คุยกับ ส.บอล, โค้ช และ นักเตะ : "แก้ยังไงกับปัญหาแข้งแอบไปเตะเดินสาย ?"

คุยกับ ส.บอล, โค้ช และ นักเตะ : "แก้ยังไงกับปัญหาแข้งแอบไปเตะเดินสาย ?"
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

จากประเด็นความร้อนแรงเรื่องของรายการ บอลเดินสาย ซึ่งมีการผุดทัวร์นาเมนต์ต่างๆ กระจายไปทั่วประเทศ แล้วมีนักเตะระดับอาชีพที่ผ่านเวที ไทยลีก ดิวิชั่นต่างๆ มาลงทำการแข่งขันร่วมด้วย จนเกิดความเห็นแตกออกเป็นสองฝ่ายว่าเรื่องนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่?

แน่นอนว่า ไทยลีก มีการตั้งระเบียบกฎข้อห้ามเอาไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการที่นักเตะอาชีพ ที่ผ่านเวทีการเล่นบอลลีกในประเทศไทย ไม่มีสิทธิ์ไปเตะรายการอื่นๆ หากไม่ได้ของอนุญาตก่อม ตามระเบียบวาระดังนี้

ข้อ 28.8 “ไม่อนุญาตให้นักกีฬาฟุตบอลหรือทีมฟุตบอลที่ลงชื่อเข้าร่วมแข่งขันในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพแล้วในปีใดปีหนึ่งไปเล่นหรือแข่งขันกีฬาฟุตบอลในรายการอื่นๆ ในปีเดียวกัน ยกเว้นรายการที่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายจัดการแข่งขัน หรือได้รับอนุญาตจาก บ.ไทยลีก จำกัด เป็นลายลักษณ์อักษร

PHOTO : แนวหน้า

ส่วนระเบียบว่าด้วยการลงโทษคณะพิจารณาวินัย มารยาท 1.13 นักกีฬาลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลรายการอื่นใดในปีเดียวกันกับที่มีชื่อแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพอยู่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการแข่งขันก่อน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 50,000 บาท

ก่อนหน้านี้ทางทีมงานได้มีการสอบถามความคิดเห็นเรื่องนี้จากมุมของของ ‘ผู้จัดบอลเดินสาย’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความเหมาะสมของบริบทในการนำเสนอ ควรจะมีการถามความเห็นของฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นทางทีมงานจึงได้มีการต่อสายไปยัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎระเบียบของไทยลีก, โค้ชฟุตบอลระดับอาชีพ และ ข้อความจากนักเตะที่เคยผ่านเวทีบอลอาชีพกับบอลเดินสาย เกี่ยวกับประเด็นนี้ให้ครบถ้วนกระบวนความ

แต่ละมุมมองของแต่ละฝ่ายจะออกมาเป็นแบบไหน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ความเห็นจากเจ้าหน้าที่ไทยลีกฝ่ายกฎการแข่งขัน

หลังจากต่อสายไปหาผู้ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ทางเจ้าตัวเปิดเผยว่าเห็นข่าวเด่นประเด็นร้อนนี้เช่นกัน ซึ่งเอาจริงๆ แล้วเรื่องนี้จำเป็นต้องมองในหลายบริบท ไม่สามารถมองแบบเผินๆ ได้ ว่ากันไปเป็นขั้นเป็นตอน แล้วแบ่งแยกมุมมองจากความเป็นมืออาชีพ โดยได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“เอาจริงๆ แล้ว กฎที่ทาง ไทยลีก ตั้งขึ้นมา ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นนักเตะหรือสโมสร เพราะหน้าที่หลักของเรา คือ การจัดการแข่งขัน และ ดูแลสโมสรสมาชิก ที่ลงทะเบียนทำการแข่งขันเท่านั้น”

“จุดมุ่งหมายหลักของการออกกฎในส่วนนี้ คือ ต้องการให้สโมสรฟุตบอล ดูแลรักษาสิทธิ์สัญญาจ้าง ระหว่างบริษัทกับพนักงานของพวกเขา ในที่นี้ก็เป็นนักเตะที่มีสัญญาผูกมัดอยู่กับทีมนั่นเอง เราแค่เป็นตัวกลางรับเรื่องต่างๆ เท่านั้น”

