนกระทั่งมาเจอกับ ปาแลร์โม่ ในปี 2002 ซึ่งในช่วงเวลาการทำงานที่นั่น ซามปารินี่ ได้รับการกล่าวขานถึงในแง่ความเอาแต่ใจ มีข้อเรียกร้องตลอดเวลา และชอบแทรกแซงการทำทีมของเฮ้ดโค้ชอยู่เสมอ นั่นเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ไม่ว่าโค้ชคนไหนเข้ามาก็ทำงานกับเขาได้ไม่นาน  

โดย 1 ในคนที่คุมทีม ปาแลร์โม่ ได้เกิน 2 ปีคือ ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน ที่มักจะออกมาบอกเล่าถึงความหนักหน่วงในการทำงานร่วมกับเจ้าของสโมสรอย่าง ซามปารินี่ ว่าเยอะทุกเรื่อง และยอมรับว่าเขาเองก็ไม่อยากจะเชื่อที่ตัวเองสามารถคุมทีม ปาแลร์โม่ ได้นานขนาดนั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่มีเจ้านายที่คาดเดาจิตใจและการกระทำได้ยาก

Photo : The Sun

นอกจาก กุยโดลิน แล้วยังมี ริโน่ ฟอสซี่ ที่เคยเป็นผู้อำนวยการสโมสรของ ปาแลร์โม่ ก็ออกมาเล่าตรงกันว่า ซามปารินี่ อยากมีส่วนกับทุกเรื่องในการตัดสินใจเกี่ยวกับสโมสรแห่งนี้ และเขาก็ชื่นชมโค้ชอย่างกุยโดลิน ที่อดทนได้นานเหลือเชื่อ

"ซามปารินี่ เป็นคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในทุกการตัดสินใจของสโมสร ดังนั้นการที่ กุยโดลิน อยู่ในตำแหน่งกุนซือ ปาแลร์โม่ ได้รวมถึง 126 เกม ภายใต้การมีเจ้านายแบบนี้ ถือเป็นงานที่ยิ่งกว่าประสบความสำเร็จ มั่นใจได้เลยว่าประสบการณ์ทำงานของเขาจะต้องไม่เหมือนใครแน่ การรับมือกับ ซามปารินี่ นั้นหนักหน่วงและไม่แปลกเลยที่จะมีเพียงแค่ กุยโดลิน เท่านั้นที่ทนได้" ริโน่ ฟอสซี่ กล่าว

Photo : Palermo Today

วีกรรมของ ซามปารินี่ นั้นมีมากมาย เช่นการตบหน้าผู้อำนวยการสโมสร การแต่งตั้งโค้ชและไล่ออกหลังจากคุมทีมเพียง 1 เกม และเรียกกุนซือคนที่เคยโดนไล่ออกกลับมาคุมทีมอีกครั้งหลังเวลาผ่านไปไม่กี่อาทิตย์

ว่ากันว่า ซามปารินี่ คือชายชราอารมณ์ร้อนพร้อมจะด่าทุกคนที่ขวางหน้า และตัดสินใจได้ราวกับสายฟ้าผ่าเปรี้ยง!

ถ้าเขาไม่ชอบคือไล่ออกเลย ณ ตอนนั้น แต่อย่างไรเสียหากวันไหนเขาอารมณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่เขาก็พร้อมจะกลับมาง้อคนที่เขาเคยด่าออกสื่อแบบไม่กลัวเสียฟอร์มเช่นกัน...  

Photo : Eurosport

ส่วนสาเหตุที่เขาสามารถทุกอย่างได้ตามใจภายใต้การบริหารสโมสรแห่งนี้ก็คือ ระบบเจ้าของสโมสรในฟุตบอลอิตาลี ซึ่งแตกต่างจากลีกอื่น ๆ ที่มีการลงความเห็นจากกลุ่มผู้ถือหุ้น มีซีอีโอมืออาชีพเข้ามาบริหารโดยเฉพาะ ขณะที่ประธานมีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ลงมาเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสโมสรแบบที่ ซามปารินี่ ทำ

มาร์ค ดอดจ์ นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย ไบรท์ตัน ที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมฟุตบอลในประเทศ อิตาลี ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องของ ซามปารินี่ ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพราะมันคือความล้มเหลวของระบบเจ้าของทีมในลีกอิตาลี

"สโมสรจะถูกควบคุมโดยชายคนเดียวที่มีความเชื่อมโยงกับการเมือง และเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย และเขาคนนั้นเป็นคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดห้ามโต้เถียง เสียงของแฟนฟุตบอลไม่ได้มีความหมายอะไร" มาร์ค ดอดจ์ กล่าวในบทความของเว็บไซต์ vice.com  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ไล่ พรุ่งนี้เรียกมาใหม่ : เหตุใดลีกอิตาลีจึงชอบเรียกโค้ชเก่าที่ปลดไปกลับมาคุมอีก ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง ซาแลร์ติตานา สโมสรใน กัลโช่ เซเรีย อา กลายเป็นประเด็นในหน้าสื่อ เมื่อพวกเขาตัดสินใจเรียกกุนซือคนเก่า ดาวิดเด้ นิโคล่า กลับมาคุมอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งสั่งปลดไปได้แค่ 2 วัน


