Mohammed VI : อคาเดมี่ที่เกิดขึ้นจากความอายสู่เบื้องหลัง ‘โมร็อกโก’ ผงาดในบอลโลก

Mohammed VI : อคาเดมี่ที่เกิดขึ้นจากความอายสู่เบื้องหลัง ‘โมร็อกโก’ ผงาดในบอลโลก
ชยันธร ใจมูล

"ให้ตายเถอะ พ่อหนุ่มหมายเลข 8 ของ โมร็อกโก ผมจำไม่ได้ว่าเขาชื่ออะไร แต่เขาเล่นได้อย่างสุดยอดมาก หมอนี่มาจากไหนกันแน่ ?" หลุยส์ เอ็นริเก้ กุนซือทีมชาติ สเปน กล่าวถึง อัสซิดดีน อูนาฮีย์ นักเตะโนเนมของทีมชาติโมร็อกโก( ณ ตอนนั้น) หลังจาก สเปน โดนเขี่ยตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย

คำตอบที่เราหามาให้ เอ็นริเก้ ที่ถามว่า "เขามาจากไหน?" ได้ก็คือ นักเตะคนนี้มาจากอคาเดมี่ที่ชื่อว่า มูฮัมหมัดที่ 6 อคาเดมี่ (Mohammed VI Football Academy) สถานที่ที่ FIFA บอกว่า "ดีที่สุดในโลก"

อคาเดมี่แห่งนี้ถูกสร้างจากความอับอายและเบื่อหน่ายที่ฟุตบอลของทีมชาติโมร็อกโก ที่ไม่ประสบความสำเร็จเลย และไล่ตามหลังชาติแอฟริกันอื่น ๆ แบบสุดกู่ ... จนกระทั่งเมื่อที่แห่งนี้สร้างขึ้นผลก็คือ โมร็อกโก เข้ามาถึงรอบตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022 ได้อย่างเหลือเชื่อ ?

จากรากถึงรอบตัดเชือกฟุตบอลโลก 2022 พวกเขาทำได้อย่างไร ? ติดตามที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

โมร็อกโกสไตล์ : ศิลปะเเห่งการตั้งรับของโค้ชที่เพิ่งคุมทีมได้แค่ 3 เดือน | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
หลังจากเสมอกันในเวลา 120 นาที 0-0 โมร็อกโก เอาชนะการดวลลูกจุดโทษกับ สเปน ไป 3-0 เเละผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เป็นอีกหนึ่งการพลิกล็อกช็อคโลก ที่จะถูกพูดถึงไปอีกหลาย ๆ ปี x



ความพ่ายแพ้ที่แสนน่าเบื่อ

ขึ้นชื่อว่าการแข่งขันมันก็ต้องมีแพ้มีชนะ ทว่าบางครั้งการแพ้มากเกินไปก็สร้างความ อาย เซ็ง และ เบื่อ ให้กับผู้แพ้กันบ้าง ... แล้วจะทำอย่างไรล่ะหากผู้แพ้เหล่านั้นอยากจะกลายเป็นผู้ชนะดูสักที

ในอดีตพวกเขาแพ้จนเบื่อ... แต่สิ่งนี้แก้ได้ด้วยการลงทุนและลงแรง เผื่อเปลี่ยนแปลงจากความอายให้กลายเป็นความสำเร็จภายในเวลาไม่กี่ปีที่เท่านั้น

โมร็อกโก คือชาติในทวีปแอฟริกาที่ไม่ได้โดดเด่นมากมายนักในเรื่องฟุตบอล ไม่ว่าจะในเรื่องของความสำเร็จและการปั้นนักเตะเก่ง ๆ ขึ้นมาประดับบนเวทีระดับโลกหากเทียบกับชาติมหาอำนาจลูกหนังในทวีปอย่าง ไนจีเรีย, แคเมอรูน, เซเนกัล หรือแม้กระทั่ง ไอวอรี่ โคสต์

