MARTECH ในมุมมองคนทำสื่อ ผลกระทบสู่วงการข่าวสาร
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการตลาด (Martech) กำลังส่งผลกระทบไปทั่วทุกวงการ ไม่เว้นแต่วงการสื่อสารมวลชน ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดและความต้องการของผู้บริโภค ที่ไม่ได้จำกัดการเสพสื่อ แต่เพียง 'ข่าว' อีกต่อไป แต่รวมไปถึงการสำรวจพฤติกรรมคนเสพสื่อ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค ที่ตรงใจมากที่สุด
ในงาน Martech Strategies for Enterprise 2024 ในช่วงเซสชัน MarTech Transformative Impact on News & Publishers ได้นำ 4 ผู้บริหารองค์กรสื่อออนไลน์อย่าง ณัฐกร เวียงอินทร์ (Head of Content & Branding, Future Trends), อนันต์ ลือประดิษฐ์ (Co-Founder / Managing Director, The People), พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ (Business Director, บริษัท คิดไซด์โค้ง จำกัด) และ สุวิตา จรัญวงศ์ (Co-Founder / Chief Executive Officer, Tellscore) มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมข่าวสารจากเทคโนโลยีการตลาด
โดย อนันต์ มองว่า สื่อในปัจจุบันย่อมจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างประสบการณ์จากสื่อเก่าที่เน้นขายพื้นที่โฆษณามาสู่การซื้อโฆษณาผ่านออนไลน์คอนเทนต์ ซึ่งส่งผลถึง Business Model ของแต่ละองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกันด้วยความที่เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น การทำสื่อสารมวลชน ในรูปแบบเดิมก็ยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เพราะสื่อในยุคปัจจุบัน ต้องออกมาช่องทางทำเงินของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงการพัฒนาการทำงานตามไปด้วยเพื่อร่นระยะเวลาและตอบสนองต่อการบริโภคสื่อของคน
ซึ่งเวลานี้ เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาท รวมไปถึงเทคโนโลยีการตลาด ที่จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของคอนเทนต์และช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ผลิตมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ในการเข้ามาแทนที่คนจริงๆ นอกเหนือจากนี้ การทำสื่อออนไลน์ แม้ว่าจะเข้ากับยุคสมัของโลก แต่สื่อแบบออฟไลน์ก็ยังจำเป็น ซึ่งเป็นความท้าทายของ สื่อดิจิตัล ที่จะต้องดูดผู้ชมให้อยากมาพบเจอในรูปแบบที่จับต้องได้
ขณะที่ ณัฐกร มองถึงการเปลี่ยนแปลงของสื่อที่มีผลกระทบจาก เทคโนโลยีการตลาด ว่าเป็นการทำคอนเทนต์เพื่อตอบสนองแนวทางที่คนสนใจ ซึ่งมันส่งผลถึงความเชื่อมั่นของแบรนด์คอนเทนต์นั้นๆ ที่จะมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะตอบโจทย์ไปสู่การหารายได้ผ่านการซื้อโฆษณาต่ออีกด้วย
"เวลาเราทำสื่อทำเอาสังคม เวลาเราทำสิ่งนี้ เราต้องนึกว่าใน community ถ้ามองในฐานะ Publishers เราทำตอบสนองฐานแฟน (Fan base) ซึ่งพอเราได้สังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 'ความเชื่อมั่นในแบรนด์' ซึ่งความเชื่อมั่นในแบรนด์ พอมันได้มาแล้ว มันแตกออกมาเป็นอะไรหลายอย่างเช่น การขายโฆษณา เราทำได้แน่นอน ซึ่งปัจจุบัน คอนเทนต์อื่นๆ เราก็ขยายออกไปถึง อินฟูเอนเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องสู้กับเขา แม้ว่าเราจะได้ Brand Trust ที่ใหญ่มาแล้ว"
"ธุรกิจสื่อเราก็ต้องหาเงิน มันเหมือนการสร้างรางวัล เพราะเราจะได้เห็นสิ่งที่เป็นการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) มากขึ้น ในมุมมองความสนใจ อย่าง คิดไซด์โค้งที่มีความเหนียวแน่นในเรื่องของกีฬา ของ The People ก็เป็นเรื่องคน Future Trend เป็นเรื่องของ เทรนด์ที่จำเป็นสำหรับอนาคต ทุกๆ อย่างเป็นการแบ่งส่วนการตลาด เป็น bias communication มากขึ้น"
