‘นักจิตวิทยา’ สำคัญมากแค่ไหนในวงการฟุตบอล?
อาการป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป หากเป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจนจนแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ง่ายหรือเป็นการบาดเจ็บต่างๆ ย่อมมีวิธีการรักษาตามแนวทางได้แบบไม่ยากเย็นนัก โดยเฉพาะวงการฟุตบอลที่วิวัฒนาการในการักษาไปไกลมากในทุกวันนี้
อย่างไรก็อาการป่วยด้านจิตเวชหรือภาวะวิตกกังวลต่างๆ ที่ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการออกมาชัดเจน การวินิจฉัยนั้นย่อมยากกว่าแบบไม่สามารถเทียบกันได้ ซึ่งในกีฬาฟุตบอลนั้นมีหลายเคสที่จบลงด้วยเรื่องที่น่าเศร้า ไม่ว่าจะเป็นการ เลิกเล่น หรือ การเลือกหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย
นอกจากจิตแพทย์แล้ว ‘นักจิตบำบัด’ หรือ ‘นักจิตวิทยา’ มีบทบาทสำคัญในทีมฟุตบอลเป็นอย่างมาก ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ ซึ่งหน้าที่ของพวกเขาน้อยคนนักจะรู้ว่าอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ เหมือนกลุ่มคนที่ทำงานเป็นหน่วยงานลับ ที่มีหน้าที่หนักหนาไม่ต่างกับ ‘โค้ช’ ด้านต่างๆ ภายในทีม
จุดเริ่มต้นของการนำเอา นักจิตวิทยา มาเชื่อมกับฟุตบอลนั้นมาจากสาเหตุไหน? บทบาทของพวกเขาต้องคอยทำหน้าที่ใดบ้าง? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จุดเริ่มต้น
หากนับช่วงเวลาที่ จิตแพทย์ และ นักจิตวิทยา เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการลูกหนัง ต้องย้อนกลับไปในยุค 1950 ณ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่ต้องสร้าง ความเชื่อ, การบำบัดเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งวงการฟุตบอลก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่น้อย
ดังนั้นมีจึงตัวแทนจากโรงพยาบาลทั้งหมด 8 แห่ง ในเมือง แรนส์ และ เลอ ม็องส์ เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการนำศาสตร์ด้านนี้มาใช้ในวงการฟุตบอล และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มตัวกับทัวร์นาเมนต์ที่แข่งขันกันในปี 1956 จนอีก 6 ปีต่อมา ก็มีสถาบันด้านจิตวิทยากระจายอยู่ทั่วฝรั่งเศสจำนวนถึง 27 แห่ง
หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาและตั้งขึ้นเป็นองค์กรที่มีชื่อว่า ‘สปอร์ต ออน เดอะ เบรน’ (Sports on the Brain) มีจำนวนสาขากว่า 60 แห่ง โดยมีศูนย์บำบัดใหญ่อยู่ที่เมือง มาร์กเซย คอยควบคุมแนวทางและคุณภาพของการบำบัด มีส่วนร่วมกับการซ้อมของทีมฟุตบอลกว่า 1,300 เซสชั่น, 60 ทัวร์นาเมนต์ และกว่า 100 เกมในแมตช์กระชับมิตรในระหว่างปี 1992-2008
ในตอนแรกองค์กรใหญ่อย่าง ฟีฟ่า ยังไม่เห็นความสำคัญกับบทบาทขององค์กรและบุคลากรในส่วนนี้ เนื่องจากมีความเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ แต่เมื่อมองบริบทว่า ฟุตบอล เป็นกีฬาที่มีการแข่งขันสูงมากในแต่ละรายการ แล้วจากความตึงเครียดดังกล่าวนำไปสู่ปัญหามากมาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเล่นนอกเกม, ความผิดหวังหลังจากพ่ายแพ้ที่แสดงออกอย่างเห็นได้ชัดของผู้เล่น, การโต้เถียงที่รุนแรงในเกม, การเหยียดด้วยวาจาและท่าทางระหว่างเกมการแข่งขัน, ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในเกม และ การทำร้ายผู้ตัดสิน ทำให้พวกเขาต้องคิดเรื่องนี้ใหม่
