หาข้อดี - ข้อเสีย : เจาะลึกเมื่อสโมสรบริหารลีกกันเองต้องทำอะไร, จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

หาข้อดี - ข้อเสีย : เจาะลึกเมื่อสโมสรบริหารลีกกันเองต้องทำอะไร, จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

ปัญหาลิขสิทธิ์ของ ฟุตบอลไทย ได้ข้อสรุปแล้ว ว่า 16 สโมสรจะต้องหาช่องทางการถ่ายทอดสดกันเองในฤดูกาลนี้

Photo : Linetoday

แน่นอนว่าสถานการณ์ในตอนนี้ ถือว่าสโมสรและสมาคมที่มีหน้าที่บริหารจัดการ กำลังเจอกับปัญหาหนักที่ต้องหาทางแก้ ซึ่งใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสมอไป เพราะฟุตบอลต่างประเทศอย่างศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็เคยผ่านจุดนี้มาแล้ว ด้วยสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

หนทางการแก้ปัญหาของทีมแดนผู้ดีเป็นเช่นไร สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในบ้านเราได้หรือไม่ ผลดีและผลเสียที่จะตามมาเป็นแบบไหน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

แนวทางในปัจจุบันและปัญหา

หลังจากเปลี่ยนถ่ายยุคนายกสมาคมฟุตบอลจาก ‘บังยี’ วรวีร์ มะกูดี มาเป็น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง มีการปรับเปลี่ยนผู้ดูแลด้านสิทธิประโยชน์จาก บริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ถ้ายโอนมาเป็น บริษัทไทยลีก จำกัด ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาแทนที่ พร้อมโอนหุ้น 99.98% กลับไปให้สมาคมถือครอง ตามคำแนะนำของ ฟีฟ่า เพื่อการตรวจสอบรายได้เงินเข้า-ออก ให้มีความโปร่งใสชัดเจน

เพราะทางสมาคมจำเป็นต้องแจ้งตัวเลขรายรับและรายจ่าย ทำออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตรวจสอบได้ หากมีข้อสงสัยจากสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน ทางสมาคมต้องตอบคำถามทั้งหมดได้ แต่ข้อเสียคืออำนาการตัดสินใจต่างๆ จะตกอยู่ถือผู้ถือครองลิขสิทธิ์เพียงเสียงเดียว อันเป็นสิทธิ์ขาดที่ทุกสโมสรต้องยอมรับ

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดของ โควิด-19, ความนิยมและมูลค่าของลีกฟุตบอลในประเทศไทยลดต่ำลง และ การหาสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนไม่เป็นตามตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ เงินสนับสนุนที่เคยตกลงกันไว้ สำหรับทีมใน ไทยลีก 1 ทีมละ 20 ล้านบาท ก็ถูกปรับลดลงมาเหลือ 14 ล้านบาท จากการโดนปรับลดลง 30%

ซ้ำร้ายคือในเดือนมีนาคม ส.บอล ยังประกาศเพิ่มว่าจะมีการลดเงินสนับสนุนทีมไทยลีก "เหลือ 50%" จากจำนวนเดิม ในฤดูกาล 2022-23 ดังนั้นจะเท่ากับว่าจากที่สโมสรไทยลีกจะได้เงินจำวน 20 ล้านบาท ก็ถูกลดลงมาเหลือ 10 ล้านบาท เหนือสิ่งอื่นใด ส.บอล ยังจ่ายให้กับสโมสรไม่ครบตามจำนวนดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ ณ ตอนนี้  โดยจ่ายไปเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น  .. ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่มีทางเพียงพอต่อการบริหารทีมฟุตบอลอย่างแน่นอน

PHOTO : PPTV

สโมสรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้ง เชียงราย ยูไนเต็ด และ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ต่างออกมาทวงถามความยุติธรรมในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณสำรองมากพอจะไปทำทีมต่อ แล้วเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่กลับโดนกระแสจากแฟนบอลบางกลุ่มตีกลับว่า ไม่มีแนวทางหารายได้ช่องทางอื่นเลยหรืออย่างไร

