โอนิกิ ดื้อรึป่าว ? : เผยต้นตอ ฟรอนตาเล่ ฟอร์มตกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โอนิกิ ดื้อรึป่าว ? : เผยต้นตอ ฟรอนตาเล่ ฟอร์มตกแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

สถานการณ์ของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ สโมสรชั้นนำของศึก เจ ลีก ประเทศ ญี่ปุ่น ดูท่าว่าจะเปิดตัวได้ไม่สวยเท่าไหร่ในฤดูกาลนี้ หลังจากลงสนามไปแล้ว 4 นัด เก็บไปได้เพียง 4 แต้ม เฉลี่ยแล้วเก็บได้เกมละแต้มเท่านั้น

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง แฟนบอลทั้งในประเทศและนอกประเทศ แทบไม่อยากเชื่อสายตากับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนี่คือทีมที่คว้าแชมป์ลีกมาแล้ว 4 จาก 6 สมัยหลังสุด ที่ยังคงไว้วางใจให้ผู้ฝึกสอนคนเดิมอย่าง โทรุ โอนิกิ เป็นผู้กุมบังเหียน นักเตะแกนหลักก็ยังเป็นหน้าเดิมๆ

ฤดูกาลที่แล้ว ฟรอนตาเล่ จบในตำแหน่งรองแชมป์ มีแต้มห่างจาก โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส เพียงแค่สองคะแนนเท่านั้น เรื่องการเล่นเกมรุกที่เป็นจุดขาย ยังทำผลงานได้ตามมาตรฐาน ยืงไปถึง 65 ประตู เป็นรองแค่ทีมแชมป์เพียงทีมเดียว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?

ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
แฟนบอลชาวไทย อาจรู้สึกชื่นใจได้บ้างเล็กน้อย หลังจากที่ “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กลับมามีชื่อเป็น 11 ตัวจริงของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ที่ลงสนามแข่งขันในศึก ลูวาน คัพ ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามต้องยอมรับกันตามตรงว่า โทรุ

อย่างไรก็ตามการออกสตาร์ทของ ฟรอนตาเล่ ในฤดูกาลนี้ แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิมในเรื่องของความน่าเกรงขามต่อคู่แข่ง ทั้งที่พวกเขายังคงยึดมั่นใจปรัชญา ระบบการเล่น และมีเป้าหมายความกระหาย เหมือนแบบที่เคยเป็นมาไม่เปลี่ยน

แต่ในเมื่อผลลัพธ์มันออกมาไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจไว้ แปลว่าต้องมีปัจจัยบางอย่างที่กลายมาเป็นตัวแปร ทำให้ทีมของ โอนิกิ ไม่สามารถโชว์ฟอร์มออกมาได้เหมือนเดิมในช่วงที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เขาอาจรับรู้อยู่แล้วด้วย

ผู้ฝึกสอนระดับหัวแถวของวงการ เจ ลีก ไม่มีทางที่จะไม่เตรียมการต่างๆ เพื่อให้ทีมของตัวเองอยู่ในสภาพพร้อมที่สุดในการก้าวไปเป็นทีมลุ้นแชมป์ แต่สิ่งที่มันผิดพลาดคืออะไร? การเปลี่ยนแปลงจุดไหนที่ทำให้ ฟรอนตาเล่ ไม่แกร่งเหมือนเดิม  ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง

คู่แข่งที่พัฒนาขึ้น

สิ่งที่แฟนบอลที่ติดตามศึก เจ ลีก เป็นประจำ รู้กันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คือ เรื่องของศักยภาพของแต่ละสโมสรที่ลงทำการแข่งขัน ไม่ได้มีความห่างชั้นกันจนสู้ไม่ได้ ผลการแข่งขันสามารถพลิกโผได้ตลอด พลิกล็อคให้เห็นกันจนชินตา

แนวทางของ โอนิกิ ที่สร้าง ฟรอนตาเล่ หลังเข้ามารับตำแหน่งได้ 6 ปีเข้าให้แล้ว ยังคงเป็นแบบแผนเดิมไม่มีเปลี่ยน ยึดปรัชญาของสโมสรเป็นหลัก ทีมต้องเล่นบอลเกมรุกเอนเตอร์เทนแฟนบอล ต้องมีการต่อบอลที่สวยงาม และ การเพรสซิ่งหนักตลอด 90 นาที

PHOTO : Kawasaki Frontale

แน่นอนว่าแนวทางการฝึกซ้อม ฟิสิคเทค ที่เคยกล่าวถึงกันไปแล้ว คือ การสร้างสภาพร่างกายของผู้เล่นภายในทีม ให้มีศักยภาพสูงกว่าปกติ ดึงพลังแฝงและความแข็งแกร่ง ทนทาน ออกมาใช้ในสนามแบบเกินร้อย

