โลกตะวันออก VS โลกตะวันตก : แฟนบอลไทยห้ามด่ากรรมการ แต่แฟนบอลนอกด่าได้จริงหรือ ?
การปฏิบัติตัวของแฟนบอลในสนามกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากสาวกสิงห์เจ้าท่า การท่าเรือ เอฟซี พร้อมใจกันตะโกนด่าผู้ตัดสิน เพราะไม่พอใจในการทำหน้าที่ ในเกมแพ้ เมืองทอง ยูไนเต็ด 2-3 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผลที่ตามมาคือทีมดังแห่งย่านคลองเตยต้องรับเคราะห์แทน โดนลงโทษปรับเงิน 10,000 บาท จากการที่กองเชียร์แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เนื่องจากขัดต่อระเบียบการของไทยลีก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : มองเขาย้อนดูเรา : ไทยลีกมีมาตรการอย่างไร หากพบนักเตะแทงบอลแบบ อิวาน โทนีย์ ?
แต่ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นลีกใหญ่ในยุโรปอย่าง พรีเมียร์ลีก หรือ บุนเดสลีก้า ลงโทษสโมสรที่แฟนบอลด่ากรรมการเลย หรือว่าพวกเขาอนุญาตให้ทำได้กันแน่ ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ประกาศิตไทยลีก
ก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ทุกครั้ง ไทยลีกจะประกาศระเบียบจัดการแข่งขันทุกอย่าง ทั้งนักเตะ, โค้ช, สนามแข่ง, ทีมเจ้าบ้าน หรือแม้แต่แฟนบอล เพื่อให้ทุกสโมสรเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ไทยลีกไม่เพียงแค่แจ้งรายละเอียดของระเบียบการ แต่ยังเขียนบทลงโทษเป็นลายลักษณ์อักษรหากมีการฝ่าฝืนไว้ด้วย ดังนั้นคุณไม่มีสิทธิ์อ้างว่า ไม่รู้กฎ หรือ บทลงโทษรุนแรงเกินไป ในเมื่อคุณรับรู้แต่แรกอยู่แล้ว
อย่างที่เกริ่นไปว่า แฟนบอลในสนามเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎเช่นกัน และหนึ่งในข้อปฏิบัติที่พวกเขาต้องทำตามก็คือ ห้ามด่าบุคคลใด ด้วยถ้อยคําที่หยาบคาย หรือเยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือแสดงกิริยาก้าวร้าว ข่มขู่ หากใครฝ่าฝืน จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 30,000 บาท
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ แพท สเตเดี้ยม แฟนบอลการท่าเรือตะโกนด่า วิศเวท สังข์นคร ผู้ตัดสินในสนามว่า “อาจารย์หัวค**” เพราะไม่พอใจที่ไม่ยอมไปเช็ค VAR จังหวะที่ แฮมิลตัน โซอาเรส ดาวยิงตัวเก๋งของทีม ถูกแนวรับทีมกิเลนผยองสกัดล้มในเขตโทษ จนทีมรักต้องพบกับความพ่ายแพ้
แน่นอนว่า ผู้ดูแลการแข่งขัน (แมทช์คอมฯ) ไม่พลาดที่จะเขียนรายงานเรื่องนี้ไปถึงคณะกรรมการด้านวินัยฯ และสิงห์เจ้าท้าก็ต้องโดนลงโทษปรับเงิน 10,000 บาทตามกฎ โดยที่ไม่มีสิทธิ์ทักท้วงหรือบ่ายเบี่ยงแม้แต่น้อย
นอกจากการใช้คำพูดหยาบคายด่าทอผู้ตัดสิน, นักเตะทีมคู่แข่ง หรือ แฟนบอลฝ่ายตรงข้ามแล้ว ไทยลีกยังมีกฎห้ามดูถูก ดูหมิ่น หรือลดความน่าเชื่อถือของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทั้งทางวาจาหรือผ่านข้อความบนป้ายผ้าที่นำเข้าสนาม ใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษปรับเงิน 30,000 - 50,000 บาท
อย่างเมื่อช่วงต้นฤดูกาล มีแฟนบอลเมืองทองชูป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “FAT = THIEF” ซึ่งถอดความได้ว่า สมาคมฟุตบอลฯคือโจร จากการที่ทีมรักของพวกเขาถูกริบสิทธิ์ไปลุยศึกเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ทั้งที่จบอันดับ 4 ในฤดูกาล 2021/22 สุดท้ายกิเลนผยองก็โดนปรับเงินไป 50,000 บาท
จะเห็นว่าไทยลีกซีเรียสกับการใช้คำพูดมาก ๆ คุณไม่มีสิทธิ์ไปด่าทอใครในสนามด้วยคำพูดหยาบคายเด็ดขาด โดยเฉพาะผู้ตัดสินและสมาคมฯ ไม่อย่างนั้นสโมสรก็จะโดนลงโทษ ฐานคุมแฟนบอลของตัวเองไม่อยู่
ด่าได้แต่อย่าแรง
