หมากนอกสนามที่ทำให้ ซาอุฯ กำลังจะมีทั้ง เมสซี่ และ โรนัลโด้ ในลีกเดียวกัน
“มีแค่สองอย่างที่สามารถพาโรนัลโด้ และเมสซี่ มาอยู่ด้วยกัน หนึ่งคือหลุยส์ วิตตอง อีกอย่างคือซาอุดิอาระเบีย” ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์การเมือง กล่าว
คริสเตียโน โรนัลโด้ ตกลงปลงใจย้ายไปร่วมทัพ อัล นาสเซอร์ ทีมดังในลีกซาอุดิอาระเบีย พร้อมรับค่าเหนื่อยเป็นสถิติโลกเป็นเงินถึง 3.4 ล้านยูโรต่อสัปดาห์
และเร็ว ๆ นี้ล่าสุด ลิโอเนล เมสซี่ กำลังจะเป็นอีกคนที่มาค้าแข้งในลีกซาอุดิ อาระเบีย กับทีมอันดับ 1 ของลีกอย่าง อัล ฮิลัล
อย่างไรก็ดี การย้ายมาของทั้ง 2 คนนี้ไม่ได้มีเป้าหมายแค่ผลงานในสนามหรือขยายฐานแฟนบอลเท่านั้น แต่มันยังมีเบื้องหลังที่เชื่อมโยงไปถึงนโยบายระดับชาติของซาอุฯ ที่ดาวยิงชาวโปรตุเกส จะไม่ใช่นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ รายสุดท้ายที่ย้ายมาที่นี่อย่างแน่นอน
ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ดีลช็อคโลก
ซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นหนึ่งในชาติตะวันออกกลาง ที่คลั่งไคล้ฟุตบอลในระดับขีดสุด ทว่า แม้ว่าพวกเขาจะมีลีกมาตั้งแต่ปี 1976 แต่กว่าที่จะมีลีกอาชีพแบบเต็มตัว ก็ต้องรอจนถึงปี 2007 หรือกว่า 30 ปี
ทว่า การเป็นลีกอาชีพครั้งนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้สโมสรซาอุฯ พยายามดึงนักเตะชื่อดังจากยุโรป หรืออเมริกาใต้มาร่วมทัพ เพื่อสร้างสีสันให้ลีก
ไม่ว่าจะเป็นยุคบุกเบิกอย่าง อี ยองเพียว กองหลังทีมชาติเกาหลีใต้,จอร์จอส ซามาราส อดีตกองหน้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และซัลเลย์ มุนตารี อดีตกองกลางอูดิเนเซ่ มาจนถึง ลูเซียโน เวียตโต และ วิลเฟรด โบนี ที่เคยเล่นในพรีเมียร์ลีกกับ ฟูแลม และสวอนซี ซิตี้ ตามลำดับ
แต่ทั้งหมดอาจจะเทียบไม่ได้กับฤดูกาลนี้ ที่ลีกซาอุฯ ได้ตัว คริสเตียโน โรนัลโด้ หนึ่งในกองหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เพิ่งแยกทางกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังไปให้สัมภาษณ์วิจารณ์สโมสรอย่างเผ็ดร้อน
ดาวยิงชาวโปรตุกีส ตกลงปลงใจกับ อัล นาสเซอร์ ทีมดังของลีกซาอุฯ ด้วยค่าเหนื่อยระดับ 3.4 ล้านยูโร ต่อสัปดาห์ มากที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา และได้เปิดตัวต่อหน้าแฟนบอลหลายพันที่มารอรับในสนามเมอร์ซูล พาร์ค รังเหย้าของทีม
“ผมพิชิตยุโรปได้แล้ว ผมทำลายสถิติทุกอย่างที่ผมสามารถทำได้ และผมต้องการทำแบบนั้นที่นี่ด้วย นี่ไม่ใช่จุดจบสำหรับผม ลีกซาอุฯ แข่งขันสูงกว่าที่ใครหลายคนรู้” อดีตดาวซัลโวสูงสุดของ แมนฯ ยูไนเต็ด ฤดูกาล 2021-2022 กล่าวในวันเปิดตัว
ทั้งนี้ โรนัลโด้ ไม่ใช่นักเตะระดับบิ๊กเนมรายเดียวของ อัล นาสเซอร์ ในซีซั่นนี้ เพราะตอนนี้พวกเขาก็มีนักเตะอย่าง ดาวิด ออสปินนา อดีตนายทวารของนาโปลี และ หลุยส์ กุสตาโว ที่เคยเล่นให้กับ บาเยิร์น มิวนิค รวมถึงแวงซองต์ อบูบาการ์ กองหน้าทีมชาติแคเมอรูนชุดปัจจุบัน อยู่ในทีม
อย่างไรก็ดี การมาถึงของโรนัลโด้ รวมถึงนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์คนอื่น ไม่ได้มีเหตุผลแค่ผลงานในสนาม หรือกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น แต่ยังมีเบื้องหลัง ที่เชื่อมโยงไปถึงนโยบายระดับชาติของซาอุฯ