PHOTO : ผู้จัดการออนไลน์

“อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทย มีการจัดแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ ที่ไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์อาชีพมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลดารา, ฟุตบอลประเพณี, ฟุตบอลตำรวจ และ ฟุตบอลกองทัพ ซึ่งหากมีการทำหนังสือของอนญาตแจ้งชื่อนักเตะที่จะแข่งขันมาให้ ไทยลีก ชัดเจน นักเตะก็มีสิทธิ์ไปร่วมรายการอยู่แล้ว”

“แต่ก่อนที่หนังสือขออนุญาตมันจะออกมาได้ นักเตะก็จำเป็นต้องไปแจ้งเรื่องดังกล่าวกับต้นสังกัดก่อน ซึ่งก็ต้องไปดูกันเรื่องของบริบทตัวสัญญาแต่ละทีมว่า ตกลงกันเอาไว้อย่างไรแบบไหน เพราะผลเสียถ้ามันเกิดขึ้นจะไปตกที่นายจ้างโดยตรง ส่วนไทยลีกจะควบคุมดูแลระหว่างฤดูกาลว่าผู้เล่นที่ลงแข่งในลีกต้องมีสัญญาจ้างกับสโมสร”

PHOTO : MATICHON

“จะเป็นนักเตะระดับ ที1, ที่2 หรือ ที3 ล้วนเป็นการรักษาสิทธิ์ของแต่ละทีมเองทั้งนั้น พวกเขามีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะดูแลรักษาปกป้องอย่างไร เพราะความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้น ทางลีกไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลยนะ หลักๆ สโมสรและนักเตะต้องเป็นคนแบกรับการตัดสินใจดังกล่าว”

“ต้องยอมรับกันตามตรงว่าลีกฟุตบอลในเมืองไทย การบริหารงานเรื่องความเป็นมืออาชีพนั้นแตกต่างกันชัดเจน ลีกระดับล่างๆ อาจไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้ สัญญาต่อกันปีต่อปีจบซีซั่นยังไม่ต่อ ถ้าไม่ให้เขาไปเตะนักเตะจะอยู่ยังไง แล้วมันก็ไม่ได้ผิดกฎทางลีกเพราะเขาไม่มีสัญญาครอบแล้วด้วยในเวลานั้น”

“ส่วนทีมระดับบนๆ ไทยลีก 1 เรื่องการดูแลรายได้สวัสดิการเขาดีอยู่แล้ว นักเตะมีความเป็นมืออาชีพสูง รู้เรื่องความเหมาะสมในการดูแลรักษาสภาพร่างกายตัวเอง มีรายได้แน่นอนสัญญายาวกว่า พวกเขาไม่มีทางเอาตัวเองไปเสี่ยงแน่ๆ”

นี่คือมุมมองอีกด้านที่ทำให้ภาพเกี่ยวกับประเด็นนี้มันชัดเจนมากขึ้นว่า ไทยลีก นั้นมีจุดประสงค์ของการออกกฎการควบคุมขึ้นมาเพราะเหตุใด เหมือนเป็นการกันไว้ดีกว่ามาแก้กันทีหลัง แต่ใดๆ ทั้งหมดแล้วสโมสรกับนักเตะในสังกัด เป็นคนตกลงกันเองระหว่างกัน ก่อนที่จะมีการแจ้งเรื่องให้ถูกต้องตามระเบียบมายังผู้จัดการแข่งขันอย่าง ไทยลีก ที่เป็นปลายทาง

มุมมองจากโค้ชธง

เป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่า โค้ชธง-ธงชัย สุขโกกี ก่อนจะมารับงานเป็นเทรนเนอร์ของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด อยู่ในปัจจุบัน เคยผ่านการคุมทีมมาแล้วหลายสโมสร อาทิ จุฬา ยูไนเต็ด, การท่าเรือ, อยุธยา และ นครปฐม ยูไนเต็ด ที่เพิ่งจะคว้าแชมป์ ไทยลีก สอง เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฤดูกาลที่ผ่านมา