ตัดมาที่ลีกชั้นนำในยุโรปอย่าง พรีเมียร์ลีก กับ บุนเดสลีก้า พวกเขาไม่ได้วางกฎเรื่องพูดคำหยาบเข้มแบบไทยลีก แฟนบอลที่นี่สามารถสบถคำหยาบใส่ผู้ตัดสิน, นักเตะฝั่งตรงข้าม หรือแม้แต่สมาคมฟุตบอลฯของตัวเองได้ หากมันไม่ล้ำเส้นไปถึงการเหยียดหรือดูหมิ่นอีกฝ่าย
อย่างในพรีเมียร์ลีก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ไม่ได้ออกเป็นข้อบังคับให้แฟนบอลปฏิบัติตาม แต่เป็นการขอความร่วมมือจากทุกคนที่เข้าสนามมากกว่า เช่น เคารพคำตัดสินของผู้ตัดสินแม้ว่าตัวเองจะไม่เห็นด้วย และอย่าใช้คำพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่ล่วงเกินผู้อื่น
ขณะเดียวกัน FA ไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ตายตัว ในกรณีที่มีแฟนบอลทำผิด พวกเขามีแนวทางการรับมือหลายอย่าง ทั้งว่ากล่าวตักเตือน, ส่งเข้าคอร์สอบรมมารยาท, คุมตัวออกจากสนาม, แบนจากสนามแข่ง และยึดสถานะการเป็นสมาชิกของสโมสร
ถ้าเป็นไทยลีก สโมสรคงถูกปรับเงินไปแล้ว แต่สำหรับลีกอังกฤษ พวกเขาจะดูความรุนแรงของความผิดก่อน จากนั้นก็จะเลือกบทลงโทษที่เหมาะสม ไม่ใช่เอะอ่ะจะใช้ไม้แข็งอย่างเดียว แต่ยังมีการใช้ไม้อ่อนสอนแฟนบอลด้วย ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ส่วน บุนเดสลีก้า นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะแฟนบอลที่นี่สามารถด่าทอสมาคมฟุตบอลเยอรมันได้ ขอเพียงแค่อยู่ในขอบเขตของกีฬา คุณก็จะไม่ถูกลงโทษ แม้ว่าจะใช้คำหยาบคายแค่ไหน เพราะเดเอฟเบมองว่าแฟนบอลทุกคนมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์
เคสที่เห็นบ่อย ๆ ก็จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับกฎ 50+1 ที่กำหนดให้แฟนบอลถือหุ้นอย่างน้อย 51% ของสโมสร เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในทีม แต่ก็ยังมีทีมอย่าง แอร์เบ ไลป์ซิก และ ฮอฟเฟนไฮม์ ที่มีนายทุนเป็นเจ้าของเพราะอาศัยช่องโหว่ของกฎ
นั่นทำให้แฟนบอลหลายทีมในบุนเดสลีก้าชูป้ายประท้วงเดเอฟเบที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ และส่วนใหญ่จะเป็นคำด่าทอแนวฮาร์ดคอร์เสียด้วย แต่พวกเขาก็ไม่เคยถูกลงโทษ ตราบใดที่ไม่ไปจาบจ้วงถึงบุคคลที่ 3 หรือข่มขู่
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 เกิดเหตุการณ์แฟนบอลของ บาเยิร์น มิวนิค ชูป้ายผ้าด่า ดีทมาร์ ฮอฟฟ์ เจ้าของทีมฮอฟเฟนไฮม์ว่า “ไอ้ลูกโสเภณี” กลายเป็นดราม่าใหญ่ของบุนเดสลีก้า สมาคมฟุตบอลเยอรมันไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ เพราะมันเป็นการด่าทอด้วยความเกลียดชังแล้ว
คริสเตียน ไซเฟิร์ต ผู้อำนวยการฟุตบอลลีกเยอรมัน (DFL) แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า “ความอาฆาตมาตร้ายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้มานานแล้ว และต้องถูกประณามอย่างรุนแรงที่สุด ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ ทั้งสิ้น ฟุตบอลไม่มีที่ว่างให้กับความเกลียดชัง”
แม้แต่ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ ซีอีโอของ บาเยิร์น มิวนิค ยังต้องออกมาประณามแฟนบอลของตัวเองว่า “ผมรู้สึกอับอายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมต้องขอโทษ ดีทมาร์ ฮ็อปป์ ด้วย มันคือช่วงเวลาที่มืดมนของฟุตบอล เราจะลงโทษแฟนบอลเหล่านี้ ในสนามฟุตบอลไม่มีที่ว่างให้กับพวกเขา”
สรุปง่าย ๆ คือแฟนบอลในลีกยุโรปสามารถสบถหยาบใส่บุคคลอื่นในสนามได้ ถ้ายังอยู่ในขอบเขตของกีฬา มีเหตุมีผลรองรับ ไม่ได้ทำไปเพียงเพราะความเกลียดชัง ที่สำคัญต้องไม่ล้ำเส้นถึงขั้นทำให้อีกฝ่ายเสียหาย ซึ่งแตกต่างกับแฟนบอลไทยที่เพียงแค่เอ่ยคำหยาบในสนามถึงใครก็ตาม ไทยลีกก็จะตัดสินเลยว่าผิดและลงโทษแล้ว
คิดคนละแบบ
