มองผ่านมุมญี่ปุ่น : ทำไมระบบคัดบอลโลกโซนเอเชียจึงไม่เวิร์ค ?
มาตรฐานของ ทีมชาติญี่ปุ่น ณ เวลานี้ กลายเป็นทีมระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว แม้แต่อดีตแชมป์โลกอย่าง เยอรมัน และ สเปน ยังเสียท่าให้กับพวกเขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครต่อใครต่างมองว่า ญี่ปุ่น จองโควตาทวีปเอเชียแน่ ๆ แล้ว 1 ทีม สำหรับไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบสุดท้าย
เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เริ่มคัดเลือกบอลโลก 2026 ในรอบที่สอง และเปิดบ้านเอาชนะ เมียนมา ไปแบบสบาย ๆ 5-0 ชนิดไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งได้ง้างเท้ายิงแม้แต่ครั้งเดียว เรียกว่าเป็นบอลคนละชั้นก็ไม่ผิด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องทำนองนี้ ย้อนกลับไปฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก รอบสอง ญี่ปุ่น ก็ดาหน้าถล่ม เมียนมา 10-0 และไล่ยำ มองโกเลีย 14-0 พร้อมทำสถิติยิงไป 44 ประตู จาก 8 เกม เฉลี่ยเกมละ 5 ประตูกว่า ๆ
นี่คือเหตุผลที่ สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) พยายามแทงเรื่องถึง สหพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) ให้พิจารณาปรับกฎคัดเลือกใหม่ โดยเสนอให้ทีมแรงกิ้งฟีฟ่าสูงอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย ผ่านเข้าไปยืนรอในรอบที่ 3 เลย เพราะมองว่าการแข่งขันในรอบที่สองไม่เกิดประโยชน์ ด้วยความที่ฝีเท้าห่างกันเกินไป บางเกมชนะกันด้วยสกอร์สองหลัก แต่ถูก AFC ปฏิเสธกลับมา
ล่าสุดระบบคัดบอลโลกของเอเชียกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง คราวนี้ วาตารุ เอ็นโดะ กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ออกมาแสดงความเห็นว่า การลงเล่นในรอบสองเริ่มไม่มีความหมาย ขนาดแฟนบอลญี่ปุ่นยังไม่สนใจดู ทีมชาติญี่ปุ่น ลงเล่นในรอบนี้ จึงอยากให้ AFC เปลี่ยนระบบการคัดเลือกดู เพื่อยกระดับฟุตบอลเอเชียให้ดียิ่งขึ้น
"มีการพูดว่าการลงเล่นในรอบที่สองมีความหมายแค่ไหนกัน ไม่ใช่แค่ฟุตบอลโลกหนนี้ มันเป็นมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกครั้งก่อน (2022) แล้ว เราเอาชนะคู่แข่ง 10-0 แม้แต่ ทีมชาติญี่ปุ่น ยังไม่สามารถดึงดูดให้คนญี่ปุ่นดูเกมในรอบที่สองได้" เอ็นโดะ กล่าว
"ผมคิดว่าเราสามารถจัดฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกด้วยระบบอื่นได้ แต่การตัดสินใจสุดท้ายขึ้นอยู่กับ AFC แต่ผมคิดว่าในฐานะนักเตะ เรามีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น เพราะเราเองก็อยากยกระดับฟุตบอลเอเชียเหมือนกัน"
ก่อนหน้านี้ ฮาจิเมะ โมริยาสุ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติญี่ปุ่น ก็ออกมาให้ความเห็นคล้าย ๆ กัน หลังเห็นนักเตะเมียนมาถ่วงเวลา ทั้งที่มีสกอร์ตามหลังหลายลูก เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังสำหรับแฟนบอลที่ซื้อตั๋วเข้ามาชมเกม
"ผมสงสัยว่าเกมนี้มีความหมายต่อเราทั้งสองทีม (ญี่ปุ่น กับ เมียนมา) จริง ๆ หรือเปล่า แฟนบอลเดินทางมาเข้ามาดูเกม มันน่าผิดหวังที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ (นักเตะถ่วงเวลา) ซึ่งไม่สามารถทำให้แฟนบอลมีความสุขได้" โมริยาสุ กล่าว
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้จะมองผ่านแค่มุมมองของชาติใหญ่อย่างเดียวไม่ได้ เพราะชาติเล็ก ๆ อาจจะคิดอีกแบบ พวกเขาอาจมองว่าการได้ดวลกับทีมที่แข็งแกร่งเป็นเรื่องดี นักเตะได้รับประสบการณ์ก็เป็นได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว AFC ในฐานะองค์กรผู้ดูแลเกมลูกหนังเอเชีย ต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ให้ดี ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ญี่ปุ่นคิดอย่างไรกับกระแส "บินกลับมาเล่นทีมชาติคือความลำบาก"?
อ้างอิง