PHOTO : EKings News

แล้วด้วยงบประมาณทำทีมที่จำกัด ทำให้ โค้ชธง ใช้คอนเนคชั่นกับแมวมองบอลเดินสาย เลือกนักเตะที่เข้าตาผ่านเกณฑ์มาเล่นในเวทีบอลอาชีพหลายต่อหลายราย ดังนั้นเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังภายใน การสอบถามจากปากของเขาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ย่อมได้มุมมองครบทั้งฝ่ายสโมสรอาชีพและมุมของบอลเดินสายไปพร้อมๆ กัน

เมื่อสอบถามถึงเรื่องนี้ในมุมมองของ โค้ชธง ได้รับคำตอบกลับมาแยกเป็นหลายประเด็นว่า

“อันดับแรกผิดมั้ย ความผิด มันเกิดขึ้นจากกฎกติกาก่อน ถ้าไม่มีการผิดกฎกติกามันก็ไม่มีความผิด”

“กฎกติกาที่พี่พูดถึงคนที่ไปเล่นเดินสายจะผิดหรือจะถูก มันขึ้นอยู่กับว่า ในกรณีเป็นนักเตะที่มีสังกัดและมีสัญญาอยู่กับสโมสรนั้นๆ ถ้าไปเล่นข้างต้นก็คือ ผิด”

“แต่มันมีวงเล็บอยู่ว่าเป็น เคสบายเคส ที่ข้อตกลงกันระหว่างสโมสรกับนักเตะอีก เพราะว่าบางคนมีสัญญากับสโมสร แต่ในช่วงที่ปิดฤดูกาลหรือไม่มีการแข่งขัน รวมถึงไม่มีการฝึกซ้อม ต้องดูว่าสโมสรนั้นข้อตกลงกับนักเตะ มีการจ่ายเงินหรือเปล่า? ถ้าไม่มีการจ่ายเงินเดือน แล้วเขาตกลงว่าไปเล่นได้ มันไม่ผิด”

PHOTO : แนวหน้า
“สรุปว่าผิดหรือไม่ผิด มันอยู่ที่ข้อตกลงข้อสัญญาระหว่างนักเตะกับสโมสร ในกรณีที่นักเตะมีสัญญากับสโมสรชัดเจนนะ”

“ส่วนถ้านักเตะไม่มีสัญญากับสโมสร มันก็แยกเป็น หมดสัญญายังไม่ได้ต่อ - สิ้นสุดสัญญากับสโมรอะไรก็แล้วแต่ อันนี้มันไม่ผิดแน่นอน มันไม่มีความผิดแน่นอน เพราะเขาไม่มีสัญญา”

“แต่ทีนี้ถามว่าควรจะไปเล่นมั้ย มันก็ต้องดูว่า เหตุผลอะไรทำให้พวกเขาไปเล่น เหตุผลหนึ่งต้องการไปออกกำลังกายใช่มั้ย เราก็มีทางเลือกเสนอว่า ไปออกกำลังกายวิธีอื่นก็ได้ แต่โดยส่วนมากทั้งหมดที่ไปเล่นคือนักเตะที่ไม่มีรายได้ช่วงนั้น เขาก็ต้องไปเล่นเพื่อหาทางชดเชยรายได้ระหว่างที่เขาไม่ได้เงินจากสโมสรจะ เก่า หรือ ใหม่”

ไฮไลท์การเล่นบอลเดินสายที่มีนักเตะมีชื่อเข้าร่วมแข่งขัน

“โดยที่พวกเขากังวลมั้ยที่จะมีอาการบาดเจ็บ พวกเขากังวลแน่นอน แต่เขาไม่มีทางเลือกในเคสที่เขาต้องการรายได้ แต่ในเคสที่เขาต้องการออกกำลังกายรักษาความฟิตก็ไม่ควร”

“ส่วนมากเรื่องแบบนี้ไม่ต้องบอกก็รู้กันนะว่า ไม่ทำแบบนี้ ถ้าอยู่ในช่วงอินซีซั่น นักเตะปกติ 99.9 เปอร์เซ็น ไม่มีใครไปเดินสาย”

