มิช่า-โบธรอยด์ : รอยร้าวที่ลุกลาม กับผลงานอันย่ำแย่ของ ซัปโปโร

มิช่า-โบธรอยด์ : รอยร้าวที่ลุกลาม กับผลงานอันย่ำแย่ของ ซัปโปโร
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

สถานการณ์ของสโมสร ฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร ดูเหมือนจะยังไม่ออกจากวิกฤติฟอร์มตกต่อเนื่อง หลังจากบุกไปพ่าย อูราวะ เรด ไดมอนด์ แบบขาดลอย 1-4 ในเกม เจ ลีก นัดล่าสุดแบบสู้ไม่ได้ ผลสกอร์ของแต่ละเกมไม่ต่างกับโยนลูกเต๋า สามวันดีสี่วันไข้ วนไปวนมา ไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้เลย

คนสำคัญที่สุดที่ต้องแบกรับความกดดันของ ซัปโปโร ที่กำลังโชว์ฟอร์มได้อย่างน่าเป็นห่วง ย่อมหนีไม่พ้น มิไฮโล เปโตรวิช กุนซือชาวเซอร์เบีย วัย 65 ปี ที่ถือพาสปอร์ตเป็นคนออสเตรีย ซึ่งเข้ามารับงานคุมสโมสรนี้ตั้งแต่ปี 2018 ผ่านเวลามาก็กว่า 5 ปีแล้ว

ไฮไลท์เกมล่าสุดที่ทาง ซัปโปโร พ่ายเละ 1-4

แน่นอนว่า มิช่า รู้เรื่องราวตื้นลึกหนาบางของผู้เล่นในทีมเป็นอย่างดี มีการปลูกฝังแนวทางการเล่นที่เขาเชื่อมั่นมาอย่างยาวนาน เคยปั้นนักเตะอย่าง เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์ ให้โด่งดังเป็นสตาร์ประจำศึก เจ ลีก มาแล้ว แต่ผลงานของทีมก็ยังไม่สามารถกระเตื้องไปไหนได้ไกล เปิดตัวปีแรกด้วยการจบอันดับที่ 4 แต่หลังจากนั้นก็ทำทีมจบในอันดับ 10,12,10 และ 10 วนเวียนอยู่เท่านี้

พอผลงานของทีมมันออกมาย่ำแย่ อดีตนักเตะอย่าง เจย์ โบธรอยด์ กองหน้าตัวเก๋าที่เคยร่วมงานกับ มิช่า มาก่อน ก็หยิบคำพูดที่เปรียบเสมือนมีดคมๆ มาสับเละ ผ่านทางการทวีตข้อความผ่านแพลตฟอร์ม ทวิตเตอร์ ถึงการทำทีมของเจ้านายเก่าของเขาในหลากหลายประเด็น เพราะทั้งคู่เคยมีความบาดหมางกันมาก่อน

เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังของประเด็นนี้มีที่มาอย่างไรกันบ้าง ซัปโปโร เคยย่ำแย่กว่านี้หรือไม่ แล้วทาง มิช่า แก้ทางอย่างไร เสียงจากแฟนบอลวิจารณ์การทำทีมของเขาแบบไหน รวมไปถึงสถานการณ์ของ สุภโชค สารชาติดดาวเตะทีมชาติไทยจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ต้นตอของความบาดหมาง

หากมองย้อนกลับไปในอดีตช่วงที่ โบธรอยด์ ยังค้าแข้งอยู่ เขาเป็นนักเตะมากประสบการณ์ ที่เคยผ่านการเล่นบนลีกชั้นนำอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี ก่อนจะมาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับโซนเอเชีย ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

การันตีเลยว่าประสบการณ์ของเขาต้องผ่านอะไรมามาก ร่วมงานกับโค้ชฝีมือดีมาหลายต่อหลายคนในวงการลูกหนัง ยกตัวอย่างเช่น มาร์ค ฮิวจ์ส, แฮร์รี่ เรดแนปป์, กอร์ดอน สตรัคคั่น, โทนี่ พูลิส และ มิค แม็คคาร์ธี่ย์ เป็นต้น ก่อนจะมาปิดฉากอาชีพด้วยการร่วมงานกับ มิช่า