เมื่อแนวคิดนี้ถูกเปิดเผยออกมา มันก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่คู่แข่งทีมอื่นๆ ในลีก จะนำไปพัฒนาหรือก็อปปี้ ให้นักเตะภายในทีมของพวกเขา มีศักยภาพใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับผู้เล่นของ ฟรอนตาเล่

แต่นั่นไม่ใข่เพียงแค่องค์ประกอบเดียวที่ทีมคู่แข่ง สามารถนำไปพัฒนาทีมของตัวเองได้ มันยังนับรวมถึงแท็คติกในสนาม ที่ทาง ฟรอนตาเล่ ยึดแนวทางมาตลอด 6 ปี คือ การเล่นเพรสซิ่งสูง กดดันคู่แข่งตั้งแต่แดนบน

สโมสรอื่นๆ ที่ได้เห็น ฟรอนตาเล่ เล่นแบบเดิมๆ ใช้ตัวผู้เล่นเดิมๆ แล้วประสบความสำเร็จ เต็มที่ก็มีการแก้เกมด้วยการเปลี่ยนตัวตามตำแหน่ง เห็นบ่อยๆ เข้าจนมันกลายเป็นภาพจำ พอไปศึกษาวิธีการ แล้วนำมาเลียนแบบลองทำบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

ซึ่งฤดูกาล 2022 มีสองสโมสรที่สู้กับ ฟรอนตาเล่ แล้วใช้เกมเพรสซิ่งหนักตั้งแต่แดนบนตลอด 90 นาที แบบหนามยอกเอาหนามบ่ง แล้วได้ผล คือ เซเรโซ โอซาก้า ที่ 4 นัดหลังที่เจอกันเอาชนะไปได้ 2 เกม และเสมอ 2 เกม และ โชนัน เบลมาเร่ ที่เอาชนะไปได้ในสองเกมหลังสุด ยิงรวมไปถึง 6 ลูก เสียไปลูกเดียว

โดยทาง อาซาฮี ซาซากิ แบ็คซ้ายวัย 23 ปีของ ฟรอนตาเล่ ออกมากล่าวยืนยันถึงการพัฒนาของคู่แข่งทีมอื่นๆในลีกเอาไว้ว่า

PHOTO : Kawasaki Frontale

“ความจริงแล้ววิธีการดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ทาง การขึ้นเกมของ ฟรอนตาเล่ ที่เราต้องเจอเพียงอย่างเดียวในปีก่อน”

“แต่จำนวนของทีมที่ปรับมาเล่นการเพรสซิ่งสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นการฝึกซ้อมของเราจึงต้องรวมเรื่องของการหาทางตอบโต้คู่แข่งที่เล่นแบบนั้น ซึ่งมันอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่อาจได้ผล การมีทางเลือกในการเล่นเพิ่มเติมอาจทำให้ทีมดีขึ้น”

จากที่เกริ่นนำไปตั้งแต่ข้างต้นว่า โอนิกิ เทรนเนอร์ของ ฟรอนตาเล่ ซึ่งมีประสบการณ์คุมทีมมาอย่างโชกโชน ย่อมมองเห็นถึงการแก้เกมของคู่แข่งตรงจุดนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นตัวเขาก็ต้องพัฒนาตัวเอง ด้วยการหามาตรการตอบโต้ใหม่ๆ เช่นกัน

แท็คติกใหม่ในการแก้เกม

ก่อนจะเปิดซีซั่นนี้ โอนิกิ ได้จัดการประชุมรวมทีม ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ที่คลับเฮ้าส์ของสโมสร เพื่ออธิบายถึงเป้าหมายของการทำทีมในปีนี้ ซึ่งบัญญัติเอาไว้ว่าต้องเป็น “ผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่งที่สุด” ให้ได้ เพื่อแย่งตำแหน่งแชมป์กลับคืนมา โดยกล่าวกลับลูกทีมเพิ่มเติมว่า

“ปีที่แล้วผลงานของทีมถือว่าทำได้น่าผิดหวัง มีหลายอย่างที่ผมพยายามสร้างมันขึ้นมาแต่ไม่ได้ผล ดังนั้นผมจึงอยากกลับไปเริ่มต้นกันใหม่จากศูนย์”

“เราต้องต่อสู้ให้หนักหน่วงด้วยความมั่นใจ ตั้งมั่นอยู่บนความถ่อมตัว ไม่ต้องมองย้อนไปถึงดีกรีที่เคยประสบความสำเร็จ มีความเชื่อในแนวทางที่เป็นรากฐานที่ปลูกฝังมาตลอดในการเล่น”

