นอนนาน เปลี่ยนตัวช้า ยั่วให้วุ่นวาย: ทำไมแทคติก “ถ่วงเวลา” ควรหายไปจากบอลอาเซียน ?

นอนนาน เปลี่ยนตัวช้า ยั่วให้วุ่นวาย: ทำไมแทคติก “ถ่วงเวลา” ควรหายไปจากบอลอาเซียน ?
มฤคย์ ตันนิยม

นอกจากการแข่งขันที่ดุเดือด สิ่งที่เห็นบ่อยครั้งในทัวร์นาเมนต์ระดับอาเซียน หรือทีมที่ในอาเซียนต้องพบกัน คือแทคติกถ่วงเวลา ที่แทบทุกทีมต่างงัดกันขึ้นมาใช้เมื่อสถานการณ์ของตัวเองได้เปรียบ

อย่างเกมไทยกับ ลาว ในฟุตบอล ยู17 ชิงแชมป์เอเชียนั้นมีการทดเวลากันนานถึง 11 นาทีเลยทีเดีว

และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม การถ่วงเวลาควรหายไปรายการนี้ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ความสนุกที่หายไป

ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวอาเซียนล้วนหลงใหลในเกมลูกหนังในระดับขีดสุด โดยเฉพาะในเกมทีมชาติ ที่ขนาดคนนอกภูมิภาคยังให้การยอมรับ

“ผมยอมรับว่าคุณภาพของฟุตบอลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะต่ำกว่าญี่ปุ่น แต่มันมีความน่าตื่นเต้นมากกว่า และมีศักยภาพที่จะเติบโต” อาซาฮี อูเอดะ อดีตหัวหน้ากลุ่ม Ultra Nippon ที่ตามเชียร์ทีมชาติญี่ปุ่นมาเกือบ 40 ปีกล่าวกับ Soccerkakis

“สิ่งนี้ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจมากสำหรับผมในอนาคต”

Photo : Junpiter Futbol

อย่างไรก็ดี ฟุตบอลอาเซียนน่าจะสนุก และได้รับความสนใจจากผู้คนนอกภูมิภาคกว่านี้ หากไม่มีสิ่งที่ขึ้นชื่อที่เรียกว่า “แทคติกถ่วงเวลา”

มันคือแทคติกที่แทบทุกทีมในอาเซียน ต่างงัดกันมาใช้เมื่อสถานการณ์ในฝั่งตัวเองได้เปรียบ ซึ่งเป็นได้บ่อยครั้งตั้งแต่เกมลีกไปจนถึงเกมทีมชาติ รวมถึงฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ครั้งนี้  

โดยเฉพาะในเกมรอบรองชนะเลิศ เลกที่ 2 ที่เวียดนามเอาชนะอินโดนีเซียไปได้ 2-0 จากสถิติของ Wyscout ระบุว่าเกมนัดนี้ มีบอลอยู่ในการเล่นเพียงแค่ 42 นาทีจากทั้งหมด 90+8 นาที หรือราว 43 เปอร์เซ็นต์ของการแข่งขันเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนาม ผู้คว้าชัยในเกมนี้ ยังมีบอลอยู่ในการเล่นของตัวเองแค่เพียง 18 นาที 13 วินาที หรือคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ อินโดนีเซีย มีเวลาเล่นบอลมากกว่าที่ 23 นาที 29 วินาที คิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ของการแข่งขัน

Photo : Bola Kompas

แต่ที่น่าสนใจคือจำนวนนาทีที่บอลไม่ได้อยู่ในการเล่น หรือที่เรียกกันว่า Dead ball มีมากถึง 56 นาที 18 วินาที หรือ 57 เปอร์เซ็น เกินกว่าครึ่งของการแข่งขัน ที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการนอน เปลี่ยนตัว ทุ่มบอล เตะออกจากประตูช้า ไปจนถึงฮึดฮัดเข้าใส่กัน

และมันก็แทบเทียบไม่ได้กับลีกระดับโลก อย่างฟุตบอลโลกเมื่อปี 2018 ที่เวลาการเล่นบอลอยู่ที่ 52-28 นาที หรือลีกยอดนิยมอย่าง พรีเมียร์ลีก ที่มีเวลาเฉลี่ยในฤดูกาล 2021-2022 อยู่ที่ 55 นาที 7 วินาที ซึ่งต่างกันกว่า 10 นาทีเลยทีเดียว

ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่นักฟุตบอลในสนามเท่านั้น

ความไม่คุ้มค่าของผู้ชม

แม้ว่าแทกติกถ่วงเวลา จะเป็นสิ่งที่ทำกันทั่วไปในสากล เพราะทีมระดับโลกหลายทีมก็นำมาใช้ แต่สำหรับอาเซียนนั้นมากและบ่อยครั้งเกินไปจนน่าเบื่อ แถมยังไม่ค่อยมีชั้นเชิง ไม่ว่าจะ เป็นแกล้งเป็นตะคริว ไม่ยอมไปปฐมพยาบาลนอกสนาม หรือยั่วโมโหใส่คู่แข่ง  

และทีมที่ถูกโจมตีในเรื่องนี้มากที่สุดก็คือทีมชาติเวียดนาม พวกเขามักจะถูกโค้ชของคู่แข่งวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอ

“ผมอยากให้ลองสังเกตว่า ประเทศที่ฟุตบอลยังไม่ได้อยู่ในระดับสูง เวลาแข่งขันจริงจะน้อย เช่น เกม 90 นาที เวลาเล่นจริงอาจจะแค่ 50-60 นาที” อาคิระ นิชิโนะ อดีตกุนซือทีมชาติไทย กล่าวหลังเกมเสมอเวียดนาม ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2022  

Photo : Goal

“ต่างจากฟุตบอลระดับสูง ที่พวกเขาจะพยายามใช้ทุกวินาทีในการแข่งให้มีค่าที่สุด ตรงนี้ผมไม่สามารถเข้าใจได้จริงๆ ถึงวิธีการเล่นของผู้เล่นลักษณะนี้ เพราะถ้าคิดถึงเรื่องการพัฒนาต่อไป เราก็ไม่ควรมีผู้เล่นลักษณะนี้เช่นกัน”

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่เวียดนามเท่านั้น เพราะแทบทุกทีมในอาเซียน รวมถึงเอเชีย ต่างทำกันจนเป็นวัฒนธรรมร่วม โดยจากรายงานของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย( AFC) เมื่อปี 2015 ระบุว่า เกมการแข่งขันระดับเอเชียนั้นมีค่าเฉลี่ยการเล่นบอลอยู่เพียงแค่ 52 นาทีเท่านั้น

“มันเป็นความจริงว่าผู้ตัดสินจะให้เวลาเพิ่มแค่ 2 นาที ทั้งพวกเขานอนอยู่บนพื้นราว 8 นาที” พิม เวอร์บีค อดีตกุนซือทีมชาติออสเตรเลีย ที่เข้าเป็นสมาชิก AFC ในปี 2006 กล่าวในรายการ Offsiders

“แต่มันคือวิธีการที่ได้ผล เรามีเกมแบบนี้กับอิรัก และอีกหลายทีม พวกเขาพยายามจะชิงจังหวะและกระแสของเกมด้วยลงไปตอนบนพื้น หรือทำให้ตัวเองบาดเจ็บ”

“แต่นี่คือส่วนหนึ่งของฟุตบอลเอเชีย และเราก็ต้องคุ้นเคย”

Photo : Football Australia

แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มากที่สุดคือเหล่าแฟนบอล พวกเขาจ่ายเงินเพื่อซื้อตั๋วการแข่งขันด้วยความคาดหวังความสนุกจากเกม แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ส่วนใหญ่ที่พวกเขาได้ชมคือการทุ่มบอลช้า ดึงเวลาตอนเปลี่ยนตัว และแกล้งเจ็บ

“หนึ่งในสิ่งที่เรากำลังคุยกันคือมันคุ้มหรือไม่ที่ทุกเกมต้องแข่งขันในระยะเวลาที่เท่ากัน” ปิแอร์ลุยจิ คอลินาร์ ประธานผู้ตัดสินฟีฟ่ากล่าวใน Calciatori Brutti กลุ่มโซเชียลมีเดียของอิตาลี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา  

“ถ้าดูจากสถิติ จะพบว่าทุกวันนี้มีทีมที่ใช้เวลาเล่นแค่ 52 นาที อีกทีมใช้เวลาแค่ 43 นาที และอีกทีมใช้เวลา 58 นาที และเมื่อรวมเวลาทั้งหมดในลีกเข้าด้วยกัน ความแตกต่างนี้จะเยอะมาก”

“อีกอย่างที่ต้องคิดคือ สำหรับผมในฐานะผู้ชมที่จ่ายตั๋วเข้ามาในสนาม หรือดูการแข่งขันจากที่บ้าน เพื่อจะดูฟุตบอล 90 นาที แต่ผมได้ดูมันแค่ 44, 45 หรือ 46 นาที มันคือครึ่งหนึ่งของราคาตั๋วที่ต้องจ่าย ให้กับเวลาที่ไม่ได้เล่น และการถ่วงเวลาส่วนใหญ่ก็มักมาจากการทุ่มหรือเตะจากประตู”

และพวกเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้

นโยบายจากยานแม่

อันที่จริง AFC ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของฟุตบอลอาเซียน ก็พยายามแก้ปัญหาการถ่วงเวลามาตลอด ในปี 2015 พวกเขาได้ออกแคมเปญที่ชื่อว่า “Don’t delay, let’s play” เพื่อกระตุ้นให้ทุกทีมพยายามเล่นบอล มากกว่าเล่นเวลา แต่มันก็ยังแก้ไขไม่ได้อยู่ดี

“ก่อนเกมนี้ ผมบอกผู้เล่นเรื่องฟุตบอลแนวถ่วงเวลาของคู่แข่ง” อูลี สติลิเก อดีตกุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ กล่าวหลังพาทีมเสมอซีเรีย 0-0 ในเกมฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกเมื่อปี 2016

“แม้ว่าเขาจะถ่วงเวลาไป 15 นาที แต่เราได้เวลาคืนมาเพียงแค่ 6 นาทีในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทีมอย่างซีเรียใช้แผนฆ่าเวลา”

“เอเอฟซี ควรพิจารณาว่าทีมที่เล่นได้อย่างดุดันและเต็มไปด้วยผู้เล่นพรสวรรค์เปี่ยมเทคนิค หรือทีมแนว ‘ต่อต้านฟุตบอล’ ทีมไหนควรได้ไปฟุตบอลโลก”

Photo : FA Thailand

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่อาเซียน หรือเอเชียเท่านั้น ที่เผชิญกับปัญหานี้ เพราะจากสถิติการเล่นบอลเฉลี่ยใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ในฤดูกาล 2021-2022 ก็มีตัวเลขที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ว่าจะเป็น ลีกเอิง ที่แม้จะมีสถิติดีที่สุด แต่ก็ยังอยู่ที่ 56 นาที 19 วินาที, บุนเดสลีกา ที่เหลือ 54 นาที 31 วินาที เช่นกันกับ เซเรียอาอยู่ที่ 54 นาที 30 วินาที รวมถึงลาลีกา ที่เลวร้ายที่สุดที่ 54 นาที 28 วินาที

ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บอร์ดบริหารสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ IFAB พยายามหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือการชดเชยเวลาตามจริง ทั้งการฉลองประตู การเปลี่ยนตัว การปฐมพยาบาลนักเตะเจ็บ ที่เพิ่งเริ่มใช้ในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา จนทำให้ได้เห็นการทดเวลาในระดับ 10 นาทีบวก ทว่าวิธีนี้ ก็ได้รับการยืนยันจากลีกว่าจะยังไม่นำมาใช้

เช่นกันกับ “กฎ 60 นาที” ที่จะลดการแข่งขันเหลือ 60 นาที แต่เวลาจะหยุดทุกครั้งที่บอลตาย ก็มีข่าวลือว่าเป็นอีกแนวทางที่จะถูกนำมาใช้ หลังถูกเอาเข้าที่ประชุมของ IFAB แต่สุดท้ายพวกเขาก็บอกว่า การแข่งขันจะยังคงที่ 90 นาทีเท่าเดิม

Photo : FIFA

ที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด คือการกระตุ้นให้ผู้ตัดสินมีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาความไม่เข้มงวดของผู้ตัดสินในเรื่องนี้ ทั้งระดับอาเซียน หรือระดับโลกก็คือ ไม่ยอมแจกใบเหลืองให้กับนักเตะที่เจตนาถ่วงเวลาตั้งแต่ต้นเกม

"ถ้ากรรมการจัดการอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ 5 นาทีแรก มันจะไม่เกิดขึ้นเลยตลอดทั้งเกม คุณวางกฏใบเหลืองสำหรับสิ่งนั้น ถ้าทุกคนทำมันก็ต้องเป็นใบเหลือง" โนเอล วีแลน อดีตกองหน้าดาร์บี เคาน์ตี กล่าวกับ Sporting Life

"พวกเขา (กรรมการ) ต้องปรามมันตั้งแต่แรก มันทำให้การแข่งขันน่ารำคาญ และทำให้แต่ละทีมน่ารำคาญไปด้วย คงไม่มีใครอยากดูเกมการแข่งขันแบบนี้"

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กรณีศึกษาจากต่างประเทศ : ไทยควรจัดการกับแฟนบอลจุดพลุแฟร์ในสนามอย่างไร ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ส่อแววโดนสมาพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) ลงโทษสถานหนักกว่าการปรับเงิน หลังจากแฟนบอลทำผิดซ้ำซากจุดพลุแฟร์ในเกมมิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ก่อนหน้านี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับบทลงโทษจาก AFC มาแล้ว 2 ครั้ง เกิดขึ