PHOTO : TWITTER

การทวีตข้อความของ โบธรอยด์ ถ้าวิเคราะห์กันแบบไม่มีอคติ คงเป็นเหตุผลด้านฟุตบอลล้วนๆ มีอารมณ์ร่วมในการเชียร์และให้กำลังใจทีมเก่า พอนำไปควบรวมเข้ากับสิ่งที่เขาเคยเจอตอนอยู่กับ ซัปโปโร

แล้วมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ โค้ชมิช่า มันเลยอินเป็นพิเศษ เพราะตอนช่วงวัยรุ่นเขานับว่าเป็นนักเตะหัวร้อน ที่โดนคาดโทษจากกรรมการเป็นประจำ เนื่องจากเก็บอารมณ์ความหงุดหงิดไว้ไม่อยู่

PHOTO : ESPN

ขนาดช่วงเวลาที่อยู่กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ทาง โบธรอยด์ ก็เคยวิจารณ์อดีตต้นสังกัดเอาไว้ในบทสัมภาษณ์สั้นๆ ว่า

“เมืองทอง มีมาตรฐานที่แย่มาก การจัดการภายในองค์กรยุ่งเหยิงไปหมด ผมเลยทนอยู่ที่นั่นต่อไปไม่ไหว แล้วมีทางเลือเดียว คือ การยกเลิกสัญญาซะ”

พอถึงช่วงที่ โบธรอยด์ ค้าแข้งอยู่กับ ซัปโปโร ปัญหาแรกที่เขาต้องเจอเป็นประจำ คือ เรื่องของการสื่อสาร เพราะทาง มิช่า เลือกที่จะใช้ภาษาเยอรมันเพื่อถ่ายทอดแทคติกส์ต่างๆ เป็นหลัก

แล้วใช้ล่ามมาแปลความหมายต่างๆ สู่ถ่ายทอดผู้เล่นอีกรอบ ทั้งภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาอังกฤษ อย่าง แฮร์รี่ บิสเซลล์ ซึ่งกลายเป็นคนสำคัญที่เขาขาดไม่ได้ เปรียบเสมือนเสียงของเขาในห้องแต่งตัว

คอยอธิบายแทคติกส์และแนวทางการเล่นจากโค้ช ทั้งในการประชุมทีม การซ้อม และระหว่างเกมการแข่งขัน รวมไปถึงช่วยสั่งเครื่องดื่มให้กับคนในทีม เมื่อออกไปสังสรรค์นอกรอบตอนกลางคืนอีกด้วย ตามที่เคยกล่าวถึงไว้ว่า

“เขาเปรียบเสมือนเงาของผมเลยทีเดียว ภาษาญี่ปุ่นมันยากที่จะเรียนรู้ให้เข้าใจ ทั้งที่ผมเคยลงคอร์สเรียนเป็นเวลาครึ่งปี แต่มันยากจริงๆ”
PHOTO : BBC

“ตอนที่ผมมาที่นี่ช่วงแรกๆ ผมเคยแสดงออกเหมือนตอนเล่นในศึก พรีเมียร์ลีก ถ้าคุณมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมทีมก็แค่ขึ้นเสียง ด่าทอกันไปมา ซึ่งมันก็จะถูกลืมภายใน 5 นาที แต่ที่ญี่ปุ่นคุณทำแบบนั้นไม่ได้ ทุกคนต้องให้ความเคารพซึ่งกันและกัน”

“ถ้าคุณทำแบบนั้นต่อผู้เล่นในญี่ปุ่น มันจะไม่ต่างกับการข่มขู่พวกเขาทันที แล้วพวกเขาจะเข้าใจว่าคุณกำลังโกรธอยู่”

“แฮร์รี่ เลยจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ในบางครั้ง คอยห้ามผมไม่ให้พูดอะไรที่ดูเสื่อมเสีย ห้ามผมพูดในบางอย่างที่เขาคิดว่าผู้เล่นญี่ปุ่นไม่ชอบ”

พออายุมากขึ้น โบธรอยด์ ยอมรับว่า ตัวของเขาเองต้องเปลี่ยนทัศนคติไป เพื่อควบคุมอารมณ์และเลือกที่จะเงียบมากกว่าพูด เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อทีมโดยรวมมากกว่า