ตัวอย่างเคสที่น่าสนใจของการทำหน้าที่ของ สถาบัน และ องค์กร ในเครือ คือ นักเตะพรสวรรค์สูงในประเทศฝรั่งเศสสโมสรหนึ่ง ที่มีชื่อสมมติว่า เอ็ม.แอล. ที่โด่งดังมาตั้งแต่ช่วงอายุ 5-16 ปี กับทักษะการเล่นฟุตบอลที่ยากจะหาใครในช่วงวัยเดียวกันเทียบเคียง ได้รับคำชมจากโค้ชมากมายมาทั้งชีวิต
ความโดดเด่นของเขา ไม่ใช่การสร้างสรรค์เกมที่ยอดเยี่ยม, การเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ หรือ มีจังหวะมหัศจรรย์แบบน่าทึ่ง แต่กลับเป็นการเล่นที่ผิดพลาดน้อยมาก จนกลายเป็นปลูกฝังความคิดให้กับเพื่อนร่วมทีมทั้งหมดไปว่า ทีมจะไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ถ้าขาด เอ็ม.แอล แล้วหลายคนต้องมาปรับทัศนคติเรื่องนี้กับนักจิตวิทยา
ส่วนตัวของ เอ็ม.แอล เองก็มีปัญหาที่เป็นคนเงียบเกินไป เพื่อนร่วมทีมเข้าถึงได้ยาก เขามักใช้เวลาว่างกับการอยู่คนเดียว มีปัญหาด้านการติดบุหรี่ และ น้ำหนักตัวที่มากเกินพอดี ขาดแรงจูงใจในการลงสนาม หากโค้ชไม่ร้องขอเขาก็จะไม่มารายงานตัวในวันที่มีเกมการแข่งขัน
ภาระหน้าที่หลัก
นักจิตวิทยา ประจำทีมจะมีหน้าที่หลัก อยู่หลายหน้าที่ โดยสามารถแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
1.การฝึกเรื่องการควบคุมจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น การตั้งเป้าหมายให้กับตัวนักเตะ, การจำลองเหตุการณ์, การพูดคุยกับตัวเองเพื่อสร้างแรงกระตุ้น และ การผ่่อนคลาย เพื่อให้โฟกัสกับผลงานได้สนามและหน้าที่ของตัวเองได้ดีขึ้น
2. การปรับปรุงตัว ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาที่เป็นกำแพงของนักฟุตบอลทั้งเรื่องส่วนตัว, พฤติกรรม, นิสัย หรือ กำแพงบางอย่างภายในจิตใจ เพื่อช่วยให้นักเตะเหล่านั้นก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองให้ได้
3.การรับมือกับช่วงเวลาที่ได้รับบาดเจ็บ ยกตัวอย่างเช่น การให้กำลังใจและสร้างแรงกระตุ้น เพื่อการกลับมาลงสนามในช่วงเวลาที่นักเตะอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูร่างกาย
4.สร้างความมั่นใจให้กับนักเตะ ยกตัวอย่างเช่น สร้างความเชื่อมั่นใจตัวเองให้กับนักเตะ เพิ่มแนวคิดเชิงบวกในกระบวนการความคิด ลบความคิดและทัศนคติแย่ๆ ออกไป สร้างความสัมพันธ์เชิงบวกให้กับผู้เล่นภายในทีม และ การพูดคุยเพื่อเสริมสร้างภาวะการเป็นผู้นำให้กับนักเตะ
5. การตั้งเป้าหมายและสร้างแรงกระตุ้น ยกตัวอยางเช่น ช่วยกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ หรือ การสร้างแรงกระหายในการลงสนามในทุกเกม รวมไปถึงการตั้งเป้าเฉพาะทางในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งคัญอย่างมากที่จะนำพานักเตะไปสู่ความสำเร็จ
6.การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นภายในทีมและการสื่อสาร เนื่องจากฟุตบอลเป้นกีฬาที่เล่นคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความสามัคคีและความร่วมแรงร่วมใจกันไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งแต่ละคนย่อมมีทัศนคติและการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น นักจิตวิทยา ต้องเข้ามาอยู่ตรงกลางเพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารของผู้เล่นที่มีปัญหา หรือ ปรับอารมณ์และทัศนคติ เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นภายในทีม