“มันมีอยู่บางเคส ที่ไม่เกี่ยวกับทีมที่พี่เคยเป็นโค้ชนะ บอกไว้เป็นกรณีศึกษา นักเตะบางคนไม่มีความสุขกับต้นสังกัด แล้วก็มีทีมมาติดต่อเพื่อให้ไปเล่นกับทีมใหม่ แต่การเจรจาระหว่างสโมสรไม่ลงตัว นี่คือ ‘เดอร์ตี้แท็คติก’ อีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้นักเตะเป็นอิสระ คือ การหนีไปเล่นบอลเดินสายให้ผิดวินัยแล้วโดนยกเลิกสัญญา”

PHOTO : RNL

“สรุปเรื่องนี้ไม่มีใครผิดใครถูก ต้นสังกัดไม่ผิด นักฟุตบอลไม่ผิด มันอยู่ที่ข้อตกลงเป็นเคสบายเคส รวมไปถึงความจำเป็นและเหตุผลที่เขาไปเล่น”

“ปัจจัยเดียวที่เขาไปเล่นกันหลักๆ คือ ต้องการรายได้ หรืออาจจะมีเพิ่มเติมเรื่องการตอบแทนบุญคุณกัน ช่วยเหลือกัน”

ในฐานะหน้าที่ตอนนี้ที่ โค้ชธง รับหน้าที่คุมทีม บีจี ปทุม ยูไนเต็ด การันตีได้เลยว่า ลูกทีมของเขาไม่มีทางออกไปเล่นบอลเดินสายแน่นอน เพราะทุกคนล้วนมีข้อสัญญาผูกมัดกับทีม เดินสายไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่คุม ประจวบ, ขอนแก่น, นครปฐม หรือที่ผ่านมาทั้งหมดในลีกระดับล่างๆ จบฤดูกาล นักเตะก็ไปเดินสาย ไม่ได้มีการห้ามกันแบบตรงๆ แต่เตือนในฐานะโค้ชที่เป็นห่วงลูกทีมว่า ถ้าเกิดพวกเอ็งบาดเจ็บขึ้นมาต้องดูแลตัวเองนะ

พวกไม่มีสัญญาหรือยังไม่ต่อสัญญา ต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษเพราะเสี่ยงที่จะไม่ได้เซ็นสัญญาฉบับใหม่ แต่คนที่มีสัญญาอยู่หากไปเตะบอลเดินสาย ก็ต้องรับความเสี่ยงเอง เกิดเจ็บขึ้นมาสโมสรก็มีสิทธิ์จะยกเลิกสัญญาได้ เรามีการเตือนกันไปล่วงหน้าแล้ว ไม่มีทีมไหนเซ็นนักเตะเจ็บมาจ่ายเงินค่าจ้างเปล่าๆ แน่นอน

อดีตนักเตะอาชีพที่ผ่านเวทีบอลเดินสาย

แน่นอนว่าคนที่คลุกคลีใกล้ชิดกับประเด็นนี้มากที่สุด คือ ‘ผู้เล่น’ ที่เคยผ่านทั้งเวทีบอลอาชีพ ก่อนจะมาลงเอยกับบอลเดินสายในเวลาต่อมาหลังปลดระวาง หรือยังไม่ได้รับสัญญาจ้างกับทีมใหม่

ซึ่งก็มีหลายคนออกมาโพสต์ความคิดเห็นผ่านทางสื่อโซเชียลส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น อมร ธรรมนาม อดีตผู้เล่นของ ประจวบ ชุดที่เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้ครั้งแรก ที่ออกมาโพสต์ข้อความไว้ว่า

“ขออนุญาตแสดงมุมมองและทัศนคติต่อฟุตบอลเดินสายนะครับ

- นักเตะมีสัญญาอยู่กับสโมสร ไม่ว่าจะลีกไหน ก็ผิดทุกประตู ผิดตั้งแต่คิดไปเล่นล่ะครับ สัญญาระบุชัดเจนครอบคลุมว่าห้ามไปเล่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อให้หลบหนีไปเล่น อบต.คัพหรือแม้รายการแอบจัดคัพ.ก็ตามที เจ้านายเค้ารู้หมดแหละครับ ทุกวันนี้ที่ไหนก็มีsocial