ดังนั้นแฟนบอลจึงไม่ได้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ของเขากับการทำทีมของ มิช่า ตอนที่เป็นผู้เล่น แต่พอแยกทางกันแล้วมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากการที่เขาทวีตข้อความต่อเนื่องในเกมที่ ซัปโปโร บุกพ่าย อูราวะ เรด ไดมอนด์ 1-4 เอาไว้ดังนี้

“สภาพจิตใจของนักเตะในทีม ซัปโปโร นั้นอ่อนแอเอามากๆ ขาดประสบการณ์อย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นผมเองจะเลือกปรับแผนการเล่นเป็น 4-4-1 หลังจากทีมเหลือ 10 คน เล่นให้รัดกุม แล้วหวังเล่นงานคู่แข่งด้วยการใช้ความเร็วของ คาเนโกะ”

PHOTO : TWITTER

“ทีมนี้ต้องมีการจัดระบบระเบียบให้ดีกว่านี้ ถ้ามันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเหมือนเคยๆ ตกชั้นไปเล่น เจ ทู แน่ๆ”

“ทุกประตูที่ ซัปโปโร เสียไปมันแย่มาก ทั้งสี่ลูกนั้นสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่ในเมื่อคุณไม่เคยมีการซ้อมเกมป้องกันแบบ 1 ต่อ 1 คุณจะหวังอะไรได้ล่ะ นี่ละแนวทางการทำทีมของ มิช่า เป็นอีกหนึ่งเกมที่แย่จริงๆ”

หากมองว่า โบธรอยด์ คือ หนึ่งในแฟนบอลที่ให้การสนับสนุน ซัปโปโร การที่เขาออกมาบ่นระบายอารมณ์กับผลการแข่งขันที่ไม่เป็นดั่งใจ เป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่แฟนบอลทั่วโลกก็ทำกันทั้งนั้น เพื่อหวังว่าตัวเขาจะเป็นกระบอกเสียงให้ทีมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

PHOTO : TWITTER

อย่างไรก็ตามถ้ามองกันแบบตัดเรื่องผลการแข่งขันออกไป แล้ววิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของตัว โบธรอยด์ ในตอนนี้ เขาก็พยายามทำตัวเป็นเหมือนคอมเมนเตเตอร์กลายๆ พยายามแชร์คลิปนักวิจารณ์ แสดงออกถึงมุมมองของตัวเองแบบเกาะกระแสเช่นกัน

มันก็มีโอกาสเช่นกันที่ โบธรอยด์ ต้องการเรียกความสนใจ ทำตัวแบบหิวแสงเพื่อเรียกหางานสร้างรายได้ ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะตอนนี้กระแสของเขากับวงการฟุตบอล มันก็เลือกลางจนแทบไม่มีประเด็นให้แฟนบอลกล่าวถึงกันสักเท่าไหร่

ช่วงที่ย่ำแย่กว่าตอนนี้และปรับเปลี่ยน

ก่อนหน้านี้ โบธรอยด์ ถือว่าเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของ ซัปโปโร ในทีมของ มิช่า ลงเล่นให้กับทีมรวมทุกรายการไปมากถึง 109 นัด ยิงไป 29 ประตู กับทำอีก 17 แอสซิสต์

ซีซั่นสุดท้ายถูกใช้งานไปถึง 29 เกม แม้จะทำผลงานไม่ดีเท่าไหร่ ยิงไป 1 ลูก กับทำ 6 แอสซิสต์ หมายความว่า การร่วมงานของทั้งคู่แทบไม่มีปัญหาบาดหมางใหญ่ๆ กันมาก่อนหน้านี้ ประเด็นอาจมาจากเรื่องอารมณ์ร่วมกับผลงานที่ย่ำแย่ล้วนๆ

ไฮไลท์การเล่นของ เจย์ โบธรอยด์ กับ ซัปโปโร

ความจริงแล้ว ซัปโปโร เคยผ่านเหตุการณ์ที่ย่ำแย่มากกว่านี้มาแล้ว ด้วยการบุกพ่าย คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ในฤดูกาล 2017/18 ด้วยผลสกอร์ย่อยยับถึง 0-7 ต่อเนื่องด้วยการพ่ายคาบ้านให้กับ คาชิม่า แอนท์เล่อร์ 0-2 ปิดท้ายด้วยการตกรอบ เอ็มเพอเรอ์ร์ คัพ ด้วยการบุกแพ้หให้กับ จูบิโล่ อิวาตะ 2-4 ภายในช่วงเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์