ในช่วงก่อนหน้านี้ นักเตะ โมร็อกโก ที่ถูกรู้จักกันในวงกว้างนั้นมีน้อยมาก เอาแบบที่พูดชื่อเเล้วร้องอ๋อก็ดูเหมือนจะมีเพียง มุสตาฟา ฮัดจิ กองกลางผมยาวที่สร้างความยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลกปี 1998 เท่านั้น จากนั้นเป็นต้นมาวงการฟุตบอลโมร็อกโกซบเซาเป็นอย่างยิ่ง

Photo : BeSoccer

คนที่เห็นเรื่องนี้และลุกขึ้นมาเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงคือ พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 กษัตริย์แห่งประเทศ โมร็อกโก ผู้ถือครองและเป็นเจ้าของสถิติกษัตริย์ที่รวยที่สุดในแอฟริกา และเป็นอันดับ 6 ของโลก

พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 รู้สึกถึงสิ่งนี้ในช่วงปี 2008 ในการประชุมในสภาว่าด้วยการพัฒนากีฬาในประเทศ พระองค์รู้สึกว่าวงการฟุตบอล โมร็อกโก นั้นวิกฤติหนักมาก นับตั้งแต่ปี 1998 ถึงปี 2008  พวกเขาตกรอบแบ่งกลุ่มในฟุตบอล แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ ถึง 5 ครั้งจากการแข่งขันทั้งหมด 6 ครั้ง

ขณะที่ในเวทีใหญ่อย่างฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา โมร็อกโก ก็ไมได้เข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยแม้แต่หนเดียว ไม่ว่าจะเป็นปี 2002, 2006, 2010 และ 2014  เหนือสิ่งอื่นใดคืออันดับโลกของพวกเขากระเด็นไปอยู่ถึงอันดับที่ 95 ในฟีฟ่า แรงกิ้ง ... นี่คือสิ่งที่ยืนยันถึงความถดถอยได้เป็นอย่างดี

"เราต้องปรับปรุงวงการกีฬาในประเทศใหม่ทั้งหมด แก้กันตั้งแต่โครงสร้าง ฟื้นฟูให้กีฬากลายเป็นกีฬาระดับอาชีพ และต้องมีองค์กรที่รับผิดชอบเข้ามาจัดการกันตามระบอบประชาธิปไตย" พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 ตรัส ในการประชุมสภาปี 2008

เมื่อคนที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศกล่าวเช่นนั้น การพัฒนาถึงเริ่มขึ้น มีการวางงบประมาณเพื่อพัฒนากีฬาต่าง ๆ ในประเทศและวางแผนงานกันในทันที และส่วนที่ลงมือทำเร็วที่สุดคือฟุตบอล พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 จัดการใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ราว 550 ล้านบาท(13 ดอลลาร์สหรัฐฯ )  และมีกลุ่มทุนคอยสนับสนุนเพิ่มเติมในส่วนของอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังมีการฉีดเงินเข้าพัฒนาระบบอคาเดมี่อยู่ทุก ๆ ปี

Photo : Morocco World News

เมื่อพลังเงิน และพลังอำนาจรวมเป็นหนึ่ง การปลูกสร้างก็ใช้เวลาดำเนินการอย่างรวดเร็ว

1 ปีเท่านั้น  'มูฮัมหมัดที่ 6 อคาเดมี่' ก็พร้อมเปิดใช้งาน ประกอบด้วยสนามฟุตบอลมาตรฐาน 4 สนาม อาคารรองรับทั้ง 5 อาคาร ให้พร้อมสำหรับทุกด้าน ทั้งการศึกษา, ศูนย์การแพทย์, โรงอาหาร และ สถานที่ประกอบกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ

ลงทุนกับสถานที่ไปแล้ว แต่ใช่ว่ามีแค่นี้จะสามารถเอานักเตะมาเข้าระบบและออกมาทำให้ทีมชาติได้ฟุตบอลโลกทันที ... นอกจากสิ่งปลูกสร้างแล้วสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ "บุคลากร" ซึ่งทางพระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 ก็จัดเต็มในเรื่องนี้ด้วยงบประมาณที่ทุ่มไม่อั้นเลยทีเดียว