เอาจริง ๆ มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่คนที่อยู่กันคนละซีกโลกจะมีมุมมองไม่เหมือนกัน ด้วยนิสัยใจคอและแนวคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่าง โลกตะวันออก กับ โลกตะวันตก กฎกติกาจึงถูกสร้างมาให้เหมาะกับคนในสังคมนั้น ๆ
คนเอเชียอย่างเราให้ความสำคัญกับความอ่อนน้อมและความสุภาพ มันจึงกลายเป็นค่านิยมในสังคมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากใครไปล่วงละเมิดก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี เช่น การพูดหยาบคายในที่สาธารณะ
ค่านิยมนี้แทรกซึมเข้าไปทุกภาคส่วนของสังคม ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา และนี่คือเหตุผลที่ไทยลีกห้ามแฟนบอลด่าคนอื่นในสนาม หรือแม้แต่เจลีกญี่ปุ่นก็ห้ามแฟนบอลในสนามแสดงพฤติกรรมที่หยาบคายเช่นกัน
เคสล่าสุดก็แฟนบอลของ คอนซาโดเล่ ซัปโปโร ที่ตามไปเชียร์ทีมรักลงเล่นเกมเยือนกับทีมน้องใหม่อย่าง อัลบิเร็กซ์ นิงาตะ แต่เขาดันหัวร้อนไปใช้คำพูดไม่เหมาะสมระหว่างเชียร์ทีม สโมสรจึงสั่งห้ามเขาเข้าสนาม 5 เกม โดยไม่รอบทลงโทษจากเจลีกด้วยซ้ำ
“ในเกมกับ อัลบิเร็กซ์ นิงาตะ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม มีแฟนบอลของ คอนซาโดเล่ ซัปโปโร ไปใช้คำพูดหยาบคายใส่ผู้อื่น ตอนนี้เราสามารถระบุตัวคนทำได้แล้ว และเราตัดสินใจทำตามมาตรการของเจลีก” แถลงการณ์ของซัปโปโร
ขณะที่คนฝั่งยุโรปให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกและสิทธิเสรีภาพ ยิ่งบวกกับนิสัยที่เป็นคนตรงไปตรงมาด้วยแล้ว พวกเขาจึงกล้าวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างที่ขัดต่อความเชื่อ เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงกระทำได้
ฟุตบอลเองก็เช่นกัน หากแฟนบอลรู้สึกว่าสิ่งที่เห็นอยู่ไม่ถูกต้อง พวกเขาก็มีสิทธิ์ใช้คำพูดรุนแรง บางคนไม่พอใจหนักก็ด่าทอกันไป จะเป็นทางวาจาหรือผ่านข้อความบนป้ายผ้าขนาดยักษ์ก็ได้ ขอเพียงแค่อยู่ในกรอบของคำว่ากีฬา
ไม่ต้องมองไปถึงสนามบอลก็ได้ แค่คุณด่าคนอื่นด้วยคำว่า “เฮงซวย” ก็ถือเป็นความผิดตามฎีกาของกฎหมายไทยแล้ว เพราะมันเข้าข่ายการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้คู่กรณีอับอาย
แต่ถ้าคุณเป็นคนอังกฤษ คุณสามารถด่าคนอื่นว่า “เฮงซวย” ได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับบทลงโทษ ตราบใดที่ไม่เป็นการทำให้คู่กรณีตกอยู่ในความหวาดกลัวหรือได้รับผลกระทบทางจิตใจ มันก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายของประเทศอังกฤษ
ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะลงโทษแฟนบอลด่าหยาบหรือไม่ลงโทษ มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดทั้งนั้น เพราะกฎถูกออกแบบมาตามลักษณะนิสัยของคนในพื้นที่ คุณแค่ต้องปฏิบัติตามกฎที่ลีกของตัวเองกำหนดก็พอแล้ว
แต่จะดีที่สุดถ้าทุกคนเชียร์บอลกันอย่างสร้างสรรค์ เพราะการได้นั่งฟังเสียงเพลงและเสียงปรบมือให้กำลังใจกันในสนาม ยังไงมันก็รื่นหูมากกว่าคำด่าทอเป็นไหน ๆ…จริงไหม ?
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
ย้อนหาคำตอบปรัชญาฟุตบอลของ ฟรอนตาเล่ จริง ๆ สไตล์ไหนทำไมขัดชนาธิป ?
เคียวโกะ ฟูรุฮาชิ : กองหน้าตัวเป้าที่สูงแค่ 170 ซม. กับวิธีการเล่นที่แข้งไทยควรศึกษา
คอมเม้นต์แฟนญี่ปุ่นถึง ‘สุภโชค’ ดีไม่ดี ? หลังประเดิมตัวจริงคอนซาโดเลนัดแรก
แหล่งอ้างอิง : https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/thaipremierleague/2649173
https://aboutj.jleague.jp/corporate/en/fairplay/manners_rules/
https://www.consadole-sapporo.jp/news/2023/03/8459/
https://www.sanook.com/campus/1407160/
https://www.quora.com/Is-it-illegal-to-swear-in-public-in-the-UK