7.การแนะนำวางแผนเส้นทางอาชีพ เนื่องจากนักฟุตบอลบางคนอาจไม่ได้เรียนสูงถึงระดับที่ควรจะเป็น แนวคิดและทัศนคติต่างๆ อาจเป็นข้อด้อยของพวกเขา จึงจำเป็นต้องมีคนคอยแนะแนวทางในการวางแผนต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านจากดาวรุ่งมาเป็นนักเตะชุดใหญ่ ต้องตั้งเป้าหมายให้กับตัวเองในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต
8. การเตรียมสภาพจิตใจก่อนลงสนามแข่งขัน เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยสำหรับกีฬาฟุตบอล นักจิตยา ต้องช่วยสร้างแรงกระตุ้นที่าจะลงเล่นเพื่อชัยชนะ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเตะในทีมว่าสามารถทำตามเป้าหมายได้ ลดภาวะวิตกกังวลและความกดดัน ตามวิธีการที่สอดคล้องไปกับการฝึกซ้อมที่ผ่านมาในแต่ละสัปดาห์
ขนาดนักเตะเจ้าของรางวัล บัลลงก์ ดอร์ 5 สมัย และดาวยิงสูงสุดตลอดกาลทีมชาติโปรตุเกสอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ยังต้องมีทีมนักจิตวิทยาโดยเฉพาะด้านกีฬาคอยดูแล เพื่อให้มีจิตใจและทัศนคติที่แข็งแกร่งตลอดเวลา สร้างแรงกระตุ้น รับมือกับสถานการณ์ความกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ รวมไปถึงให้คำปรึกษาเพื่อสงบจิตใจก่อนเกมการแข่งขัน ช่วยให้มีจิตใจที่แน่วแน่และแข็งแกร่งก่อนลงเล่นในทุกเกม
แม็ต ชอว์ นักจิตวิทยาด้านการพัฒนาศักยภาพจากสถาบัน อินเนอร์ไดรฟ์ เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า
“ความเป็นจริงมีงานวิจัยเกี่ยวกับ จิตวิทยาการกีฬา มานานหลายปีแล้ว ซึ่งมีการบ่งชี้ชัดเจนว่าการใช้นักจิตวิทยาสามารถช่วยกลุ่มนักกีฬาได้ทุกระดับชั้น ตั้งแต่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกที่เจอปัญหาฟอร์มตก โดยจะมีหน้าที่หาคำตอบให้ได้เป็นมาจากสาเหตุใด ถ้าขาดในส่วนนี้ไปอาจหมายถึงการขาดกุญแจสำคัญที่จะแก้ปัญหานั้นให้สำเร็จก็เป็นได้”
“ในประเทศเยอรมันมีการใช้นักจิตวิทยาในวงการกีฬามาหลายปี มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีพวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ภายในทีมตั้งแต่เริ่มตั้งแผนงาน ถ้าทีมไหนอยากประสบความสำเร็จสูงสุดแบบพวกเขา ย่อมต้องทำในสิ่งที่ควรจะทำแบบพวกเขา”
“80 เปอร์เซ็นต์คนไข้ของผมเป็น นักฟุตบอล สาเหตุที่พวกเขามาหาผมมีเพียงสองเรื่อง คือ มีปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้ได้ อาจเป็นเรื่องของความมั่นใจที่ขาดหายไป หรือ อาการตื่นเต้นก่อนลงสนาม รวมไปถึงการมองว่าศักยภาพของตัวเองถึงทางตันไม่พัฒนาอีกต่อไป พวกเขามีปัญหามาปรึกษาแล้วต้องการให้ผมช่วยพวกเขาแก้ไขให้ผ่านไปให้ได้”
ซึ่งกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับนักเตะชื่อดังบางราย หากวงการฟุตบอลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เร็วกว่านี้ เรื่องราวอาจไม่ลงเอยอย่างน่าเศร้า
เคสตัวอย่างที่น่าเสียดาย
แฟนบอลยุคปลาย 90 ถึงต้น 2000 คงอาจเคยได้ยินชื่อของ เซบาสเตียน ไดส์เลอร์ กองกลางมากพรสวรรค์ทีมชาติเยอรมัน ที่ถูกสื่อตั้งความหวังเอาไว้สูงมาก พร้อมหน้าพร้อมตากันอวยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเส้นทางการค้าแข้งของดาวเตะรายนี้กลับจบลงอย่างน่าเศร้า