ผลกระทบที่ตามมา

แน่นอนว่าการเปลี่ยนโค้ชเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าไม่มีทางได้ผลลัพท์ที่ดี เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเอาอารมณ์เป็นที่ตั้งมากกว่าการคิด วิเคราะห์ และหาทางแก้ปัญหาอย่างละเอียด ดังนั้น ในช่วงฤดูกาล 2016-17 เป็นต้นมา ปาแลร์โม่ ก็ประสบปัญหาเรื่องฟอร์มการเล่นจนกระทั่งตกชั้นไปเล่นใน เซเรีย บี ในท้ายที่สุด

และเมื่อสโมสรตกชั้นลงเล่นไปในลีกล่างที่มีส่วนเเบ่งทางการตลาดน้อย ทำเงินได้ลดลงกว่าเดิม สุดท้าย ซามปารินี่ ก็ประกาศขายสโมสร ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ซึ่งนำพาปัยหามาอีกมากมาย เช่นการโดนสั่งให้ต้องไปแข่งขันในเซเรียดี (ดิวิชั่น 4 ของประเทศ) ในปี 2019 จากปัญหาการเงิน จนสุดท้ายทุกวันนี้ ปาแลร์โม่ ที่เปลี่ยนเจ้าของแล้วก็ยังไม่ฟื้น พวกเขาวนเวียนกับการเล่นในลีกล่างแบบที่ไม่เคยกลับมาเล่นในลีกสูงสุดได้อีกเลย

Photo : Bleacher Report

สิ่งทีเกิดขึ้นจากการตัดสินใจเพียงคนเดียวของเจ้าของสโมสร คือปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าเจ้าของทีมดี มีความรู้เรื่องฟุตบอล การบริหารสโมสร และการบริหารจัดการคน ก็ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีใครสามารถรั้งให้พวกเขาลงไปมือพาทีมไปข้างหน้าได้ เช่นเดียวกันหากเจ้าของทีมไม่สามารถรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และไม่เข้าใจฟุตบอลอย่างถ่องแท้ ที่สุดเเล้ว "การมีสิทธิ์ตัดสินใจขั้นตอนสุดท้ายแต่เพียงผู้เดียว" ก็จะกลายเป็นกุญแจสู่ประตูแห่งหายนะได้เช่นกัน

ท้ายที่สุดเราต้องวนกลับมาที่การท่าเรืออีกสักครั้งสำหรับการแต่งตั้งโค้ชใหม่ครั้งนี้ อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพวกเขาจะดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงเวลาหลังจากนี้ แต่หากดูจากกรณีศึกษาของ ปาแลร์โม่ เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าการเป็นผู้บริหารทีมฟุตบอลนั้นการตัดสินใจแต่ละครั้งสำคัญขนาดไหน มันก็เหมือนกับการติดกระดุม ถ้าผิดตั้งเม็ดแรก แต่ไม่แก้ปัญหาที่เม็ดที่ 2 เม็ดที่ 3 ก็ไม่มีทางที่ปัญหาทั้งหมดจะคลี่คลายได้ 100% อย่างแน่นอน ... ดังนั้นทุกความการตัดสินใจมีเดิมพันรออยู่เสมอ อยู่ที่ว่าพวกเขาจะเห็นความสำคัญของการตัดสินใจในแต่ละครั้งนั้นมากแค่ไหน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Y2K เดอะ ซีรี่ส์ : เรื่องเล่าสมัยไทยลีกยังเต็มไปด้วยขาโหดจาก "รุ่งโรจน์ สว่างศรี"

Y2K เดอะ ซีรีส์ : เปิดตำนาน “ชลขาโหด” ของ ชลทิตย์ จันทคาม

สิ่งสำคัญคือ “ภาพรวม” : เลือกลูกรัก(ในสายตาแฟนบอล)อย่างไรให้เฮ้ดโค้ชไม่โดนด่า ?

แหล่งที่มา

https://www.football-italia.net/58342/%E2%80%98guidolin-best-gattuso%E2%80%A6%E2%80%99

https://www.mediagol.it/notizie/palermo-la-storia-con-guidolin-dalla-coppa-uefa-allesonero-dopo-il-tris-del-genoa-al-barbera-zamparini/

https://www.football-italia.net/151800/foschi-zamparini-slapped-me

https://gentlemanultra.com/2016/12/16/maurizio-zamparini-the-successes-and-controversies-of-palermos-infamous-manager-eater/

https://www.sbnation.com/soccer/2013/6/12/4415360/maurizio-zamparini-palermo

https://en.wikipedia.org/wiki/Palermo_F.C.

https://www.bbc.com/sport/football/35581747

https://www.bbc.com/sport/football/36021148

https://in.reuters.com/article/soccer-italy-pal/palermo-make-eighth-coaching-change-of-season-idINKCN0X82LV

https://www.vice.com/en_uk/article/nzxvpq/round-and-round-we-go-how-palermo-have-changed-managers-eight-times-this-season

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