ชื่อของมันคือ “วิสัยทัศน์ 2030” (Vision 2030)
ฟุตบอลโลก 2030
แม้ว่าการเซ็นสัญญากับโรนัลโด้ อาจจะช่วยปลุกกระแสให้ อัล นาสเซอร์ และลีกซาอุฯ กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น แต่ความเป็นจริงมันมีเบื้องหลังแอบแฝง เมื่อจากรายงานของ Daily Mail ระบุว่า ค่าเหนื่อยมูลค่า 200 ล้านยูโรต่อปี ที่แข้งโปรตุเกสจะได้รับ ได้รวมค่าใช้จ่ายที่ CR7 จะต้องช่วยซาอุฯ โปรโมตการขอเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2030
มันคือส่วนหนึ่งของโครงการ “Vision 2030” แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะผลักดันประเทศไปสู่ยุคใหม่ และลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว ภายใต้การนำของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัลซะอูด หรือ MBS มกุฎราชกุมารแห่งกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ
“มันคือพิมพ์เขียวการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เปิดซาอุดิอาระเบียไปสู่โลก” รัฐบาลของซาอุฯ ระบุ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุฯ ที่มี MBS เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จึงเข้าไปลงทุนกับกีฬาและการท่องเที่ยว สองสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำเป็นพิเศษ ในหลากหลายรูปแบบ ผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Public Investment Fund หรือ PIF)
ไม่ว่าจะเป็นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขัน LIV Golf ทัวร์นาเมนต์กอล์ฟที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน, การเป็นสปอนเซอร์ให้การแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน ไปจนถึงการเข้าเทคโอเวอร์ สโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ของพรีเมียร์ลีก เมื่อเดือนตุลาคมปี 2021
PIF กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ว่า 8 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาใช้เงินไปกับการสนับสนุนสโมสรฟุตบอลทั้งในประเทศและทั่วโลกเป็นเงินกว่า 2.3 พันล้านเหรียญฯ (ราว 78,000 ล้านบาท) รวมถึงการจ้าง ลิโอเนล เมสซี่ มาช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022
“มีแค่สองอย่างที่สามารถพาโรนัลโด้ และเมสซี่ มาอยู่ด้วยกันได้ หนึ่งคือหลุยส์ วิตตอง อีกอย่างคือซาอุดิอาระเบีย” ไซมอน แชดวิค ศาสตราจารย์ด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่ง SKEMA Business School กล่าวกับ Sportico
ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ได้ลองเชิงจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งรถเอฟ 1 ที่เมืองเจดดาห์ เมื่อปี 2021, ไฟต์มวยระดับโลกระหว่าง แอนโธนี โจชัวร์ และ แอนดี รุยซ์ ในปี 2019 รวมถึงการแข่งขันกระชับมิตรของ บราซิล และ อาร์เจนตินา ในปีเดียวกัน
“การเปิดตัวทั้งในวงการบันเทิงและกีฬา ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญของวิสัยทัศน์ 2030 ” เดนนิส โฮรัค เอกอัครราชทูตแคนาดา ที่เคยประจำอยู่ที่ซาอุฯ ในช่วงปี 2015-2018 กล่าวกับ The Athletic
“ทั้ง LIV Golf (ซาอุฯออกทุน) และการเป็นสปอนเซอร์ให้นักฟุตบอลระดับสูงอย่างเมสซี่ คือการพยายามก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง และเป็นระดับโลกมากขึ้นของพวกเขา”