ไดส์เลอร์ เจอแรงกดดันจากสื่อที่ต้งความคาดหวังกับเขาไว้สูงมาก จนทนรับเอาไว้ไม่ไหว แล้วพอเจออาการบาดเจ็บหนักเล่นงานไม่สามารถลงสนามได้กว่าครึ่งปี เขาก็เข้าสู่ภาวะซึมเศร้าจนต้องปรึกษาแพทย์ด้านจิตเวช แต่สุดท้ายแล้วก็สายเกินไปที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะปล่อยให้เรื่องราวที่โดนกดดันมานานมันกินระยะเวลามานานเกินไป
ซึ่งทาง ไดส์เลอร์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกของเขาเอาไว้ว่า
“ผมรู้ว่าตัวผมอยู่ในภาวะซึมเศร้าซึ่งมันเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง ผมอยากอยู่อย่างสงบ ผมต้องอดกลั้นต่อสถานการณ์รอบตัวที่เกิดขึ้นมาตลอด แล้วรู้สึกว่าเหมือนต้นสังกัดให้ผมต้องลงสนามและทำผลงานให้ดีเสมอตอนที่ผมอายุแค่ 19-20 ปี วงการฟุตบอลเยอรมัน ก็ตั้งความหวังกับตัวผมเอาไว้แล้วว่าจะมาช่วยพาพวกเขาออกจากยุคตกต่ำได้”
สุดท้ายแล้วด้วยภาวะซึมเศร้าและอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ไดส์เลอร์ ก็ประกาศแขวนสตั๊ดไปก่อนวัยอันควรในปี 2007 ซึ่งตอนนั้นเขาอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น กำลังจะก้าวสู่ช่วงวัยพีคของนักฟุตบอลที่ปกติแล้วค่าเฉลี่ย คือ 28-32 ปี
ยิ่งไปกว่านั้นวงการฟุตบอลเยอรมัน ยังเสียนักฟุตบอลฝีเท้าดีไปอีกหนึ่งรายที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยการเลือกจบชีวิตของตัวเอง หลังจากเป็นโรคซึมเศร้า รู้สึกกดดันตัวเองจากผลงานในสนาม คือ โรเบิร์ต เอ็นเค่ อดีตนายทวารทัพอินทรีเหล็ก
เดิร์ค เอ็นเค่ พ่อของ โรเบิร์ต ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับอาการป่วยของลูกชายไว้ว่า
“โรเบิร์ต ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เขากลัวว่าตัวเขาจะไม่มีศักยภาพดีพอจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เขาเหมือนติดอยู่ในกับดักเรื่องความทะเยอทะยานส่วนตัว เขาไม่อยากไปฝึกซ้อม เขาไม่กล้าแม้แต่จะจินตนาการถึงภาพตัวเองยืนเฝ้าเสาหน้าปากประตู เขารู้สึกกลัวว่าผมจะโกรธถ้าเขาเลิกเล่น ถึงขนาดเคยทำร้ายตัวเองจนกรามแตกเพื่อออกจากแคมป์ทีมชาติมาแล้ว”
“เขามีอาการแปลกๆ ที่แสดงถึงการป่วยเป็นจิตเวชเหมือนเดิมทุกวันตอนเช้า คือ การกลัวที่จะตื่นขึ้นมา กลัวที่จะล้มเหลว หวาดวิตก แล้วมันก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”
สองเคสตัวอย่างที่ยกมาอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้วงการฟุตบอลเยอรมัน ตัดสินใจบรรจุนักจิตวิทยาเป็นทีมสตาฟฟ์ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ แล้วสุดท้ายพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์โลกได้ในปี 2014
แต่ที่ต้องเฝ้าระวัง และควรพึ่งพานักจิตวิทยา สำหรับบ้านเรา คือเรื่องการรับมือกับความโด่งดัง และหลงระเริงกับความสำเร็จจนเป้าหมายในการเล่นฟุตบอลเปลี่ยนไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.sportingbounce.com/blog/sports-psychology-for-football
https://www.theguardian.com/football/2009/nov/14/robert-enke-father-depression-germany