นอร์เวย์ - ไทย : ครั้งสุดท้ายที่ช้างศึกบุกเยือนยุโรป
แม้ว่าจะเป็นเพียงนัดกระชับมิตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมระหว่าง จอร์เจีย และเอสโตเนีย คือหนึ่งในเกมสำคัญของทีมชาติไทย เพราะนี่คือเกมอุ่นเครื่องอย่างเป็นทางการของ “ช้างศึก” ในยุโรปในรอบหลายสิบปี
เพราะครั้งล่าสุด ต้องย้อนกลับไปในปี 1965 หรือ 58 ปีก่อน ที่ทีมชาติไทย ได้มีโอกาสมาทดสอบศักยภาพตัวเองถึงต่างแดนกับทีมชาตินอร์เวย์ชุดใหญ่
และก่อนที่ “ช้างศึก” จะลงเล่นเกมแรกในยุโรป Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงอยากจะพาไปดูเกมนัดประวัติศาสตร์นัดนี้ ว่าที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันนั้น
ติดตามได้ที่นี่
เกมแห่งสองทวีป
ในยุคที่การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย การไปอุ่นเครื่องในต่างแดนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพื่อให้ทีมพัฒน มันคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และทีมชาติไทยในช่วงทศวรรษที่ 1960s ก็เลือกที่จะทำแบบนั้น
ย้อนกลับไปในปี 1961 หรือปีที่ ต่อศักดิ์ ยมนาค เข้ามารับตำแหน่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ทีมตรามงกุฎ ยังไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อซีเกมส์ ทำได้แค่เพียงอันดับ 3 ขณะเอเชียนคัพในปีต่อมา ก็ทำดีที่สุดแค่รอบแบ่งกลุ่ม
นอกจากนี้ แม้ว่า 5 ปีก่อน นักเตะจากแดนสยาม จะได้มีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าในรายการใหญ่เป็นครั้งแรก หลังผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิก รอบสุดท้ายที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย แต่ก็เป็นเพราะหลายทีมถอนตัวในรอบคัดเลือก แถมยังกลับบ้านมาพร้อมกับความชอกช้ำ ด้วยการโดน สหราชอาณาจักร ไล่ยิงถึง 9-0
ทำให้ปี 1965 ซึ่งเป็นปีสำคัญของฟุตบอลไทย เพราะมีรายการใหญ่ 2 รายการอย่าง ซีเกมส์ ครั้งที่ 3 (1965) และ เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ต่อศักดิ์ ตัดสินใจส่งผู้เล่นไปเก็บตัวฝึกซ้อมถึงเยอรมัน โดยประสานความช่วยเหลือจากสมาคมฟุตบอลเยอรมันตะวันตก
จากข้อมูลของสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทยระบุว่า ทีมชาติไทย ได้ไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่เมืองโคโลญจน์ เป็นระยะเวลาถึง 2 เดือน และได้ลงลับฝีเท้ากับทีมท้องถิ่นของที่นั่น
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่สโมสรเท่านั้น เมื่อหลังจากนั้น นักเตะตรามงกุฎ ได้คิวลงเล่นกับกับทีมชาติอีกหลายชาติในยุโรป ทั้ง เยอรมันชุดสมัครเล่น, เดนมาร์ก (ยกเลิกภายหลัง), และอิสราเอล
แต่คงไม่มีเกมไหนที่จะอยู่ในความทรงจำไปการพบกับ นอร์เวย์
เกมสุดท้ายในยุโรป
19 พฤษภาคม 1965 คือวันดีเดย์ มันจัดขึ้นที่สนามบรานน์ สตาดิออง รังเหย้าของ บรานน์ ท่ามกลางอากาศที่เย็นยะเยือกในระดับเลขตัวเดียว
ทีมชาติไทย ขนผู้เล่นที่ดีที่สุดมาอย่างครบครัน นำโดย อัศวิน ธงอินเนตร เจ้าของตำแหน่ง ดาราเอเชีย 1965, อนันต์ คงเจริญ, วิชิต แย้มบุญเรือง, ยงยุทธ สังขโกวิท และ ณรงค์ สังขสุวรรณ