PHOTO : Ballthai

ถ้าวิเคราะห์กันจริงๆ แล้ว ความนิยมของสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยนั้นไม่เท่าเทียมกัน แทบจะพูดได้เลยว่ามีทีมใหญ่อย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เพียงแค่ทีมเดียว ที่สามารถสร้างรายได้จากการขายเสื้อและของที่ระลึก เข้ามาให้กับสโมสรได้ แตกต่างจากทีมเกรดรองลงมา ที่ต้องการเงินสนับสนุนจากลีกมาหล่อเลี้ยง

ดังนั้นในเมื่อผู้ถือลิขสิทธิ์ไม่สามารถทำเงินได้ตามเป้า ขาดรายได้ที่เพียงพอ หนทางที่จะแก้ปัญหาได้ คือ ต้องรื้อระบบใหม่ แล้วทำการรีแบรนด์เหมือนกับลีกชั้นนำในต่างประเทศ ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างและประสบความสำเร็จมาแล้วอย่าง ‘พรีเมียร์ลีก อังกฤษ’

การสร้างมูลค่าลีกของตัวเอง

ย้อนกลับไปในยุค 80 ลีกสูงสุดในประเทศอังกฤษ คือ ดิวิชั่น 1 กำลังเจอปัญหาความนิยมลดต่ำลง เพราะเจอเรื่องของวิกฤติแฟนบอลอันธพาล หรือ ฮูลิแกนส์ ที่เชียร์แบบรุนแรงเกินควร มีการทะเลาะเบาะแว้งตีกัน ความปลอดภัยของนักเตะและแฟนบอลในสนาม ลดถอยต่ำลงแบบน่าเป็นห่วง

คลิปสารคดีเกี่ยวกับ ฮูลิแกนส์

พอแฟนบอลไม่เข้าสนาม รายได้สโมสรลดลง ไม่มีเงินจ้างนักเตะแพงๆ มาดึงดูด ประกอบกับดาวดังในวงการลูกหนัง เมื่อเทียบรายได้กับความปลอดภัยของพวกเขาแล้ว ก็คิดว่า ‘ไม่คุ้ม’ ทางออกเดียวของสโมสรเหล่านั้น ต้องแก้ปัญหาด้วยการถ่ายทอดสดแทน

หลังจากมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารทีมและรื้อองค์กรใหม่ หันมาทำการตลาดเชิงรุกจนกระแสกลับมาได้ ไม่ใช่ใช้เศรษฐีท้องถิ่นมาทำทีมแบบเดิมๆ ผู้ถือลิขสิทธิ์เดิมอย่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ก็ได้รับผลพลอยได้ที่เป็นประโยชน์ส่วนนี้ไปโดยปริยาย

แต่แล้วมีหรือที่ผู้บริหารสมองเพชรเหล่านั้นจะปล่อยให้หยิบชิ้นปลามัน ที่พวกเขาอุตส่าห์สร้างขึ้นมาด้วยมือของตัวเองให้กับคนอื่นรอกินแบบอิ่มหนำสำราญ สโมสรฟุตบอลต่างๆ จึงส่งตัวแทนไปคุยกับ เอฟเอ เพื่อขอยื่นเรื่องเพิ่มค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 1986 ไม่เช่นนั้นจะไปตั้งลีกแข่งกันเอง

เอฟเอ ไม่มีทางเลือกนอกจาก กำขี้ดีกว่ากำตด จึงจำต้องยอมรับข้อเสนอ แล้วเมื่อลีกพัฒนามูลค่าเพิ่มมากขึ้น ความนิยมมากขึ้น ตัวแทนจากสโมสรก็เข้ามาขอแบ่งเปอร์เซ็นต์เพิ่มเติมเป็น 75% ในปี 1988 แล้วก็ได้รับความยินยอมเช่นเดิม

เมื่อมูลค่าของลีกสูงมากขึ้นเรื่อยๆ รายได้ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นระดับมหาศาล เจ้าของทีมระดับ Big 5 ของประเทศอังกฤษอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, อาร์เซนอล และสเปอร์ส ที่มีความรู้เชิงธุรกิจอยู่แล้ว จึงนำเอาองค์ความรู้นั้นไปพูดคุยกับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเอง

ข้อแม้เพียงอย่างเดียวของผู้บริหารทีมทั้ง 5 เจ้า คือ การแจ้งไปยังทีมอื่นๆ ร่วมลีกว่า ถ้าดีลนี้ประสบความสำเร็จ พวกเขาแค่ขอส่วนแบ่งมากกว่า เพราะเป็นผู้ริเริ่มความคิด แล้วเดินเรื่องการเจรจาให้ทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายก็ลงเอยด้วยดี

PHOTO : 1000 Logos

สุดท้ายก็เกิดการรีแบรนดิ้งฟุตบอลลีกสูงสุดในประเทศอังกฤษจาก ดิวิชั่น 1 มาเป็น พรีเมียร์ลีก ในปี 1992 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สโมสรในลีกร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา พร้อมลาออกจากการเป็นระบบลีกของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ แล้วให้หน่วยงานนี้บริหารจัดการแทนทั้งหมด ซึ่งการขายลิขสิทธิ์นั้น Sky Sports เป็นผู้ชนะการประมูลรอบแรก ด้วยระยะเวลาสัญญา 5 ปี มูลค่าสูงถึง 304 ล้านปอนด์ หรือราว 13,000 ล้านบาท

เมื่อมีเม็ดเงินในการบริหารจัดการมากขึ้น สโมสรในศึกพรีเมียร์ลีกต่างๆ ก็มีงบในการเสริมทัพดึงดาวดังมาเป็นสตาร์แม่เหล็ก, ปรับปรุงสนามเพิ่มความจุ และเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นการล่อใจให้แฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนาม หากชมผ่านการถ่ายทอดสดแล้วยังไม่จุใจพอ กลายเป็นประโยชน์สองด้าน

ด้านการถ่ายทอดสดก็มีการเปิดให้ประเทศจากทวีปอื่นๆ เพื่อเปิดตลาดไปยังโซนอื่นๆ ด้วยราคาที่ไม่สูงมากนัก บางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อาจหุ้นซื้อเป็นแพ็คเกจให้ชาติต่างๆ ร่วมทุนหุ้นกันซื้อไปถ่ายทอดได้ด้วย อาทิ เช่น ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน จากการประมูลในนามบริษัท Nordic Entertainment หรือ NENT

พอมีการกระจายขายลิขสิทธิ์ไปทั่วโลก ลิขสิทธิ์ในประเทศอังกฤษ ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาด ไม่มีการขายแบบผูกขาดให้เจ้าใดเพียงเจ้าเดียว แต่ขายเป็นแพ็คเกจเลือกได้ว่าจะถ่ายกี่เกมต่อสัปดาห์ เว้นบางเกมก็จะไม่มีการถ่ายในประเทศ เพื่อให้แฟนบอลเข้าไปชมเกมในสนามมากขึ้น

PHOTO : The Athletic

กลายเป็นว่า BT Sport, Amazon และ Sky สามารถเลือกซื้อแพ็คเกจตามราคาที่ พรีเมียร์ลีก ตั้งเอาไว้ตามงบประมาณที่เหมาะสมในการจัดการได้ ทุกเจ้าได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมูลค่ารวมในปัจจุบันที่ขายออกไปนับแค่การถ่ายทอดสดในประเทศ พรีเมียร์ลีก เรียกเงินได้ถึง 5 พันล้านปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทย 224,800 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2022-2025

ส่วนการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนอกประเทศนั้น พรีเมียร์ลีก ได้มูลค่ากลับมาที่ 5.05 พันล้านปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 225,024 ล้านบาท

PHOTO : The Athletic

รายได้ที่เข้มาทั้งหมดจะถูกแจกจ่ายไปเป็นเงินสนับสนุนสโมสรต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ส่วน แบ่งออกเป็น 50 เปอร์เซ็นต์มาจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้งในและต่างประเทศ, 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินรางวัลอันดับในลีก และอีก 25 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ข้อดีและข้อเสีย