แต่ทาง มิช่า ก็สามารถพาทีมกลับมาอยู่บนเส้นทางที่ดีได้อีกครั้ง แล้วจบอันดับที่ 4 ในลีก ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดที่เขาเคยพาทีมไปถึงได้กับสโมสรแห่งนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนผู้เล่นที่ทำผลงานได้ไม่ดีออก แล้วเลือกให้โอกาสนักเตะคนอื่นๆ ในทีม ลงสนามมาทดแทน

แล้วในเมื่อ สุภโชค ไม่มีส่วนร่วมกับเกมลีกมาถึง 3 นัดติดต่อกัน ไม่ได้ลงสนามสักนาทีเดียว ก็ถือว่าเข้าข่ายที่จะได้ลุ้นกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ หากตัวโค้ชต้องการเปลี่ยนฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเกมรุก ที่กำลังตันแบบไร้ทิศทาง จนถูกคู่แข่งจับทางได้หมด

แล้วเมื่อไปส่องคอมเมนท์ส่วนใหญ่ ในบัญชีอย่างเป็นทางการของสโมสร คอนซาโดเล่ ซัปโปโร กลับไม่มีการโทษเรื่องของแทคติกส์จาก มิช่า สักเท่าไหร่ แต่กลับเป็นการตำหนิการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ทาคาฟูมิ มิคุริยะ เสียมากกว่า จากตัวอย่างเช่น

“ขอบคุณผู้เล่นทุกคนที่พยายามสู้แบบไม่ยอมแพ้ตลอดเกม ทั้งที่ทีมของเราเหลือแค่ 10 คน มันเป็นเกมการแข่งขันที่ถูกทำให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปสิ้นเชิงจากผู้ตัดสิน...อีกเรื่องหนึ่งที่อยากถามเป็นการส่วนตัว คือ สุภโชค จะมีโอกาสลงเล่นในเกมบอลถ้วยไหม? เพราะสีหน้าของ เช็ค ที่เดินกลับเข้าไปห้องแต่งตัวหลังจบเกมมันทำให้ผมลืมไม่ลงจริงๆ” @HCSsapo_2019

“ใครก็ตามที่ไม่ได้ชมเกมจะบอกว่าพวกเราอ่อนแอ แต่ผมไม่คิดแบบนั้นเลย ในการเล่นเกมรับเราเหลือ 10 คนตั้งแต่ครึ่งแรก แต่เรายังป้องกันได้หลายจังหวะ แล้วเกมรุกของเราก็ไม่ได้แย่มากนัก สิ่งที่น่าเสียดายคือเราไม่สามารถคว้า 1 หรือ 3 แต้มมาได้ เพราะระดับการเล่นของทีมมันถูกทำลายจากการตัดสินของกรรมการ แต่ก็แอบมีเป็นห่วงเรื่องการยืนตำแหน่งป้องกันประตูของ กิว ซุง-ยอง เหมือนกันนะ” @shimiaka_iroiro

PHOTO : TWITTER

“ผมคิดว่า มิคุริยะ ตัดสินเข้าข้างฝั่งตรงข้ามไปหน่อย ลูกจุดโทษ (การแจกใบเหลือง) ซึ่งมันเหมือนกับการเพิกเฉยต่อกฏการแข่งขัน ทั้งที่ นาคาจิมะ สกัดโดนบอลชัดเจน มันก็เป็นธรรมชาติของผู้เล่นที่จะหัวเสีย มันสามารถประท้วงได้นะในกรณีนี้” @handssp

“อูราวะ แข็งแกร่งจริงๆ แต่ผู้ตัดสินเป็นคนทำลายเกมนี้อีกครั้ง ไดกะ เสียบสกัดโดนบอล มันเป็นสิทธิ์ของทีมที่ต้องประท้วงมั้ยหรือต้องปล่อยผ่านไป กับการโดนตัดสินว่าทำฟาล์วและต้องคาดโทษ เป็นผมก็คงทนไม่ไหว แต่มันผ่านไปแล้วก็ผ่านไปลืมมันซะ เปลี่ยนเป้าหมายไปที่เกมหน้า เวลาที่ทีมคุณต้องเจอกับคู่แข่งที่มีอิทธิพล คุณต้องเอาชนะกรรมการให้ได้ จงสู้ด้วยความคิดนี้ซะ” @kn_55gk

“ผมรู้สึกว่าผมต้องประท้วงการตัดสินของ มิคุริยะ ใบเหลืองของ คาเนโกะ และ ไดกะ มันเป็นสิ่งที่น่าคลางแคลงใจสุดๆ” @ryu94oshroyo

“ผมคิดว่าสโมสรควรส่งเรื่องอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับลูกจุดโทษและการตัดสินต่างๆ ก่อนเสียประตูลูกที่สี่ ยกเว้นใบเหลือง เพราะมันเกิดขึ้นหลังจากการเล่นไปแล้ว ต่อให้กรรมการบอกให้คุณแสดงความคารพ แต่ตัวเขายังยกระดับเรื่องการตัดสินไม่ได้ ถ้าคุณไม่แย้งในสิ่งที่ควรแย้ง คุณก็ไม่มีทางคาดหวังถึงการตัดสินที่ดีกว่านี้ได้ ดังนั้นผมจึงมองว่าเราควรส่งเรื่องสอบถามไป” @ForzaSapporo

ทัศนคติของแฟนบอลเหล่านี้ มันตรงกับสิ่งที่ โบธรอยด์ เคยพูดถึงเอาไว้ในสมัยที่เขาอยู่กับ ซัปโปโร หลังเกมที่แพ้ย่อยยับให้กับ ฟรอนตาเล่ 0-7 ซึ่งแฟนๆ ของพวกเขาไม่เคยตำหนิ กล่าวโทษนักเตะหรือสตาฟฟ์แบบหนักหน่วงเหมือนในยุโรป แต่กลับร้องเพลงเชียร์ให้กำลังใจหลังจบเกมอีกต่างหาก ถ้าเป็นแฟนบอลยุโรปคงขอค่าตั๋วคืนแล้ว

PHOTO : FACEBOOK

แต่แฟนบอลของ ซัปโปโร มีจิตใจที่แข็งแกร่งและคิดไปในแนวทางเดียวกันว่า เราแพ้สัปดาห์นี้ แล้วเราจะกลับมาได้ในสัปดาห์หน้า มันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้เล่นบางกลุ่ม แต่ถ้าคุณไม่มีความกดดันใดๆ เลย คุณก็จะไม่มีแรงผลักดันที่จะพัฒนาและกระตุ้นตัวเองให้ทำผลงานที่ดีขึ้นได้ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จด้วยการเป็นแชมป์ได้ยังไงล่ะ? โบธรอยด์ เคยกล่าวถึงในบทสัมภาษณ์กับ ดิ แอธเลติกส์ ไว้เช่นนั้น

สถานการณ์ของ เช็ค

หากมองถึงความเปลี่ยนแปลงภายในทีมของ ซัปโปโร และอนาคตของ สุภโชค ว่ากันตามตรงแล้ว มันยังมีความเป็นไปได้อยู่ หากอดทนรอจังหวะที่เหมาะสมไหว แต่ก็ต้องทุ่มเทอย่างหนักในการซ้อม เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้กับ โค้ชมิช่า ได้เห็น เพราะมีการแย้มถึงการปรับเปลี่ยนเอาไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อราวสองเดือนก่อนว่า

“สไตล์การเล่นทั่วไปของทีมผมฤดูกาลนี้จะไม่เปลี่ยนไป แต่มันอยู่ในขั้นตอนของการยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิมผมยังอยู่ในกระบวนการของการคิดเรื่องต่างๆ อาทิ การบาดเจ็บของผู้เล่นที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน”

PHOTO : FOOTBALL TRIBE
“ปีนี้จะมีการลองอะไรใหม่ๆ ตามยุคสมัยในการเล่นที่เปลี่ยนไป เช่นการเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่น ถ้าต้องการชี้ชัดว่าผมจะเปลี่ยนอะไรจริงๆ ในปีนี้ มันคือจุดนี้นี่แหละ”

“การมีผู้เล่นบาดเจ็บหลายคนมันเป็นเรื่องที่ยากในการทำผลงานให้ดี แต่เราจะแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นภายในทีมเกี่ยวกับการปรับตัว”

“ผู้เล่นภายในทีมรวมถึงกลุ่มหน้าใหม่มีความแตกต่างกันออกไปในการปรับตัว แต่ผมเริ่มจะคุ้นชินกับการใช้งานพวกเขาบ้างแล้ว”

PHOTO : SIAMSPORT

“เป้าหมายของผมในการทำทีมไม่เคยเปลี่ยนแปลง มันเป็นการสร้างทีมที่เล่นแบบ โททอล ฟุตบอล ไม่ว่าผู้เล่นคนนั้นจะเล่นในตำแหน่งไหนก็ตาม ผมต้องการสร้างการเล่นที่ดึงดูดสายตาผู้ชมได้ กีฬาชนิดนี้สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนดู ภารกิจของเราคือการทำทีมให้น่าสนใจที่จะเข้ามาชมเกม”

อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ โค้ชมิช่า วิเคราะห์ได้ว่าการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของ เช็ค ที่หลายคนมองว่าแปลกและไม่เป็นธรรมชาติ จับเอาปีกไปเล่นเป็นวิงแบ็ค แล้วอาจทำลายพัฒนาการของตัวนักเตะขวัญใจชาวไทย

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นแนวคิดส่วนตัวของโค้ช ที่ต้องการลองปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ แล้วการชี้ชัดไปที่การสร้าง โททอล ฟุตบอล ที่มีที่มาจากประเทศฮอลแลนด์ในยุคอดีต หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเล่นในตำแหน่งไหน คุณต้องแสดงศักยภาพออกมาได้โดดเด่นเหมือนเดิม

ลีลาการเล่นของ รุด กุลลิท ในตำแหน่งต่างๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ รุด กุลลิท นักเตะสาระพัดประโยชน์ ซึ่งสามารถเล่นได้ตั้งแต่ กองหน้าตัวเป้า, เพลย์เมคเกอร์, กองกลางตัวรุก-รับ หรือแม้แต่ถอยลงไปเล่นเซนเตอร์แบ็คก็เคยมาแล้ว ไม่ต่างกับ แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด ที่กลายเป็นนักเตะจับฉ่ายในเชิงรับเช่นกัน

ในเมื่อมีโจทย์ตั้งเอาไว้ชัดเจนแล้วสำหรับ เช็ค สิ่งที่เหลือก็เป็นแค่การพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า เขาสามารถทำสิ่งที่โค้ชต้องการได้ รอโอกาสอย่างอดทน เมื่อมีชื่อลงสนามก็ต้องสร้างความประทับใจให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังสอดแทรกเข้าไปเป็นตัวจริงในอนาคต แต่ถ้าผ่านไปอีกหลายเดือนสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง ค่อยมาหาทางคิดถึงหนทางใหม่ๆ ก็ยังไม่สายเกินไป


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.bbc.com/sport/football/47252786

https://theathletic.com/2303080/2021/01/10/jay-bothroyd-football-soccer/

https://twitter.com/jaybothroyd

https://twitter.com/consaofficial/status/1647149628549402625

https://theathletic.com/2303080/2021/01/10/jay-bothroyd-football-soccer/

https://soccermagazine.jp/j1/17607920

เรื่องที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจ

ดื้อไม่เปลี่ยน : เมื่อ ฟรอนตาเล่ ใช้งาน ชนาธิป ในสภาพที่ทีมยุ่งเหยิง

โบลินกิ & ดุมบูย่า : คู่หูอันตรายที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นคู่แข่งแย่งตัวจริง

ยูสุเกะ มารุฮาชิ : ตำนานเซเรโซของดีที่ซ่อนในช่วงเวลาย่ำแย่ของ บีจี

จากดาวรุ่ง T3 : ธีรศักดิ์ เผยพิมาย วันเดอร์คิดท่าเรือฯ ผู้แจ้งเกิดสำเร็จเพียง 1 เดียว

ปรเมศย์ อาจวิไล : ฟอร์มเปรี้ยงเข้าตาเพราะของดีที่ได้มาจาก "โค้ชมาริโอ"

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