เลือกคนเก่ง สร้างเด็กเก่ง

พระเจ้ามูฮัมหมัดที่ 6 มอบหน้าที่การจัดการเรื่องต่าง ๆ หลังจากนี้ให้กับ มูเนียร์ มาฌิดี้ นักธุรกิจแถวหน้าของประเทศและเป็นราชเลขาส่วนตัวของพระองค์มาตั้งแต่ปี 2000

ตัวของ มูเนียร์ นั้นมีประสบการณ์การเป็นประธานสโมส Al-Fateh ในลีกโมร็อกโกมาก่อน  แต่ถึงกระนั้นเขาก็เชื่อว่าตัวเองยังไม่เหมาะกับการควมคุมงานสเกลใหญ่แบบนี้ด้วยตัวคนเดียว เขาจึงลงทุนจ้าง นาสเซอร์ ลากัต อดีตผู้อำนวยการอคาเดมี่ของหลายสโมสรในลีกเอิงอย่าง ก็อง, สตาร์สบูร์ก โดยเขาเคยทำงานอยู่กับทีมแถวหน้าในฝรั่งเศสอย่าง โอลิมปิก มาร์กเซย ด้วย

นาสเซอร์ ลากัต มาพร้อมกับทีมงานมืออาชีพชุดใหญ่จากฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นแมวมอง หรือโค้ชในส่วนต่าง ๆ เพื่อลุยงานที่ โมร็อกโก โดยเขาและทีมงานเริ่มเดินทางไปยังทั่วประเทศ เพื่อเปิดการคัดตัวเยาวชนจากทุกมุมเมือง เป้าหมายคือการหานักเตะเยาวชนที่ดีที่สุดจำนวน 39 คน ตั้งแต่รุ่นอายุ 12-17 ปีเข้ามาเป็นรุ่นบุกเบิกของ มูฮัมหมัดที่ 6 อคาเดมี่

นอกจากบุคลากรฝ่ายคัดเลือกและดูแลเยาวชนแล้ว ยังมีการจ้างเอาบุคลากรที่เชี่ยวชาญงานแขนงต่าง ๆ ระดับแถวหน้าของประเทศเข้ามาทั้งแพทย์, นักกายภาพ และนักโภชนาการเป็นต้น

Photo : Alkass International Cup

และสำหรับเด็ก ๆ ที่ได้รับการรับเลือกจะได้ทั้งทุนการศึกษา, ได้เงินเบี้ยเลี้ยง และได้อยู่กินฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เหนือสิ่งอื่นใดคือในวันที่พวกเขามีฝีเท้าที่ดีพอจะส่งออกแล้ว ทางอคาเดมี่ยังมีคอนเน็คชั่นกับสโมสรในฝรั่งเศส และสเปน ที่จะทำให้เด็ก ๆ ในอคาเดมี่ได้ต่อยอดในระดับที่สูงกว่าฟุตบอลลีกโมร็อกโก ที่ไม่ได้มีความแข็งแกร่งมากนัก

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้นักเตะแถวหน้าของอคาเดมี่อย่าง อูนาฮีย์ ได้ย้ายไปเล่นกับ สตาร์สบูร์ก เช่นเดียวกับ ยูสเซฟ เอ็น-เนสเซรี ที่ได้ย้ายไปเล่นในสเปนกับ มาลาก้า ในปี 2015, ฮัมซา เมนเดล ได้ย้ายไปเล่นในฝรั่งเศสกับ ดิฌง เป็นต้น ซึ่งปลายทางของพวกเขา ก็อย่างที่เราได้เห็นกันนักเตะเหล่านี้อยู่ในทีมชาติโมร็อกโกชุดประวัติศาสตร์ฤุตบอลโลก 2022 ทั้งสิ้น

จากนี้มีอีกเพียบ

นักเตะของ มูฮัมหมัดที่ 6 อคาเดมี่ นั้นยังไม่ได้สิ้นสุดแค่ตรงนี้ หรือทีมชุดฟุตบอลโลก 2022 เท่านั้น ปัจจุบันพวกเขาสร้างนักเตะมาหลากหลายชุด และเด็ก ๆ หลายคนของพวกเขาก็จ่อคิวรอ เพราะตอนนี้มีถึง 7 คนที่อยู่ในทีมชาติโมร็อกโกรุ่นยู 20 ปี เช่นเดียวกับในทีมเยาวชนรุ่นอายุต่าง ๆ