ส่วน นอร์เวย์ ก็ใช้ผู้เล่นชุดใหญ่เต็มสูบ และหลายคนก็อยู่ในชุดฟุตบอลโลก 1966 รอบคัดเลือก ที่เพิ่งตกรอบไป ไม่ว่าจะเป็น เฮรัลด์ เบิร์ก กองกลาง ลินส์ ออสโล, อาร์เน ปีเดอร์เซน ดาวยิงของทีม รวมถึง เคจ์ลล์ แคสเปอร์เซน นายด่านของบรานน์ เจ้าของสนาม
และเป็นเจ้าบ้านที่เป็นฝ่ายทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่สามารถเจาะประตูไทยได้ จนเวลาล่วงเลยมาจนถึงนาทีที่ 39 ทำนบก็แตกลง เมื่อ นอร์เวย์ ได้ประตูขึ้นนำจนได้ จาก อาร์เน ปีเดอร์เซน และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นั้น
ครึ่งหลัง นอร์เวย์ ยังเป็นต่อ และมาได้ประตูเพิ่มจาก เฮรัลด์ เบิร์ก ที่ทำแฮตทริค ซัด 3 ประตูในนาทีที่ 49, 72 และ 78 แถมหนึ่งในนั้นยังเป็นประตูที่ 500 ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลนอร์เวย์ รวมถึง โอลาฟ นีลเซน และ อีริค โจฮานเซน ที่ยิงคนละประตู ให้ขุนพลไวกิ้ง นำไปไกลถึง 6-0
ก่อนที่ในนาทีที่ 86 นอร์เวย์ เคจ์ลล์ แคสเปอร์เซน จะมาจารึกชื่อให้ตัวเอง หลังยิงจุดโทษเข้าไปให้เอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 7-0 พร้อมทำให้เขากลายเป็นผู้รักษาประตูคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ยิงประตูให้ทีมชาตินอร์เวย์
“สิ่งที่ปลอบใจอย่างหนึ่งคือเกมนานาชาติในสนามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ไทยแพ้ไป 7-0 ท่ามกลางอากาศที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ” เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ บรานน์ ระบุ
“ทรีฟ แอนเดอร์สัน ลงเล่นในเกมนั้น แต่ยิงประตูไม่ได้ แต่ เคจ์ลล์ แคสเปอร์เซน ผู้รักษาประตูของเรายิงประตูได้จากลูกจุดโทษ และเป็นผู้รักษาประตูชาวนอร์เวย์คนเดียวที่ยิงประตูได้ในเกมระดับนานาชาติ”
นับตั้งแต่วันนั้น ทีมชาติไทย ก็ไม่เคยเดินทางมาลงเล่นในเกมอย่างเป็นทางการที่ทวีปแห่งนี้อีกเลย และทำให้เกมกับ นอร์เวย์ กลายเป็นเกมนัดสุดท้ายของ นักเตะตรามงกุฎ บนผืนแผ่นดินยุโรป
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกมระหว่างทีมชาติไทย กับ จอร์เจีย และ เอสโตเนีย ในวันที่ 12 และ 17 ตุลาคม 2023 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นเกมนัดสำคัญ “ช้างศึก” เพราะนี่คือการแข่งขันในเมืองหลวงฟุตบอลครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
ก็ต้องมาลุ้นว่าพวกเขาจะทำได้ดีแค่ไหน กับการลงเล่นในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย รวมเชียร์และเป็นกำลังใจได้ผ่านหน้าจอของ ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ตั้งแต่เวลา 23:00 น. เป็นต้นไป
แหล่งอ้างอิง
https://www.fotball.no/fotballdata/kamp/?fiksId=1697100
https://www.11v11.com/matches/norway-v-thailand-19-may-1965-229047/
https://historie.brann.no/sesonger/1965/
https://www.diskutopia.no/t/443/norges-herrelandslag-i-fotball/
https://www.dagsavisen.no/helg/reportasje/2015/04/25/da-oslo-fotballen-skapte-legender/
https://www.h-avis.no/sport/i-sjeldent-selskap/s/2-2.921-1.1758954
http://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-23-04/67-2519
https://www.siamfootball.com/index.php/2017-07-18-12-23-04/88-47
ข่าวและบทความล่าสุด