ในมุมของณัฐกร ยังได้แนะนำถึง Content Creator ในการวัด Insight ที่เหมาะสมผ่านเครื่องมือต่างๆ ซึ่งสามารถนำกระแสสังคมที่เกิดขึ้นมาปรับใช้เป็นแนวทางในการผลิต หรือ สร้างแบรนด์ดิ้งให้กับคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมองถึงประเด็น AI ว่า ท้ายที่สุด แม้ AI จะเข้ามาช่วยมนุษย์ผลิตคอนเทนต์ได้ แต่ก็ยังต้องมีการควบคุม และต้องพัฒนาตลอดเวลาเพื่อให้สามารถตอบสนองการทำงานของมนุษย์ได้
ด้าน พิเชฐ จาก คิดไซด์โค้ง ยอมรับว่า ตลาดสื่อฟุตบอลที่มีการแข่งขันสูง คนทำสื่อย่อมจะต้องพยายามนำเสนอมุมที่มีความแตกต่างกว่าสิ่งที่มีอยู่ในตลาด เพื่อหาจุดขายของเนื้อหาและความเชื่อมั่น ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่จะสามารถหาผลกำไรได้อนาคต
ซึ่งจะทำทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้่ ย่อมมาจากการใช้เทคโนโลยีทางการตลาดที่เข้ามาวัดความนิยมในแต่ละคอนเทนต์ ผ่านเสียงสะท้อนของโลกโซเชียล ซึ่งจะช่วยทำให้ทีมงาน สามารถออกคอนเทนต์ที่ตรงจริตกับกลุ่มคนดูมากยิ่งขึ้น
"ในปัจจุบัน สิ่งที่มันเปลี่ยนไปคือ คนทั่วไปทำสื่อได้ อย่างในสายกีฬามันมีอินฟูลเอนเซอร์เยอะมาก แต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เราแตกต่างจากตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น"
"ภาพจำของเราในโซเชียล ในความเป็น Publishers ด้วยกัน สำหรับเวลาเราบอกว่า เราเป็นใครไม่สำคัญเท่าคนอื่นจำเราอย่างไร อย่างผมบอกว่า ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลไทย ผมพูดให้ตาย อาจจะมีคนเชื่อส่วนหนึ่ง แต่ถ้าวันหนึ่งพอเขาจำเราได้ว่า ‘ฟุตบอลไทยยังไงก็คิดไซด์โค้ง’ มันแปลว่าภาพของฟุตบอลไทยทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติมันขึ้นมา"
นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่องของจุดยืนของสื่อบน Martech ไว้ว่านอกจากการนำเสนอเนื้อหาแล้ว การต่อยอดไปสู่พันธมิตรใหม่ๆ และการเล่นกับกระแส ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คอนเทนต์สามารถต่อยอดได้
โดย พิเชฐ ยก 2 ตัวอย่างจากทั้ง Hashtag United ที่สร้างทีมฟุตบอลโดยใช้ข้อมูลของนักเตะ มาวิเคราะห์ความต้องการ และ Idol League ที่ทำให้คนสนใจกีฬา ทั้งที่บางคนอาจจะไม่ได้ดูกีฬาเป็นประจำ ผ่านการนำอินฟูลเอ็นเซอร์มาแข่งขันฟุตบอล ซึ่งจะได้ฐานแฟนใหม่ๆ เข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากขึ้น
"เรารู้สึกว่า ถึงแม้ว่าเราจะเป็น niche แต่เราจำเป็นต้องมีเพื่อน บางคนอาจจะรู้สึกว่าฉันอยู่ตรงนี้ แล้วทุกคนในตลาดคือคู่แข่งฉันหมดเลย สำหรับผมผมอยากมองว่าเขาคือ 'คู่ค้า' ไม่ใช่ 'คู่แข่ง' แล้วเราทำอะไรได้บ้าง"
“ที่ถามว่า นอกจาก AI ในปัจจุบัน เราจะขายอะไร ซึ่งสิ่งที่ชัดเจนที่สุดของเราคือ ขาย experience ของกีฬา ซึ่งสิ่งที่คนยังเสพแบบ real-time อยู่ เวลาคนที่อยากติดตามถ่ายทอดสด คือเราเล่นกับการดักคำ ผ่าน SEO”
รวมไปถึงแนวคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ จากการต่อยอดอีเว้นต์ Dream Stadium ที่ไปปรับปรุงสนามฟุตบอลในชุมชนและแข่งขันฟุตบอล มาต่อยอดเป็นมหกรรมฟุตบอลกลางเมือง ซึ่งเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ที่ 'จับต้องได้ ได้เห็นจริง' กับผู้บริโภคได้อีก
ท้ายที่สุด การใช้เทคโนโลยีทางการตลาด นอกจากจะช่วยวางแผนให้แนวทางการผลิตคอนเทนต์ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ แต่มันยังสะท้อนถึงโอกาสในการที่จะสร้างรายได้จากสื่อ และต่อยอดไปสู่แนวทางธุรกิจใหม่ๆ ในวันที่โลกต่อสู้ด้วยข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง