‘มิเกล โรดริโก้’ จอมเวทย์ฟุตซอลกับการเต้นรำครั้งสุดท้ายร่วมกับ ‘ทีมชาติไทย’

‘มิเกล โรดริโก้’ จอมเวทย์ฟุตซอลกับการเต้นรำครั้งสุดท้ายร่วมกับ ‘ทีมชาติไทย’
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

“ผมอยากสั่งลาวงการนี้ด้วยการเต้นรำครั้งสุดท้ายด้วยการพาทีมลงเล่นบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การพาทีมชาติไปเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย แม้ว่ามันจะมีโอกาสแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นไปได้ก็ตาม”

สาส์นด้านบนเป็นข้อความจาก ‘มิเกล โรดริโก้’ เฮดโค้ชชาวสเปนวัย 53 ปี ผู้คุมทัพ ช้างศึกฟุตซอลทีมชาติไทย ลุยศึกฟุตซอลโลกอยู่ในเวลานี้ ซึ่งนับเป็นคำรบที่สองที่ดชคชะตาพัดพาให้ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง หลังเขาเคยพาทีมไปลุยฟุตซอลโลกมาแล้วในปี 2016

ช่วงชีวิตของโค้ชแดนกระทิงดุ ใช่ว่าความฝันของเขาในการเป็นโค้ชโต๊ะเล็กจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ น้อยคนนักที่จะรู้ว่า มิเกล พื้นฐานชาติตระกูลทางบ้านนั้นถือว่าอยู่ในระดับไม่ธรรมดา มีพ่อเป็นคุณหมอ มีแม่เป็นข้าราชการซีสูง แถมถูกวางอนาคตล่วงหน้าให้เป็นทนาย เพื่อต่อยอดชาติตระกูลให้อยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูง ไม่ต้องมาลำบากตรากตรำเหมือนพนักงานเงินเดือนทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตามด้วยพรสวรรค์ด้านกีฬาอันโดดเด่นของเขา พัดพาให้เกิดความรักความชอบในหลายชนิดกีฬา ก่อนจะมาลงตัวกับ ‘ฟุตซอล’ แบบไม่ได้ตั้งใจ ก่อนจะกลายมาเป็นอาชีพที่เขายึดโยงมาจนถึงปัจจุบัน แล้วก็ใกล้ถึงวันที่เขาจะอำลาในไม่ช้า

เส้นทางของ มิเกล นั้นผ่านช่วงเวลาโลดโผนใดๆ มาบ้าง? จากแชมป์แบดมินตันระดับเยาวชนกระโจนมาวงการลูกหนังได้อย่างไร? เขาเลือกตัดสินใจคุมทีมแบบไหนถึงโดน มาเฟีย ซ้อมจนยับเยิน? ทำไมเขาถึงได้รับฉายาว่า ‘จอมเวทย์’ ในวงการฟุตซอลญี่ปุ่น? สุดท้ายมาลงเอยกับวงการฟุตซอลไทยได้อย่างไร? ติดตามได้ในบทความนี้

คุณหนูสู้ชีวิต

หากจะกล่าวว่าครอบครัวของ มิเกล ถือว่าอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูงแห่งแคว้นอันดาลูเซีย คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปนัก เพราะเขามีคุณพ่อประกอบอาชีพเป็นหมอ ส่วนคุณแม่ก็ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นสูง ดังนั้นตัวของเขาสามารถพูดได้เต็มปากว่า ‘มีพร้อมทุกอย่าง’

แต่ใช่ว่าครอบครัวของเขาจะเลี้ยงลูกแบบ ‘สปอยล์’ ด้วยการใช้เงินเปย์ซื้อของทุกอย่างให้ตามแบบฉบับลูกคุณหนูในละครไทย กลับกันเสียอีกที่เป็น มิเกล ที่ต้องดิ้นรนหารายได้เสริมให้กับตัวเอง เพราะกฎเหล็กของทางบ้าน คือ ถ้าอยากได้ของชิ้นไหนหรือต้องการสิ่งใด ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงจำเป็นต้องหารายได้พิเศษหรือเก็บหอมรอมริบ เพื่อจะมีไอเทมเท่ๆ อย่าง กางเกงยีนส์ลีวาย หรือ รองเท้าอาดิดาส ซึ่งกว่าจะเปิดหัวชิ้นแรกได้ ก็ต้องใช้เวลารอจนถึงอายุ 20 ปีเลยทีเดียว

จากการที่ครอบครัวประกอบวิชาชีพชั้นสูงในสังคม แน่นอนว่า มิเกล ถูกวางแนวทางให้เป็นแบบเดียวกัน ด้วยการถูกขีดเส้นทางการดำเนินชีวิตเอาไว้ว่า ‘โตไปต้องเป็นทนาย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความชอบของเขาโดยสิ้นเชิง เนื่องจากตัวของเด็กหนุ่มรายนี้นั้นชื่นชอบศาสตร์ ‘พลศึกษา’ ใช้เวลาว่างเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำทั้งเล่น ฟุตบอล, ฟุตซอล และ แบดมินตัน ในพื้นที่อันเอื้ออำนวยแถวบ้าน

“สมัยเด็ก ผมเริ่มเล่นทั้งฟุตบอลและฟุตซอลกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน รวมถึงใต้คอนโดมิเนี่ยม บ้านพักของผมที่กรานาดา แต่คุณรู้มั๊ย? ผมเนี่ย...เคยเป็นนักแบดมินตันระดับแชมป์ ของอันดาลูเซียเลยนะ ทั้งชายเดี่ยว, ชายคู่, และคู่ผสม ผมค่อนข้างเก่งมากๆทีเดียวล่ะ (ยิ้ม)” 

“พ่อ-แม่ผม เขาไม่ค่อยชอบให้ผมเล่นกีฬาเท่าไหร่ ให้เล่นเพื่อสุขภาพและสนุกสนานได้ แต่พวกเขาต้องการให้ผมเป็นทนาย แต่ผมชอบเรื่องพลศึกษามากกว่า เงินที่ผมเก็บหอมรอมริบได้ก็มาจากการทำงานสอนคนแก่ออกกำลังกายนั่นแหละ”

อย่างไรก็ตาม มิเกล ไม่สามารถสานฝันให้กับตัวเองทางด้านกีฬาแบบเต็มตัวได้ เนื่องจากข้อบังคับที่ตกลงไว้กับทางด้านว่าต้องเรียนต่อด้านกฎหมาย เขาจึงจำเป็นต้องเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยกรานาด้า แล้วต้องลาจากวงการกีฬาบางประเภทอย่าง แบดมินตัน และ เทนนิส เพื่อไปทำภารกิจให้ครอบครัว เพราะรู้ตัวว่าไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการซ้อมอย่างเต็มที่

จากเรื่องบังเอิญสู่ทางเดินชีวิต

โชคยังดีที่ มิเกล ยังคงได้เล่น ‘ฟุตซอล’ อีกหนึ่งกีฬาที่เขาชื่นชอบตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วจากคอนเนคชั่นของคุณพ่อที่มีหน้ามีตาในสังคมชั้นสูง รู้จักคนเยอะ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งทีมของเขาขึ้นมา เพื่อลงทำการแข่งขันในระดับสมัครเล่น โดยมีงบประมาณจากเพื่อนๆ ของคุณพ่อคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนกฎหมาย รายนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นเฮดโค้ชจากการเลือกของเพื่อนร่วมทีมอีกด้วย

“ช่วงที่ผมไปเรียนมหาวิทยาลัย ผมและกลุ่มเพื่อนๆได้ตัดสินใจตั้งทีมฟุตซอลลงแข่งขันในระดับสมัครเล่น ลีกล่างสุดของทีมสมัครเล่นเลยล่ะ แต่เรารู้และมั่นใจว่าพวกเราทำได้ดี บางทีอาจก้าวขึ้นไปเล่นลีกอาชีพได้...พ่อผมเป็นหมอ เขาจึงรู้จักคนเยอะแยะมากมาย เขาชวนเพื่อนของเขามาช่วยอุปถัมภ์ทีมฟุตซอลของพวกเรา และเพื่อนๆเลือกผมเป็นโค้ช ผมไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไม… แต่พวกเขาบอกว่าผมเนี่ยแหละเหมาะสมที่สุด (หัวเราะ)” 

“ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 18 ปี และไม่เข้าใจสาเหตุที่ต้องเป็นโค้ชไปด้วยเหมือนกัน อาจเป็นเพราะผมเป็นคนที่เข้าได้กับทุกคน ยิ้มแย้มเสมอ แต่ผมก็ชอบนะ และนั่น คือจุดเริ่มต้นการเป็นโค้ชฟุตซอลของผม”

ผลงานของทีมฟุตซอลภายใต้การคุมทัพของ มิเกล ทำได้ดีเกินคาด ไต่เต้าไปจนถึงระดับกึ่งอาชีพ แล้วทุกการมีส่วนร่วมของเขาก่อให้เกิดเป็นความรักต่อกีฬานี้จริงๆ จนทำให้เขาตัดสินใจที่จะบอกกับครอบครัวตรงๆ เพื่อขอศึกษาปริญญาด้านพลศึกษาอีกใบ หลังจากเรียนจบด้านกฎหมายด้วยการใช้ระยะเวลา 3 ปี แต่เอาจริงๆ แล้วเขาแอบเรียนมาตั้งแต่อยู่ปีสุดท้ายแล้ว

เหตุผลที่ มิเกล จำเป็นต้องอำลาทีมฟุตซอลที่เขาปลุกปั้นและร่วมเล่นมาตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัย คือ สปอนเซอร์ไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามระดับที่ไต่ขึ้นไปไหว ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากจบปริญญาด้านพลศึกษา เขาก็รับงานเป็นโค้ชให้กับอีกทีมหนึ่งควบคู่ไปด้วย แถมยังต้องประกอบอาชีพครูตามความฝันไปพร้อมๆ กัน

การเดินทางไป-กลับ ด้วยรถยนต์เก่าๆ ที่พ่อของเขาออกเงินซื้อให้ใช้ก่อน พอมีรายได้เข้ามาก็ยังคงต้องยึดกฎเดิมด้วยการผ่อนใช้คืนด้วยการตัดรายรับจากการเป็นครูมาผ่อนจ่าย พออายุได้ 28 ปี มิเกล ย้ายไปสอนในระดับมหาวิทยาลัย พร้อมกับได้คุมทีมระดับอาชีพเป็นครั้งแรกกับสโมสรระดับดิวิชั่น 2 ที่มีชื่อว่า ‘นาซารีโน่ เดอ เซบีญ่า’ แต่คุมทีมได้ปีเดียวก็ย้ายไปรับงานใหม่ที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก ณ อิตาลี

ในปี 2000 วงการฟุตซอลในแดนรองเท้าบู๊ทไม่ได้เจริญเท่ากับฟุตบอลสนามใหญ่ วงการยังคงถูกครอบงำด้วยผู้มีอทิธิพลอย่างเช่น ‘มาเฟีย’ เหมือนในหนังที่เราคุ้นตากันดีอย่าง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ไม่เว้นแม้แต่เมือง ปาโดว่า ที่ดูภายนอกแล้วสวยงามเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางกีฬาชนิดนี้ แต่อย่างน้อยบรรยากาศรวมๆ ก็ทำให้ มิเกล หลงรักที่นั่นเข้าเต็มเปา

“ชีวิตของผมที่อิตาลีมันสวยงามมาก โดยเฉพาะทางภาคเหนือ...เมืองสงบน่าอยู่ ผู้คนยิ้มแย้มร่าเริง แต่กับวงการฟุตซอลแล้ว ผมพูดได้ว่าป่าเถื่อน การเล่นฟุตซอลที่นั่นเหมือนกับไม่มีกฎกติกาใดๆ รองรับอยู่เลย โดยเฉพาะทางใต้ของอิตาลี เมื่อคุณถูกบอกว่า คุณต้องแพ้ คุณก็ต้องแพ้ คุณห้ามไปขัดขืนคำสั่ง”

“สมมุติมีคนโทรมาจากนาโปลีนะ บอกคุณว่าวันนี้คุณต้องแพ้ เขาไม่ได้ให้เงินคุณด้วยนะ แต่ คุณต้องทำตาม ไม่งั้นคุณโดนอัดน่วม และสหพันธ์ฯก็ทำหูไปนาตาไปไร่ แน่นอนว่า บางครั้งผมก็เคยโดนอัดด้วยเช่นกัน เพราะผมไม่ยอมเชื่อฟังนี่หน่า” 

“มีครั้งนึง ผมเดินทางถึงสนามล่วงหน้า 2 ชั่วโมง แต่ทางสโมสรคู่แข่งบอกว่าผมต้องอยู่บนรถ ห้ามลงไปเตรียมตัว และวอร์มในสนามจนกว่าเกมจะเริ่ม เราก็เลยอบอุ่นร่างกายบนรถกันแทน พอลงจากรถเข้าสนามเท่านั้นแหละ มีพวกแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ เข้ามารุมเตะรุมต่อยพวกเรา สุดท้ายเกมนั้นเราแพ้ 0 - 5”

อีกเหตุการณ์หนึ่งมีคนมาบอกเขาว่าห้ามพูดกับนักเตะ แต่ทาง มิเกล เลือกที่จะสวนกลับไปว่าอย่ามายุ่งกับเขา สุดท้ายผลจบลงที่โดนโยนออกไปนอกสนามอัดจนน่วม แต่คงยังไม่โชคร้ายเท่ากับโค้ชในวงการอีกคนที่ถูกกำชับว่า ห้ามชนะในเกมนี้ แล้วลูกทีมกลับยิงประตูชัยเข้าไป เลยโดนแฟนบอลเจ้าถิ่นลงมาเตะที่หว่างขา จุดอ่อนของผู้ชายทุกคนจนต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งไปหนึ่งข้าง แถมต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเป็นเดือนๆ อีกด้วย

มิเกล เริ่มมีชื่อเสียงในวงการโต๊ะเล็กมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ย้ายไปคุมทีมใน รัสเซีย กลับมาอิตาลี แล้วก็ได้รับโอกาสให้ไปคุมทัพ กาฆ่า เซโกเวีย ซึ่งเป็นทีมในระดับลีกสูงสุดแดนกระทิงดุบ้านเกิด ผลงานของเขา คือ การพาทีมจบกลางตาราง เหมือนจะดูดาดๆ ทั่วไป

แต่การได้คุมสตาร์ตัวเก๋าระดับทีมชาติอย่าง อังเดรอู ลินาเรส ที่วัยใกล้เคียงกัน 33 ปี ให้ยอมรับในตัวเขา พร้อมพาทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วย ทำให้ศักยภาพของเขาดังไปไกลถึงระดับเอเชีย เพราะตัวแทนจากญี่ปุ่นมาเห็นลีลาของเขาในการคุมทีมข้างสนาม

เหตุผลง่ายๆ ที่ มิเกล ตัดสินใจรับงานใหญ่กับ ทัพซามูไรบลู ในปี 2009 คือ เขารักการผจญภัย ยิ่งไปกว่านั้นกีฬาชนิดนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิมยมและแพร่หลายในประเทศมากนัก แม้ว่าจะเคยเป็นแชมป์เอเชียมาแล้ว 1 สมัย โดยเขาเลือกที่จะเข้าไปวางรากฐาน จัดทำแผนงาน กระจายแบบฝึกสอนไปทั่วประเทศ ด้วยการกำหนดบทเรียนเอาไว้ 5 ระดับ เพื่อพัฒนาบุคลากรโค้ชตั้งแต่ระดับรากหญ้า รวมไปถึงสร้างสไตล์การเล่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา ไม่ใช่เลียนแบบชาติที่เป็นเต้ยแห่งวงการอย่าง สเปน หรือ บราซิล

“เริ่มแรก ผมสร้างทีมชาติให้แข็งแกร่ง พร้อมๆกับสอนพวกโค้ชรากหญ้า ผมกำหนดบทเรียนไว้ 5 ระดับ และแผนระดับมาสเตอร์ของพวกเรา คือ ฟุตซอลสไตล์ญี่ปุ่น มันต้องไม่ใช่สไตล์บราซิเลี่ยน หรือ สเปน เราได้สร้างสไตล์ที่เป็นแบบอย่างที่เหมาะสมกับคนญี่ปุ่นขึ้นมา ทั้งเกมรุก เกมรับ ลักษณะนิสัย สภาพจิตใจ” 

“ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นคนเปลี่ยนแปลงนะ ผมเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่เพราะเหล่าผู้เล่น ผู้คนในวงการ และทางสมาคมฯ ช่วยกัน และในที่สุดเราก็คว้าแชมป์เอเชียเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2010 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยการชนะไทย 6 - 1 แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม แต่ผมเห็นจุดอ่อนของไทยมาตลอด นั่น คือ เกมรับ” 

ปี 2014 ฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย กลับมาเตะกันอีกครั้งที่ประเทศเวียดนาม ครั้งนี้ ญี่ปุ่น ภายใต้การคุมทีมของ มิเกล โรดริโก ชนะอิหร่านได้สำเร็จในนัดชิงเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยชิงกันมา 4 ครั้ง แต่ญี่ปุ่นแพ้เรียบ… ทัพโต๊ะเล็กซามูไรสร้างประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นแชมป์ 2 สมัยซ้อน

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า มิเกล คือ คนที่ปลุกให้วงการฟุตซอลญี่ปุ่นบูมแบบฉุดไม่อยู่ เพราะถึงขนาดสถานีโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง NHK ยังสร้างเรียลลิตี้โชว์ขึ้นมาตามกระแส ยิ่งไปกว่านั้นเขายังได้รับคำชมจากจักรพรรดิดินี ‘นีมิชิโกะ’ ว่าเป็นคนที่ใช่ สำหรับการพัฒนาวงการฟุตซอลญี่ปุ่น แถมแฟนๆ ยังขนานนามเขาว่า จอมเวทย์ จากผลงานอันโดดเด่นที่กล่าวไปข้างต้น

แต่แล้วเมื่อรายการแข่งขัน ฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย วนเวียนมาอีกครั้ง ทีมชาติญี่ปุ่น ที่หวังจะคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ดันพ่ายทีมรองบ่อนอย่าง เวียดนาม แบบสุดช็อคในการดวลลูกจุดโทษ อดผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1999 แถมยังไปพ่ายรอบชิงอันดับที่ 5 แบบเละเทะให้กับ คีร์กีซสถาน 2-6 จึงเป็นที่มาของการที่ นายกสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น จำเป็นต้องเรียกพบเพื่อแจ้งการปลดเขาออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช ซึ่งบทสรุปในวันนั้นจบลงด้วยการร้องไห้กอดกัน เพื่อกล่าวอำลาจอมเวทย์รายนี้

แต่จากแผนที่ มิเกล วางไว้ว่าจะพักงานจากวงการฟุตซอลสัก 1 ปี แต่เขากลับได้รับโทรศัพท์จาก “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบญจศิริวรรณ ที่ยืนยันว่า ต้องการตัวเขาไปคุม ทีมชาติไทย ซึ่งความจริงแล้วเคยมีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2005-2006 ที่ทัพช้างศึกเคยพาทีมไปอุ่นเครื่องกับ กาฆ่า เซโกเวีย แต่เนื่องด้วยโค้ชชาวสเปนรายนี้เคารพสัญญากับต้นสังกัด ดีลจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่พอมาครั้งนี้ ‘ปูลปิส’ เพื่อนของเขาในวงการเป็นคนขอร้องให้มาช่วย จึงกลายเป็นชะตาที่ไม่อาจเลี่ยง

ผลงานพาร์ทแรกของ มิเกล ในการคุมทัพ ฟุตซอลทีมชาติไทย ลุยศึก ฟุตซอลโลก จอดป้ายที่รอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่สู้กับทีมอันดับ 3 ของโลกได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยการแพ้ไปแค่ 4-6 ส่วนทัวร์นาเมนต์ต่อมาเขาสามารถพาทีมผงาดเป็นแชมป์อาเซียน และปิดฉากด้วยการพาทีมชาติไทย ยู-20 คว้าอันดับ 3 ในรายการชิงแชมป์เอเชียมาครองได้ หลังจากนั้นก็แยกทางกันไป

ต่อมา มิเกล ตัดสินใจเซ็นสัญญาคุม ทีมชาติเวียดนาม เป็นระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่ปี 2017-2019 ก่อนจะพักงานยาวไปไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งเหมือนเป็นการได้เรียนรู้สัจธรรมของชีวิตอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ ‘การใช้ชีวิตให้ช้าลง’ โดยเขาไม่จำเป็นต้องตั้งเวลาทำอะไรแบบเร่งรีบอีกต่อไป ให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น พาลูกไปดูหนัง เอาเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการคุมทีมฟุตซอลมาลงทุน ซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบ พาสซีฟ อินคัม ได้ใช้เวลาสอนเด็กๆ เล่นฟุตซอลแบบไม่มีอะไรกดดัน…แต่แล้วสุดท้ายภารกิจสำคัญก็เรียกเขากลับมาคุม ทีมชาติไทย อีกครั้ง

ลาสแด๊นซ์ของจอมผจญภัย

การผจญภัยของ มิเกล ในการพา ทีมชาติไทย ลุยศึกฟุตซอลโลก 2024 เจอกับคำถามมากมายจากแฟนบอลตั้งแต่เรียกตัวผู้เล่น เพราะรายชื่อที่ติดทีมมาหลายต่อหลายคน ค่อนข้างค้านสายตาในเรื่องของฟอร์ม ณ ปัจจุบัน

ซึ่งโค้ชจอมผจญภัยรายนี้ เลือกที่จะตอบกลับข้อกังขาด้วยคำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่มีข้อสงสัยในประเด็นนี้ แต่ขอให้เชื่อว่าการเลือกผู้เล่นมาติดทีมแต่ละคนของเขา ล้วนต้องมีการวาง บทบาท และ หน้าที่ รวมไปถึงเป็นเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังด้านแท็คติก

แต่ประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การประกาศรีไทร์ออกจากวงการ ฟุตซอล ล่วงหน้าทางสื่อโซเชี่ยลมีเดียของเขา นั่นหมายความว่า ภารกิจในการคุมทัพ ‘ช้างศึก’ จะเป็นงานสุดท้ายของอาชีพการเป็นโค้ชของเขา ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตแบบ ‘สโลว์ไลฟ์’ อย่างที่เขาต้องการแบบไม่ยุ่งเกี่ยวกับเกมลูกหนังอันตึงเครียดอีก

ส่วนตัวแล้ว มิเกล มองว่าเส้นทางที่ผ่านมาในการคุมทีม ฟุตซอล ของเขานั้นประสบความสำเร็จมามากพอสมควรแล้ว ซึ่งแม้ว่าเขาจะเป็นโค้ชรายแรกๆ ที่ตัดสินใจมารับงานในเอเชีย ด้วยบทบาทด้านการพัฒนาและวางรากฐาน ไม่ได้เริ่มจากการคุมทีมนั้นเป็นปัจจัยสำคัญให้ตัวเขาได้รับการยอมรับจากบุคลากรในวงการ มากกว่าเรื่องของผลงานการคุมทีม ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องของชื่อเสียงหรือคำสรรเสริญเยินยอเหล่านั้นเลย

โดยส่วนตัวแล้ว มิเกล มองถึงแค่ภารกิจสุดท้ายเพื่อสั่งลาอย่างที่เขาตั้งใจไว้แต่แรกว่า

“ผมเคยคุมทีมในศึก ฟุตซอลโลกมาแล้วสองครั้ง และทั้งสองครั้งผมเข้าใกล้การสร้างประวัติศาสตร์มาก ครั้งหนึ่งกับทีมชาติญี่ปุ่นในปี 2012 และอีกครั้งกับทีมชาติไทยในปี 2016 ผมเคยมีประสบการณ์ในฟุตซอลโลกครั้งอื่น ๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ของฟีฟ่า ซึ่งผมชื่นชอบมาก ผมเคยเกือบพาทีมเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวง หากต้องพูดถึงโอกาสในการเดิมพัน ผมคิดว่าคงมีเพียง 2% ที่เป็นไปได้ แต่นั่นแหละคือเสน่ห์ของกีฬา เพราะโอกาส 2% นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

“ผมอยากจะทำ ‘Last Dance (การเต้นรำครั้งสุดท้าย)’ บนเวทีการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกกีฬา นั่นคือฟุตซอลโลก โดยการพาทีมชาติไทยติดอันดับ 8 ทีมสุดท้ายของโลก เราอาจมีโอกาสสร้างประวัติศาสตร์ ผมอยากจะท้าทายตัวเองครั้งสุดท้ายโดยพา ทีมชาติไทย เป็นทีมท็อป 8 ของโลก”

ตอนนี้ มิเกล ร่ายมนต์ไปแล้ว 2 เกม ด้วยการพาทีมเบียดเอาชนะ ทีมชาติโครเอเชีย 2-1 และเกมล่าสุดในการถล่ม ทีมชาติคิวบา 10-5 การันตีผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการใช้ผลงานตอกกลับข้อสงสัยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม มิเกล ยังเหลือด่านสำคัญในการพาทีมทะลุผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย อันเป็นเป้าหมายที่เขาตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม หากเขาทำได้สำเร็จแน่นอนว่าชื่อของเขาก็จะกลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ พร้อมกับได้รับคำชมมากมาย แต่ถ้าหากไปไม่ถึงเป้าหมายอาจเป็นแค่โค้ชที่ผ่านมาแล้วสร้างภาพจำแบบลางๆ เท่านั้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