สำหรับฟุตบอลโลก 2030 อาห์เหม็ด อัล คาตีป รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวของซาอุฯ ระบุว่าพวกเขากำลังพิจารณา จับมือกับ อียิปต์ และกรีซ ในการขอเป็นเจ้าภาพร่วม
อย่างไรก็ดี แท้จริงแล้วพวกเขาอาจจะมีเหตุผลมากกว่านั้น
ล้างมลทิน
“ชื่อเสียงของซาอุฯในระดับโลก จำเป็นต้องได้รับการเสริมแต่ง มันคือการพยายามสร้างแบรนด์ใหม่ให้แก่ประเทศ” โฮรัค อธิบาย
อันที่จริง นับตั้งแต่ที่มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2013 ในฐานะหัวหน้าสำนักงานมกุฎราชกุมาร เทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี เขาก็ถูกพูดถึงมาตลอด โดยเฉพาะการเป็นผู้ริเริ่มโครงการ "วิสัยทัศน์ 2030"
อย่างไรก็ดี บทบาทการเป็นนักปฏิรูป ที่อาจจะนำอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไปสู่ความทันสมัยของเขา ก็ต้องเสื่อมลง หลังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเชื่อมโยงในการสังหาร จามาล คาชูจกิ นักข่าวเชื้อสายซาอุฯ ของ Washington Post ในสถานทูตตุรกี เมื่อปี 2018
และมันก็ทำให้วีรกรรมในอดีตของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ถูกพูดถึงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งระเบิดในเยเมน จนทำให้มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า 2.3 แสนคนเมื่อปี 2015, การปราบปรามและกวาดล้างผู้เห็นต่าง ทั้งผู้นำศาสนาและปัญญาชน รวมถึงการจำกัดสิทธิสตรีและ LGBT
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า “วิสัยทัศน์ 2030” เป็นเพียงเครื่องมือในการล้างมลทินของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ขณะเดียวกันมันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมาใหม่ ในสายตาชาวโลก และทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับเขาในแผนการณ์นี้ถูกตั้งคำถาม
“MBS กำลังพยายามทำให้ประเทศเป็นปกติ และบทบาทในฐานะทูตของเมสซี่ ก็มีส่วนในเรื่องนี้” คาลิด อัล จาบรี บุตรชายของ ซาอัล อัล จาบรี อดีตหัวหน้าข่าวกรองของซาอุฯ กล่าวกับ The Athletic
ผู้ช่วยคนสำคัญของ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ก็คือ เตอร์กี อัล เชอีคห์ ประธานกรรมมาธิการด้านความบันเทิงของซาอุฯ ที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าของและประธานสโมสรอัลเมเรีย ในลาลีกาของสเปน
“MBS ไม่มีที่ปรึกษาทางการเมือง ยกเว้น เตอร์กี อัล เชอีคห์ และ ซาอูด อัล ควาห์ตานี” อัล จาบรี กล่าวต่อ
“พวกเขาโหดเหี้ยมมาก ผู้คนต่างกลัวพวกเขา เตอร์กี อัล เชอีคห์ รับผิดชอบในเรื่องกีฬา และมีข่าวลือว่าเขาใช้เงินไปกว่าพันล้าน และทำให้เยาวชนไม่ว่าง”
อัล เชอีคห์ ยังมีบทบาทสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างภาพลักษณ์อันดีให้ผู้นำสูงสุดโดยพฤตินัยของซาอุฯ โดยจากรายงานของสำนักข่าวกรองกลางอเมริกา (CIA) ระบุว่าเขามีส่วนในการวางแผนสังหาร คาชูจกิ รวมถึงเป็นตัวแทนสำคัญในการเจรจา สำหรับผู้ที่อยากทำธุรกิจกับราชวงศ์
“ผมได้ยินชื่อเสียงของเขา (อัล เชอีคห์) เขาคือคนที่ถูกมองว่าอยู่ในวงในของ MBS และราชวงศ์อย่างแน่นอน เขาคือคนที่มีส่วนในการเอาเมสซี่ขึ้นบนป้ายโฆษณา ผมแน่ใจว่า MBS ชอบมัน มันจะเป็นอีกสัญลักษณ์ว่าซาอุดิอาระเบีย อยู่ตรงไหนในโลก” โฮรัค ที่ถูกขับออกจากซาอุฯ เมื่อปี 2018 หลังปกป้องนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่โดนทางการซาอุฯ จับตัว