ต่อให้ที่สุดเเล้วนักเตะชุดหลัง ๆ จะไมได้เก่งกาจถึงขั้นไปเล่นกับทีมแถวหน้าในยุโรป แต่นักเตะพวกนี้ก็จะกลายเป็นนักเตะที่สามารถค้าแข้งในลีกประเทศของตัวเองและยกระดับฟุตบอลลีกของโมร็อกโกได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

"สิ่งที่เกิดขึ้นกับ มูฮัมหมัดที่ 6 อคาเดมี่ นั้นถือเป็นการบุกเบิกวงการฟุตบอลโมร็อกโกครั้งใหญ่ จากนี้ไปพวกเขาจะมีนักเตะจ่อคิวที่พร้อมก้าวมาเป็นระดับทีมชาติ นอกจากนี้การขยับตัวของอคาเดมี่แห่งนี้ยังทำให้หลาย ๆ สโมสรในประเทศลงทุนลงแรงกับนักเตะดาวรุ่งมากขึ้น เพราะเห็นทิศทางการไปต่อที่ดีได้" อับดุล ราห์มาน อิสชี นักข่าวชาว โมร็อกโก กล่าวผ่านสื่อ al-ain.com

"ทุกสโมสรในประเทศได้เห็นและถูกกระตุ้นจากเรื่องนี้ พวกเขาจะไม่มีทางละเลยปัญหาเรื่องของนักเตะเยาวชนอีกต่อไป" เขากล่าวทิ้งท้าย

Photo : Telegraph India

นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาอวยกันหลังทีมชาติทำผลงานได้ดี เพราะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทาง FIFA ก็ได้ส่งทีมสำรวจการพัฒนาเข้ามายังอคาเดมี่เเห่งนี้ และพวกเขากล่าวถึงอคาเดมี่ดังกล่าวว่า "ที่นี่มีศักยภาพที่จะกลายเป็นสถาบันกีฬาที่ใหญ่และประสบความสำเร็จที่สุดในโลก"

"ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่เราเห็น คือการให้พัฒนาการกับนักเตะเยาวชนในประเทศ และพวกเขาเหล่านี้กำลังจะชี้ทางให้ส่วนอื่น ๆ ขยับขยายตามมา"

"โมร็อกโก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์นักเตะพรสวรรค์สูงที่ดี โดยเฉพานักเตะตำแหน่งกองกลางที่ดูโดดเด่น สร้างสรรค์เกมได้ดี และนักเตะของหน้าที่มีสไตล์การเป็นดาวยิงที่ชุดเจนพวกเขาพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ" ตัวแทนของ FIFA กล่าว

ถึงตอนนี้สิ่งที่พูดถึงกำลังแสดงให้ชาวโลกเห็น ไม่ว่าพวกเขาจะไปถึงแชมป์หรือไม่ โมร็อกโก ก้าวจากอันดับที่ 95 มาเป็นอันดับที่ 22 ของ ฟีฟ่า แรงกิ้ง ภายในเวลา 12 ปี มันพิสูจน์ได้ว่าการสร้างตั้งแต่รากและให้ความสำคัญกับเยาวชนนั้นมีปลายทางที่สดใสรออยู่... อย่างแน่นอน

https://northafricapost.com/59036-fifa-mohammed-vi-football-academy-one-of-best-most-successful-academies-in-the-world.html

https://www.elrisala.com/2022/12/13/al-nusairi-and-onahi-graduated-from-it-learn-about-the-mohammed-vi-football-academy-the-mine-of-football-talent-in-morocco/

https://al-ain.com/article/academy-mohamed-six-morocco-talents

https://www.moroccoworldnews.com/2020/02/294160/mohammed-vi-football-academy-reaches-semi-final-of-prestigious-youth-tournament

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