“การรวมทุกความคิดเหล่านี้เข้าด้วยกัน เป็นการอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดว่า ผู้ท้าชิงที่แข็งแกร่งที่สุด เป็นเช่นไร”

พอเข้าถึงช่วงเวลาที่เหล่าสตาฟฟ์และผู้เล่นของ ฟรอนตาเล่ เดินทางไปเข้าแคมป์ ปรีซีซั่น ที่หมู่บ้านอนนะ จังหวัด โอกินาว่า แล้วมีการแบ่งทีมแข่งขันกันในวันที่ 19 มกราคม ซึ่งก็มีการคิดค้นและฝึกซ้อมแท็คติกใหม่ขึ้นมาด้วย

PHOTO : Kawasaki Frontale

สื่อในประเทศญี่ปุ่นบางเจ้าเช่น ฟุตบอลลิสต้า ได้ส่งทาง ทาคาชิ เอโตะ ไปเก็บข้อมูลภายในแคมป์ดังกล่าว ซึ่งอธิบายออกมาสั้นๆ ว่า

“ความท้าทายของ ฟรอนตาเล่ ซีซั่นนี้เป็นความทะเยอทะยาน ตั้งแต่ขอให้ลูกทีมทำตามข้อเรียกร้องของ โอนิกิ ที่ทางทีมงานคงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดทั้งหมดได้”

“แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแนวรับตรงพื้นที่สุดท้าย จะมีการยืนตำแหน่งที่แปลกออกไป เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหายามที่ถูกคู่แข่งเล่นเกมเพรสซิ่งสูงใส่ ด้วยการเอาบอลออกมาจากพื้นที่อันตรายให้ได้”

นอกจากนี้ทาง เจเซียล ปราการหลังตัวต่างชาติของ ฟรอนตาเล่ ก็พูดถึงแท็คติกใหม่ของทีมเอาไว้ว่า

PHOTO : Kawasaki Frontale

“เหล่าผู้เล่นทำความเข้าใจวิธีการนี้ ซึ่งเป็นการขึ้นเกมแบบใหม่ไปแบบทีละเล็กทีละน้อย แล้วเราเข้าใจดดีว่ามันเป็นแค่ทางเลือกเพิ่มเติมอีกหนึ่งทาง”

“มันน่าจะไปได้สวยถ้าเราทำมันได้ราบรื่นกว่านี้ ถ้าเราปรับตัวเข้ากับแนวทางนี้ได้อย่างสมบูรณ์ มันจะเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับคู่แข่งต้องหาทางแก้อีกครั้ง”

เป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกวงการ หากคุณลองแนวทางอะไรใหม่ๆ ย่อมเกิดความผิดพลาดระหว่างทางได้ ซึ่งมันก็มีแค่สองทางเลือกให้คุณตัดสินใจ คือ ล้มเลิก และ พยายามทำมันต่อไป ซึ่งคนอย่าง โอนิกิ นั้นมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเลือกทางไหน

ความหัวดื้อที่ไม่เปลี่ยนแปลง

จากการคิดค้นแทคติกส์ใหม่ของ โอนิกิ ย่อมเป็นความท้าทายของเขาครั้งใหม่ ซึ่งระหว่างทางมันก็จะเกิดข้อผิดพลาดได้เสมอ ซึ่งตัวของเขายังคงดื้อรั้นไม่เปลี่ยน แล้วยึดมั่นในแนวคิดของตัวเองด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

“ผมต้องการรับมือกับคู่ต่อสู้ทุกทีมให้ได้ด้วยวิธีการนี้ แล้วก้าวผ่านพวกเขาไปให้ได้ในท้ายที่สุด”

“มันอาจจะมีข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ้างในช่วงนี้ ซึ่งผมก็พร้อมจะเผชิญกับความผิดพลาดเหล่านั้น แล้วนำมาแจกแจงรายละเอียดให้ได้ มันเป็นเหมือนประสบการณ์คุณภาพที่ได้รับมาจากสิ่งเหล่านั้น”

PHOTO : Kawasaki Frontale

ซึ่งหนึ่งในนักเตะคนสำคัญของ ฟรอนตาเล่ ในแผงมิดฟิลด์อย่าง ไทโตะ วากิซากะ อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางนั้นให้เห็นภาพว่า

“มันมีการเล่นที่ต้องใช้ความมั่นใจมากขึ้นและเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน ซึ่งผู้เล่นบางรายก็ยังลังเลที่จะทำเช่นนั้น”