“ในสายตาของเขา พวกเขาไม่ใช่ดินแดนที่โดดเดี่ยวกลางทะเลทรายอีกต่อไป ด้วยโปรไฟล์ที่เขามีในระดับนานาชาติ มันทำให้มีความปกติมากขึ้น (สำหรับซาอุดิอาระเบีย) ดังนั้นผมคิดว่ามันจะช่วยในการเสนอตัว (เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030) สำหรับพวกเขา”
“ดังนั้นยิ่งสามารถสร้างความสนิทสนมกับคนดังในระดับโลก ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จะสามารถช่วยลบล้างแบรนด์ของซาอุดิอาระเบียไปพร้อมกัน ผมคิดว่าเขาคิดมาแล้วเป็นอย่างดี (เกี่ยวกับอัล เชอีคห์)”
ยกระดับลีกเอเชีย
สำหรับฟุตบอลโลก 2030 จะเปิดรับสมัครผู้ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพในปี 2023 และโหวตเลือกกันในกลางปี 2024 โดยนอกจาก ซาอุฯ ยังมี อาร์เจนตินา บ้านเกิดของเมสซี่ ที่จะจับมือกับเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้อย่าง อุรุกวัย, ปารากวัย และชิลี ในปีที่ฟุตบอลโลก จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี
ด้วยเหตุนี้ เชื่อกันว่าหลังจากนี้ สโมสรในลีกซาอุฯ น่าจะต่างทุ่มเงิน ดึงนักเตะระดับโลกมาร่วมทีม เพื่อช่วยโปรโมต การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 7 ปีข้างหน้าของพวกเขา
แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือนักเตะและแฟนบอลของซาอุฯ ที่นอกจากจะได้ยลฝีเท้าแข้งระดับโลกแล้ว สิ่งนี้ช่วยยกระดับมาตรฐานของลีกให้สูงขึ้น และทำให้ลีกน่าติดตามมากยิ่งขึ้นไปอีก
เช่นกันสำหรับ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ศึกชิงถ้วยทวีป ที่จะทวีความเข้มข้น และได้รับความสนใจมากขึ้น จากนักเตะเหล่านี้ (ส่วนโรนัลโด้ปีนี้อาจต้องรอไปก่อน เพราะ อัล นาสเซอร์ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย) ซึ่งพอดีกับที่ เอเอฟซี เพิ่งจะประกาศยกเลิกโควต้าต่างชาติ (เดิมคือ 5+1) ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ฤดูกาล 2024/25 เป็นต้นไป
และบางทีจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์ฟุตบอลเอเชีย อาจจะเริ่มต้นจากตรงนี้ก็เป็นได้
“ประวัติศาสตร์กำลังสร้างขึ้น นี่คือการเซ็นสัญญาที่ไม่เพียงจะเป็นแรงบันดาลใจให้สโมสรของเราก้าวไปสู่ความสำเร็จในระดับที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ลีกและชาติของเรา รวมถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคต” ทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ อัล นาสเซอร์ กล่าว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โรนัลโด้ - เมนเดส : ความสัมพันธ์ 20 ปีที่ขาดสะบั้น เพราะความเห็นไม่ตรงกัน
โรนัลโด้ ซบ อัล นาสเซอร์ : เปิดรายละเอียดดีลระยะสัญญาค่าเหนื่อยเท่าไหร่ ?
นอกจากเป็นเจ้าภาพที่ผลงานแย่ที่สุด "กาตาร์" ได้อะไรจากบอลโลก 2022 บ้าง ?
แหล่งอ้างอิง
https://sports.yahoo.com/messi-ronaldo-saudi-arabia-bid-180558583.html
https://theathletic.com/3918644/2022/11/22/messi-saudi-arabia-2030/
https://www.ft.com/content/93217092-e852-4e96-bfef-6fbfff2fd403
https://www.dailysabah.com/sports/football/cr7s-saudi-move-marks-asian-games-rise-superstars-decline