PHOTO : Amorn Thummanam

- หมดสัญญา Fair Fair จบเจ้าไม่เล้าหลือ บางคนก็อยากไปพบปะเพื่อนๆหรือผู้มีอุปการคุณอุปถัมภ์ค้ำจุนกันมา หรือจะพักผ่อนหย่อนใจ ถือว่าพาครอบครัวไปเที่ยวระหว่างรอทีมใหม่ หรือจะหาตังค์เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็ไม่ว่ากัน

**สุดท้ายคนทำฟุตบอลเค้าก็รักนักบอลของเค้าทุกๆคนแหละครับไม่ว่าจะทีมเดินสายหรือสโมสรอาชีพก็ตามทีแล้วแต่บริบทเป็นเคสๆไป

ปล.ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ผิดถูกไม่ว่ากัน”

เช่นเดียวกับในรายของ กีรติ เขียวสมบัติ อดีตกองหน้าทีมชาติไทย ที่เคยผ่านการค้าแข้งกับสโมสร บุรีรัมย์ (พีอีเอ), ปตท.ระยอง, ชลบุรี เอฟซี และ สมุทรปราการ ซิตี้ ที่โพสต์ข้อความถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

PHOTO : Kirati Keawsombat
"ว่ากันตามจริง ถ้ามีสัญญาตลอดทั้งปี ก็ไม่ควรมาเล่นเดินสาย เคารพกฎของสโมสร แต่ที่เห็นกันคือ สัญญานักเตะเดี๋ยวนี้เซ็นแค่6-8เดือนหรือจบฤดูกาล เท่ากับนักเตะที่มาเล่นฟรีเอเย่นต์ไม่มีสัญญา ก็ว่ากันไป การบาดเจ็บบางคนบอกว่าเจ็บก็รักษาเอง เท่าที่ผ่านมาเจ้าของทีมพาไปรักษาดูแลอย่างดีครับ ให้ฟุตบอลเดินสายเป็นอีก 1 ทางเลือกของวงการฟุตบอลไทยดีกว่าครับ พัฒนาควบคู่กันไป ใครมีสัญญาอยู่ก็ควรเคารพสัญญาสโมสร ไม่ต้องมาเล่นเดินสาย ส่วนใครที่ใช้ฟุตบอลเป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว ก็ต้องตัดสินใจแล้วว่า ลีคอาชีพกับฟุตบอลเดินสายตรงไหนที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ดีกว่ากัน ชัวร์กว่ากัน ก็ต้องเลือกทางเดินฟุตบอลของตัวเอง     ฟุตบอลไม่ว่าอยู่ตรงไหน มันสวยงามเสมอ เคารพอาชีพนักฟุตบอลครับ

#ฟุตบอลอยู่ตรงไหนก็สวยงาม #ผมไม่มีสัญญานะครับ #พัฒนาวงการฟุตบอลควบคู่กันไปอย่าบูลลี่่ฟุตบอลเดินสายเลย"

เชื่อเหลือเกินว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ ไม่ว่าจะตัวผู้จัดทั้งบอลเดินสาย-บอลอาชีพ, โค้ช, นักเตะ, แฟนบอล และ สื่อมวลชน ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ หวังที่จะพัฒนาวงการ ฟุตบอลไทย แล้วหวังให้เดินไปสู่สิ่งที่ฝันไว้เหมือนกัน

ไม่มีใครมุ่งหวังจะทำร้ายหรือทำลายวงการให้ย่ำแย่แน่นอน เพียงแต่ว่าบางมุมมองความคิดเห็น อาจมีความเห็นต่างเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ตัดสินด้วยกฎกติกาและกรอบที่วางเอาไว้เป็นหลักเกณฑ์ รวมไปถึงบริบทแยกย่อยต่างๆ ที่เหมาะที่ควร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

การสัมภาษณ์ออนไลน์

https://www.facebook.com/photo/?fbid=208328538747785&set=a.140392518874721

https://www.facebook.com/amorn.thummanam/posts/pfbid0rQQ3rNFaRsaRfRAtAXdEXq6ko6Km5dz2AnGsxKuJzTwQDo5z5RMydbSJi4xsQKoHl

https://www.facebook.com/thachkorn.keawsombut

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ

เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก

คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ

เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว

เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?

บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้

คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