โมเดลของ พรีเมียร์ลีก นั้นสามารถนำมาศึกษาและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับ ไทยลีก บ้านเราได้ตามความเหมาะสมของสภาพการณ์ต่างๆ แน่นอนว่าข้อดี คือ พอสโมสรต่างๆ มาดูแลบริหารจัดการรายได้ของตัวเอง ทุกทีมต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกันเป็นการทำให้ ไทยลีก ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น พอมีมูลค่าสูงขึ้น ก็หมายถึงรายได้มหาศาล ที่มีโอกาสตามมาภายหลัง

PHOTO : Outlook India

อย่างไรก็ตามข้อเสียในตอนนี้ ที่อาจต้องมาชั่งน้ำหนักกันใหม่ คือ ความนิยมที่ลดต่ำลง การเร่ขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ไม่มีทางได้ตัวเลขที่พอใจเท่ากับตอนที่ลีกบูมๆ เป็นยุคทอง ส่วนเรื่องการถ่ายทอดสดออกไปยังต่างประเทศ ยิ่งเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝันขึ้นไปใหญ่ หากหวังจะเรียกมูลค่าสูงๆ

สิ่งที่แตกต่างจากฝั่งพรีเมียร์ลีกของอังกฤษคือก็คือ การแยกตัวของสโมสรในอังกฤษ เกิดขึ้นมาจากการที่พวกเขาเตรียมตัวพร้อม ทำการบ้านรอตั้งแต่ก่อนเข้าประชุม มีการหาทางหนีทีไล่ และมีแผนงานสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่ฝั่งไทยลีกของเรานั้นคือภาวะที่ “จำยอม” ก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ๆ เหลือให้กับสโมสรต่าง ๆ อยู่แล้วนอกจากพวกเขาจะต้องออกมาจัดการกันเองอย่างที่เป็นข่าวไปในข้างต้น

PHOTO : Buriram United

ว่าง่าย ๆ คือฝั่งอังกฤษแยกตัวออกมาในวันที่ความนิยมพุ่งทะยาน ขณะที่ของไทยลีกนั้นแยกออกเพราะความนิยมถดถอยและไม่สามารถทำเงินได้มากพอสำหรับรายจ่าย … นี่คือความต่างที่ใหญ่มาก ๆ

ดังนั้นการดึงเรื่องนี้มาบริหารจัดการกันเอง ย่อมเป็นทางออกที่ทำได้ แต่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จแบบทันทีทันใด ต้องร่วมมือกัน สร้างมูลค่าไปพร้อมกัน รวมไปถึงรับความเสี่ยงไปด้วยกัน ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจะไม่มีตัวกลางในการรับแรงกระแทกให้อีกต่อไป

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://thinkcurve.co/phlikwikrtiepno-kaas-emuue-phriiemiiyrliikbuumaidephraaaaeyktaw-kcchaak-fa/?fbclid=IwAR00R4FKdaU6o5aG99kScWRfo7O7Rss2v5U2r7nejuY1EPT4DSSr2hBWng0

https://www.isranews.org/content-page/item/40607-report_40607.html?fbclid=IwAR0CeHDiBVjXVWY13-HKObRBRLBmcQfpvQ7sN9wzHf4ezLNXU2jHj2tbO18

https://www.thairath.co.th/content/728345?fbclid=IwAR0CG2_HdwIRtZw0waXgzNtylICCzyk52YdRIq4_7UqQovQszuiB54ixim8

https://theathletic.com/4240951/2023/03/08/premier-league-tv-rights-how-work-cost/

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ยุคนั้นมีใครบ้าง : ตามหาเเข้งไทยยู-17 ที่ไปเล่นบอลโลก 1999

Outside In : ฟุตบอลโลก U17 1999 ทัวร์นาเมนต์ล่าสุดที่ไทยไปโชว์ฝีเท้าในระดับโลก

“ถ้าเขามีผู้เล่นชุดที่ดีที่สุด” : มุมมอง ‘โค้ชอ๊อตโต้’ ถึง ‘มาโน่’ ช่วงแฟนบอลเริ่มเสียงแตก

“โค้ชอ๊อตโต้” : กุนซือวัย 26 ปีผู้คืนชีพ ชัยนาท เอฟซี ด้วย “เข็มทิศแห่งอนาคต”

เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ

เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก

คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ

เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว

เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?

บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