“สิ่งแรกที่ผมรับรู้ได้ คือ เมื่อมองย้อนกลับไป มันมีหลายจังหวะที่ผมพยายามจะแสดงออกให้เห็นว่า ผมต้องเล่นในแนวทางที่ผู้จัดการทีมสั่งมาให้ได้ เหมือนกับที่เขาถ่ายทอดแนวคิดนั้นสู่ทีม”

“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดหลายครั้ง มันก่อให้เกิดแรงผลักดัน”

“ภารกิจของผู้เล่นที่ท้าทาย มันจะเข้าใจและทำได้ถูกต้องมากกกว่า หากเรียนรู้จากความผิดพลาดในการเล่นที่ไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น”

“ผู้เล่นหลายคนพยายามทำมันซ้ำแล้วซ้ำเล่น จนกว่าจะถึงจุดที่โค้ชพึงพอใจ”

PHOTO : Kawasaki Frontale

จากทุกคำกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมด หมายความว่า โอนิกิ นั้นกำลังพยายามเติมแทคติกส์ใหม่ให้กับทีม เพื่อแก้ทางคู่แข่งในลีก ที่เริ่มจับทางสไตล์การเล่นของ ฟรอนตาเล่ ของเขาที่เล่นแบบซ้ำๆ เดิมๆ มาแล้ว 6 ปีติด

โดยแนวคิดนั้นมันมีความเสี่ยงสูงในช่วงแรกเมื่อนำมาใช้จริง แล้วเมื่อมันเกิดข้อผิดพลาดขึ้น นักเตะต้องยอมรับและทำความเข้าใจมันให้ได้ว่า เกิดขึ้นมาจากอะไร จนกว่าจะทำตามสิ่งที่ โอนิกิ สั่งมาได้ตรงใจเขาจริงๆ

แปลง่ายๆ ว่าจะเก่งขึ้นได้ ทำตามที่ โอนิกิ สั่งมาได้ ต้องเรียนรู้มาจากประสบการณ์ที่ก่อความผิดพลาดในการเล่นทั้งสิ้น นับว่าเป็นการเดิมพันที่แสนดื้อรั้นตรงกับคาแรกเตอร์โค้ชรายนี้สุดๆ เหมือนว่าถึงมันเป็นสิ่งที่ ผิด ลูกทีมก็ต้องทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ ถูก ให้ได้นั่นเอง

หากทาง โอนิกิ ยังเชื่อมั่นในความคิดของเขาไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่า ฟรอนตาเล่ ต้องยึดแนวทางการเล่นแบบนี้ไม่เรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งมันก็ต้องแลกมากับแต้มในเกมลีก รวมไปถึงความเสี่ยงที่จะตกรอบบอลถ้วยรายการต่างๆ

PHOTO : Kawasaki Frontale

จริงอยู่ที่การปรับแนวคิดของทีมใหม่ด้วยการเริ่มต้นจากศูนย์ อาจทำให้ทีมกลับมาแข็งแกร่งและดีกว่าเดิมได้ในอนาคต แต่ลองคิดในมุมกลับกันว่า มันต้องแลกกับเวลาที่เสียไป ซึ่งไม่มีกำหนดตายตัวว่า แผนนี้จะใช้ได้จริงเมื่อไหร่ ความรู้สึกของแฟนบอล ฟรอนตาเล่ ก็จะถูกทำร้ายไปแบบนี้ซ้ำๆ เรื่อยๆ ด้วยน้ำมือของ โอนิกิ เช่นกัน

สุดท้ายแล้วฐานแฟนบอล ที่อุตส่าห์สร้างมาอย่างยากลำบากหลายปี จากการเดินตามแนวทางปรัชญาทั้งหมดด้วยความเชื่อมั่น อาจจะสลายหายไปในพริบตา

ทีนี้แหละ โอนิกิ อาจได้ไปเริ่มต้นใหม่จากศูนย์จริงๆ สมใจ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งการงานของเขา รวมไปถึงความนิยมของสโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ซึ่งอาจต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ จากน้ำมือของคนอื่น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

กี่นาทีก็มีความหมาย : สุภโชค กับโอกาสน้อยนิดที่วัดกันด้วยทัศนคติล้วน ๆ

3 ทางของ “เจ” : มองรอบด้านถึงอนาคต ชนาธิป ในการค้าแข้งต่างเเดน

3 เกม 0 นาที : เกิดอะไรขึ้นที่ ฟรอนตาเล สาเหตุที่ ชนาธิป ไม่ได้ลงสนาม ?

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.footballista.jp/special/153881?fbclid=IwAR0o1Me2mAFc99uXY3ruQFTqcZeKnnUL9k2CABtrm-Mj4KKg67E2WsUIsXk

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