คาดกันว่าหลังจากนี้ IFAB น่าจะเน้นย้ำในเรื่องการถ่วงเวลามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ผู้รักษาประตู จะถือบอลได้เพียงแค่ 6 วินาที หลังจากที่อะลุ่มอล่วยมาก่อนหน้านี้ หรือการเปลี่ยนตัว ที่ให้ออกในจุดที่ใกล้ที่สุดของสนาม

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอกฎที่ทำให้ฟุตบอลมีความรวดเร็วมากขึ้น อย่างการคิกอิน แทนการทุ่ม ไปจนถึงนักเตะแกล้งเจ็บ ต้องนอนอยู่นอกสนามชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหากพยายามเข้ามากดดันผู้ตัดสิน ให้ออกจากสนามชั่วคราว 10 นาที

“หากผู้เล่นล้มลงในสนาม 3 ครั้ง และต้องให้หมอเข้ามาดูอาการ ให้เอาเขาออกไป แล้วให้รออยู่นอกสนาม 3 นาที คุณคิดว่าผู้เล่นเหล่านี้จะลุกขึ้นยืนได้เร็วแค่ไหน” พาทริค อิตทริช ผู้ตัดสินในบุนเดสลีกา เสนอความเห็น

Photo : Die Rheinpfalz

“ถ้าผู้เล่นเข้ามาด่าผู้ตัดสิน ให้ส่งพวกเขาออกไปนอกสนาม 10 นาที เพื่อสงบสติอารมณ์ ไปปั่นจักรยานเพื่ออบอุ่นร่างกายแล้วค่อยกลับมา ในแง่นี้เราสามารถเรียนรู้มากีฬาแฮนด์บอล”

อันที่จริง ฟุตบอลก็มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มันสนุกขึ้น และตื่นเต้นขึ้น เหมือนที่ครั้งหนึ่งฟีฟ่า เคยแก้กฏคืนหลังให้ผู้รักษาประตู ในปี 1992 เพื่อแก้ลำแทคติกถ่วงเวลา จนปฏิวัติวงการฟุตบอลมาแล้ว

ดังนั้นไม่ว่ากฎใหม่จะออกมาในรูปแบบไหน หรือเป็นอย่างไร ทั้งหมดคือความตั้งใจอย่างแท้จริงของทุกฝ่าย ที่จะทำให้ฟุตบอลมีความลื่นไหล และไม่ถูกขัดจังหวะจนเสียอารมณ์ เพื่อให้ “ฟุตบอล” สมกับเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของโลกอย่างแท้จริง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตัวตึงฝั่งเวียดนาม : ประโยคเด็ดของ พัค ฮัง ซอ กุนซือสายปั่นของทัพดาวทอง

AFF สไตล์ : การหวดยับเตะกันสบายส่งผลร้ายต่อทั้งระบบอย่างไร ?

พวกเขาอยู่ไหนกัน ? : ตามหาขุนพลทีมชาติไทยชุดชิงแชมป์อาเซียนกับเวียดนามปี 2008

แหล่งอ้างอิง

https://soccerkakis.org/2022/10/10/asean-football-is-more-exciting-ultra-nippon-leader-asahi-ueda-targets-southeast-asia/

https://vietnam.postsen.com/local/237578/Vietnam-%E2%80%93-Indonesia-match-has-56-minutes-of-dead-ball.html

https://d.dailynews.co.th/sports/736437/

https://www.gulf-times.com/story/511037/korea-boss-slams-syrias-anti-football

https://www.smh.com.au/sport/soccer/time-wasting-is-a-part-of-asian-football-verbeek-20091019-gdtro9.html

https://theathletic.com/3715981/2022/10/23/football-time-wasting-solutions/

https://www.theguardian.com/football/blog/2022/aug/25/time-wasting-needs-tackling-manchester-united-liverpool

https://www.dailytelegraph.com.au/sport/football/asian-cup/asian-cup-2015-crackdown-on-timewasting-sure-to-meet-with-aussie-fans-approval/news-story/3da0f73b5b23a190dd567df7c9efe55a

https://www.sportinglife.com/football/news/opinion-time-wasting-must-stop/154572

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-10220473/Premier-League-time-wasting-worse-Man-City-culpable-Aston-Villa-worst.html

https://www.givemesport.com/88101089-football-rule-changes-bundesliga-referee-makes-4-new-suggestions

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